ได้เล่นหนังไทยเรื่องแรกก็รู้สึกประทับใจมากค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสดงของทุกคนที่รับส่งอารมณ์กันได้ดี ภาพสวยมากๆ รวมถึงเนื้อหาที่สามารถดูได้ว่ามนุษย์เรามันจะมีหลายอารมณ์ทั้งเศร้า แฮปปี้ พอใจ มั่นใจ เห็นแก่ตัว บางทีแฮปปี้แป๊ปเดียวปุ๊บชีวิตก็อาจจะเปลี่ยนไปเหมือนลงนรกเลย เป็นสัจธรรมของชีวิต ใครทำอะไรไว้ก็ได้อย่างนั้น เป็นธรรมชาติในชีวิตคนเราค่ะ ผู้ชมสามารถดูได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้”
“จัน ฉันเองก็เข้าใจดีว่ามันเป็นเรื่องยากที่ใครก็ตามในโลกนี้จะทำใจได้ง่ายๆ ถ้าได้พบกับชะตากรรมในชีวิตเยี่ยงเธอ ซึ่งอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับความเข้มแข็ง และความอดทนที่จะพาเราฝ่ามรสุมชีวิตในครั้งนี้ไปได้อย่างรอดปลอดภัย”
ไฮซินธ์ (สาวิกา ไชยเดช) - สาวน้อยวัย 16 จากหัวเมืองทางภาคใต้ผู้เป็นนางในดวงใจของจัน ดาราตั้งแต่แรกพบประสบหน้า เธอมีร่างสูงระหง ดวงหน้างามคมขำราวกับเทพธิดาและมีอะไรในดวงหน้านั้นคล้ายมารดาของเขาเป็นอย่างยิ่ง นัยน์ตาโศกแต่รอยยิ้มอันสดใสของเธอก็ทำให้โลกทั้งใบพลอยมีความสุขไปกับเธอด้วย ไฮซินธ์และจันเรียนภาษาอังกฤษภาคค่ำที่โรงเรียนครูสาลี่ และสานสัมพันธ์ความเป็นเพื่อนด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์ ก่อนเหตุการณ์ร้ายจะทำให้ทั้งคู่พรากจากกันโดยไม่ทันตั้งตัว
“เรื่องนี้กี้ได้แสดงสองบทเลยค่ะ บทแรกก็จะเป็น ‘ดารา’ เป็นผู้หญิงที่สวยสง่า มีฐานะดี เข้าใจความรู้สึกของทุกคน เป็นคนมีจิตใจดีเหมือนกับจัน ดารา เพราะว่าเค้าเป็นแม่ลูกกัน จิตใจของเค้าที่ไม่คิดอะไรกับคนอื่นมันส่งไปถึงตัวจัน ส่วนอีกบทคือ ‘ไฮซินธ์’ เป็นนักเรียนอิสลาม จะเป็นความรู้สึกของเด็กใสๆ ที่จะเป็นรักแรกของจันค่ะ ทั้งสองตัวละครนี้ก็จะมีคาแร็คเตอร์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงและเป็นผู้หญิงที่เป็นปมในใจของจันอยู่ตลอดมาค่ะ
สำหรับเรื่องนี้เป็นหนังที่มีอารมณ์หลากหลายของมนุษย์มากทั้งความรัก ความใคร่ ความแค้น ถ้าลองมาดูเรื่องนี้มันจะมีอะไรมากมายให้เห็นว่าชีวิตมนุษย์มันไม่มีความแน่นอนเลยค่ะ กี้ถือว่าได้รับโอกาสที่ดีมากครั้งหนึ่งในชีวิตการแสดงค่ะ รู้สึกดีใจมาก ก็คิดว่าครั้งหนึ่งเราอยากร่วมงานกับหม่อมน้อย แล้ววันนี้ฝันก็เป็นจริง พอเราได้มาเล่นจริงๆ เราก็ได้อะไรมากมายจากหม่อม นอกเหนือไปจากการแสดงแล้วหม่อมยังมีแง่มุมการใช้ชีวิตให้เราได้เรียนรู้อีกด้วย กี้รู้สึกปลาบปลื้มและโชคดีที่ได้เล่นเรื่องนี้จริงๆ ค่ะ”
“จันดารา” ในเชิงจิตวิเคราะห์
ซิกมันด์ ฟรอยด์ (SIGMUND FREUD) ปรมาจารย์แห่งจิตรวิทยาชาวเยอรมันได้กล่าวว่า ในทุกๆ “การกระทำ” ของมนุษย์ล้วนแล้วแต่มี “แรงผลักดันทางเพศ” (SEX DRIVE) แฝงไว้ใน “จิตใต้สำนึก” เสมอ เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนมี “ปมทางจิต” ที่เรียกว่า “ปมอิดิพุส” (OEDIPUS COMPLEX) ซ่อนอยู่ภายใต้จิตใจอันบอบบาง ซึ่งจะปรากฏออกมาในรูปของบิดามักจะรักลูกสาว มารดามักจะรักลูกชาย และในทางกลับกัน ลูกสาวมักจะรักบิดา และลูกชายมักจะรักมารดา เป็นต้น อันเป็นรากฐานของ “ความรัก” ในระดับต่อๆ มาในวัยของมนุษย์ เช่น ชายหนุ่มมักจะนิยมชมชอบผู้หญิงที่มีความเหมือนมารดา และหญิงสาวมักจะนิยมชมชอบชายที่มีนิสัยคล้ายกับบิดา ซึ่งพื้นฐานของแนวคิดทางจิตวิเคราะห์เหล่านี้ล้วนปรากฏเด่นชัดใน “ตัวละคร” ซึ่งขาดความอบอุ่นทั้งจากบิดาและมารดา เขาจึงแสวงหา “ความรัก” และ “ความอบอุ่น” ดังกล่าวจนชั่วชีวิต แต่ก็ล้มเหลวที่จะได้พบเจอ
ส่วน “แรงผลักดันทางเพศ” (SEX DRIVE) นั้นก็มิได้หมายถึงพฤติกรรมในเชิงสังวาสเพียงอย่างเดียว หากครอบคลุมและผสมผสานไปกับ “ความรักอันบริสุทธิ์” (PURE LOVE) อย่างแยกออกจากกันไม่ได้ และเป็น “แรงผลักดัน” ที่มีพลังอันมหาศาลเป็นตัวที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นไปในด้านบวกหรือด้านลบก็ตาม
อาทิเช่น เมื่อมนุษย์มีความรักอันแรงกล้าก็จะทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งคนที่เรารักยิ่ง ไม่ว่าจะออกมารูปของการขยันทำมาหากินเพื่อให้คนที่เรารักได้มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย หรือลักขโมยและฉ้อโกงทรัพย์เพื่อให้คนที่รักมีความสุขได้อีกเช่นกัน และยิ่งเพื่อความมั่นคงของครอบครัวและวงศ์ตระกูลแล้ว พลังอันมหาศาลแห่ง “แรงผลักดันทางเพศ” (SEX DRIVE) จะก่อให้เกิดผลกรรมอันยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะเป็น “กุศลกรรม” หรือ “อกุศลกรรม” อันบันดาลได้ทั้ง “ความเจริญรุ่งเรือง” และ “ความหายนะ” อันใหญ่หลวงในครอบครัวซึ่งแผ่ไปถึงสังคมรอบข้าง
ภาพยนตร์มหากาพย์แห่งโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่เรื่อง “จันดารา” นี้จึงเป็นภาพสะท้อนของผลกรรมของมนุษย์ผู้ไร้เดียงสาที่ถูกสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการแสวงหา “อำนาจ” ทั้งใน “สมบัติ” และ “กามคุณ” หล่อหลอมจนจิตใจเต็มไปด้วย “กิเลส” และ “ตัณหาราคะ” อันก่อให้เกิด “เปลวไฟแห่งความแค้น” ที่เผาผลาญชีวิตรอบข้างและตนเองให้มอดไหม้จนกลายเป็นธุลี
เกร็ดภาพยนตร์
1) ภาพยนตร์เรื่อง “จันดารา” (2555) ดัดแปลงจากนวนิยายสุดคลาสสิก “เรื่องของจัน ดารา” ของนักประพันธ์ชั้นครู “อุษณา เพลิงธรรม” (ประมูล อุณหธูป) (2463-2530) ตีพิมพ์ เป็นตอนๆ ครั้งแรกใน “สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์” (2507-2509)
2) ต่อมาได้พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกโดย “สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น” (2509) และหลังจากนั้นตลอดเกือบ 50 ปีที่ผ่านมาก็ถูกพิมพ์รวมเล่มเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเป็นครั้งที่ 13 โดย “สำนักพิมพ์มติชน” (เม.ย. 2555)
3) สู่การเขียนบทและตีความใหม่สุดเข้มข้นโดยผู้กำกับฯ ฝีมือละเมียด “หม่อมน้อย - ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” เป็นผลงานลำดับที่ 11 ถัดจากภาพยนตร์ขึ้นหิ้งอย่าง เพลิงพิศวาส (2527), ช่างมันฉันไม่แคร์ (2529), ฉันผู้ชายนะยะ (2530), นางนวล (2530), เผื่อใจไว้ให้กันสักหน่อย (2532), ความรักไม่มีชื่อ (2533), มหัศจรรย์แห่งรัก (2538), อันดากับฟ้าใส (2540), ชั่วฟ้าดินสลาย (2553), อุโมงค์ผาเมือง (2554)
4) “จันดารา” เวอร์ชั่นหม่อมน้อยใน พ.ศ. นี้ ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งที่ 3 ถัดจาก 2 ครั้งแรก คือ
- ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2520) สร้างโดย เทพกรภาพยนตร์ / อำนวยการสร้างโดย กิติมา เศรษฐภักดี / กำกับโดย รัตน์ เศรษฐภักดี / เขียนบทโดย ส. อาสนจินดา / กำกับภาพโดย อดุลย์ เศรษฐภักดี / นำแสดงโดย สมบูรณ์ สุขีนัย (จัน), อรัญญา นามวงศ์ (บุญเลื่อง), ศิริขวัญ นันทศิริ (แก้ว), ภิญโญ ปานนุ้ย (เคน) เข้าฉายเมื่อ 11 มี.ค. 2520 ที่โรงเพชรรามา และโรงเพชรเอ็มไพร์
- ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2544) สร้างโดย ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ / กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร / เขียนบทโดย ศิรภัค เผ่าบุญเกิด, นนทรีย์ นิมิบุตร / นำแสดงโดย สันติสุข พรหมศิริ (คุณหลวง), สุวินิต ปัญจมะวัต-เอกรัตน์ สารสุข (จัน), วิภาวี เจริญปุระ (น้าวาด), คริสตี้ ชุง (บุญเลื่อง), ภัทรวรินทร์ ทิมกุล (แก้ว), เคน (ครรชิต ถ้ำทอง) เข้าฉายเมื่อ 28 ก.ย. 2544
5) “จันดารา” เวอร์ชั่นหม่อมน้อยจะถูกสร้างเป็นสองภาค คือ “จันดารา ปฐมบท” (พร้อมฉาย 6 ก.ย.) และ “จันดารา ปัจฉิมบท” (กำลังถ่ายทำ) เพื่อความสมบูรณ์แบบของเนื้อหาและสาระบันเทิงอย่างเต็มอิ่ม
6) พลิกบทบาทประชันฝีมือด้วยทีมนักแสดงแถวหน้าของเมืองไทยไม่ว่าจะเป็น มาริโอ้ เมาเร่อ (จัน ดารา), ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต (เคน กระทิงทอง), ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ (หลวงวิสนันท์เดชา), บงกช คงมาลัย (น้าวาด), รฐา โพธิ์งาม (คุณบุญเลื่อง), โช นิชิโนะ (คุณแก้ว), สาวิกา ไชยเดช (ดารา / ไฮซินธ์), รัดเกล้า อามระดิษ (คุณท้าวพิจิตรรักษา), ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา (ขจร) ร่วมด้วยนักแสดงสมทบและรับเชิญอีกมากมายที่จะมาเพิ่มสีสันให้กับภาพยนตร์โดยเฉพาะ
7) “จันดารา” เซ็ตฉากถ่ายทำอย่างงดงามในทุกๆ โลเกชั่นไม่ว่าจะเป็น บ้านสังคหวังตาล บ้านโป่ง จ.ราชบุรี / หอวัฒนธรรมไทยวน (ไท-ยวน) อำเภอเสาไห้ สระบุรี / โฮมพุเตย, น้ำตกเจ็ดสาวน้อย จ.กาญจนบุรี / ลานพระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5, ถนนราชดำเนิน หน้าวังปารุสกวัน, สถานีดับเพลิงบางรัก, ตึกพัสดุการรถไฟ, หัวลำโพง กรุงเทพมหานคร
รวมพลคนเบื้องหลังมืออาชีพทุกๆ ด้านที่จะมาสร้างสรรค์ให้ “จันดารา” เวอร์ชั่นนี้ตระการตาเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบงานสร้างสุดวิจิตรในทุกฉากโดย “พัฒน์ฑริก มีสายญาติ” (อุโมงค์ผาเมือง), การกำกับภาพสุดงดงามในทุกเฟรมภาพของ “พนม พรมชาติ” (ชั่วฟ้าดินสลาย, อุโมงค์ผาเมือง ฯลฯ), งานออกแบบเครื่องแต่งกายสุดประณีตของ “อธิษฐ์ ฐิรกิตสัฒน์” (ซีอุย, ต้มยำกุ้ง, Me, Myself ขอให้รักจงเจริญ), การเมคอัพสุดบรรจงในทุกคาแร็คเตอร์โดย “มนตรี วัดละเอียด” (สุริโยไท, โหมโรง, ชั่วฟ้าดินสลาย, อุโมงค์ผาเมือง ฯลฯ) และดนตรีประกอบสุดตรึงใจโดย “ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์” (นางนาก, จัน ดารา-2544, โอเคเบตง, โหมโรง, เดอะ เลตเตอร์ จดหมายรัก, ก้านกล้วย, ปืนใหญ่จอมสลัด, อุโมงค์ผาเมือง, คน-โลก-จิต ฯลฯ)
9) “เพลงเมื่อไหร่จะให้พบ” ประพันธ์คำร้องโดย “แก้ว อัจริยะกุล” / ทำนองโดย “หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์” / ต้นฉบับขับร้องโดย “มัณฑนา โมรากุล” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2552 โดยภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2555 นี้ จะขับร้องโดย “รฐา โพธิ์งาม” และ “ศักราช ฤกษ์ธำรงค์” สองนักแสดงในเรื่องนี้อย่างแสนไพเราะ