happy on November 25, 2012, 08:34:41 PM
เปลี่ยนประเทศไทยด้วยการรับจำนำข้าว:
ข้อเท็จจริงสำหรับ อ.นิธิ และประชาชน

นิพนธ์  พัวพงศกร
อัมมาร สยามวาลา
24พฤศจิกายน 2555

อนุสนธิจากบทความของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง “เปลี่ยนประเทศไทยด้วยการรับจำนำข้าว” ในมติชนออนไลน์ เมื่อวันทื่ 5 พฤศจิกายน 2555 ผู้เขียนทั้งสองคนขอให้ข้อเท็จจริงทั้งจากตัวเลขของหน่วยงานราชการ  และจากการวิจัยของผู้เขียน เราทั้งสองเชื่อว่าการมีข้อเท็จจริงที่ถูกต้องจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อชาวนาส่วนใหญ่ และประชาชนผู้เสียภาษี เรายังไม่กล้าหาญพอจะเสนอนโยบายที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยแบบอาจารย์นิธิ เพราะหากข้อเสนอให้เปลี่ยนประเทศเกิดผิดพลาดและสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศ เราไม่มีปัญญาและทรัพยากรพอจะแบกรับความเสียหายดังกล่าว

บทความของ อ.นิธิ มีหลายประเด็น แต่เราขอตอบเพียง 3 ประเด็น คือ เรื่องแรกเป็นเรื่องข้อมูลอาจารย์นิธิข้องใจฝ่ายคัดค้านโครงการจำนำข้าวที่ระบุว่าเงินจากโครงการจำนำข้าวไม่ตกถึงมือชาวนาเล็กที่ยากจน เรื่องที่สองเกี่ยวข้องกับการให้รัฐเข้ามาแทรกแซงตลาดข้าวแทนกลไกตลาด อาจารย์นิธิเห็นว่าการขาดทุนจากโครงการจำนำเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะรัฐบาลตั้งใจขาดทุน เพื่อปฏิรูปสังคมอ.นิธิจึงเสนอให้รัฐบาลต้องวางแผนระบายข้าวให้ดี โดยการระบายข้าวตามจังหวะเพื่อรักษาตลาดข้าวไทย และจำกัดการขาดทุนให้น้อยที่สุด รวมทั้งการเสนอให้รัฐบาลลงทุนเพิ่มมูลค่า เช่น การแพคเกจจิ๊ง เป็นต้น เรื่องสุดท้ายซึ่งเป็นประเด็นหลัก คือ อาจารย์นิธิเชื่อว่าโครงการรับจำนำข้าวมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้ชาวนาเพื่อการเปลี่ยนประเทศไทย

ประเด็นแรก  อาจารย์นิธิโต้แย้งผู้คัดค้านโครงการจำนำเรื่องที่ผู้คัดค้านโครงการจำนำเห็นว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่จากโครงการจำนำ คือชาวนาฐานะปานกลางขึ้นไป กับโรงสี...โดยระบุว่า “ความเห็นนี้ไม่ได้มาจากการวิจัย แต่เป็นการประมาณการเท่านั้น”

ข้อมูลที่เราสองคนนำเสนอต่อสาธารณชนว่าผู้ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่ เป็นชาวนาปานกลางขึ้นไปกับโรงสี มาจากข้อมูลจริงที่ได้จากหน่วยงานของรัฐและจากการวิจัย ไม่ใช่การประมาณการอย่างเลื่อนลอย อันที่จริงการวิจัยก็ต้องอาศัยการประมาณการจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ รายละเอียด ขอให้อ่านบทความในเว็บไซต์ของทีดีอาร์ไอ <www.tdri.or.th>

ผลการวิจัยโดยอาศัยข้อมูลการสำรวจรายได้รายจ่ายของครัวเรือนของสำนักงานสถิติฯในปี 2554 พบว่าชาวนายากจน (คือ ชาวนาที่อยู่ในครัวเรือน 30% ที่มีรายได้ต่ำสุด) ได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาระหว่าง ราคาจำนำ กับราคาตลาดก่อนมีการจำนำเป็นสัดส่วนเพียง 18% ชาวนาร่ำรวย(ซึ่งอยู่ในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 30%ของครัวเรือนทั้งประเทศ) ได้ประโยชน์ 39% และชาวนาปานกลางได้ส่วนแบ่ง 42%  วิธีคำนวณสมมติว่าครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมดขายข้าวทั้งหมดที่ผลิตได้ให้รัฐบาลในราคา 15,000 บาท (ซึ่งสูงกว่าราคาที่ชาวนาขายให้โรงสี) แล้วซื้อข้าวสาร(ราคาถูก) บริโภค โปรดสังเกตว่าการแบ่งกลุ่มรายได้ของชาวนาเราใช้รายได้ของครัวเรือนไทยทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะครัวเรือนชาวนา

สำหรับประเด็นที่สองของอาจารย์นิธิที่ว่าการขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวเป็นเงินเล็กน้อย  และเป็นการขาดทุนโดยตั้งใจ  เพราะฉะนั้นจึงสามารถบริหารจัดการได้ เราขอแยกเป็น 3 เรื่อง คือ (ก) เราเห็นว่าการขาดทุน(ซึ่งไม่น่าจะต่ำกว่า1.73 แสนล้านบาท) ไม่ใช่เรื่องเล็กเพราะเงินมีต้นทุนเสียโอกาส ขณะนี้ปรากฏข้อเท็จจริงแล้วว่าโครงการจำนำข้าวเริ่มเกิดผลกระทบทางการคลังต่อโครงการสำคัญอื่นๆที่เป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ เช่นงบประมาณของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคถูกจำกัดไว้เท่าเดิมใน 3 ปีข้างหน้า  ส่วนอีกสองเรื่องขอให้หาอ่านจากเว็บไซต์ทีดีอาร์ไอ ได้แก่ (ข) ความเห็นที่ว่าโครงการจำนำด้วยราคาสูง เป็นการปฏิรูปสังคม ชาวนาจะนำเงินขาดทุนไปลงทุนสร้างเนื้อสร้างตัว เป็นเพียงการคาดเดาของอาจารย์นิธิ อาจารย์เองก็บอกว่าชาวนาได้ปรับตัวแก้ปัญหาความจนโดยการออกไปทำงานนอกภาคเกษตร แต่ขณะนี้การจำนำกำลังดึงดูดแรงงานที่อยู่นอกภาคเกษตรให้กลับเข้ามาทำนา ยิ่งกว่านั้นโครงการนี้จะเลิกยาก ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินสงเคราะห์ชาวนาและโรงสีที่มีฐานะซึ่งจะก่อภาระการคลังหนักขึ้น แต่รัฐกลับละเลยชาวนายากจน (ค) อาจารย์นิธิเสนอให้รัฐบาลต้องวางแผนระบายข้าวให้ดีเพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด ในบทความฉบับยาว เราได้เปรียบเทียบผลงานการระบายข้าวของรัฐบาลที่เป็นระบบพรรคพวก และล้มเหลว กับกระบวนการผลิตและการค้าข้าวซึ่งควบคุมด้วยกลไกตลาด ที่ชักนำให้เกิดวิวัฒนาการมาจากการเรียนรู้ร่วมกันของชาวนาและผู้ประกอบการหลายฝ่าย จึงมีพลังเหนือกลไกรัฐ

ประเด็นที่สามซึ่งเป็นประเด็นหลักในบทความของอาจารย์นิธิ คือ อาจารย์เชื่อว่าโครงการรับจำนำข้าวจะมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้ชาวนาเพื่อการเปลี่ยนประเทศไทย

งานวิจัยหลายชิ้นที่พยายามพยากรณ์ความต้องการข้าวในตลาดต่างๆ  ต่างก็มีข้อสรุปเหมือนกันว่า  ปริมาณการบริโภคข้าวต่อหัวในเอเซียมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากรายได้ของคนเอเซียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เงินที่ใช้ในการซื้อข้าวมิได้ลดลงตาม ซึ่งชี้ให้เห็นว่า คนเอเซียเริ่มต้องการบริโภคข้าวที่มีคุณภาพสูงขึ้น  ในเรื่องนี้ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดี การบริโภคข้าวหอมมะลิในประเทศได้พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก  ขณะที่ปริมาณการบริโภคข้าวโดยทั่วไปสูงขึ้นในอัตราที่ต่ำ เพราะประชากรไทยเพิ่มขึ้นน้อย และการบริโภคข้าวต่อหัวลดลง ในเมื่ออนาคตจะเป็นเช่นนี้ ย่อมหมายความว่ายุทธศาสตร์ที่ฉลาดสำหรับประเทศไทยจึงน่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่สนับสนุนการผลิตข้าวคุณภาพดีทั้งสำหรับตลาดภายในและตลาดต่างประเทศ

ความจริงแล้ว  กระบวนการผลิตและค้าข้าวของไทยได้ประสบความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพข้าวมา  และจากชื่อเสียงของข้าวไทย  ตลาดต่างประเทศก็พร้อมที่จะให้ข้าวไทยได้ราคาสูงกว่าข้าวของประเทศอื่นๆ  แต่นโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดในปีที่ผ่านมากำลังคุกคามชื่อเสียงของข้าวไทยในตลาดต่างประเทศ (และแม้กระทั่งในประเทศ)  ทั้งนี้ เพราะชื่อเสียงและคุณภาพข้าวไทยมิได้เกิดขึ้นในสูญญากาศ  แต่จากกระบวนการผลิตและค้าข้าวไทยที่ชาวนา โรงสี และพ่อค้าส่งออกได้ร่วมกันสร้างมาแต่อดีต  และที่อาศัยกลไกตลาดเป็นเครื่องมือ  กระบวนการดังกล่าวนี้มีความละเอียดอ่อนพอสมควร สามารถแยกแยะเกรดข้าวต่างๆ  เช่นสามารถแยกแยะแม้กระทั่งข้าวหอมมะลิจากจังหวัดต่างๆ ได้  กระบวนการดังกล่าวกำลังถูกกวาดล้างออกไปโดยนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดซึ่งหยาบกว่า  ด้วยเหตุนี้ ชาวนาไทยจึงเริ่มหันไปปลูกข้าวที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ  ยิ่งถ้าดูในตลาดต่างประเทศแล้วความล้มเหลวของรัฐบาลในการระบายข้าว  รวมทั้งข้าวหอมมะลินั้นเป็นประจักษ์พยานอย่างชัดเจนว่าต่อไปนี้ชื่อเสียงของข้าวไทยนั้นจะเป็นเรื่องอดีต  ตราบใดที่การรับจำนำข้าวทุกเมล็ดจะยังเป็นนโยบายของรัฐบาลไทย

