FB on August 15, 2011, 01:49:34 PM
“กบ พิมลรัตน์” ทุ่มสุดตัว ล่อลวงพระเอกใหม่ เลิฟซีนถึงใจ ในเรื่อง “คนโขน”





          พลิกคาแร็คเตอร์มารับบทแรงถึงใจแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในภาพยนตร์ดราม่าคุณภาพเรื่อง “คนโขน” นักแสดงสาว “กบ พิมลรัตน์ พิศลยบุตร” ก็ทุ่มสุดตัวไม่หวั่นที่จะต้องเล่นฉากเลิฟซีนกับพระเอกใหม่ด้วยตัวเอง เพราะถือว่าบทดีๆ ไม่ได้มีมาง่ายๆ และเป็นการเปิดมุมมองการแสดงที่แปลกใหม่ท้าทายด้วย

          โดยฉากนี้เป็นฉาก “รำไพ” (กบ พิมลรัตน์) นางรำในคณะโขนที่มีสามีแก่ จนเกิดอาการเก็บกดและหาทางระบายออกด้วยการล่อลวง “ชาด” (อาร์ อภิญญา) เด็กหนุ่มในคณะเดียวกันอยู่หลายต่อหลายครั้ง จนในที่สุดก็เกิดเป็นฉากเลิฟซีนที่สะท้อนภาพตัณหาราคะของมนุษย์ได้ดีฉากหนึ่งเลยทีเดียว

          สาวกบเผยถึงเบื้องหลังฉากนี้ว่า

          “ฉากนี้ก็เป็นฉากยั่วยวนเลิฟซีนกับพระเอก คือบท ‘รำไพ’ ของกบในเรื่องนี้เป็นบทที่ค่อนข้างแรงแบบที่ไม่เคยแสดงมาก่อน จะเป็นบทชีวิตของผู้หญิงที่ไม่สมหวังในเรื่องความฝันและต้องเก็บกดในเรื่องเซ็กส์เนื่องจากมีสามีแก่กว่ามาก ก็เลยอยากจะมีความรักแบบหนุ่มสาวบ้าง จนเกิดความสับสนและหาทางปลดปล่อย โดยพยายามล่อลวงพระเอกอยู่หลายๆ ครั้ง จนในที่สุดก็ได้โอกาสเกิดเป็นเลิฟซีนฉากนี้ขึ้นมา ก็หนักใจอยู่เหมือนกัน แต่ตัวรำไพเป็นบทที่แปลกใหม่ท้าทายในสิ่งที่เราไม่เคยทำและสนุกที่ได้มาแสดง เราต้องเปิดโลกให้กว้างทางด้านการแสดง ซึ่งฉากนี้จะว่าไปก็จะสะท้อนด้านมืดตัณหาราคะของมนุษย์ที่ถ้าไม่ยับยั้งชั่งใจตัวเองก็จะส่งผลเสียกับชีวิตยังไงบ้าง

          แสดงฉากนี้กับ ‘น้องอาร์’ พระเอกใหม่เนี่ยก็ดีไม่มีปัญหาอะไรค่ะ เพราะเนื่องจากน้องเค้าก็ใหม่มากกับการแสดงหนัง รวมถึงกบก็ไม่เคยแสดงฉากแบบนี้มาก่อน พี่ตั้ว (ผู้กำกับ) ก็เลยจับมาซ้อมการแสดง มาปรับตัวให้เข้ากับตัวละคร ทีนี้พอถึงช่วงถ่ายทำเราก็มีความเข้าใจดีแล้วก็ทำให้การทำงานหน้ากองลื่นไหลดีค่ะ ก็มีตื่นเต้นบ้างค่ะ แต่วิธีการซ้อมก่อนการถ่ายทำนี่มันก็ช่วยเราได้เยอะมากเลยค่ะ ช่วยพัฒนาในสิ่งที่เราไม่เคยได้ลองเล่นหรือทำมาก่อน ก็เป็นความแปลกใหม่ทางการแสดงของกบเลยค่ะ”

          เตรียมพบการพลิกคาแร็คเตอร์แรงถึงใจของ “กบ พิมลรัตน์” ได้ใน “คนโขน” พร้อมให้พิสูจน์คุณภาพ 25 ส.ค. นี้ ทุกโรงภาพยนตร์

FB on August 15, 2011, 01:52:43 PM
บทสัมภาษณ์ “ตรี นันทรัตน์” นักแสดงสาวน่าจับตาใน “คนโขน”


 
          บทบาท-คาแร็คเตอร์
          เรื่องนี้รับบทเป็น “แรม” ค่ะ คาแร็คเตอร์ก็เป็นหญิงสาวเรียบร้อย สนุกสนานไปตามภาษาเด็กวัยรุ่นค่ะ แต่ก็มีความใฝ่ฝันที่อยากเป็นนางเอกลิเก ในเรื่องก็จะมีกลุ่มเพื่อนสามคนคือ ชาด, แรม, ตือ ที่โตมาด้วยกัน และก็ผูกพันจนกลายมามีใจให้กัน ต่างคนต่างแอบรัก เหมือนรักสามเส้าอารมณ์นั้น เรื่องราวก็จะดำเนินไปในสังคมของคนโขนค่ะ

          ก่อนการถ่ายทำจริงๆ ต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
          ก่อนการถ่ายทำเรื่องนี้ ตรีและก็เพื่อนๆ ก็ต้องมีการเรียนและซ้อมการแสดงกับพี่ตั้วผู้กำกับด้วย พี่ตั้วจะสอนเองเลย และก็ให้ซ้อมบทบาทจนจำขึ้นใจเลยค่ะ ซึ่งก็จะช่วยเวลาถ่ายทำจริงหน้ากองถ่ายเยอะมาก ทำให้การแสดงไหลลื่นเป็นธรรมชาติ ช่วยได้มากจริงๆ ค่ะ

          นอกจากเรื่องการแสดงแล้ว ยังต้องมีการฝึกซ้อมท่ารำเพิ่มเติมหรือเปล่า
          ก็จะต้องมีการฝึกรำและร้องลิเกด้วยค่ะ เพราะที่ตรีเรียนอยู่มันเป็นนาฏศิลป์ไทยทั่วไป ซึ่งไม่เหมือนลิเก ก็ต้องไปปรับกับครูที่สอนลิเกอีกทีค่ะ แต่โชคดีที่ตรีมีพื้นฐานนาฏศิลป์อยู่แล้ว เรื่องรำเลยไม่ใช่เรื่องยากเท่าไหร่ แต่เรื่องร้องลิเกนี่สิคะยากมากๆ แต่ก็ฝึกและแสดงจนผ่านไปด้วยดีค่ะ

          การร่วมงานกับพระเอกใหม่
          กับ “น้องอาร์” จริงๆ แล้วน้องเค้าเป็นรุ่นน้องที่คณะ เรียนเอกนาฏศิลป์ไทยที่จุฬาฯ เหมือนกัน ก็จะเจอกันบ่อยๆ อยู่แล้ว การร่วมงานกันก็ไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว แต่น้องอาร์เค้าจะเป็นคนนิ่งๆ เงียบๆ เรียบร้อย ตรีก็ชอบไปแกล้งไปแซวเค้าบ้างเพื่อผ่อนคลายค่ะ เรื่องการแสดงก็เล่นดีเลยค่ะ จริงๆ ก็เป็นเหมือนกัน อาจจะตื่นกล้องบ้าง แต่พี่ตั้วก็จะให้ฝึกซ้อมจนเล่นคล่องเลย การแสดงก็จะราบรื่นไปได้ด้วยดีค่ะ

          อย่างตรีมีประสบการณ์ทางการแสดงมาก่อน มีการสอนหรือแนะนำพระเอกใหม่อย่างไรบ้าง
          ก็มีบ้างนิดหน่อยค่ะ ไม่ได้เยอะมาก เพราะตรีก็ยังไม่ได้เชี่ยวชาญถึงขนาดนั้น แต่ก็คอยพูดคุยกันว่าอย่างนี้ๆ ดีมั้ย รับส่งอารมณ์ให้กัน ตรีก็จะบอกให้ดูที่ตา ก็จะรู้ว่าอารมณ์เป็นยังไงตอนรับส่งการแสดงกันน่ะค่ะ

