happy on August 16, 2014, 01:36:07 PM
การพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์บริการ
ให้เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงของอาเซียนด้านวัสดุสัมผัสอาหาร

               กรมวิทยาศาสตร์บริการได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์บริการให้เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงของอาเซียนด้านวัสดุสัมผัสอาหาร ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของประเทศในกลุ่มอาเซียนในการพัฒนามาตรฐานของอาเซียนเกี่ยวกับวัสดุสัมผัสอาหาร  สารปนเปื้อนอันเนื่องมาจากวัสดุสัมผัสอาหาร  สามารถเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงของอาเซียนในกรณีที่มีข้อพิพาทอันเนื่องมาจากผลการทดสอบกรณีที่มีการโต้แย้งของประเทศคู่ค้าในอาเซียน  รวมทั้งมีส่วนผลักดันสร้างความเข้มแข็งภาคอุตสาหกรรมอาหาร และบรรจุภัณฑ์ของไทย




               นางสุมาลี  ทั่งพิทยกุล  รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นประธานในการต้อนรับทีมผู้เชี่ยวชาญ (ASEAN Expert) ในสาขาวัสดุสัมผัสอาหาร จากประเทศสิงคโปร์  มาเลเซีย และเวียดนาม ที่มาตรวจสอบความพร้อมของห้องปฏิบัติการด้านวัสดุสัมผัสอาหารของกรมวิทยาศาสตร์บริการในระหว่างวันที่ 14-15 สิงหาคม พ.ศ. 2557  ณ กรมวิทยาศาสตร์บริการ  ราชเทวี กรุงเทพฯ

               ทั้งนี้ในการผลักดันการเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงของอาเซียนด้านวัสดุสัมผัสอาหาร  คณะ ASEAN  Food Testing Laboratory Committee (AFTLC)  ได้อนุมัติเอกสารของขั้นตอนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการอ้างอิงของอาเซียน พร้อมทั้งคัดเลือกทีมผู้เชี่ยวชาญ (ASEAN Expert) ในสาขาวัสดุสัมผัสอาหาร จำนวน 3 ท่าน ได้แก่  Ms. Joanne Chan Sheot Harn (Expert Panel Leader) ประเทศสิงคโปร์   Ms. Zalilah Nasir  (Expert)  ประเทศมาเลเซีย  และ Ms. Le Thi Hong Hao  (Expert)  ประเทศเวียดนาม เพื่อมาตรวจสอบความพร้อมของห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์บริการตามเงื่อนไขที่กำหนดใน TOR  ระหว่างวันที่ 14-15 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่มาประเมินจะรายงานผลให้ AFTLC  เพื่อส่งให้คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านมาตรฐานและคุณภาพของอาเซียน ด้านอาหารสำเร็จรูป (ASEAN Consultative Committee on Standard and Quality – Prepared Foodstuff Product Working Group: ACCSQ-PFPWG)  รับรองการเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านวัสดุสัมผัสอาหารของอาเซียนอย่างเป็นทางการตามที่กำหนดไว้ใน AEC Scorecard ต่อไป

               นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์บริการยังได้ดำเนินงานตามภารกิจของการเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านวัสดุสัมผัสอาหารของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การเร่งขยายผลการจัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญรายการ Bisphenol A  เพื่อให้หน่วยงานจากประเทศมาเลเซียและเวียดนามเข้าร่วมทดสอบความชำนาญ  การจัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน การจัดทำเป็นเว็บไซต์ศูนย์เชี่ยวชาญด้านวัสดุสัมผัสอาหารเพื่อรวบรวมข้อมูลด้านวัสดุสัมผัสอาหารที่มีความทันสมัยเป็นปัจจุบัน  สำหรับเป็นแหล่งอ้างอิงและรับรองทางวิชาการด้านวัสดุสัมผัสอาหาร  ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว