happy on October 13, 2012, 07:07:24 PM

TAI CHI 0 ไทเก็ก หมัดเล็กเหล็กตัน
จากตัวตลกสู่วีรบุรุษ

Tai Chi O /กำหนดเข้าฉาย 25 ตุลาคม 2012

Tai Chi Hero /กำหนดเข้าฉาย 22 พฤศจิกายน 2012

นักแสดง - เหลียงเจียฮุย, แองเจล่าเบบี้, เผิงอวี้เอี้ยน, ซูฉี, แดเนี่ยล วู

ผู้กำกับ - ฝงเต๋อหลุน

ประเภท – แอ็คชั่น, ไซไฟ  / ระบบ Digital พากย์ไทย


เรื่องย่อ

               หยางลู่ฉานเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์พิเศษในตัว แต่กระนั้นเขาก็ถูกล้อเลียนว่าเป็นตัวตลกประจำเมือง แม่ของหยางจึงกระตุ้นให้เขาฝึกฝนวิชาการต่อสู้ โดยการเดินทางไกลไปหมู่บ้านเฉินอันเลื่องชื่อเพื่อเรียนเพลงมวยไท้เก๊ก ทว่าในหมู่บ้านเฉิน มีกฎเหล็กอยู่หนึ่งข้อคือห้ามเผยแพร่วิชาไท้เก๊กแก่คนภายนอก ทันทีที่หยางเดินทางมาถึง เขาก็ถูกคนในหมู่บ้านท้าประลองฝีมือ นับตั้งแต่ผู้ชายแข็งแกร่ง, ผู้หญิงอ้อนแอ้น ไปจนถึงเด็กตัวเล็กๆ ทุกคนสามารถเอาชนะหยางได้หมด หลังจากผ่านการต่อสู้อันหนักหน่วง และพ่ายแพ้แก่ยื่อเหนียง ลูกสาวคนสวยของปรมาจารย์เฉิน เจ้าหนุ่มหยางก็ยิ่งเลื่อมใสในวิชาไท้เก๊ก และยิ่งอยากพบปรมาจารย์เฉินเพื่อขอฝากตัวเป็นศิษย์ แต่หยางหารู้ไม่ว่าชายแปลกหน้าซอมซ่อผู้ช่วยเขาไว้ในการประลองกับยื่อเหนียง ก็คือปรมาจารย์เฉินนั่นเอง เฉินสัมผัสได้ถึงความพิเศษในตัวชายหนุ่มคนนี้ เขาจึงแอบถ่ายทอดเพลงมวยไท้เก๊กให้หยางอย่างลับๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง หมู่บ้านเฉินก็ถูกรุกรานโดยการมาเยือนของฝางซื่อชิง เพื่อนในวัยเด็กของยื่อเหนียง ผู้นำคำสั่งราชการมาบอกให้คนในหมู่บ้านยอมรับว่า เขามีสิทธิ์สร้างทางรถไฟตัดตรงเข้ามายังหมู่บ้าน นั่นทำให้หยางต้องผนึกกำลังกับยื่อเหนียง เพื่อขัดขวางไม่ให้ฝางซื่อชิงและเครื่องจักรพิฆาตของเขาทำงานสำเร็จ ในที่สุดความกล้าหาญของหยางก็สามารถเอาชนะใจยื่อเหนียงและคนในหมู่บ้านได้




