pooklook on October 09, 2009, 07:13:19 AM
แม้ว่าปมการเสียชีวิตของสาวกิฟฟารีนที่กินยาลดความอ้วนเกินขนาดกับ ไมเคิล แจ็กสันราชาเพลงป๊อปชื่อก้องโลก ยังไม่มีการสรุปอย่างเป็นทางการว่าเกิดจากการใช้ยาเกินขนาดจริงหรือไม่ แต่ก็เป็นอุทาหรณ์ได้อย่างดี เมื่อใดที่ใช้ยาเกินความพอดี นาทีสุดท้ายของชีวิตก็อาจมาเยือนอย่างคาดไม่ถึง
          เพื่อนสนิทสาวกิฟฟารีนผู้ตาย เล่าว่า เพื่อนเธอน้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง 70 กิโลกรัม จึงไปซื้อยาลดความอ้วนและยาเร่งเผาผลาญมาจากร้านขายยาบริเวณสี่แยกวัดพระญาติ ต.ไผ่ลิง อ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อกินลดความอ้วน
          ยาเหล่านั้นมีลักษณะเป็นชุด เม็ดยาหลายสี บางเม็ดจะเป็นแคปซูล หลังกินไปได้ 3 อาทิตย์ น้ำหนักลดลงถึง 21 กิโลกรัม
          แต่พอเลิกกินยาลดความอ้วนไปประมาณ 1 อาทิตย์ก็เสียชีวิต
          การสูญเสียของราชาเพลงป๊อปจากอีกฟากโลกไบรอัน ออกซ์แมน ทนายความและโฆษกของแจ็กสันผู้ล่วงลับ เปิดเผยว่า อาจเกิดจากการกินยาเกินขนาดและหลายขนาน เพื่อซ้อมคอนเสิร์ตที่กำลังจะเปิดแสดงในลอนดอน
          ขณะที่เดอะซัน รายงานว่า ไมเคิล แจ็กสัน หมดสติและหยุดหายใจ หลังจากฉีดยาที่มีฤทธิ์ใน การระงับปวดเกินขนาด ชื่อ เดเมอรอล (Demerol)ชื่อสามัญว่า เพททิดีน (Pethidine)ในสหรัฐ หรือแคนาดามักเรียกยาชนิดนี้ว่า เมปเพอริดีน (Meperidine)เป็นยาชนิดฉีดรักษาความเจ็บปวดรุนแรงหรือเจ็บเรื้อรัง ดีกรีเทียบเท่ากับมอร์ฟีน
          พยานบุคคลที่สันนิษฐานถึงสาเหตุการเสียชีวิตของคนทั้งสองมีความเป็นไปได้สูง ยกเว้นปัจจัยแวดล้อมที่อาจแตกต่างกันแล้วแต่กรณี...
          "ความไวต่อยาของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน บางคนแพ้ยาชนิดหนึ่ง โดยที่คนอื่นไม่แพ้ บางคนแพ้ยาชนิดนี้รุนแรงถึงตาย แม้จะได้รับยาเข้าสู่ร่างกายในปริมาณน้อยนิด เทียบกับอีกคนที่ได้รับในปริมาณที่มากกว่า แต่กลับมีอาการแพ้แค่ผื่นแดงขึ้นเท่านั้น"ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลีหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา อธิบายถึงลักษณะการแพ้ยาของแต่ละบุคคล
          ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการยาของรั้วจุฬาฯ มายาวนาน ให้ข้อมูลอีกว่า ฤทธิ์ของยาอาจเป็นดาบสองคม ฤทธิ์การรักษาก็อาจกลายเป็นพิษคร่าชีวิตได้
          อย่างยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่มีทั้งกดประสาทและกระตุ้นประสาท ยากดประสาทจะมีผลกดการทำงานของสมองส่วนกลาง อาทิ ยานอนหลับยาคลายเครียด ฯลฯ หากร่างกายได้รับยาประเภทนี้เกินขนาดจะมีผลทำให้ระบบหายใจไม่ทำงาน หรือหยุดทำงานไปดื้อๆ ได้ กรณีการฆ่าตัวตายด้วยการกรอกยานอนหลับ ก็เป็นการเสียชีวิตจากการกดประสาทส่วนกลางที่มีผลต่อการหายใจ เพราะเมื่อรับประทานยาเข้าไปในปริมาณมากๆ ก็ไปหยุดการทำงานของระบบหายใจจนเสียชีวิตได้
          สำหรับประเภทยากระตุ้นประสาท มีผลทำให้กระตุ้นการทำงานของหัวใจ ทำให้บีบหัวใจให้ทำงานจนหัวใจวายตายได้ ประเภทนี้เป็นจำพวกยาลดความอ้วน ยามะเร็งบางชนิด ฯลฯ
          จากการศึกษาข้อมูลของนักศึกษาเภสัชศาสตร์ที่เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์นิยดา พบว่ายาลดความอ้วนของคลินิกรีดน้ำหนักเสริมสวยบางแห่งมีการให้ยากระตุ้นประสาทเพื่อให้มีอาการเบื่ออาหาร แต่ผลข้างเคียงก็คือหัวใจเต้นเร็วและแรงขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หากใช้ยาลดความอ้วนมากๆ จะมีฤทธิ์เหมือนยาบ้า เกิดอาการประสาทหลอนจากการนอนไม่หลับหรือกระสับกระส่ายได้ แต่บางคลินิกก็ให้ยานอนหลับที่มีฤทธิ์กดประสาทควบคู่กันไปเลย ซึ่งอันตรายมาก
          นอกจากนี้ ยังมีการให้พวกยาระบายแก่ลูกค้าเพื่อให้ลดน้ำหนักลงสมใจ รวมถึงแอบให้ยากระตุ้นการทำงานของไทรอยด์เพื่อทำหน้าที่เผาผลาญอาหาร เมื่อไม่กิน ไม่หิว บางคลินิกก็ให้วิตามินกินด้วย จึงไม่แปลกใจเลยว่ายาลดน้ำหนักจึงมีมากมายก่ายกอง หนึ่งชุดมีหลากหลายสีสัน แต่กินเข้าไปแล้วยาเหล่านั้นอาจกลายเป็นอาหารมื้อสุดท้ายอย่างที่เกิดกับสาวกิฟฟารีนก็เป็นได้
          ฤทธิ์ที่เป็นดาบสองคมของยายังไม่หมดเท่านี้ ยังมีกลุ่มยาที่มีฤทธิ์ในการรักษากับฤทธิ์ที่เป็นพิษในช่วงที่ใกล้เคียงกัน เช่น ยารักษาโรคหอบหืด หากร่างกายได้รับยาซ้ำ หรือมีปริมาณยาในร่างกายมากกว่าที่ร่างกายควรจะได้รับขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล จากยาดีก็กลายเป็นยาพิษได้โดยฉับพลัน
          ภญ.นิยดา บอกว่า ยากลุ่มที่มีฤทธิ์ "รักษา" ใกล้เคียงกับ "พิษ" นั้น ปัจจัยที่สำคัญคือ แพทย์จะต้องเข้มงวดในการจ่ายยาดังกล่าวให้กับผู้ป่วย และต้องเฝ้าสังเกตอาการตอบสนองต่อปริมาณยาที่จ่ายให้ผู้ป่วยด้วย หากทำได้คือต้องดูปริมาณของยาในกระแสเลือด เพราะหากมียาในร่างกายมากไปก็มีอันตรายเหมือนกัน
          นอกจากนี้ ยังมียากลุ่มที่เสริมฤทธิ์และหักล้างฤทธิ์กันด้วยที่ถือว่าเป็นอันตรายกับชีวิตมนุษย์ แม้ว่าร่างกายจะได้รับยาในปริมาณที่พอดี ไม่มากไป แต่หากรับประทานยาชนิดที่เสริมฤทธิ์หรือหักล้างฤทธิ์ก็เป็นอันตราย ยาที่เสริมฤทธิ์ที่อาจเป็นอันตรายกับผู้ใช้ยาอาทิ ยากลุ่มกดประสาท ไม่ว่าจะเป็นยาแก้แพ้ ยานอนหลับ คุณหมอและเภสัชกรทั้งหลายถึงห้ามนักห้ามหนาว่า ห้ามรับประทานยาประเภทนี้แล้วดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
          "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลายมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้คึกคะนอง ร่าเริงในช่วงแรก แต่ท้ายสุดจะมีฤทธิ์กดประสาทให้มึนเมา หลับไม่รู้เรื่อง เมื่อมาทานพร้อมกับยาที่มีฤทธิ์กดประสาท จะทำให้เสริมฤทธิ์กันไปทำหน้าที่กดประสาท หยุดการทำงานของระบบหายใจง่ายมากขึ้น จนอาจถึงขั้นระบบหายใจหยุดทำงานและเสียชีวิตได้"
