news on November 21, 2016, 02:45:42 PM
โรงงานไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ 3 ผ่าน อีก 9 ยังเคว้ง!



คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.ได้มีหนังสือลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 ถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท พัฒนาโซล่าเธอร์มอล จำกัด บริษัท อีสานโซล่าพาวเวอร์ จำกัดและบริษัทสยามพลังงานทดแทน จำกัด ซึ่งทั้ง 3 บริษัทนี้ก็อยู่ในกลุ่ม 12 โครงการด้วย หนังสือฉบับดังกล่าวเป็นหนังสือแจ้งยกเลิกเงื่อนไขอ้างอิงตามมติของ กกพ.เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 ที่เคยระบุข้อความไว้ว่า “ทั้งนี้หากสัญญาซื้อขายไฟฟ้ายังมีผลบังคับใช้ คณะกรรมการขอสงวนสิทธิในการพิจารณาอัตรารับซื้อไฟฟ้าและอายุของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับดังกล่าวให้เหมาะสมและเป็นธรรมได้ในภายหลังตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยให้รับซื้อไฟฟ้าในอัตราปัจจุบัน 5.337 บาทต่อหน่วย

นั่นหมายความว่าที่ กกพ.ได้ออกหนังสือรับแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตให้แก่บริษัทฯ ไปแล้ว ให้ถือตามนั้น แปลว่าให้บริษัทฯ ทั้ง 3 ยังคงดำเนินการกับคู่สัญญา (กฟภ.)ให้เป็นไปตามระเบียบประกาศข้อกำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป

นายมาโนช กำเนิดงาม ที่ปรึกษากฎหมายของกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 12 โครงการ กล่าวกับเรื่องนี้ว่า “วันนี้จากความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ 12 โครงการ กกพ.มีเมตตาปลดปล่อยให้คู่สัญญาไปดำเนินการตามสัญญาที่ทำไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ได้ในอัตราค่าจำหน่ายไฟฟ้าแบบ Adder เหมือนเดิม แต่ยังมีผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าอีก 9 แห่งที่ยังไม่ได้รับหนังสือการยกเลิกเงื่อนไขเหมือน 3 โครงการฯ ดังนั้นผู้ประกอบการอีก 9 โครงการ จึงตั้งคำถามว่า กกพ.ใช้มาตรฐานอะไรพิจารณาให้ 3 แต่ไม่ให้อีก 9 แห่งทั้งที่ โครงการทั้ง 12 โครงการฯ มีที่มาเหมือนกัน เริ่มต้นเหมือนกัน สัญญาที่ทำไว้กับ กฟภ.รุ่นเดียวกัน ก่อสร้างจนแล้วเสร็จพร้อมๆ กัน ที่สำคัญทั้ง 3 บริษัทฯที่ได้รับการยกเว้นแล้วนั้น มีมากกว่า 1 โรงไฟฟ้าแถมก่อสร้างจนแล้วเสร็จตั้งอยู่บนพื้นที่เดียวกัน อบต.เดียวกัน เทศบาลเดียวกัน แต่กลับไปรับการอนุมัติ ส่วนสาเหตุที่อีก 9 โครงการฯ ยังไม่ได้รับหนังสือรับแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต เหมือน 3 โครงการฯ คือ หลังจากที่ตัวแทนทั้งฝ่ายผู้ประกอบการและฝ่ายการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้ประกอบการอุทธรณ์ยกเลิกสัญญา 17 โครงการดังกล่าว ตัวแทนทั้ง 2 ฝ่ายได้สรุปผลการตรวจสอบส่งให้ กกพ.และคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม2555 มีใจความโดยรวมเกี่ยวกับความล่าช้าในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าด้วยองค์ประกอบหลายประการที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ และเกี่ยวกับผู้รับเหมาที่เบี้ยวงานจนต้องหาผู้รับเหมามารับช่วงต่อ”

ผลการตรวจสอบทั้ง 2 ฝ่ายสรุปข้อเท็จจริงได้ว่า มีผลทางกฎหมายที่ไม่อาจถือได้ว่า ความล่าช้าในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของบริษัทฯตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้านี้เกิดจากบริษัทฯ จงใจไม่ปฏิบัติตามสัญญา และเหตุต่างๆที่เกิดขึ้น บริษัทฯไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ ย่อมทำให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ยังไม่มีสิทธิในการบอกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้านี้ตามกฎหมายแต่อย่างใด

ต่อมา กฟภ.ได้มีหนังสือลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทฯ หนังสือยกเลิกสัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลทำให้สัญญาซื้อขายไฟฟ้านี้สิ้นความผูกพันตามกฎหมายแต่อย่างใด สัญญาซื้อขายนี้ยังคงมีผลผูกพันบริษัทฯ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมาจนถึงปัจจุบัน และเนื่องจากเวลาได้ล่วงเลยกำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายมานานแล้ว สมควรที่บริษัทฯและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะได้ทำการตกลงกันเพื่อกำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้า ตามสัญญาใหม่ ลงชื่อผู้แทนทั้ง 2 ฝ่าย ผศ.ดร.กิตติพันธุ์ เตชะกิตติโรจน์ เป็นผู้แทนบริษัท และนายประเจิด สุขแก้ว อดีตผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นผู้แทนฝ่าย กฟภ. ซึ่งเอกสารสรุปผลการตรวจสอบฉบับที่นำมากล่าวถึงนี้ทางผู้ประกอบการถือว่าข้อสรุปทั้งหมดและผู้แทนทั้ง 2 ฝ่ายที่ตั้งขึ้นนี้คือกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการแล้วตามเอกสารลงวันที่ 26 มีนาคม 2556 ของกลุ่มบริษัทฯ ทั้ง 12โครงการฯที่ได้ส่งถึงผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เรื่องการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการกรณีการยกเลิกสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า จึงอยากขอให้ทาง กกพ.พิจารณาตามเอกสารและหลักฐานต่างๆ อย่างตรงไปตรงมาด้วย นายมาโนช กล่าวสรุป
« Last Edit: November 21, 2016, 02:47:51 PM by news »