ประวัติศาสตร์ไท้เก๊ก
  
               “สิ่งประดิษฐ์ยิ่งใหญ่ 4 อย่างของจีน” ได้แก่ เข็มทิศ, ดินปืน, การผลิตกระดาษ และการพิมพ์ ไม่เพียงสร้างความเจริญให้ชาวจีนเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มศักยภาพให้ชาวตะวันตกด้วย สมัยราชวงศ์ฉิง (1644-1911) คือช่วงเวลาแห่งความถดถอยทางเทคโนโลยีในประเทศจีน ด้วยการขาดแคลนศิลปวิทยาการใหม่ๆ รวมถึงไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมใดๆ ซึ่งต่างจากซีกโลกฝั่งตรงข้าม ที่เวลานั้นถือเป็นช่วงก้าวกระโดดของชาติตะวันตก
             จีนต้องขื่นขมกับความพ่ายแพ้ต่ออำนาจของชาวตะวันตก ยกตัวอย่างเช่น สงครามฝิ่น (1838-1842, 1856-1860) ที่ผลลัพธ์ของมันทำให้เกิดสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อจีน จากการร่วมมือกันของอังกฤษ, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น และรัสเซีย เมื่อไม่อาจทนต่อสภาพการกดขี่ข่มเหงของชาวต่างชาติ และการฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาลตัวเอง ประชาชนชาวจีนจึงพร้อมใจกันลุกฮือขึ้น แต่สุดท้ายพวกเขาก็ต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ มีชาวจีนรักชาติจำนวนหลายสิบล้านคนถูกฆ่าตายในการลุกขึ้นต่อต้านชาวตะวันตกครั้งนี้ แต่ในความเจ็บปวดก็ยังมีสิ่งดีๆ แฝงอยู่ นั่นคือช่วงเวลาอันโหดร้ายนั้นเอง เป็นช่วงเวลาที่วิชาศิลปะการต่อสู้ของจีนเติบโตรุ่งเรืองมากที่สุด แม้ว่าชุ่นสึ กษัตริย์องค์แรกแห่งราชวงศ์ฉิง ได้ออกคำสั่งไม่ให้มีการเรียน, การสอน และฝึกฝนวิชาการต่อสู้ทั้งหลาย แต่วิชาเหล่านั้นก็ถูกส่งผ่านจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นโดยไม่เปิดเผย
            วิชาไท้เก๊กสอนให้คนรู้จักการผ่อนถ่ายพลังที่จู่โจมเข้ามา และส่งพลังนั้นคืนกลับไปยังคู่ต่อสู้ ด้วยการค้นหาจุดสมดุลของตัวเอง และการควบคุมฝ่ายตรงข้ามโดยใช้ลีลาท่วงท่าของร่างกายระหว่างการปะทะ มันจึงเป็นมากกว่าการใช้กำลังต่อต้านกำลัง ที่จะทำให้ผู้ต่อสู้บาดเจ็บทั้งคู่ ผู้ฝึกฝนไท้เก๊กสามารถใช้พลังนำพาร่างกายตนเองถอยหลัง, หลบหลีก, ลอยตัว เพื่อหลีกเลี่ยงจากการบาดเจ็บได้ วิชาไท้เก๊กดั้งเดิมที่เรียกกันว่า “ไท้เก๊กแบบเฉิน” ถูกคิดค้นขึ้นมาในยุคเริ่มต้นราชวงศ์ฉิงโดย เฉินหวังฉิง (1580-1660) และถูกถ่ายทอดสู่คนในตระกูลอย่างลับๆ จนกระทั่งถึงรุ่นของเฉินฉางชิง (1771-1853) มันก็ถูกสอนแก่คนภายนอกชื่อหยางลู่ฉาน (1799-1872) ผู้ที่นำวิชานี้ไปพัฒนาจนกลายเป็น “ไท้เก๊กแบบหยาง” ในที่สุด


