Movie: จันดารา ปฐมบท
กำหนดฉาย 6 กันยายน 2555
แนวภาพยนตร์ พีเรียด-ดราม่า
บริษัทผู้สร้าง-จัดจำหน่าย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ดำเนินงานสร้าง นัยนา อึ้งสวัสดิ์
กำกับภาพยนตร์ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล
บทภาพยนตร์ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล
กำกับคิวบู๊ พันนา ฤทธิไกร
กำกับภาพ พนม พรมชาติ
ออกแบบงานสร้าง พัฒน์ฑริก มีสายญาติ
กำกับศิลป์ นิติ สมิตตะสิงห์
ลำดับภาพ สิริกัณณ์ ศรีจุฬาภรณ์
เทคนิคภาพพิเศษ เซอร์เรียล สตูดิโอ
ดนตรีประกอบ ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์
ออกแบบเครื่องแต่งกาย อธิษฐ์ ฐิรกิตสัฒน์
แต่งหน้า-แต่งหน้าเอฟเฟ็คต์ มนตรี วัดละเอียด
ทีมนักแสดง มาริโอ้ เมาเร่อ, ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์, บงกช คงมาลัย, สาวิกา ไชยเดช, รฐา โพธิ์งาม, โช นิชิโนะ, ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, รัดเกล้า อามระดิษ, เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ ฯลฯ
มหากาพย์แห่งโศกนาฏกรรม “จันดารา ปฐมบท”
เรื่องราวโศกนาฏกรรมชีวิตของ “จันดารา” (มาริโอ้ เมาเร่อ) เริ่มต้นนับตั้งแต่เขาถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก ณ บ้านพิจิตรวานิชในปี พ.ศ. 2458 เขาเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับความตายของมารดาโดยไม่คาดฝัน นั่นทำให้ “คุณหลวงวิสนันท์เดชา” (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) ผู้เป็นบิดาได้ลงโทษทัณฑ์เขาอย่างทารุณราวกับว่าเขาไม่ใช่ลูก พร้อมเรียกขานเขาว่า “ไอ้จัญไร”
ที่เรือนเล็กในสวนหลังบ้าน จันเติบโตขึ้นมาจากการเลี้ยงดูของ “น้าวาด” (บงกช คงมาลัย) ญาติสนิทของมารดาจากเมืองพิจิตร และมี “เคน กระทิงทอง” (ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต) ลูกชายแม่ครัวในบ้านเป็นสหายสนิทเพียงคนเดียวที่จันสามารถเล่าทุกอย่างให้ฟังได้
ต่อมาน้าวาดได้ตกเป็นภรรยาของคุณหลวง และให้กำเนิดลูกสาวสาวชื่อ “คุณแก้ว” หรือ “วิไลเลข” (โช นิชิโนะ) อันเป็นที่รักยิ่งของคุณหลวงซึ่งสอนให้หล่อนเกลียดชังจันตั้งแต่จำความได้
ตัวคุณหลวงเองนั้นก็มักมากในกาม บริวารหญิงแทบทั้งสิ้นในบ้านล้วนตกเป็นเมียลับของเขา ซึ่งเมื่อเขามีอารมณ์ที่จะสังวาสกับหญิงคนใดก็กระทำการอย่างเปิดเผยไม่ว่าจะเป็นเวลาใดหรือมุมใดในบ้านหลังนั้นอย่างเสรี จนทำให้เด็กทุกคนในบ้านไม่ว่าจะเป็นจัน ดารา, เคน กระทิงทอง หรือคุณแก้วล้วนเติบโตขึ้นมาในบรรยากาศแห่งกามตัณหาอย่างที่ไม่สมควรจะเกิดให้เป็นแบบอย่างแก่เด็กคนใดก็ตาม