ที่เราให้ความสำคัญแก่ประเด็นนี้ ซึ่งดูเผินๆ แล้วดูจะเป็นประเด็นไม่ใหญ่นัก  เมื่อเทียบกับ “อะไรที่มีความสำคัญสุดยอดในการเปลี่ยนประเทศไทย” ที่อาจารย์นิธิเห็นในนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน  ที่อาจารย์นิธิให้ความสำคัญก็คือการสร้าง  “ความเข้มแข็งทางการเมืองให้แก่ชาวนา”  เราไม่ปฏิเสธคำพยากรณ์ของอาจารย์นิธิว่า “หากดำเนินนโยบายนี้ต่อไปอีกสักสองสามปี  จะไม่มีรัฐบาลไหนกล้าเลิกโครงการนี้เป็นอันขาด”  แต่เรามีคำถามว่า ถ้าความเข้มแข็งทางการเมืองของชาวนาตั้งอยู่บนความอ่อนแอของเศรษฐกิจการผลิตและค้าสินค้าที่มีความสำคัญสูงสำหรับประเทศชาติ  จะมิหมายความว่าอุตสาหกรรมข้าวโดยรวม (ไม่ว่าจะเป็นชาวนาร่ำรวย หรือ ชาวนาที่ “ยากจน” โรงสี และพ่อค้าที่มีเส้นสายการเมือง) จะต้องพึ่งเงินสงเคราะห์จากรัฐบาลอยู่ร่ำไปอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาและยุโรปหรือ???   (อนึ่ง นโยบายอุ้มภาคเกษตรในประเทศเหล่านี้ได้ทำให้พื้นที่การเกษตรตกอยู่ในมือของนักลงทุนที่ร่ำรวยมากๆ ที่มารวบซื้อที่ดินจากเกษตรกรเดิมๆ เพื่อตักตวงเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ความเข้มแข็งทางการเมืองของเกษตรกรในประเทศเหล่านี้มาจากนักลงทุนที่มารวบซื้อที่ดินเกษตรกรรม ขณะนี้ก็ปรากฏหลักฐานว่ามีบริษัทยักษ์ใหญ่ไทยบางแห่งได้กว้านซื้อที่ดินการเกษตรเป็นจำนวนมาก)

“ความเข้มแข็งทางการเมืองของชาวนา” ที่เราเห็นในบทส่งท้ายของอาจารย์นิธินั้น  เราก็เห็นว่าเกิดจากการที่ชาวนาใช้อำนาจหย่อนบัตรในการเลือกตั้ง  เลือกพรรคการเมืองที่สัญญาว่าจะให้ผลทันทีต่อตน  ข้อนี้เป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยแบบประชานิยมที่กำลังเป็นชุดนโยบายมาตรฐานของทุกพรรคการเมืองในปัจจุบัน  เสน่ห์ของประชาธิปไตยแบบนี้ คือทำให้เกิดนโยบายที่บรรลุผลทันตาเห็น เราไม่ปฏิเสธว่าชาวนาเกือบทุกคนได้ราคาข้าวตามที่รัฐบาลสัญญาไว้ แต่ที่เราวิตกมากก็คือ ผลเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากนโยบายนี้ทั้งแก่อุตสาหกรรมข้าวและสภาพการเงินการคลังของรัฐบาล จะมิได้รับการกล่าวถึง เพราะมิได้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่รัฐบาลสัญญาไว้  ยิ่งถ้าเป็นเรื่องระยะยาวหรือเป็นเรื่องของกลไก “หลังจอ” แล้ว ก็จะถูกกลบโดยเสียงไชโยในความสำเร็จ  กว่าผลเสียต่างๆ จะปรากฏ ประชาชนจะไม่สามารถเชื่อมโยงผลเสียกับนโยบายที่ผิดพลาดตั้งแต่ต้นได้  กระบวนการเรียนรู้ที่สังคมโดยรวมควรจะได้ก็จะไม่เกิดขึ้น สิ่งที่เราพยายามยกเรื่องเหล่านี้มาวิพากษ์วิจารณ์ก็ด้วยความเป็นห่วงในจุดบอดของประชาธิปไตยแบบประชานิยมที่กำลังเป็นแนวนโยบายของทุกรัฐบาลในประเทศไทย และเป็นห่วงอนาคตข้าวไทย ประชาธิปไตยที่ดี  ไม่ใช่แค่ประชาธิปไตยที่กินได้เท่านั้น แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยที่มีความรับผิดต่อความเสียหายที่จะเป็นผลพวงตามมาตลอดสาย