เบื้องหลังงานสร้าง

               ใน Tai Chi 0 ผู้อำนวยการสร้าง เฉินกั๋วฟุ และผู้กำกับ เฝิงเต๋อหลวน ตั้งใจสร้างสรรค์ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่มาพร้อมฉากแอ็คชั่นมันระห่ำ ในแบบเดียวกับภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องดังอย่าง 300 ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ทั้งคู่ผลิตผลงานชิ้นนี้ และเฉกเช่นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อีกมากมายหลายเรื่องของจีน พวกเขาคิดว่านี่คือเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการสร้าง Tai Chi 0 แม้ว่ามันจะเป็นที่ถูกอกถูกใจบรรดาผู้ชมที่ชื่นชอบภาพยนตร์แนวแอ็คชั่นกำลังภายใน ด้วยเรื่องราวที่เล่าถึงจุดกำเนิดของวิชาไท้เก๊ก แต่เฉินและเฝิงก็รู้ดีว่า เรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการเพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ ลงไป เพื่อเอาใจเหล่าผู้ชมวัยรุ่น ด้วยเหตุนี้ ผู้กำกับ เฝิงจึงย้อนกลับไปมองภาพยนตร์การ์ตูนญี่ปุ่น และวิดีโอเกมส์ ของสองสิ่งที่เขาหลงใหลอย่างที่สุด และนำพวกมันมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ Tai Chi 0 ด้วย นอกจากนี้ เฝิงยังนำจุดที่น่าสนใจแบบนิยายวิทยาศาสตร์ มาใส่ไว้ในภาพยนตร์จีน และมันก็กลายเป็นส่วนผสมอันลงตัว เมื่อช่วงเวลาที่แตกต่างกันในประวัติศาสตร์จีน ถูกนำมาตีความใหม่จนเกิดเป็นโลกที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมา
            ทีมงานฝ่ายศิลป์ได้แรงบันดาลใจมามากมายจากหลายช่องทาง ตั้งแต่ภาพวาดของศิลปินเอก ลีโอนาร์โด ดาวินชี ไปจนถึงวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน ผู้ออกแบบงานสร้าง ทิม ยิป เจ้าของรางวัลออสการ์จากภาพยนตร์เรื่อง Crouching Tiger Hidden Dragon พูดถึงเรื่องนี้ว่า “แม้ว่าเราจะตั้งใจสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้หนังจีน แต่เราก็ทำมันด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด” และผู้กำกับ เฝิง ก็อธิบายเพิ่มเติมว่า “ในส่วนของกังฟู เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะมันจะทำให้เกิดความตื่นเต้นเร้าใจ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในหนังเรื่องนี้คือ ความแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน”
            “ไอเดียไหนก็ตามที่ถูกเสนอเข้ามา ผู้อำนวยการสร้าง เฉินจะพิจารณามันด้วยเหตุผล” ทิม ยิปกล่าว “เขาเป็นคนที่มีประสบการณ์มากในการสร้างหนัง ส่วนเฝิงเต๋อหลวน เขาคือผู้กำกับหนุ่มไฟแรงที่กล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ ผมคิดว่าเขาคือตัวเลือกที่ดีที่สุด ที่จะมากำกับหนังเรื่องนี้” ในตอนแรก เฉินกั๋วฟุ, เฝิงเต๋อหลวน และหงจินเป่า ผู้กำกับฉากแอ็คชั่น ต้องการนำเสนอภาพการต่อสู้ไท้เก๊กของจริง ผ่านตำนานชีวิตของสองปรมาจารย์ผู้เป็นตัวแทนของสำนักสอนวิชาศิลปะการต่อสู้ที่แตกต่างกันสองแห่งในศตวรรษที่ 19 “ผมต้องนำเสนอภาพการต่อสู้ที่รุนแรง, มีพลัง และดูสมจริงอย่างที่ผู้กำกับ เฝิงอยากให้เป็น และแน่นอนว่าฉากแอ็คชั่นทุกฉาก ต้องแสดงให้เห็นถึงบุคลิกลักษณะและอารมณ์ของตัวละครแต่ละตัวในช่วงเวลานั้นๆ ด้วย” หงจินเป่ากล่าว มีผู้เชี่ยวชาญด้านไท้เก๊กหลายคนมาคอยให้คำปรึกษาแก่หงจินเป่าตลอดระยะเวลาถ่ายทำนานหกเดือน ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นการถ่ายทำแต่ละวัน หงจินเป่าและทีมของเขาจะกลับมานั่งดูและตัดต่อวิดีโอผลงานในวันนั้น เพื่อนำไปใช้อธิบายและสื่อสารกับเหล่านักแสดงและผู้กำกับ เฝิงเต๋อหลวน ในการถ่ายทำวันต่อไป
            แม้ว่า Tai Chi 0 จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับไท้เก๊ก แต่ก็ยังมีฉากแอ็คชั่นของศิลปะการต่อสู้อันหลากหลายอัดแน่นอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตอนต้นเรื่องก่อนที่หยางจะเดินทางไปหมู่บ้านเฉิน ภาพการต่อสู้จะถูกถ่ายทอดออกมาอย่างรุนแรงและน่ากลัวมาก กระทั่งเขาไปถึงหมู่บ้านเฉิน และได้ต่อสู้กับยื่อเหนียง รวมถึงชาวบ้านคนอื่นๆ ผู้ชมก็จะได้เห็นศิลปะการต่อสู้แบบไท้เก๊กอย่างแท้จริง ซึ่งในส่วนคิวบู๊ของยื่อเหนียง และตัวละครหญิงรายอื่น ทีมงานได้ออกแบบท่าทางการต่อสู้ให้มีลักษณะอ่อนช้อยงดงามตามลักษณะของสตรีเพศ แต่แฝงไว้ด้วยพละกำลังไม่แพ้ท่วงท่าการต่อสู้ของผู้ชาย  
« Last Edit: October 14, 2012, 07:08:33 PM by happy »