          ฉากประทับใจ
          ก็จะเป็นฉากบอกรัก ฉากนี้เรายกกองไปถ่ายกันที่หัวหินเลยค่ะ ไม่ใช่ไปถ่ายที่ง่ายๆ ด้วยนะคะ พี่ตั้วไปเลือกโลเกชั่นที่เป็นภูเขา และรอบข้างเป็นทะเลค่ะ สงสารพี่ๆ ทีมงานที่กว่าจะยกอุปกรณ์ถ่ายทำ ยกเครน ยกกล้อง อะไรต่างๆ ขึ้นไปก็เหนื่อยเลย จากถนนเดินมาถึงชายหาด และก็ต้องเดินมาถึงภูเขาลูกนี้ก็ถือว่าไกลแล้ว นี่ยังต้องยกของขึ้นบนเขาที่ใช้ถ่ายทำกันอีก ขนาดเราเดินตัวเปล่ายังแบบแย่เลย แต่นี่พวกพี่เค้าต้องยกของต่างๆ อีก โดยรวมฉากบอกรักนี้เป็นฉากที่ชอบฉากหนึ่งเลยค่ะ บรรยากาศเลิศมาก โลเกชั่นสวยงาม พอขึ้นไปบนเขาก็จะเห็นทะเลอยู่รอบๆ ข้าง เห็ภูเขาฝั่งตรงข้ามด้วย ถือว่าเป็นสถานที่ที่สวยงามมากๆ เป็นบรรยากาศที่ดี๊ดีค่ะ และฉากบอกรักก็เป็นอะไรที่แปลกใหม่ เพราะถือเป็นเรื่องแรกก็ว่าได้ที่ใช้ท่าโขนบอกรักผู้หญิง พี่ตั้วจะใช้ท่าโขนมาประยุกต์ให้พระเอกแสดงท่าบอกรักนางเอกด้วย เพราะคนทั่วไปก็ไม่ค่อยรู้กันว่าท่าทางของนาฏศิลป์เนี่ยมันมีความหมายต่างๆ อยู่ ก็ดีค่ะ อาจจะทำให้ผู้ชมได้รู้จักโขนลึกซึ้งมากขึ้น ทุกอย่างในฉากนี้ก็ดีหมดเลย แต่เสียดาย ตอนนั้นหนูอ้วนมากค่ะ (หัวเราะ) มันลดไม่ทันค่ะ เพราะของตรีคิวแรกก็ไปถ่ายฉากนี้เลยค่ะ ได้แสดงกับน้องอาร์ เพื่อนๆ ก็อิจฉากันใหญ่เลย เพราะน้องอาร์เป็นขวัญใจของคณะหนูเลยนะคะ

          การร่วมงานกับ “พี่ต่าย เพ็ญพักตร์” และ “พี่กบ พิมลรัตน์” เป็นยังไงบ้าง
          เกร็งมากค่ะ (หัวเราะ) ทั้งกับพี่ต่ายและพี่กบเลย เพราะทั้งคู่เป็นนักแสดงมืออาชีพ เราเป็นเด็กใหม่ก็เลยเกร็งๆ ไว้ก่อนเลย แต่พี่กบบอกไม่ต้องเกร็ง ให้ทำตัวสบายๆ เราก็พยายามพูดคุยกับพี่เค้า เพื่อจะได้แบบแสดงได้อย่างราบรื่น พอได้ร่วมงานกันแล้ว พี่ทั้งคู่ใจดีมากเลยค่ะ พี่ต่ายก็ใจดีค่ะ เราเล่นเป็นแม่ลูกกันก็ต้องรับส่งอารมณ์กัน แค่มองตาเราก็รู้สึกตามพี่ต่ายแล้วค่ะ

          การร่วมงานกับผู้กำกับ
          ตอนแรกๆ ก็กลัวและเกร็งเหมือนกันค่ะ เพราะพี่ตั้วเขาทำงานจริงจังมากๆ เพื่อให้งานออกมาดี ตรีเองก็ชอบการทำงานของพี่เค้ามากนะคะ ที่ให้มีการซ้อมการแสดงก่อนถ่ายจริง มันทำให้เราคุ้นเคยกับบทบาท ปรับเข้าหานักแสดงที่เล่นด้วยกันได้ดี พอถึงหน้ากองแล้วอย่างที่บอก การทำงานมันก็ไหลลื่นเลยค่ะ พี่ตั้วแกจะมีเทคนิคในการสอน ทำให้เราแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ คือให้ลองเล่นมาก่อน ถ้ามากหรือน้อยไป เค้าจะบอกอีกทีนึงค่ะ โดยรวมพี่เค้าก็ใจดี น่ารักค่ะ

          ความน่าสนใจโดยรวม
          นอกจากจะเป็นหนังที่สะท้อนศิลปะวัฒนธรรมโดยรวมแล้ว ซึ่งนาฏศิลป์ไทยโดยเฉพาะโขนเนี่ย ตอนไปแสดงต่างประเทศ ผู้ชมต่างประเทศเค้าก็จะนิยมชมชอบมากเลยจะตะโกนว่า Bravo ซึ่งบางทีคนไทยมองข้ามวัฒนธรรมของตัวเองไปบ้างนะคะ แล้วเรื่อง “คนโขน” เนี่ย พอฟังชื่อแล้วก็นึกว่าจะเป็นแต่เรื่องโขนทั้งเรื่อง แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลยค่ะ มันก็คือชีวิตมนุษย์เราดีๆ นี่เองที่มีทั้งรักโลภโกรธหลงต่างๆ นานา แล้วก็จะมีเรื่องแบบรักสามเส้าเข้ามาด้วย เป็นการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปแต่มีแบ็คกราวด์เรื่องราวที่อยู่ในแวดวงคนโขนค่ะ ตรีก็หวังอยากให้คนมาดูเยอะๆ เพราะมันเป็นศิลปะวัฒนธรรมไทยของเราด้วยที่ตรีอยากให้อนุรักษ์ไว้ รวมถึงทีมนักแสดง เรื่องราวโดยรวมก็น่าสนใจมากๆ ค่ะ อยากให้มาชมกันค่ะ

FB on August 15, 2011, 01:54:43 PM
บทสัมภาษณ์ “กบ พิมลรัตน์ พิศลยบุตร” พลิกคาแร็คเตอร์สุดๆ ใน “คนโขน”

           
 
บทบาท-คาแร็คเตอร์
          “รำไพ” ก็จะเป็นเด็กสาวที่มีความฝันความทะเยอทะยานอยากจะเป็นนางรำในกรมศิลป์ อันนี้จะเป็นความฝันอันสูงสุดของรำไพเลย แต่ชีวิตของตัวรำไพไม่ได้เป็นไปอย่างที่เขาคาดหวังเอาไว้ คือดีที่สุดของเขาก็คือเป็นครูในคณะรำ เหมือนไปไม่ถึงดวงดาวตามที่เขาหวัง เป็นความกดดันของตัวละครตัวนี้ เป็นตัวละครอีกตัวในเรื่องที่น่าสนใจ เพราะมีความเป็นมนุษย์รักโลภโกรธหลง เป็นคาแร็คเตอร์ที่ไม่เคยแสดงมาก่อนค่ะ และก็ไม่เคยแสดงหนังพีเรียดประมาณนี้มาก่อนนะคะ ถ้าที่เคยเล่นก็เป็นยุคโบราณย้อนไปหลายร้อยปีกว่านี้เลยค่ะ ก็รู้สึกดีนะคะที่ได้เปลี่ยนบทบาทคาแร็คเตอร์ ได้เปลี่ยนองค์ประกอบหลายๆ อย่างในช่วงยุคนี้
 