          ถัดมากลุ่มยาที่มีฤทธิ์หักล้างกัน ยาประเภทนี้แพทย์และเภสัชกรจะให้คำแนะนำในการรับประทานไม่ว่าจะเป็นกลุ่มยาต้านไวรัสเอดส์บางชนิด ยารักษาโรควัณโรค ยานอนหลับ ยาคุมกำเนิด ฯลฯ หากใครเชื่อว่ารับประทานยา 2 ชนิดให้หักล้างกันเพื่อความสมดุล เป็นความคิดที่ผิด เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของฤทธิ์ยาที่คาดว่าจะรักษาโรคได้กลับไปในทิศทางตรงกันข้าม ทำให้เชื้อในร่างกายไม่ได้รับยารักษาในปริมาณที่พอดี ทำให้เชื้อโรคดื้อยา นอกจากรักษาไม่หายแล้วอาจมีอาการรุนแรงขึ้นด้วย
          กลุ่มยาสุดท้ายที่พอจำแนกได้คร่าวๆ คือ ยาที่ไม่ได้มีฤทธิ์ยาที่เป็นอันตรา ยกับร่างกาย และไม่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบสมอง แต่มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย เมื่อรับประทานในปริมาณที่มาก เช่น ยาพาราเซตามอล สรรพคุณเป็นยาแก้ปวด ไม่มีฤทธิ์ต่อสมอง ระบบการหายใจ และการเต้นของหัวใจ แต่พาราเซตามอลต้องถูกทำลายที่ตับ เมื่อรับประทานเข้าไปในปริมาณมากเกินความจำเป็น เช่น กรอกยาพาราเซตามอล 20-50 เม็ด เพื่อฆ่าตัวตาย ตัวยาจะไปทำลายตับ จนทำให้เกิดภาวะตับวายและเสียชีวิตได้
          อาจารย์นิยดา ให้คำแนะนำในการรับประทานยาว่า ควรอ่านฉลากยาที่ระบุไว้ให้ละเอียด หากไม่เข้าใจก็สอบถามข้อมูลยาจากแพทย์หรือเภสัชกรที่จ่ายยาให้ทั้งฤทธิ์ยา ผลข้างเคียง กลุ่มยาที่เสริมฤทธิ์หรือหักล้างฤทธิ์ ก่อนรับประทานยาเหล่านั้น หากมีอาการผิดปกติใดๆ ไม่ว่ามีผื่นขึ้น หอบ หายใจไม่ออก ความดันโลหิตลดลงอย่างฉับพลัน ง่วงผิดปกติ จนถึงขั้นชัก ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน
          "แต่ละคนไม่มีสิทธิทราบล่วงหน้ามาก่อนเลยว่าจะแพ้ยาใด บางรายแพ้ยาชนิดรุนแรง อย่าง สตีเวนส์จอห์นสัน ซินโดรม ที่เคยตกเป็นข่าวก่อนหน้านี้จนทำให้ผู้ป่วยแพ้ยาจนตาบอดทั้ง 2 ข้าง ดังนั้นหากพอทราบว่าแพ้ยาชนิดใดมาก่อน ควรจะจำชื่อยาชนิดที่แพ้ไว้แล้วแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบทุกครั้ง แต่ในรายที่รักษากับสถานพยาบาลประจำตัว ก็จะมีประวัติการแพ้ยาดังกล่าวอยู่ แต่จะจดชื่อยาที่แพ้ติดตัวไว้กับบัตรประชาชนก็ไม่เสียหายอะไร"
          "ยา"เป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่มนุษย์ทุกคนขาดไม่ได้ขณะเดียวกันหากใช้พร่ำเพรื่อและเกินความจำเป็นเป็นอะไรนิดอะไรหน่อยก็หาซื้อยามารับประทาน นอกจากบั่นทอนสุขภาพแล้ว ยาก็อาจกลายเป็นเพชฌฆาตคร่าชีวิตคุณโดยไม่รู้ตัว
          ความไวต่อยาของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน บางคนแพ้ยาชนิดหนึ่ง โดยที่คนอื่นไม่แพ้ ถึงตาย แม้จะได้รับยาเข้าสู่ร่างกายในปริมาณน้อยนิดเทียบกับอีกคนที่ได้รับแดงขึ้นเท่านั้น.


อ้วน.com ขอขอบคุณ - โพสต์ทูเดย์
http://www.xn--q3c1ar6i.com/forum/

dangjung on October 09, 2009, 08:43:32 PM
น่ากลัวแฮะๆๆๆๆ