happy on October 13, 2012, 07:16:50 PM





ตัวละครและนักแสดง

หยางลู่ฉาน  (หยวนเสี่ยวเฉา)

               “เจ้าทึ่มผู้ต้องต่อสู้กับอุปสรรคขวากหนามสารพัน จนกลายมาเป็นผู้สืบทอดวิชาศิลปะการต่อสู้ไท้เก๊ก”
            หยวนเสี่ยวเฉา (เกิดปี 1988 ที่ยุ่นเฉิง) เป็นหลานของหยวนชินตง เจ้าแห่งศิลปะการต่อสู้ผู้โด่งดัง หยวนเสี่ยวเฉาก้าวเข้าสู่การแข่งขันกีฬาศิลปะการป้องกันตัวตั้งแต่ปี 2002 และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เมื่อเขาพิชิตเหรียญทองจากการแข่งขันวูซูยุทธลีลาในเอเชียนเกมส์ ปี 2006 ที่โดฮา ประเทศการ์ตา อีกสี่ปีต่อมา เขาก็สามารถป้องกันแชมป์ไว้ได้ ด้วยการคว้าเหรียญทองอีกครั้งในเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 16 ที่ประเทศจีน ภาพยนตร์เรื่อง Tai Chi 0 คือผลงานการแสดงเรื่องแรกของเขา


ยื่อเหนียง  (แองเจลาเบบี้)

               “สาวสวยที่สุดแห่งหมู่บ้านเฉิน ผู้มีวิชากังฟูแกร่งกล้า ทว่าจิตใจอ่อนโยน เธอใฝ่ฝันว่าจะได้แต่งงานกับเจ้าชาย แต่พรหมลิขิตให้เธอได้มาพบรักกับเจ้าทึ่มคนหนึ่ง”
            แองเจลาเบบี้ (เกิดปี 1989 ที่เซี่ยงไฮ้) เริ่มทำงานเป็นนางแบบที่ฮ่องกงเมื่อปี 2007 ซึ่งในปีเดียวกันนั่นเอง เธอก็ได้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกคือ Trivial Matters แต่มาเป็นที่จับตามองของนักวิจารณ์และแฟนภาพยนตร์จริงๆ จากเรื่อง Hot Summer Days ซึ่งส่งให้เธอกลายมาเป็นนักแสดงหญิงผู้มีงานชุกที่สุดแห่งประเทศจีน ในปี 2011 เธอมีผลงานการแสดงถึง 6 เรื่อง เช่น Love in Space, Love You You และ Black & White


ฝางซื่อชิง  (เอ๊ดดี้ เผิง)

               “ฝางซื่อชิงได้รับการศึกษาจากตะวันตก ทำให้ความคิดของเขาเปลี่ยนไป เขาอยากนำความเจริญมาสู่หมู่บ้านที่เขาเคยอยู่ โดยไม่สนใจว่าจะต้องเสียอะไรไปมากมายขนาดไหน”
            เอ๊ดดี้ เผิง (เกิดปี 1982 ที่ไทเป) ย้ายไปอยู่ประเทศแคนาดา ตอนเขาอายุ 14 ปี หลังจากย้ายกลับมาไต้หวัน เขาก็เริ่มต้นอาชีพนักแสดง โดยมีผลงานทั้งในวงการโทรทัศน์และภาพยนตร์ เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลม้าทองคำ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมประจำปี 2011 จากภาพยนตร์เรื่อง Jump Ashin! ผลงานเด่นเรื่องอื่นของเขาได้แก่ My DNA Says I Love You (2007), My So-Called Love (2008), Hear Me (2009) และ Close to You (2010)