การดำเนินเรื่องของตัวรำไพ
          ผู้หญิงคนนี้โดยพื้นฐานแล้วเค้าก็เป็นคนดีนะคะ แต่ด้วยสถานการณ์บางอย่างในชีวิตไม่ได้เป็นไปอย่างที่เค้าวาดฝันไว้ ก็อาจจะมีบ้างที่คิดน้อย และตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องไป โดยเนื้อแท้แล้วเป็นคนดี แต่จุดหักเหในชีวิตมันมาจากการที่เค้าไปไม่ถึงฝัน การที่เค้ามีสามีแก่ ทีนี้ในชีวิตของรำไพที่ยังเป็นสาวอยู่ แต่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่กับครูหยด (สรพงษ์ ชาตรี) ก็ทำให้รำไพจะใหญ่ได้แค่ในคณะละครเล็กๆ ของเค้า เพราะฉะนั้นมันเลยเกิดความรู้สึกกดดันเก็บกดว่าทำไมตัวเองถึงไปไม่ถึงฝันซะที ประกอบกับต้องมาอาศัยอยู่กับสามีแก่ ก็เลยยิ่งเก็บกดในเรื่องเซ็กส์อะไรพวกนี้เข้าไปอีก ก็เลยทำให้เกิดความรู้สึกสับสน อยากจะปลดปล่อย อยากจะมีความรักกับเด็กหนุ่มตามวัยสาวของเธอที่หายไป ก็เลยทำให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตขึ้นมาค่ะ

หนักใจกับบทที่ค่อนข้างหวือหวานี้มากน้อยแค่ไหน
          บทลักษณะนี้ไม่เคยเล่นมาก่อนเลยค่ะ ก็ค่อนข้างหนักนะคะ ครั้งแรกที่คุยกับพี่ตั้ว พี่เค้าก็ถามว่าไหวมั้ย ไม่บังคับนะ ถ้าสมัครใจก็อยากให้กบเล่นจริงๆ กบก็บอกเลยว่า สนใจมากค่ะ เพราะบทดีๆ อย่างนี้ไม่ได้หลุดมาถึงใครง่ายๆ ก็อยากจะคว้าโอกาสนี้ไว้ ถ้าพี่ตั้วให้โอกาส ก็ปรับความเข้าใจในตัวบทกันพอสมควร ก่อนที่จะเล่นก็ต้องมีการพูดคุยถึงแบ็คกราวด์ของตัวละครนี้ เพราะมันมีความซับซ้อนค่อนข้างเยอะ ทีนี้พอเราเข้าใจตรงกันก็มีการมาซ้อมกับทีม โดยเฉพาะกับ “น้องอาร์” ที่เราต้องเล่นด้วยกัน และน้องเค้าก็ใหม่มากกับการแสดงหนัง ทีนี้พอถึงช่วงถ่ายทำ เราก็มีความเข้าใจดีแล้วก็ทำให้การทำงานหน้ากองก็ลื่นไหลดีค่ะ ซึ่งวิธีการซ้อมก่อนการถ่ายทำนี่มันก็ช่วยเราได้เยอะ ช่วยพัฒนาในสิ่งที่เราไม่เคยได้ลองเล่นหรือทำมาก่อน และได้เปิดมุมมองทางการแสดงของเราอีกมุมมองหนึ่ง และก็เกิดความท้าทาย ตื่นเต้นในการเข้าฉากถ่ายทำอย่างฉากเลิฟซีนหรือฉากที่มีผลกระทบทางด้านจิตใจของตัวรำไพ ซึ่งจะเป็นดราม่าสุดๆ ก็เป็นความแปลกใหม่ทางการแสดงของกบเลยค่ะ

มีการปรับตัวหรือรับมือกับบทบาทของตัวละครนี้อย่างไร
          อย่างแรกเลยคือเราต้องมีความเข้าใจในตัวละครนี้ เพราะว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้เค้าต้องการทำสิ่งเหล่านี้ แล้วก็ต้องทิ้งกำแพงรอบข้างไปให้หมด แล้วก็ใส่ไปให้เต็มที่ ก็มีบ้างที่กบเครียด แต่ว่าก็จะมีการพูดคุยกับพี่ตั้วผู้กำกับอยู่ตลอดว่าอย่างงี้ๆ ได้มั้ย ซึ่งพี่ตั้วก็จะมีการเสนอแนะและปรึกษาเรื่องการแสดงตลอด และเราก็ทำการบ้านในบทบาทนี้มาก่อนด้วย เหล่านี้ก็เป็นการปรับตัวสำหรับบทบาทใหม่ๆ นี้ของกบค่ะ

ทัศนคติต่อตัวละครรำไพที่ตัวเองได้รับบท
          จริงๆ จะว่าไป ตัวละคร “รำไพ” นี่ก็คือมนุษย์นะคะ มนุษย์มีความรักโลภโกรธหลง ไม่มีใครจะดีทุกด้านหรอก ทุกคนมีด้านดีแล้วก็ต้องมีด้านมืด เพราะฉะนั้นตัวรำไพนี่ก็เป็นตัวละครที่สะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ผู้มีความต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งมันก็คือธีมหลักของเรื่อง มันคือดราม่า มันคือชีวิตคนเรานี่แหละ

ด้านเครื่องแต่งกายในเรื่องนี้เป็นยังไงบ้าง
          เรื่องคอสตูมเรื่องนี้ก็ชอบค่ะ สวยดี แค่ตัวรำไพใส่คอกระเช้าผ้าถุง คือมันมีความคลาสสิกน่ะค่ะ ผู้หญิงกับผ้าถุงมันก็เป็นของคู่กัน กบก็ชอบที่จะได้ใส่นะคะ รู้สึกอินทุกครั้งที่ได้ใส่
 
ต้องมีการฝึกซ้อม เรียนร่ายรำก่อนการแสดงจริงด้วย
          ใช่ค่ะ ก่อนการถ่ายทำก็ต้องมีการไปเรียนรำมาก่อนด้วย ซึ่งก็ยากมาก คือตัวเราแข็งน่ะค่ะ พวกเด็กนาฏศิลป์เค้าเรียนมาตั้งแต่เด็กใช่มั้ยค่ะตัวเค้าก็จะอ่อนช้อย แต่เราเพิ่งมาเรียนตัวก็จะแข็ง วันแรกๆ ที่ไปเรียนก็จะปวดเนื้อปวดตัวเลยค่ะ แต่เราก็ต้องมีความอดทน อาศัยการซ้อมบ่อยๆ ก็ชอบและหลงใหลในศิลปะวัฒนธรรมไทยค่ะ

การทำงานร่วมกับผู้กำกับ
          พี่ตั้วเป็นผู้กำกับที่ละเอียดมากค่ะ ก็ชอบและภูมิใจที่ได้ร่วมงานกัน เพราะตัวกบเองก็จะมีความละเอียด พอได้มาร่วมงานกับผู้กำกับที่ใส่ใจให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียดอย่างนี้ มันก็เหมือนเคมีตรงกัน การทำงานด้วยกันก็เลยง่าย การทำงานกับพี่ตั้วก็เลยไม่มีอะไรที่รู้สึกไม่พอใจนะคะ ชอบและประทับใจหมดค่ะ อย่างฉากดราม่าซีนอารมณ์อย่างนี้ เราก็ไม่รู้ว่าพี่ตั้วจะเอาหรือไม่เอา เราก็ต้องคงอารมณ์นั้นไว้ก่อน จะคัทหรือไม่คัทเราร้องไห้ไว้ก่อนเพื่อความต่อเนื่อง บางทีพี่ตั้วอาจจะมีการเติมรายละเอียดนิดหน่อยอะไรอย่างนี้ แล้วอย่างช่วงพักเบรค เราก็บอกเลยว่าอย่าเพิ่งให้ใครมายุ่ง ขออยู่ในอารมณ์และพื้นที่ของเราก่อน เพราะเราก็ไม่รู้ว่าผู้กำกับจะต้องการอะไรอีกหรือเปล่า ก็อยากให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์แบบอย่างที่พี่ตั้วต้องการค่ะ
 
ฉากประทับใจในเรื่อง
          จริงๆ ชอบและประทับใจทุกฉากเลยนะคะ เพราะอย่างที่บอกว่ามันมีความท้าทายที่ได้มาเล่นบทนี้ ตัวรำไพเป็นบทที่แปลกใหม่ เราท้าทายและสนุกที่ได้มาแสดง มาสวมเป็นตัวละครตัวนี้ ก็เลยประทับใจทุกฉากที่ได้เล่น ไม่ว่าจะเป็นฉากที่หวือหวาที่สุดอย่างฉากถอดเสื้อยั่วยวน มันเป็นความท้าทายในสิ่งที่เราไม่เคยทำ เราต้องเปิดโลกให้กว้าง แล้วก็พยายายามเล่าเรื่องผ่านทางสายตาว่าตัวผู้หญิงคนนี้เนี่ยเค้ามีความกดดันในเรื่องเพศ เพราะการมีสามีที่แก่ เราต้องสื่อว่ามาให้ได้ดีที่สุดโดยไม่ต้องถึงกับทำหน้าเซ็กซี่หรืออะไร แต่พยายามบอกเรื่องราวผ่านทางสายตาในการแสดงของเรา อันนี้ก้เป็นฉากท้าทายมากๆ เหมือนกันค่ะ

          อีกฉากก็เป็นฉากไฟไหม้ อันนี้ก็ชอบและท้าทายมากเหมือนกัน เล่นไฟจริงเลยนะคะ ก็เป็นฉากที่ตัวรำไพเองเนี่ยรู้สึกว่าไม่มีอะไรจะเสียแล้ว เล่นกับไฟจริงก็ไม่กลัวไฟไหม้นะคะ เพียงแต่ให้ทุกอย่างออกมาสมจริงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคิวไหน ต้องวิ่งผ่านไฟ หรือไฟตกลงมาข้างหน้าเรา ซึ่งตอนถ่ายเนี่ยต้องใส่โขนซึ่งหนักและแน่นมาก แล้วเราก็สนุกที่ได้แสดงอะไรแบบนี้ และก็ปล่อยสุดพลังเหมือนกันค่ะ

ความรู้สึกแรกที่ได้ใส่ชุดโขนเป็นยังไงบ้าง
          ขลังเลยค่ะ ความรู้สึกแรกที่ได้ใส่นี่ขลังจริงๆ ค่ะ เพราะปกติเราก็ไม่มีโอกาสได้ใส่หรอกค่ะ ก็ชอบ และถือเป็นความโชคดีที่ครั้งหนึ่งเราเคยได้ใส่ชุดโขนอะไรอย่างนี้นะคะ แล้วชุดโขนก็สวยงามมากจริงๆ ค่ะ แม้จะอึดอัดนะ แต่ความสวยงามของชุดก็ทำให้เราสู้ตายเหมือนกัน

การร่วมงานกับอาเอก สรพงษ์
          อาเอกน่ารักมากค่ะ อาเอกก็ช่วยการแสดงเราได้เยอะนอกจากพี่ตั้วแล้ว ก็จะคอยสอนเทคนิคการแสดงซึ่งมีเยอะมาก เวลาเล่นมันต้องอย่างนี้ๆ เวลาแสดงเราอย่านิ่ง เราต้องแสดงให้มันเป็นธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องไดอะล็อคอย่างเดียว อย่างเลิฟซีนกับอาเอก นี่จะเก่งมาก อย่างอาเอกจะบอกว่า กบ อย่างมือเนี่ยเวลาถ่ายแค่ที่มือ เราก็ต้องสื่ออารมณ์ที่มือให้ได้ เวลาเราสัมผัสบีบนวดอาเอกตอนแรกๆ ถ่ายออกมาแล้วมันดูแข็งค่ะ อาเอกก็จะสอนเทคนิคว่าต้องอย่างนี้ๆ นะ พอถ่ายออกมาแล้วมันก็ดูดีขึ้นมากเลยค่ะ

การร่วมงานกับน้องอาร์ พระเอกใหม่
          น้องอาร์เหรอคะ น้องอาร์มีความตั้งใจในการทำงานมาก และมีความเป็นศิลปินอยู่สูงนะคะ นี่เป็นเรื่องแรกของเขา ซึ่งเค้าก็ยังไม่ได้เอาออกมาใช้มาก แต่เท่าที่ทำงานด้วยเนี่ย เค้ามีความตั้งใจทำงานดี ส่วนที่เหลือเนี่ยเป็นประสบการณ์ของเขาที่เขาต้องเก็บเกี่ยวไปเรื่อยๆ มากกว่า ตอนเข้าฉากร่วมกัน กบก็มีบอกน้อง คอยแนะนำอยู่บ้างเหมือนกัน อย่างฉากร้องไห้ก็บอก ฉากเลิฟซีนก็พูดคุยกัน แต่ไม่ใช่กบจะเชียวชาญอะไรมากนะคะ แต่อยากให้น้องเค้าปลดปล่อย สบายใจ ไม่งั้นน้องเค้าก็จะเกร็งไงคะ ก็จะทำความเข้าใจกัน ทำความคุ้นเคยกันก่อนที่จะแสดงฉากนี้ค่ะ

ความน่าสนใจโดยรวมของภาพยนตร์
          จุดเด่นของเรื่องคนโขนก็น่าจะอยู่ที่ศิลปะวัฒนธรรมไทย เกี่ยวกับอาชีพของคนโขน เพราะส่วนใหญ่เด็กสมัยใหม่แทบจะไม่รู้จักโขนกันแล้ว นี่คือเสน่ห์ของเรื่องนี้ ที่เราจะได้เล่าผ่านเรื่องราวชีวิตของคนโขน เสื้อผ้า การแสดง ทุกอย่างเกี่ยวกับการถ่ายทอดศิลปะวัฒนธรรมไทยหมดเลยค่ะ

          ยิ่งไปกว่านั้นเรื่องราวของคนโขนมันก็สะท้อนความเป็นคนจริงๆ ที่มีด้านดีเลว รักโลภโกรธหลงตัณหาราคะ อย่างคำว่า “คนโขน” มันก็สะท้อนความเป็นคนในยุคปัจจุบันที่เวลาเข้าสังคม เราก็ต้องสวมหัวโขนเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสังคมนั้นๆ ที่เราดำเนินชีวิตอยู่

ในเรื่องการแสดงนี่ ทุกคนก็ลงตัวหมดเลยทั้งรุ่นเล็ก รุ่นกลาง รุ่นใหญ่ ตัวแสดงทุกตัวน่าสนใจหมด แล้วก็ทุกคนก็เต็มที่กับการทำงานของเค้า รวมถึงการกำกับของพี่ตั้วที่มีความตั้งใจในการสะท้อนแง่มุมชีวิตต่างๆ ได้เป็นอย่างดี กบก็คาดหวังให้ทุกอย่างในตัวเนื้องานออกมาดีที่สุด และทุกคนก็สนใจในภาพยนตร์ “คนโขน” เรื่องนี้ค่ะ

FB on August 16, 2011, 07:27:22 PM
“ตั้ว ศรัณยู” สร้างสรรค์ฉากใหญ่ “กลั่นรักด้วยท่าโขน” สุดโรแมนติก ในหนัง “คนโขน”
 


          ถือว่าเป็นภาพยนตร์ดราม่าที่ครบรสชาติดูได้ทุกเพศวัยจริงๆ สำหรับ “คนโขน” ผลงานล่าสุดของผู้กำกับ “ศรัณยู วงษ์กระจ่าง” ที่บรรจงสร้างสรรค์และพิถีพิถันในทุกๆ ฉากของเรื่องนี้ รวมถึง “ฉากบอกรักด้วยท่าโขน” ของคู่พระนางหน้าใหม่ “อาร์-อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ” และ “ตรี นันทรัตน์ ชาวราษฎร์”

          เบื้องหลังฉากสุดโรแมนติกนี้ ผู้กำกับใช้เวลาคิดและกลั่นรักจากใจอยู่นานกว่าจะออกมาเป็นอีกหนึ่งฉากใหญ่ที่ยกกองไปถ่ายทำไกลถึงเขาเต่า จ.เพชรบุรี เพื่อให้ได้บรรยากาศและฉากหลังที่สวยงามแปลกตาบนโขดหินที่รายล้อมด้วยน้ำทะเล โดยฉากนี้จะเป็นฉากที่ “ชาด” อยากจะบอกความในใจให้กับ “แรม” ได้รับรู้ แต่ด้วยความที่ไม่กล้าพูด ชาดเลยใช้ภาษาท่าทางของโขนที่ตัวเองถนัดเป็นตัวสื่อความในใจให้แรมได้รู้

          ผู้กำกับได้เผยถึงฉากนี้ว่า...

          “ฉากบอกรักของพระเอกนางเอกเป็นฉากหนึ่งที่คิดกันอยู่นานมาก เพราะถือว่าเป็นฉากใหญ่และสำคัญอีกฉากหนึ่งของเรื่อง ก็อยากหาสถานที่ที่มันสวยแปลกตาจากเรื่องอื่น ก็ไปถ่ายที่เขาเต่า หัวหิน เดินทางขึ้นไปก็ลำบากอยู่เหมือนกัน แต่พอถ่ายออกมาแล้วได้ภาพสวยงามถูกใจ เข้ากับเรื่องราวและบรรยากาศในฉากมากๆ คือในฉากนี้จะไม่มีคำพูดใดๆ เลย แต่แสดงออกโดยท่ารำโขนอย่างเดียว ก็ถกกันอยู่หลายครั้งในทีมงานว่าคนดูจะรู้เรื่องเหรอ ก็เชิญพวกครูมาลองตีท่าโขนกัน แล้วก็เป็นทางถนัดของพระเอกเราอยู่แล้วก็สบายเลย พอมาดูในเฟรมกล้องแล้วมันสวย มันเข้าใจได้ว่าเขาพูดอะไร อาจจะไม่เข้าใจถึงว่าท่านี้คือคำว่าอะไร แต่ภาพรวมๆ คือมันเข้าใจเรื่องราวได้ และผมก็มั่นใจว่าไม่ต้องพูดอะไรก็รู้เรื่องได้ มีบางคนบอกใส่ซับไตเติ้ลหน่อยมั้ย แต่ผมว่านี่แหละคือเสน่ห์ อย่างน้อยถ้าหนังเรื่องนี้มันทำให้คนได้เห็นเสน่ห์ตรงนี้แล้ว อาจจะโชคดีก็ได้ เขาอาจจะหันไปดูโขน หรือไม่ถึงขนาดนั้น แค่กลับไปคิดต่อหรือหาหนังสืออ่าน แค่นี้ก็เป็นความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ที่สามารถสะท้อนศิลปะวัฒนธรรมของสังคมนี้ได้แล้วครับ”

          เตรียมพบฉากบอกรักลีลาโขนสุดโรแมนติกนี้ได้ใน “คนโขน” พร้อมให้พิสูจน์คุณภาพ 25 ส.ค. นี้ ทุกโรงภาพยนตร์

FB on August 16, 2011, 07:28:24 PM
บทสัมภาษณ์ “อาเอก – สรพงษ์ ชาตรี” ปล่อยการแสดงชั้นครูอีกครั้งใน “คนโขน”



          บทบาท-คาแร็คเตอร์
          ในเรื่องผมรับบทเป็น “ครูหยด” เป็นครูโขนในเรื่องครับ จะเป็นครูโขนที่มีความสมถะ เรียบง่าย ไม่หวงวิชา จะถ่ายทอดวิชาโขนให้ลูกศิษย์เพื่อการดำรงอยู่ของศิลปะวัฒนธรรมไทย ตัวครูหยดจะถือว่าการถ่ายทอดศิลปะของตัวเอง แม้จะมีคนดูเพียงคนเดียวก็ต้องเล่น แล้วถ้ายิ่งคนที่ดูเพียงคนเดียวนั้นนำไปพูดเผยแพร่ต่อ เราก็ถือว่าเป็นคุณค่าของศิลปะนี้แล้ว มีประโยชน์แล้ว ซึ่งจะต่างจากตัวละคร “ครูเสก” ของคุณนิรุตติ์ที่ความคิดแตกต่างกันคนละขั้วไปเลย ครูหยดจะซื่อสัตย์ต่อหน้าที่อาชีพโขน เสียสละ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง ใครจะคิดยังไงก็คิดไป แต่ตัวเองแค่อยากเผยแพร่วัฒนธรรม แล้วก็เล่นโขนด้วยหัวใจด้วยความสุข ต้องเต็มที่กับงานแสดง

          เรื่องราว “คนโขน”
          จริงๆ แล้ว โขนก็เป็นศิลปะวัฒนธรรมไทยที่มีมาหลายร้อยปีแล้ว เป็นวัฒนธรรมคู่บ้านคู่เมืองเลยก็ว่าได้ สมัยผมเป็นเด็กเมื่อ 50 ปีก่อนก็ดูโขนนะ งานวัดงานวาก็จะมีโขนกับลิเกเล่นคู่กัน แต่โขนมันจะเป็นงานที่ใหญ่มาก เป็นเรื่องรามเกียรติ์ ตัวละครเยอะ ก็จะอิงส่วนโขนมาประกอบในหนังเรื่องนี้อย่างสวยงามด้วย ในตัวเนื้อเรื่องก็จะเป็นเรื่องรักโลภโกรธหลงตัณหาราคะแก่งแย่งชิงดีกันของตัวละคร ซึ่งก็จะมีโขนฝ่ายครูหยดที่เป็นฝ่ายดี และโขนครูเสกที่เป็นฝ่ายร้ายคอยกลั่นแกล้งอีกฝ่ายอยู่ตลอด งานเล็กๆ ก็จะไม่เล่น จะคอยมาแย่งครูหยดเล่นงานใหญ่ๆ เพื่อให้ได้ชื่อเสียงเงินทองต่างๆ นานา แต่ครูหยดจะไม่คิดอย่างนั้น แต่จะเล่นด้วยใจ ไม่สนว่าใครจะกลั่นแกล้ง มีความเป็นศิลปินจริงๆ แล้วก็มีรุ่นเด็กๆ ที่เป็นลูกศิษย์ รุ่นนี้ก็จะมีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ดำเนินไปท่ามกลางบรรยากาศของโขน ก็จะมีเรื่องราวต่างๆ ตามมาอีกเยอะแยะครับ น่าติดตามและสนุกทีเดียว เพราะในท้องตลาดไม่มีใครนำเสนอแนวนี้ มีความเป็นหนังไทยมากๆ

          การทำงานร่วมกับผู้กำกับ
          คุณตั้ว ศรัณยูเป็นคนที่ทำงานละเอียดมากๆ ครับ ด้วยชื่อชั้นและฝีมือของแกก็ไม่ยอมให้ผ่านง่ายๆ เลยครับ เพราะแกเป็นนักแสดงฝีมือดี พอมากำกับถ้าปล่อยงานออกมาไม่ดีก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นหนัง “คนโขน” เนี่ย จะสื่อความเป็นตัวตนของศรัณยูออกมาเลย คิดอย่างไรรู้สึกอย่างไรก็จะถ่ายทอดออกมาเลยครับ ผมเชื่อเลยว่าหนังเรื่องนี้จะออกมาดี แต่จะชอบหรือไม่ชอบกันก็แล้วแต่ความคิดเห็นของผู้ชมเลยครับ

          การร่วมงานกับพระเอกใหม่เป็นอย่างไรบ้าง
          ก็ถือว่ามาแนวแปลกเลย เพราะผมก็เล่นกับเด็กวัยรุ่นมาเยอะแยะส่วนใหญ่จะเป็นเกาหลี เป็นแนวอะไรก็ว่าไป แต่เด็กคนนี้มีความเป็นไทย 100 % เลยทีเดียว อยากจะถ่ายทอดอะไรที่เป็นไทยๆ ยิ่งตอนนี้เรียนเกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทยอยู่ด้วย ก็มาถูกทางเลยครับในเรื่องนี้ เพราะเอาสิ่งที่ได้ร่ำเรียนมาถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์มก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเลยครับ ส่วนเรื่องการแสดงนี่ก็ถือว่าใช้ได้เลยนะครับ แม้จะเป็นเรื่องแรกของเขาก็ตาม ถือว่าไว้ใจได้

          มีฉากปะทะอารมณ์ที่ต้องแสดงร่วมกันกับพระเอกใหม่ ฉากนี้เป็นอย่างไร
          ฉากนี้เป็นฉากที่อารมณ์ค่อนข้างแรงเหมือนกันครับ เป็นตอนที่ชาด ลูกศิษย์เค้ามาขอโทษในเรื่องบางอย่าง แต่ผมก็ไล่เขาไป ออกแรงถีบเค้าไป แล้วตัวผมเองก็ลื่นล้มไปโดนฉากที่มันกั้นอยู่ ซึ่งตามบทจริงๆ ก็ไม่ได้มีเขียนบอกว่าต้องถึงกับขนาดนี้ พอเตะเค้าไป ตัวเราก็กระเด็นอย่างเร็วล้มตึงไปเลย ด้วยน้ำหนักตัวเรามาก กระดูกเราเปราะ มันก็เสี่ยงอยู่เหมือนกัน พอมาคิดดูแล้วถ้าวันนั้นล้มลงไปแล้วกระดูกหักไปเนี่ย ผมต้องพักเป็นปีเลย จริงๆ ก็ไม่คิดว่ามันจะแรงขนาดนี้ แต่ด้วยอารมณ์ตอนแสดงมันส่งมันก็เลยออกมายิ่งกว่าที่คาดไว้อีกครับ แต่สุดท้ายดีที่ไม่เป็นอะไรครับ ปลอดภัยดี บุญคุ้ม แต่ก็ไม่น่าเสี่ยงนะครับ มันอันตรายเกินไป

          การร่วมงานกับ “กบ พิมลรัตน์” ที่แสดงเป็นภรรยาสาว
          กบก็เป็นนักแสดงที่เก่งนะครับ ร่วมงานกันก็รู้ว่าเป็นคนเก่งคนนึงเลย แสดงได้เนียน ดูแล้วเชื่อได้เลย แล้วเราพูดคุยเสนอแนะอะไรไปก็ยอมรับฟังแล้วนำไปประยุกต์ใช้ อย่างเราแนะไปว่าฉากนี้ๆ ต้องเล่นอารมณ์ สื่ออกมาทางดวงตานะ ให้คนดูเชื่อถือ และก็หลงรักกบนะ ซึ่งเค้าก็ทำได้ดีเลยล่ะครับ

          การประชันบทบาทกับ “อาหนิง นิรุตติ์” ในเรื่องนี้เป็นยังไงบ้าง
          ก็ดีครับ คุณนิรุตติ์แกมืออาชีพไว้ใจเชื่อมือได้อยู่แล้ว เราสองคนก็เล่นเป็นฝ่ายตรงข้ามกัน ผมเองตามคาแร็คเตอร์ครูหยดก็จะเป็นคนนิ่งๆ ออกสมถะ ใครจะทำอะไรก็ทำไป ไม่ยินดียินร้าย ส่วนตัวนิรุตติ์เลานเป็นครูเสกก็จะคอยยั่วอารมณ์เราตลอดเวลา แต่เราก็ไม่ไปสนใจ มีความสุขในสิ่งที่ตัวเองทำ แค่นี้ก็น่าพอใจแล้ว คติอันนี้ก็นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เลย คุณจะเด่นจะดังจะร่ำจะรวยก็เรื่องของคุณ ผมเองก็มีความสุขง่ายๆ ในสิ่งที่ผมทำอะไรอย่างนี้นะครับ คนเรามันเลือกความสุขได้ด้วยตัวเอง การทำงานกับนิรุตติ์ก็ไม่มีปัญหาอะไรเพราะทำงานกันมานานนะครับ ทำตามหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุดเท่านี้พอแล้วครับ

          ความน่าสนใจโดยรวม
          ตอนแรกผมก็ถามคุณตั้วนะว่าคิดยังไงจับเรื่องโขนมาทำ ไม่คิดว่ามันจะถ่ายทอดออกมาเป็นหนังได้นะ เอามาปะติดปะต่อกันได้ไง เรื่องโขนรามเกียรติ์พระลักษณ์พระรามนางสีดา จะเอามาเกี่ยวข้องกับการแสดงในเรื่องนี้ได้ยังไง แต่คนเขียนบทกับผู้กำกับก็คุณตั้วคนเดียวกันนี่แหละ เค้าเก่ง สามารถจับเรื่องโขนที่หลายคนคิดว่าน่าเบื่อ เอามาประยุกต์ใส่ไว้ในเรื่องราวปัจจุบันที่เป็นชีวิตมนุษย์ที่มีทั้งรักโลภโกรธหลงตัณหาราคะ มีปัญหาชีวิตด้วยกันทั้งนั้นทั้งในเรื่องโขนเรื่องชีวิตของตัวละครก็เชื่อมโยงสอดคล้องกันไปได้ดี ก็หยิบจับเอามาถักร้อยจนเป็นเนื้อเดียวกันได้ดีเลย เค้าก็เข้าใจคิดนะ เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเรื่องราวของโขนออกมาให้เห็นในหนังเลยนะ เรื่องการแสดงก็น่าสนใจทั้งรุ่นใหญ่รุ่นเล็ก เรื่องนี้จะว่าไปก็เป็นชีวิตคนธรรมดานี่แหละแต่ดำเนินไปในอาชีพของคนโขนนั่นเอง น่าติดตามมากๆ ครับ

FB on August 18, 2011, 01:04:43 PM
บทสัมภาษณ์ “ศรัณยู วงษ์กระจ่าง” ผู้กำกับ “คนโขน”



ที่มาที่ไป-แรงบันดาลใจ-จุดกำเนิดของโปรเจ็คต์นี้
          ที่มาที่ไปจุดกำเนิดโปรเจ็คต์ “คนโขน” นี้มันก็เริ่มจากการที่เรามีอาชีพทำหนัง เมื่อถึงเวลาที่พร้อมก็ควรจะทำหนัง แล้วทีมงานรอบตัวก็พร้อมที่จะทำหนังแล้วก็เลยหาโปรเจ็คต์ทำกัน ก็คิดรอบวงคุยกันปกติ ทุกคนก็โยนความคิดเข้ามาในวงสนทนาเรื่อยเปื่อย ตกตะกอนในเบื้องต้นมันชัดเจนตรงที่เราก็ผ่านโลกมาขนาดนี้แล้วเห็นชีวิตผู้คนมาขนาดนี้ เรามีประสบการณ์ชีวิตมาขนาดนี้ ก็เลยมองจากตัวตนที่เรามีความเข้าใจในเรื่องของมนุษย์ ในเรื่องของชีวิตเป็นเบื้องต้น เพราะฉะนั้นอะไรก็แล้วแต่ควรเป็นเรื่องที่สะท้อนบอกกล่าวสังคม รวมทั้งตอบสนองต่อแรงบันดาลใจของเราด้วย ซึ่งเราก็เคยคุยกันวงเล็กวงน้อยก็เห็นตรงกันว่า อยู่ๆ ทำไมคนนิยมเกาหลี วัฒนธรรมเกาหลีมันมาเหลือเกิน ซึ่งก่อนหน้านี้ทำไมคนหลงใหลความเป็นอเมริกันชน อยู่ๆ ทำไมวัฒนธรรมไทยมันเริ่มหายๆ ไป ทำไมไปคลั่งเกาหลี คลั่งฝรั่งกันมาก เพราะฉะนั้นหนังจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่มันจะช่วยให้ดึงสิ่งเหล่านั้นกลับมาได้ มันอาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แต่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นสิ่งเหล่านี้ได้ ก็เลยน่าจะทำเรื่องราวที่มันสะท้อนศิลปะวัฒนธรรมไทย ซึ่ง เราก็ต้องแยกตามความถนัดของเราออกมาด้วยว่าจะทำในแง่ไหน ก็คิดว่าเราต้องไม่พูดเป็นเชิงสารคดี ต้องไม่ใช่ว่าสอนอย่างงี้ๆ เราก็ได้เส้นร่างคร่าวๆ ว่าเป็นไปได้ หมายความว่าเราทำหนังที่มันครบรสชาติ ทำหนังไทยให้คนไทยดูละกัน ทำหนังชีวิตที่มันมีรัก โลภ โกรธ หลง ตามแบบฉบับของนวนิยายไทย ซึ่งพอมันออกมาแบบนี้แล้ว เด็กจะดูหรือผู้ใหญ่จะดู หรือวัยรุ่นจะดู ก็ดูได้ทั้งนั้น เพราะมันเป็นกลางๆ แล้วเป็นหนังไทยจริงๆ
          พอได้ไอเดียนี้ก็เลยมีความคิดว่ามันน่าจะเป็นไปได้ เอาศิลปะวัฒนธรรมที่เราจะใส่เข้าไปเนี่ยเป็นฉากหลังของภาพยนตร์ พอพูดถึงศิลปะวัฒนธรรมในความเป็นไทยอะไรที่ควรจะถูกหยิบมาพูดในหนัง ก็มีการแตกความคิดกันเยอะมาก และ “โขน” ก็เป็นความตั้งใจของพี่เองนานมากแล้ว เพราะมันมีความสวยงามที่น่าหยิบมาทำภาพยนตร์ อย่างหนังจีนก็ยังมีเรื่องงิ้ว ไทยก็น่าจะมีเรื่องนี้เข้ามาได้ พี่ก็นึกถึงโขน ลิเก ลำตัดอะไรแบบนี้ ก็คิดว่าเรื่องเหล่านี้น่าจะหยิบขึ้นมาทำได้ เพราะมันมีความสวยงามในเชิงศิลปะการร่ายรำ และน่าสนใจในการนำเสนอ
ความที่อยากทำโขนแต่ตัวเองไม่เคยเล่นโขน มันก็เลยสะท้อนทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจในการไขว่คว้าหาข้อมูลและนำมาเผยแพร่ มันก็เลยเป็นเรื่องสนุก เพราะฉะนั้นก็เลยตั้งเป้าว่าเราจะทำเรื่องนี้โดยการค้นคว้าไปพร้อมๆ กับคนดู ถือว่าเราก็เป็นหนึ่งคนที่ยังไม่รู้จักเรื่องโขน แล้วโขนมีอะไรที่น่าสนใจ น่าทำมากๆ
          ขณะที่ข้อมูลเริ่มเข้ามา เราก็เริ่มวางโครง พอเราเอาเรื่องโขนมาทำ คนที่อยู่ในวงการโขนทุกคนก็รู้สึกดีใจ มีการสร้างหนังเรื่องนี้โดยตรง ทุกคนดีใจ ก็เลยคิดว่า เอาเรื่องชีวิตของคนในแวดวงนี้ขึ้นมาทำดีกว่า ซึ่งก็จะมีหลากหลายอารมณ์ทั้งรักโลภโกรธหลงเป็นปกติวิสัยของมนุษย์ แล้วก็สร้างฉากหลังขึ้นเป็นสังคมของโขนอะไรแบบนี้ ซึ่งก็ต้องขอบคุณครูมืด (ประสาท ทองอร่าม) และครูหลายๆ คนมากที่กรุณาให้เราไปสัมภาษณ์ให้เรานั่งคุย ก็เลยเชิญครูมืดแกมาเป็นที่ปรึกษาซะเลย ก็เลยบอกแกว่าถ้ามันมีอะไรผิดพลาดก็โทษครูคนเดียวเลยนะ เพราะว่าขึ้นชื่อครูมืดไปแล้ว (หัวเราะ) แกก็บอกเป็นไงเป็นกันเอาให้เต็มที่ ก็เลยทำให้หนังเรื่องนี้มีความเป็นโขนครบถ้วนและผ่านการกลั่นกลองจากครูโขนอย่างแท้จริง โดยยังอยู่ในคอนเซ็ปต์เป็นฉากหลังของชีวิต มันก็เป็นการสะท้อนชีวิตที่เราได้เห็นแง่มุมของอารมณ์ผู้คนต่างๆ มันก็จะอยู่ในเนื้อของตัวละคร โดยตัวละครเหล่านี้เป็นนักแสดงโขนก็เลยมีเรื่องโขนให้เห็นอยู่ ก็เลยเป็นสัดส่วนที่ลงตัว และมีความสุขที่มันออกมาแบบนี้ได้ และก็น่าจะเป็นหนังที่ดีเรื่องหนึ่งที่สะท้อนศิลปะวัฒนธรรมเกี่ยวกับเรื่องโขนด้วย

ถ้าเทียบกับงานกำกับเรื่องแรกแล้ว (อำมหิตพิศวาส – 2549) ถือว่าพลิกแนวไปมากๆ
          พลิกไปมากเลย คือพลิกเพราะโจทย์ พี่เป็นคนทำหนังตามโจทย์อย่างที่บอกไป ซึ่งก็ถือว่าเป็นโชคเหมือนกัน เพราะก่อนที่จะขึ้นโปรเจ็คต์นี้ มีเพื่อนแนะนำว่า โปรเจ็คต์ดีๆ แบบนี้ ให้ไปขอการสนับสนุกจากกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งพี่ไม่เคยรู้เรื่องแบบนี้เลย อาทิตย์สุดท้ายพอดี ก็เลยยื่นโปรเจ็คต์เข้าไป ก็เลยได้รับการสนับสนุนด้านทุนส่วนหนึ่งมาจากกระทรวงวัฒนธรรมด้วย เขาก็บอกเลยว่าเรื่องนี้มันไม่สนับสนุนไม่ได้ ก็เลยเกิดเป็นโปรเจ็คต์นี้ขึ้นมา

ระยะเวลาการค้นคว้าข้อมูล
          ประมาณ 2 ปี แนวคิดวันแรกตั้งแต่ที่นั่งคุย แล้วก็รีเสิร์ชไป คือเราไม่ได้รีเซิดจนเสร็จ 2 ปีถึงทำ แต่คือไป 6 วัน เราก็เริ่มเขียนเริ่มแก้ เริ่มสักปีหนึ่งเนี่ย เราถ่ายทำ Prologue (การแสดงทั้งเรื่องให้เห็นตัวอย่างหน้าหนังประมาณนี้) ด้วย ความที่พี่ไม่อยากให้นายทุนผิดหวังคือถ่ายเลย ถ่ายในสตูดิโอที่ไม่มีฉากยาว 60 กว่านาที มันทำให้พบว่าได้ผลและก็ทำตรงนั้น ก็ยังกลับมาแก้ไขอีกว่า บทเรื่องโขนบางทีมันหลุดไปอีกด้านหนึ่งต้องดึงแก้กลับไปกลับมา จนวันที่บทเรียบร้อยนั่นคือ 2 ปี ก็เริ่มแคสติ้ง แต่ตัวหลักๆ ก็ได้มาปีกว่าๆ แต่ตัวที่เหลือก็เริ่มแคสกันไป ถ้าเขียนบทอย่างเดียวรวมๆ แล้วก็ประมาณปีครึ่ง

