pooklook on October 09, 2009, 07:08:24 AM
โดย น.พ.เกษียรสม วีรานุวัติ์

    อาการปวดหัวเป็นอาการที่พบในคนไข้ได้บ่อยและเป็นหนึ่ง ในห้าปัญหาแรกที่คนไข้มาพบแพทย์ อาจจะคิดว่าปัญหานี้ ไม่สำคัญแต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่มาก ๆ

    ถ้าจำแนกตามกลุ่มอาการ พบว่า อาการปวดหัวมี 7 กลุ่มคือ

       1. ปวดหัวไมเกรน
       2. ปวดเนื่องจากกล้ามเนื้อตึงตัว
       3. ปวดหัวเนื่องจากสาเหตุผิดปกติในสมอง เช่น โรคเนื้องงอกในสมอง อาการติดเชื้อในสมอง อาการโป่งพอง ของเส้นเลือดหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฯลฯ
       4. ปวดหัวเนื่องจากสาเหตุนอกสมอง เช่น หูชั้นในอักเสบ โรคจากกะโหลกศีรษะหรือกระดูกคอ โรคไซนัส ฯลฯ
       5. ปวดหัวเนื่องจากอุบัติเหตุทางสมอง
       6. ปวดหัวเนื่องจากโรคทางกายอื่นๆ เช่น ภูมิแพ้ เส้นเลือดอักเสบ ฯลฯ
       7. ปวดหัวเนื่องจากภาวะทางจิตใจ เช่น เครียด ซึมเศร้า ฯลฯ

    หากดูถึงกลไกของการปวดหัวแล้ว จำแนกได้เป็น 3 กลุ่มคือ

       1. มีสาเหตุเนื่องจากการกระตุ้นระบบประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวดในสมอง ได้แก่ ไซนัสในสมอง เส้นเลือดในสมองและเยื่อหุ้มสมอง
       2. เนื่องจากการกระตุ้นระบบประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวดนอกสมอง ได้แก่ หนังศีรษะ พังผืดและกล้ามเนื้อ เส้นเลือดแดง
       3. เนื่องมาจากเส้นประสาทถูกกระตุ้น เส้นประสาทที่ว่านี้ก็มี เส้นประสาทสมองคู่ที่ 5,7,9,10 และเส้นประสาทคอคู่ที่ 2 และ 3

    ประวัติคนไข้ที่แพทย์ต้องทราบเพื่อประกอบการวินิจฉัย เพื่อนำไปสู่สาเหตุ จะได้ช่วยแยกชนิดอาการปวดหัวด้วย ได้แก่ เวลาที่มักเกิดอาการ ระยะเวลาการปวดหัว ความรุนแรง ลักษณะของการปวด ตำแหน่งของการปวด อาการร่วม เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ภาพซ้อน เวลาที่สัมพันธ์กับอาการปวด การตอบสนองต่อยาและสิ่งที่มากระตุ้นให้ปวดหัวเพิ่มเติม หรือสรีระทางร่างกายที่เปลี่ยนแปลง เช่น การมีประจำเดือน อาการเครียด ฯลฯ รวมทั้งประวัติอื่นที่ควรทราบ เช่น ประวัติการปวดหัวในครอบครัว ประวัติในช่วงวัยหนุ่มสาว ประวัติปวดหัวระหว่างถูกเกณฑ์ทหาร ช่วงแต่งงาน ตั้งครรภ์ การเมารถ ฯลฯ

    ชนิดของโรคปวดหัว

    1. ปวดหัวไมเกรน

    แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ ไมเกรนที่มีอาการเตือน และที่ไม่มีอาการเตือน
    อาการเตือนนั้นจะเกิดก่อนปวดหัว ไม่น้อยกว่า 4 นาที แต่ไม่เกิน 60 นาที อาการเตือนมักปรากฏทางการมองเห็น เช่น จุดในตาดำ มองภาพเป็นสีรุ้ง เห็นภาพเล็กหรือใหญ่กว่าความเป็นจริง หลังอาการเตือนหายไปแล้วจะค่อย ๆ ปวดหัวปรากฎขึ้น อาจจะปวดข้างเดียว หรือสองข้างก็ได้ ลักษณะการปวดจะปวดแบบตุ๊บๆ ที่ขมับท้ายทอยหรือหัวคิ้ว ถ้าปวดมากที่สุดอาจจะมีอาการอาเจียนด้วย อาการปวดมักจะเกิดเป็นชั่วโมง ถึงหลายชั่วโมง แล้วถึงจะดีขึ้น แต่ละคนก็จะมีรูปแบบการปวดเป็นเฉพาะคนๆ ไป สามารถบรรเทาอาการปวดโดยใช้ยา Ergotamine tartrate

    2. ปวดหัวเนื่องจากเส้นขอดในสมอง หรือเส้นเลือดโป่งพองในสมอง

    อาการปวดหัวชนิดนี้ มักจะเกิดทันทีทันใดอย่างรุนแรง หากปวดมากผู้ป่วยอาจหมดสติได้ และจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น แขน ขาไม่มีแรง อาเจียน ชัก มักมีอาการปวดต้นคออยู่ด้วย พบได้ในคนทุกอายุทั้งที่เคยมีอาการและไม่มีอาการปวดหัวมาก่อน ถึงใช้ยาแก้ปวดก็จะไม่ดีขึ้น

    3. ปวดหัวเนื่องจากกล้ามเนื้อตึงตัว

    ปวดหัวชนิดนี้มักปวดสองข้าง รู้สึกเหมือนถูกรัดที่ศีรษะ เกิดอยู่ทั้งวันทั้งคืน เมื่อรับประทานยาคลายเครียดแล้วอาจจะดีขึ้น

    4. ปวดหัวเนื่องจากเนื้องอกในสมอง

    กลุ่มนี้อาการจะรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนไข้จะมีอาการ ผิดปกติทางระบบประสาท เช่น มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ช้าลง ก้าวร้าวขึ้น ความจำไม่ดี อารมณ์เพศเปลี่ยนแปลง ตามัว เห็นภาพซ้อน ชัก เดินผิดปกติ อ่อนแรง เป็นอัมพาต ฯลฯ หากตรวจร่างกายคนไข้โดยละเอียดควบคู่กับการเอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์ จะสามารถช่วยวินิจฉัยโรคได้

    5. ปวดใบหน้าจากเส้นประสาทสมอง

    กลุ่มนี้มีหลายโรค

    5.1 Trigeminal Neuralgia จะมีอาการปวดเส้นประสาทสมอง คู่ที่ 5 ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ไปเลี้ยง ใบหน้าตั้งแต่หน้าผาก แก้ม คงด้านข้าง และในปาก กระพุ้งแก้ม เหงือกด้านบน และด้านล่าง แต่จะปวดสั้นๆ ครั้งหนึ่งไม่กี่นาที แต่ปวดขึ้นมาแล้วจะปวดรุนแรงมาก เพียงแค่ลูบใบหน้า รับประทานอาหารหรือแปรงฟันก็อาจจะปวดหน้าอย่างรุนแรงได้ อาการปวดก็จะเรื้อรังเป็นปี 3-5% จะปวดทั้งสองข้าง

    5.2 Post Herpetic Neuralgia จะมีอาการปวดใบหน้า โดยเกิดจากการแทรกซ้อนจากโรคงูสวัด อาการปวดจะเกิดในตำแหน่ง ที่เป็นงูสวัดบริเวณหน้าผากหรือตาด้านใดด้านหนึ่ง

    5.3 Occipital Neuralgia ผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะปวดบริเวณท้ายทอย เปลี่ยนที่ไปมาได้ จะเสียวที่หนังศีรษะ เวลาลูบผมหรือหวีผม ส่วนใหญ่จะหายไปเองในเวลา 2-3 สัปดาห์ เป็นอาการปวดตามเส้นประสาท Greater lesser Occipital Nerve

    ถ้ามีอาการปวดหัวเป็นประจำและมีอาการเหล่านี้ ควรจะไปปรึกษาแพทย์ครับ