ปรมาจารย์เฉิน  (เหลียงเจียฮุย)

               “ปรมาจารย์ไท้เก๊กผู้คอยปกป้องคุ้มครองหมู่บ้าน เขาชอบแฝงกายซ่อนเร้น และเคลื่อนไหวไปมาประดุจเงา”
            เหลียงเจียฮุย (เกิดปี 1958 ที่ฮ่องกง) เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของคนในวงการภาพยนตร์ เขาเริ่มทำงานในวงการบันเทิง ด้วยการเป็นนักแสดงฝึกหัดของสถานีโทรทัศน์ TVB กระทั่งปี 1983 เขาก็ได้แสดงนำในภาพยนตร์สองเรื่องของผู้กำกับระดับตำนาน หลี่ฮั่นเสียง คือ The Burning of the Imperial Palace และ Reign Behind the Curtain ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรกบนเวที Hong Kong Film Awards นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ เหลียงเจียฮุยมีผลงานการแสดงในภาพยนตร์เป็นจำนวนมากกว่า 100 เรื่อง


พี่ชายของยื่อเหนียง  (เฝิงเส้าเฟิง)

               “คนในหมู่บ้านเฉินคนเดียวที่ไม่เคยเรียนวิชาไท้เก๊ก เขาและคู่หมั้นสาวที่แปลกประหลาดพอกัน เดินทางกลับมาหมู่บ้านเพื่อกระทำภารกิจลับบางอย่าง”
            เฝิงเส้าเฟิง (เกิดปี 1978 ที่เซี่ยงไฮ้) สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการละครแห่งเซี่ยงไฮ้ในปี 2001 สิบปีต่อมา เขากลายเป็นนักแสดงชื่อดังในวงการโทรทัศน์ของจีนและฮ่องกง จนกระทั่งในปี 2011 เขาก็ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในนักแสดงผู้มีผลงานชุกที่สุดในประเทศจีน โดยมีผลงานอย่าง Painted Skin: The Resurrection ภาพยนตร์แฟนตาซีโดยผู้กำกับ หวูอ้ายซัน, White Vengeance ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์โดยผู้กำกับ แดเนียล ลี และ Double Exposure ภาพยนตร์ชีวิตโดยผู้กำกับ หลี่ยู่


แม่ของหยางลู่ฉาน  (ซูฉี)

               “อดีตภรรยาลับผู้สูญเสียสถานภาพของตัวเองไป ภายหลังให้กำเนิดบุตรเป็นเด็กทึ่ม แต่เธอก็ยังเชื่อมั่นในตัวลูกชายเสมอ ว่าเขามีสิ่งพิเศษติดตัวมา”
            ซูฉี (เกิดปี 1976 ที่ไทเป) เริ่มอาชีพนักแสดงช่วงกลางทศวรรษที่ 90 ในภาพยนตร์ประเภทปลุกใจเสือป่า แต่หลังจากมอบบทบาทอันน่าจดจำไว้ในภาพยนตร์เรื่อง Viva Erotica (1996) จนได้รับรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม และนักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจากเวที Hong Kong Film Awards เธอก็มีโอกาสได้ร่วมงานกับบรรดาผู้กำกับชั้นแนวหน้าของจีนหลายต่อหลายคน อาทิ เหอเซี่ยวเซียน, แอน ฮุย, ยอนฟาน, สแตนลีย์ กวาน และเฝิงเสี่ยวกัง ด้วยเหตุผลที่ว่าเธอมีรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม และแสดงได้อย่างเป็นธรรมชาติ ผลงานเด่นเรื่องอื่นของซูฉี ได้แก่ Sweet Symphony (1997), Your Place or Mine (1998), The Storm Riders (1998), Millennium Mambo (2001), So Close (2002), The Transporter (2002), Three Times (2005), New York, I Love You (2009) และ A Beautiful Life (2011)


ทีมงาน

เฉินกั๋วฟุ  (ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์)