เมื่อจันเติบโตเป็นหนุ่ม เขาได้เรียนรู้ประสบการณ์แห่ง “กามคุณ” กับบ่าวหญิงในบ้าน โดยการชักนำของเคน กระทิงทอง ก่อนที่จันจะได้พบรักอันบริสุทธิ์เป็นครั้งแรกกับ “ไฮซินธ์” (สาวิกา ไชยเดช) เพื่อนหญิงร่วมโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษภาคค่ำ จนกระทั่งเมื่อคุณหลวงได้พา “คุณบุญเลื่อง” (รฐา โพธิ์งาม) คนรักเก่าเข้ามาอยู่บ้าน ทำให้จันเกิดความประทับใจในความสง่างามและความอบอุ่นประดุจมารดา ส่วนตัวคุณบุญเลื่องเองก็ประทับใจในความละเอียดอ่อนลึกซึ้งดุจศิลปินของจัน จนมีความสัมพันธ์ลับอันเกินเลย
และแล้ววันหนึ่ง ชะตากรรมได้พลิกผันทำให้จันล่วงรู้ความจริงบางอย่างอันน่าอดสูเกี่ยวกับตระกูลของเขา นั่นทำให้จันตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิต เพราะคุณหลวงนั้นเป็นมนุษย์ฉ้อฉลผู้ใช้ทุกกลวิธีในการคดโกงเพื่อครอบครองทรัพย์สินอันมหาศาลแห่งตระกูลพิจิตรวานิช ทำให้จันต้องเดินทางหนีภัยจากพระนครไปพำนักอยู่กับ “คุณท้าวพิจิตรรักษา” (รัดเกล้า อามระดิษ) ผู้เป็นญาติผู้ใหญ่คนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ที่เมืองพิจิตร เพื่อรอเวลาชำระแค้นและเอาทุกสิ่งทุกอย่างคืนกลับมาเป็นของเขาให้จงได้
โศกนาฏกรรมชีวิตของ “จันดารา” แวดล้อมไปด้วยผู้คนรอบข้างที่สะท้อนมวลอารมณ์แห่งความรัก ความชัง ความใคร่ ความเคียดแค้น และการจดจำเอาเยี่ยงอย่างมาสู่การดำเนินชีวิตของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกทั้งยังเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นธาตุแท้ของความเป็นมนุษย์อันน่าสมเพชจนนำไปสู่หายนะอย่างแท้จริง
กฎแห่งกรรม...กิเลสแห่งกาม
“นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องยาวเรื่องแรกของผู้เขียน ซึ่งต้องขอบอกกล่าวไว้เสียด้วยว่า เป็นเรื่องอ่านเล่น ซึ่งไม่ใช่ของสำหรับเด็ก และเป็นของแสลงอย่างยิ่งสำหรับบุคคลประเภท ‘มือถือสาก ปากถือศีล’”
“เรื่องของจัน ดารา” จัดเป็นงานที่พรรณนาภาพอันน่าสังเวชของมนุษย์ที่ตกอยู่ใน “เขาวงกตแห่งกามตัณหา” นักประพันธ์ชั้นครู “อุษณา เพลิงธรรม” เขียนเรื่องนี้อย่างผู้ที่มากด้วย “ประสบการณ์” และ “ประสบกาม” จัดได้ว่าเป็นแบบ “อัตถนิยมแท้ๆ” (Realism) เล่มหนึ่งของวงวรรณกรรมไทย
ความน่าสนใจของวรรณกรรมเรื่องนี้ มิใช่การรจนาอันละเมียดละไมอย่าง “วิจิตรบรรจง” ใน “บทอัศจรรย์เชิงสังวาส” แต่เพียงอย่างเดียว หากอยู่ที่การสร้างสรรค์ลักษณะนิสัยของ “ตัวละคร” ทุกตัวอย่างมีจิตวิญญาณและเลือดเนื้อ เป็นมนุษย์ปุถุชนในโลกของความเป็นจริง ทุกตัวละครล้วนมี “มิติ” ของความเป็น “คน” ที่พบเห็นได้สัมผัสได้ในทุกยุคทุกสมัย มีทั้งด้านดีและเลวคละเคล้ากันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับอิทธิพลทาง “กรรมพันธุ์” และ “สภาพแวดล้อม” อันป็น “เบ้าหลอม” ทำให้มนุษย์ก่อพฤติกรรมไม่ว่าจะเป็นไปใน “ด้านบวก” หรือ “ด้านลบ”
ตัวละครอย่าง “จันดารา” จึงเป็นตัวแทนของมนุษย์ที่ตกเป็นทาสของชะตากรรมที่น่าสังเวช อันมีเหตุมาจาก “กรรมพันธุ์” และ “สภาพแวดล้อม” อันโหดร้ายทารุณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ถ้าถามว่าทำไมต้องเป็น ‘จันดารา’ ก็ต้องตอบว่าในยุคสมัยที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้มันเต็มไปด้วยการแสวงหาอำนาจเงินทองชื่อเสียงเกียรติยศต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัณหาของมนุษย์ อาจจะพูดได้ว่าเป็นยุคสมัยที่มนุษย์เราเป็นทาสของสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงชีวิตประจำวัน ครอบครัว ระดับประเทศ หรือระดับโลกก็ตาม มันมีผลต่อการกระทำของเราเสมอ อันนี้มันก็เลยเป็นแรงบันดาลใจให้คิดถึงวรรณกรรม ‘เรื่องของจัน ดารา’ ซึ่งผู้ประพันธ์คือ อุษณา เพลิงธรรม (ครูประมูล อุณหธูป) ได้แฝงเรื่องเหล่านี้เอาไว้ภายใต้เปลือกของความเป็นอีโรติกของบทประพันธ์นี้ และที่ลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้นมันพูดถึงเรื่อง ‘กรรม’ ใครทำอะไรประพฤติอย่างไรก็จะได้ผลกรรมอย่างนั้นซึ่งเป็นแก่นแท้ของบทประพันธ์นี้ ซึ่งผมคิดว่าไม่มีวรรณกรรมเรื่องไหนที่สะท้อนภาพชีวิตแม้กระทั่งสังคมปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้ใกล้เคียงเท่าเรื่องนี้ ถึงแม้ว่าจะเขียนมานานเกือบ 50 ปีที่แล้ว แต่เนื้อหาสาระก็ยังทันสมัยมาก ยังสะท้อนให้เห็นถึงธาตุแท้ของมนุษย์ซึ่งในปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ และเหมือนเป็นกระจกที่จะสะท้อนให้เห็นกิเลสในใจของคน มันไม่ใช่แค่ตัณหาราคะอย่างเดียว แต่คนที่ยึดมั่นกับความเคียดแค้นมันจะก่อให้เกิดปัญหาและหายนะยังไงกับตัวเองและคนรอบข้างจนนำไปสู่ปัญหาสังคมในระดับรวมด้วย
นี่คือความโดดเด่นของเรื่องจันดารา ที่นอกเหนือไปจากฉากอีโรติกที่ท่านสร้างสรรค์ขึ้นมาเมื่อยุคสมัย 2507 ที่ยังไม่เคยมีใครเขียนเรื่องทำนองนี้ ก็เลยเป็นที่ฮือฮากันมากในวรรณกรรมเชิงสังวาส พูดง่ายๆ ก็คือเป็นเรื่องโป๊ แล้วเราก็จะตื่นเต้นกับบทอัศจรรย์บทสังวาสที่เกิดขึ้นมากมาย แต่ว่าความเป็นอัจริยะของท่านเนี่ย ได้ซ่อนปรัชญาทางพุทธเอาไว้ แล้วก็ตีแผ่จิตมนุษย์ออกมาในงานวรรณกรรม ซึ่งเราว่ายุคสมัยนี้ใกล้เคียงในเรื่องทีเดียวนะ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไหร่ มนุษย์ยังคงเป็นมนุษย์ เราว่าในยุคสมัยนี้แหละที่น่าจะได้ชมภาพสะท้อนของตัวเอง ของสังคมที่เรากำลังเผชิญอยู่ในเรื่องนี้”