หลายคนคงสงสัยคำว่า ทฤษฎี “ไมโล” ที่ นิชคุณ พูดไว้ใน ภาพยนตร์เรื่อง รัก 7 ปี ดี 7 หนว่าคืออะไร ผมมีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีนี้มาฝากกันครับ
ไมโล หรือชื่อเต็มๆ ไมโล ออฟ ครอตั้น (Milo of Croton) เป็นชื่อนักมวยปล้ำชื่อดังของกรีก อันเป็นเจ้าของทฤษฎีการเพิ่มความหนักในการฝึก (Progressive Overload) โดยมีที่มาเมื่อไมโลต้องการฝึกร่างกายเพื่อแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ เขาจึงใช้วิธีการแบกลูกวัวที่เพิ่งเกิดไว้บนหลังแล้วเดินไปเดินมาเป็นประจำแทบทุกวัน เมื่อเวลาผ่านไป ลูกวัวก็โตขึ้นเรื่อยๆจนโตเต็มวัย ส่วนร่างกายของไมโลเองก็มีความแข็งแรงขึ้น จนเมื่อถึงวันแข่งขัน เขาก็สามารถคว้าแชมป์เหนือนักกีฬาคนอื่นมาได้ย่างสบาย เรื่องนี้ฟังง่ายๆเหมือนนิทานก่อนนอน แต่กลับมีความถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬาในเรื่องการออกกำลังกายทุกประการ ดังนี้
1. เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง หลายคนที่อยากแข็งแรง หุ่นดี แต่ไม่คิดที่จะออกกำลังกาย คงต้องย้อนไปดูเฮียไมโล ที่นึกครึ้มแบกลูกวัวเดินไปเดินมา เพราะฉะนั้นหลายคนที่ไม่เคยออกกำลังกาย ก็อาจจะเริ่มต้นด้วยการเดิน-วิ่งแบบเบาๆในปริมาณที่น้อยๆให้ร่างกายค่อยๆรับรู้ว่าเรากำลังจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เราเรียกหลักการนี้ว่า “หลักการกระตุ้นกล้ามเนื้อ” ที่สำคัญคือต้องระวังไม่ให้บาดเจ็บ ไม่อย่างนั้นการออกกำลังกายอาจเป็นฝันร้ายของคุณก็ได้
2. เพิ่มปริมาณอย่างเหมาะสม เมื่อทำการกระตุ้นกล้ามเนื้อแล้ว จำเป็นต้องออกกำลังกายด้วยความเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป บางคนเห็นพี่สู่ขวัญวิ่งมาราธอนได้ ก็คิดว่าไม่ยาก พอเอาเข้าจริง วิ่งได้วันเดียวก็กลับมาเจ็บแล้วก็หยุดยาวกันไป ลองดูที่ทฤษฎีไมโล เฮียแกก็ไม่ได้รีบยกวัวที่โตเต็มวัยเลย แต่เริ่มยกลูกวัวที่เพิ่งเกิดก่อน และเมื่อวัวโตขึ้นกล้ามเนื้อของเฮียแกก็แข็งแรงขึ้นตามน้ำหนักวัวที่แบก เราก็นำทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ด้วยการเริ่มจากการเดิน สัก 2-3 วันก่อน หลังจากนั้นก็เดินเร็วขึ้น พัฒนาเป็นการวิ่งเหยาะๆ แล้วค่อยๆเพิ่มปริมาณให้มากขึ้นเรื่อยๆที่ร่างกายสามารถรับได้
3. ทำเป็นประจำจนรู้สึกชิน นอกเหนือจากความหนักที่เหมาะสมแล้ว สิ่งที่สำคัญและยากที่สุดในการออกกำลังกายก็คือความถี่ของการออกกำลังกาย ทฤษฎีไมโลแสดงให้เห็นว่า เราไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายทุกวันแต่ให้ทำเป็นประจำ (โดยประมาณคือ 3-5 วัน/สัปดาห์ และควรมีวันหยุดให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอด้วย) และเมื่อร่างกายของคนเราได้ออกกำลังกายจนถึงช่วงเวลาหนึ่งก็จะหลั่งสารเอ็นโดรฟิน(สารแห่งความสุข) จึงทำให้ผู้ที่ออกกำลังกายมีความสุขทั้งทางกายและใจ ก็ขอให้ทุกคนเอาทฤษฎีไมโลมาปรับใช้กับการออกกำลังกายนะครับ
“ร่างกายเป็นของเราแล้วถ้าเราไม่ดูแล จะให้หมอเป็นผู้ดูแลหรืออย่างไร”
ข้อมูลจาก : DR.THIK นิสิตปริญญาเอกวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาฯ