happy on December 11, 2012, 04:23:27 PM
สถาบันอาหาร หนุนเอสเอ็มอีไทยจับคู่ธุรกิจในเวียดนาม

               สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยข้อมูลตลาดอาหารในเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องทั้งในแง่การลงทุนและการค้า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป การผลิตเพื่อส่งออก และธุรกิจร้านอาหาร ผุดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เอสเอ็มอีร้อยละ 30 ทั้งเตรียมอนุมัติงบ 58.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามแผนระยะ 5 ปี ตั้งเป้าเพิ่มการจ้างงานใหม่ราว 4 ล้านอัตรา พร้อมเพิ่มจำนวนเอสเอ็มอีในประเทศอีกร้อยละ 30 หรือเป็น 600,000 ราย ภายในปี 2558 ชี้มีจุดแข็งที่ค่าแรงไม่สูง และได้รับสิทธิพิเศษภาษีศุลกากร(GSP)ที่ดีกว่าของไทย แม้จะมีอุปสรรคเรื่องต้นทุนโลจิสติกส์อยู่บ้าง ทั้งเพิ่งประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือราว 4.8 ดอลล่าร์สหรัฐ แนะผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อมเร่งศึกษาลู่ทางการลงทุน สถาบันอาหารเตรียมนำเอสเอ็มอี ไทยจับคู่ธุรกิจ เจรจาการค้าและสร้างเครือข่ายร่วมกับนักธุรกิจเวียดนาม ระหว่าง 17 - 20 ธันวาคมนี้ ณ นครโฮจิมินห์ ภายใต้โครงการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสาขาอาหารสู่อาเซียน+6  มั่นใจผู้ประกอบการได้ประโยชน์สูงสุด


นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร

               นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เผยว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมเบื้องต้น (GDP) ของเวียดนาม มาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.1 รองลงมาคือจากภาคธุรกิจบริการร้อยละ 38.3 และภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนร้อยละ 20.6 ตามลำดับ และแม้ว่าเวียดนามจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเช่นเดียวกับนานาประเทศทั่วโลก แต่สำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม (General Statistics Office : GSO) ก็รายงานว่า ในปี 2555 นี้ เวียดนามมีแนวโน้มที่จะเกินดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2555 เกินดุลการค้าแล้ว 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับอานิสงส์จากมูลค่าส่งออกสินค้าไฮเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งเป็นผลจากการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติรายใหญ่

               อย่างไรก็ตามทางการเวียดนามระบุว่าเศรษฐกิจปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำสุดในรอบ 13 ปี เนื่องจากต้องเผชิญปัญหารุมเร้ารอบด้านโดยเฉพาะปัญหาหนี้เสียของภาคธนาคารที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งการลงทุนและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ชะลอการขยายตัวลง ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามจำเป็นต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ถึงร้อยละ 6.5 ในไตรมาส 4 เพื่อให้เศรษฐกิจโดยรวมทั้งปี 2555 ขยายตัวได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลเวียดนามที่ร้อยละ 5.2

               เมื่อพิจารณาเฉพาะด้านการค้าสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปของเวียดนามในตลาดโลก มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2553 การนำเข้าอาหารสด (Fresh Food) ของเวียดนามมีมูลค่า 4,864,94 ล้าน      ดอลล่าร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 5.34 ของมูลค่าสินค้านำเข้าทั้งหมด ได้แก่ สินค้าจำพวกเนื้อสัตว์ ผลไม้ ข้าวสาลี แป้งและสตาร์ช ผัก อาหารทะเล ขณะที่การนำเข้าอาหารแปรรูป (Processed Food) มีมูลค่า 2,821.74 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.1 ของมูลค่านำเข้าสินค้าทั้งหมดของเวียดนาม ได้แก่สินค้าจำพวก เครื่องดื่ม อาหารสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์จากแป้ง นม ลูกอม ผักผลไม้แปรรูป น้ำมันพืช

               ส่วนภาคการส่งออกของเวียดนามนั้น อาหารสดมีอัตราขยายตัวสูงถึงร้อยละ15 คือมีมูลค่าราว 11,497.94 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมด ได้แก่สินค้าอาหารทะเลแช่แข็ง กาแฟ ข้าว ถั่ว ผลไม้ ส่วนอาหารแปรรูปมีอัตราขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ12 มีมูลค่าราว 1,790.35 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ได้แก่ สินค้าอาหารทะเลแปรรูป ผักผลไม้แปรรูป อาหารสำเร็จรูป น้ำตาล คิดเป็นร้อยละ 2 ของมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมด

               สำหรับการค้าอาหารระหว่างไทย-เวียดนาม ในปี 2554 พบว่าเวียดนามเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับที่
11 ของไทย คือมีมูลค่าราว 20,450 ล้านบาท หรือมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.12 ของมูลค่าส่งออกอาหารทั้งหมดของไทย  โดยสินค้าส่งออกของไทยที่ขยายตัวดีในเวียดนาม ได้แก่ ลำไยแห้ง น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ และเครื่องดื่มไม่อัดลม และหากพิจารณาเฉพาะในอาเซียนกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) พบว่าเวียดนามเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 3 ของไทย รองจากกัมพูชา และพม่า โดยมีสัดส่วนมูลค่าส่งออกร้อยละ 26.59 ของมูลค่าส่งออกอาหารไปกลุ่ม CLMV  ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าอาหารจากเวียดนาม ด้วยมูลค่าราว 9,404 ล้านบาท สินค้าที่ไทยนำเข้าจากเวียดนามที่สำคัญ ได้แก่ กาแฟอะราบิก้า เมล็ดมะม่วง หิมพานต์ ปลาหมึกกล้วย ขณะที่คู่ค้าอันดับหนึ่งของเวียดนาม คือ ประเทศจีน


               นายอมร กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในเวียดนาม ปัจจุบันมีการแข่งขันค่อนข้างมากเนื่องจากตลาดการบริโภคภายในประเทศกำลังเติบโต วิถีชีวิตของชาวเวียดนามที่เร่งรีบขึ้นมีชั่วโมงทำงานต่อวันยาวนานขึ้น  มีเวลาเตรียมอาหารน้อยลง ที่โดดเด่นได้แก่อาหารพร้อมรับประทาน โดยในปี 2554 มูลค่าตลาดมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือคิดเป็น 380.4 พันล้านด่อง โดย “อาหารพร้อมรับประทานกระป๋อง” เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงอันดับ 1คิดเป็น 301.6 พันล้านด่อง รองลงมาคือ “อาหารพร้อมรับประทานแช่เย็น” 40.5 พันล้านด่อง และ “อาหารพร้อมรับประทานแบบแห้ง” 38.2 พันล้านด่อง ตามลำดับ คาดว่า “อาหารพร้อมรับประทาน” ในเวียดนามจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 406.1 พันล้านด่องในปี 2555

               สำหรับธุรกิจร้านอาหารในประเทศเวียดนามก็เช่นเดียวกัน มีจำนวนสูงถึง 543,002 ร้าน ในปี 2553
โดยแบ่งเป็นร้านอิสระ (Independent) 540,974 ร้าน และร้านที่มีสาขา (Chained) 2, 028 ร้าน  โดยในปี 2553 อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 499.8 ล้านล้านด่อง ในอนาคตธุรกิจร้านอาหารจะยังคงเติบโตต่อไป คาดว่าธุรกิจจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 503.3 ล้านล้านด่องในปี 2555  โดยจะเขยิบเป็น 522.8 ล้านล้านด่องในปี 2558


               “แม้ว่ารัฐบาลเวียดนามได้ประกาศปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอีกราวร้อยละ 10 ต่อเดือน  หรือ 4.8 ดอลลาร์สหรัฐ โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2556  แต่ก็ได้ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลงอีกร้อยละ 30 โดยมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2555 เศรษฐกิจขยายตัวเพียงร้อยละ 4.66 และมีแนวโน้มว่าทั้งปี 2555 เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 6 นอกจากนี้ยังเตรียมอนุมัติงบประมาณ 58.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีตามแผนระยะ 5 ปี โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มการจ้างงานใหม่ราว 4 ล้านอัตรา พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนเอสเอ็มอีในประเทศอีกร้อยละ 30 เป็น 600,000 รายภายในปี 2558 ทั้งนี้เวียดนามยังได้สิทธิพิเศษทางภาษีศูลกากร(GSP) จากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โดยลดหย่อนร้อยละ 2.5-100 รวมทั้งออกกฎระเบียบการค้าการลงทุนที่จูงใจนักลงทุนต่างชาติในอีกหลายด้าน”

               นายอมร กล่าวต่อว่า ด้วยจำนวนประชากรเวียดนามที่มีมากกว่า 86 ล้านคน และจากข้อมูลของ Business Monitor International ในรายงาน Vietnam Food & Drink ประเมินว่าปี 2555 เวียดนามมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารต่อคนต่อปีอยู่ที่ 212.7 ดอลล่าร์สหรัฐ ทั้งนี้มูลค่าตลาดอาหารในเวียดนามในภาพรวมปี 2554 อยู่ที่ 17.45 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยในปี 2555 นี้ คาดว่าจะมีอัตราขยายตัวร้อยละ 9.91 หรือมีมูลค่าราว 19.17   พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ และด้วยสถานการณ์การค้าและการลงทุนในเวียดนามที่เป็นปัจจัยบวกนี้เอง สถาบันอาหาร จึงได้จัดกิจกรรมเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสาขาอาหารสู่อาเซียน+6  ณ นครโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามขึ้น ระหว่างวันที่ 17 – 20 ธันวาคม 2555 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)  เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านอุตสาหกรรมอาหารให้มีโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังประเทศเวียดนาม  โดยในครั้งนี้จะนำคณะผู้ประกอบการของไทยไปร่วมเจรจาการค้าและสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ พบกับผู้นำเข้าตัวจริง พร้อมร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำธุรกิจกับนักธุรกิจไทยในเวียดนาม และผู้แทนจากหน่วยงานด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทย ทั้งศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค และดูงานด้านธุรกิจค้าปลีกในซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่อย่างน้อย 2 แห่ง  ทั้งนี้เพื่อให้การขยายธุรกิจของเอสเอ็มอีไทยไปยังเวียดนามมีประสิทธิภาพมากที่สุด