วศ./ก.วิทย์ เตือนประชาชน “ส้มตำถาด” ภัยร้ายใกล้ตัวเสี่ยงสารปนเปื้อน
กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เตือนประชาชนให้ระวังการรับประทาน “ส้มตำถาด” เนื่องจากคุณภาพของถาดที่ใช้เสี่ยงอันตรายจากโลหะปนเปื้อน ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว จากการที่กรมวิทยาศาสตร์บริการ สุ่มตัวอย่างภาชนะโลหะเคลือบ จำนวน 30 ตัวอย่าง ซึ่งประกอบด้วยภาชนะแบบต่าง ๆ ทั้งที่มีลวดลายด้านในและภาชนะที่ไม่มีลวดลาย โดย น.ส.ดวงกมล เชาวน์ศรีหมุด นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อทดสอบปริมาณตะกั่วและแคดเมียมที่ละลายออกมาจากภาชนะ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ภาชนะโลหะเคลือบสำหรับใช้ในครัวเรือน มอก. 835-2531 ซึ่งวิธีการทดสอบ มีขั้นตอนการดำเนินงาน โดยการเติมสารละลายกรดอะซิติก ความเข้มข้น ร้อยละ 4 ลงในภาชนะจนเกือบถึงขอบภาชนะ และแช่ไว้ที่อุณหภูมิ 22 ± 2 องศาเซลเซียส เป็นเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นนำสารละลายที่ได้ไปทดสอบปริมาณตะกั่วและแคดเมียม โดยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ผลการทดสอบพบว่า ตัวอย่างภาชนะที่มีลวดลายด้านใน พบตะกั่วไม่เกินเกณฑ์กำหนด แต่ตัวอย่างส่วนใหญ่พบโลหะแคดเมียมเกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยบางตัวอย่างมีปริมาณแคดเมียมสูงกว่ามาตรฐานถึง 3 เท่า ขณะที่ตัวอย่างภาชนะที่ไม่มีลวดลายด้านในทดสอบพบตะกั่วและแคดเมียมไม่เกินเกณฑ์กำหนด ทั้งนี้ตัวอย่างภาชนะโลหะเคลือบบางตัวอย่าง ได้แก่ถาดที่นิยมใช้สำหรับส้มตำถาด ดังนั้นการเลือกใช้ภาชนะโลหะเคลือบที่มีลวดลายอยู่ด้านใน จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการได้รับแคดเมียมและตะกั่วที่ปนเปื้อนจากภาชนะ ผู้บริโภคจึงควรหันมาใส่ใจกับความปลอดภัยและรู้เท่าทันอันตรายที่อาจมากับการบริโภค