               เป็นเวลายาวนานกว่าสองทศวรรษที่เฉินกั๋วฟุ ได้พิสูจน์ตัวเองว่าเขาคือหนึ่งในผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของประเทศจีน ด้วยเหตุที่เขามีความสามารถหลากหลาย ทั้งการกำกับ, เขียนบท และอำนวยการสร้าง ทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวางทั้งในจีนและไต้หวัน เขาเกิดเมื่อปี 1958 และทำงานเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์มาก่อนจะได้โอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Highschool Girls ในปี 1989 ตามด้วย Treasure Island (1993), The Peony Pavilion (1995) และ The Personals (1998) จนย่างเข้าสู่ปี 2001 เฉินกั๋วฟุจึงเริ่มจับงานอำนวยการสร้างเป็นครั้งแรก ในผลงานเรื่อง Better Than Sex ปีถัดมา เขากำกับและอำนวยการสร้าง Double Vision ภาพยนตร์ที่เปรียบเสมือนหัวหอกของไต้หวัน ในการก้าวออกไปตีตลาดต่างประเทศ ผลงานเรื่องนี้มีส่วนช่วยสร้างคนทำภาพยนตร์สายเลือดใหม่ของไต้หวันอย่าง อุ้ยเต๋อเซิน เจ้าของผลงานสุดฮิตเรื่อง Cape No.7 และ Warriors of the Rainbow: Seediq Bale ปัจจุบัน เฉินกั๋วฟุดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายผลิตของบริษัทภาพยนตร์ฝาหยี่ บราเธอร์ส ซึ่งทำให้เขาต้องร่วมงานกับผู้กำกับหน้าใหม่ฝีมือดีมากมาย อาทิ เส้าเป่าผิง (The Equation of Love and Death), เก้าเฉี่ยฉู (The Message) และหวูอ้ายซัน (The Butcher, the Chef and the Swordsman)

เฝิงเต๋อหลวน  (ผู้กำกับภาพยนตร์)

               เฝิงเต๋อหลวนเกิดเมื่อปี 1974 ที่ฮ่องกง ด้วยความที่เป็นบุตรของจูลี เซค นักแสดงหญิงสังกัดชอว์บราเธอร์ส เขาจึงเริ่มฉายแววการเป็นนักแสดงเหมือนมารดาตั้งแต่อายุ 14 เมื่อย้ายตามครอบครัวไปอยู่สหรัฐอเมริกา ก่อนย้ายกลับมาฮ่องกงตามเดิมภายหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย ในปี 1998 เฝิงเต๋อหลวนได้รับคะแนนโหวตจากสื่อมวลชนฮ่องกง เลือกเขาเป็น “นักแสดงหน้าใหม่แห่งปี” และถัดจากนั้นอีกสามปี เขาก็กลายเป็นหนึ่งในนักแสดงฮ่องกงที่ร้อนแรงที่สุด ด้วยผลงานอย่าง Bishonen (1998), The Poet (1998), Gen-X Cops (1999), Sunshine Cops (1999), Metade Fumaca (2000) และ Gen-X Cops 2: Metal Mayhem (2000) พอถึงปี 2001 เฝิงเต๋อหลวนก็ก้าวไปทำงานเบื้องหลังโดยเริ่มจากการเขียนบท/กำกับภาพยนตร์เรื่อง Heroes in Love ร่วมกับเพื่อนนักแสดง เซียะถิงฟง และคนอื่นอีกสองคน แล้วจึงมากำกับเดี่ยวในผลงานเรื่องต่อมาคือ Enter the Phoenix (2004), House of Fury (2005), Jump (2009) และล่าสุด Tai Chi 0 (2012)

หงจินเป่า  (ผู้กำกับฉากแอ็คชั่น)

               หงจินเป่า หนึ่งในสุดยอดดาราแอ็คชั่นแห่งเอเชีย เกิดเมื่อปี 1952 ที่ฮ่องกง เขาเป็นหลานของฉิงซิอั๋ง ดาราหญิงนักบู๊ระดับตำนาน เมื่ออายุ 7 ขวบ เขาได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนงิ้วปักกิ่งอันเลื่องชื่อ ตลอดระยะเวลาเจ็ดปีที่อยู่ที่นั่น เขาเป็นสมาชิกผู้โดดเด่นของคณะละคร Seven Little Fortunes ที่มีสมาชิกคนสำคัญอีกหนึ่งคนคือแจ็คกี้ ชาน หรือเฉินหลงนั่นเอง หงจินเป่าเริ่มแสดงภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อปี 1961 ในเรื่อง Education of Love ตามด้วย Big and Little Wong Tin Bar (1962) ที่เขาแสดงคู่กับเฉินหลง เมื่ออายุ 14 ปี เขาก็ได้เป็นผู้ช่วยออกแบบคิวบู๊ในภาพยนตร์กังฟูคลาสสิคเรื่อง Come Drink With Me จากนั้นเขาก็ทำหน้าที่กำกับฉากแอ็คชั่น, แสดงบทเสี่ยงตาย และแสดงบทเล็กๆ น้อยๆ ในภาพยนตร์ที่สร้างโดยบริษัทชอว์บราเธอร์ส เป็นจำนวนมากกว่า 30 เรื่องในระยะเวลาแปดปี ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับอย่างเต็มตัวในปี 1977 กับผลงานเรื่อง The Iron Fisted Monk ในปีถัดมา เขามีโอกาสได้ร่วมแสดงและร่วมออกแบบคิวบู๊ใน The Game of Death ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของบรูซ ลี
              หงจินเป่าคือหนึ่งในบุคคลสำคัญ ผู้มีส่วนอย่างมากในการทำให้ภาพยนตร์แอ็คชั่นของจีน เปลี่ยนแนวทางจากภาพยนตร์กำลังภายในคลาสสิค ไปเป็นภาพยนตร์แอ็คชั่นสมัยใหม่ที่เน้นการเดินเรื่องรวดเร็ว, ตัดต่อฉับไว และเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน เมื่อย่างเข้าสู่ทศวรรษที่ 90 ผลงานโดดเด่นของเขาคือการออกแบบคิวบู๊ในภาพยนตร์กำลังภายในของผู้กำกับ หว่องกาไว เรื่อง Ashes of Time ต่อด้วยผลงานชั้นเยี่ยมในทศวรรษต่อมาอย่าง Ip Man (2008), Detective Dee and Mystery of the Phantom Flame (2010) และ My Kingdom (2011)


ทิม ยิป  (ผู้ออกแบบงานสร้าง)

               ทิม ยิปเป็นมากกว่าผู้ออกแบบงานสร้างทั่วไป เขาคือผู้นำความแปลกใหม่มาสู่วงการภาพยนตร์จีนเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 25 ปี ยิปสำเร็จการศึกษาด้านการถ่ายภาพ และผ่านงานมามากมายหลายแขนง เขาเป็นทั้งผู้กำกับศิลป์, ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย และผู้ออกแบบงานสร้าง ผลงานของเขาช่วยทำให้โลกรู้จักศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของประเทศจีน ดังที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง A Better Tomorrow (1986) ของจอห์น วู, Rouge (1987) ของสแตนลีย์ กวาน, Temptation of a Monk (1993) ของคลารา ลอว์, Crouching Tiger Hidden Dragon (2000) ของอั้งลี, Double Vision (2002) ของเฉินกั๋วฟุ, Baober in Love (2003) ของหลีชาหง, The Wayward Cloud (2005) ของไฉ่หมิงเลี่ยง และ The Banquet (2006) ของเฝิงเสี่ยวกัง
              รางวัลเกียรติยศที่ทิม ยิปได้รับมีดังต่อไปนี้ รางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับศิลป์และออกแบบฉากยอดเยี่ยมประจำปี 2000 จาก Crouching Tiger Hidden Dragon, รางวัลบาฟต้าสาขาผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมประจำปี 2000 จาก Crouching Tiger Hidden Dragon, รางวัลชมรมนักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งลอสแองเจลิส สาขาผู้ออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยมประจำปี 2000 จาก Crouching Tiger Hidden Dragon, รางวัล Asian Film Awards สาขาผู้ออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยมประจำปี 2006 จาก The Banquet, รางวัลม้าทองคำสาขาผู้กำกับศิลป์ยอดเยี่ยมประจำปี 1993 จาก Temptation of a Monk และสาขาผู้กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม, ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, แต่งหน้ายอดเยี่ยมประจำปี 2006 จาก The Banquet และรางวัล Hong Kong Film Awards สาขาผู้กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม, ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, แต่งหน้ายอดเยี่ยมประจำปี 2008 จาก Red Cliff