“คนโขน” เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
          เรื่องราวชอง “คนโขน” เป็นเรื่องพื้นๆ ของชีวิตคนที่มี รัก โลภ โกรธ หลง มีชะตากรรมเข้ามาเป็นตัวกำหนด คือเรื่องนี้ถ้าถอดเรื่องโขนออกจะชี้ให้เห็นว่าชีวิตคนเราไม่ว่าจะเดินไปทางไหนมันคือเรื่องจิตใจ เรื่องกิเลส ถ้าเราให้กิเลสเป็นตัวนำพา เราตัดสินใจอะไรผิดพลาดไปผลที่ตามมานั้นมันก็จะโยงใยหลายชีวิตเข้าด้วยกัน
          จะว่าไปเรื่องของ “คนโขน” ก็เป็นเรื่องของความเย้ายวนของปัจจุบันนี้ เพียงแต่ว่าพอเราจับให้มันเป็นเรื่องของโขน เรื่องของคน ใน พ.ศ. 2509-2510 ยุคที่การแสดงโขนยังได้รับความนิยม โขนก็คือหนึ่งศิลปะหนึ่งการแสดง ซึ่งต้องมีการซ้อมมีการฝึกฝนตั้งแต่เด็กๆ มันจึงเกิดสังคมของคนเล่นโขนที่อยู่คลุกคลีกันมาตั้งแต่เด็กจนโต และก็เข้าใกล้กับการมีชื่อเสียง การประสบความสำเร็จ การล้มเหลว การมีชื่อเป็นครูโขนที่เก่งที่สุด ส่วนของคนที่เป็นครูโขนที่ล้มหายตายจากไปไม่มีคนนิยม สิ่งเหล่านี้เป็นกิเลสที่พร้อมเย้ายวนทุกชีวิตที่อยู่ในวังวนนี้เป็นโครงหลัก
          จากโครงหลักนี้ก็เล่าผ่านตัวละครของเพื่อน 3 คน เรามีความรักของเพื่อน 3 คน ในวัยเด็กซึ่งเป็นเด็กกำพร้า แต่ละคนจะมีความฝันของตัวเองต่างๆ กันไป แน่นอนว่าตัวพระเอกฝันอยากจะเป็นนักแสดง อยากจะเป็นคนมีชื่อเสียง และด้วยทักษะความคล่องตัวของเขาก็โดนชักชวนไปอยู่คณะโขน ผู้หญิงก็มีความฝันที่ไม่แพ้ตัวพระเอก เพียงแต่โขนเป็นเรื่องของผู้ชายมากกว่า ความถนัดของเขาก็หลุดไปทางลิเก ส่วนเพื่อนอีกคนมีความฝันไปทางวาดรูป อยากเขียนฉากลิเกให้เพื่อนผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ก็ไปทางด้านการเรียนศิลปะเพาะช่าง เพื่อน 3 คนเป็นเพื่อนรักกันมาก สิ่งหนึ่งที่มันอยู่ในมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยก็คือความสนิทสนมและความรักที่เกิดขึ้นโดยรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง กล้าพูดบ้างไม่กล้าพูดบ้าง ดังนั้นแกนของเรื่องมันคือเพื่อนรักกัน เพื่อนคนหนึ่งรักเพื่อนอีกคนหนึ่ง เพื่อนอีกคนก็รักด้วยแต่ไม่กล้าบอก นี่คือโยงใยของคนทั้ง 3 คนแต่เมื่อทั้ง 3 คนแยกย้ายกันไป สิ่งที่ยังเกาะเกี่ยวนั่นคือความเป็นเพื่อน ที่ทำให้กลับมาเจอกันเสมอ แต่ชะตากรรมของพระเอกเมื่อเข้าไปอยู่ในคณะโขนก็เลยไปพบกับสิ่งเร้าใจต่างๆ ซึ่งเขาก็จะมีชะตาชีวิตของเขา ด้วยความที่อยากจะประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง พาตัวเองเข้ามาอยู่ในคณะโขนและตัวเองก็เป็นใหญ่ขึ้นมา ซึ่งตัวละครเหล่านี้เองทำให้ต้องมาเจอทางเลือกที่ทำให้เขาเลือกผิดหรือเลือกถูกจากกิเลสเหล่านั้น จึงนำไปสู่โศกนาฏกรรม
          จะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องชีวิตของ 4-5 คน แต่มันจะถูกขับเคลื่อนด้วยฉากของการแสดงโขน เริ่มต้นตั้งแต่ไปเล่นโขนที่โรงละคร ในเรื่องนี้ก็จะเห็นตั้งแต่การสร้างโรงละครครั้งแรก ได้เห็นการแสดงโขน ได้เห็นการประชันโขน ได้เห็นโขนทุกรูปแบบ คือโขนไม่มีแต่ในโรงโขนเท่านั้น จริงๆ มี โขนกลางแปลง มีโขนฉากขาว มีโขนหน้าจอ โขนนั่งราว นักแสดงโขนนั่งราวไม้ไผ่ มากมายหลายอย่าง หนังเรื่องนี้ก็จะมีการแสดงโขนครบทุกประเภท แต่ไม่ใช่เล่น “รามเกียรติ์” ทั้งเรื่องเพราะมันยาวมาก ก็จะมีนิดหน่อยเพื่อให้แฟนโขนได้มาดูแล้วได้เห็น และที่น่าตื่นเต้นสำหรับแฟนโขนก็คือ บรรดาครูโขน บรรดานักแสดงโขนที่มีชื่อเสียง เกือบทุกคนอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
 
จริงๆ เรื่องนี้เป็นการสะท้อนเรื่องรัก โลภ โกรธ หลงของมนุษย์
          ใช่ เรื่องรัก โลภ โกรธ หลง ก็เป็นเรื่องที่สมควรพูดในสังคมว่าเป็นยังไง ดีเลวอย่างไร หนังทุกเรื่องหนังฝรั่งก็ยังหนีไม่พ้น เพราะชีวิตทุกวันนี้มันก็มีแค่นี้ ถ้าทุกคนครองตัวมีศีลมีสติ เรื่องมันก็จะราบเรียบ ภาพยนตร์ก็จะเจ๊งกันไป พูดกันมันก็ต้องมีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน พูดกันไปเลยอย่างหนังเรื่อง “อวตาร” ก็ยังมี มีทุกเรื่อง นี่คือแกนของชีวิต รัก โลภ โกรธ เกลียด กิเลส ตัณหา ราคะ แล้วมันนำไปสู่อะไรแค่นั้นเอง นำไปสู่เชิงขบขันไหม ทะเลาะกันเป็นสไตล์ตลกก็ว่าไป ผีหรืออะไรก็ว่าไป ต้นตอมาจากตรงนี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าจับต้นตอที่จะเอามาพูดได้ นำมาพูดได้เรื่อยๆ พอเราจะพูดเรื่องอะไรเราก็นำเรื่องสอดแทรกเข้าไป วิธีคิดเรื่องนี้ก็มาจากอย่างนี้

FB on August 18, 2011, 01:05:31 PM
การคัดเลือกทีมนักแสดงโดยรวม
          ตัวพระเอก เราก็ได้นักแสดงที่เป็นโขนจริงๆ “น้องอาร์” เรียนนาฏศิลป์ที่จุฬาฯ มีพื้นฐานทางนี้ดีพอตัวเลย ก็นำมาฝึกแอ็คติ้งการแสดงเพิ่มเติมก็เล่นได้ไหลลื่นเลย นางเอกเราแคสหลายคนมากๆ จนไปเห็นรูป “น้องตรี” ในหนังสือแฟชั่น เห็นแล้วก็สวยดี แถมกำลังเรียนนาฏศิลป์ที่จุฬาฯ เหมือนกัน ก็เข้าตาเลย จากนั้นคนอื่นๆ ไม่น่าเชื่อว่าแม้กระทั่ง “น้องกอง” ตัวเพื่อนในเรื่องก็เคยเรียนโขนคือได้มาจากกลุ่มโขน ส่วนตัวผู้ร้ายคู่ปรับอันนี้มาครั้งแรกก็ได้เลย “น้องนัท” เป็นหลานของคุณปกรณ์ พรพิสุทธิ์ พระเอกและครูโขนชื่อดังในกรมศิลป์เลย และหน้าตาก็ใช่เลยเหมาะกับยุคสมัยก็ได้มาเป็นตัวร้ายทันทีเลย ตัวจริงน่ารักมากและเป็นนักเรียนโขนที่เก่ง ใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะลงตัว มันจะต้องจับสัดส่วนไง พอพระเอกเป็นคนนี้ อีกคนควรจะเป็นแบบไหน ช่วงนั้นที่แคสก็เกือบๆ 5 เดือนได้นะ แคสตัวหลักตัวรอง เชื่อว่านักเรียนโขนน่าจะครบทั่วประเทศนะที่ถูกเชิญมาแคส แม้กระทั่งในวัยเด็ก เพราะตอนแรกที่ทำไพล็อตมีช่วงที่เล่นโขนตอนเด็ก ก็เอาเด็กๆ ที่เล่นโขนมาแคสด้วย จนถึงบทสุดท้ายที่ต้องเปลี่ยนไป ก็ว่ากันไป ทำงานตรงนี้อยู่นาน ถามว่ายากไหม มันไม่ง่าย ต้องใช้เวลา รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มีครูมีอะไรบางอย่างที่เขาหาอะไรที่เหมาะให้กับเรา คนที่มาเล่นเป็นครูโขน ก็ไปขอที่กรมศิลป์ โดยครูมืดก็เข้ามาประสานและดึงครูทุกคนเข้ามาอยู่ในบทบาทที่เหมาะลงตัวสวยงามหมด
          จนกระทั่งมาถึงนักแสดงรุ่นใหญ่ เราก็คิดแบบภาพยนตร์ว่าถ้ามีแค่นี้ เดี๋ยวจะว่าไม่มีอะไรเลย ภาษาหนังก็ต้องมีใครที่มาค้ำไว้ ซึ่งตามบทมันก็มีบทของครูโขน 2 คนที่เป็นรุ่นใหญ่ ที่มีภูมิหลังที่เขาเป็นเพื่อนเก่ากันมาและมาหักกันในยุคนี้ครูคนหนึ่งก็เป็นเหมือนสำนักของพระเอก ครูอีกตัวก็เป็นของตัวผู้ร้าย เป็นคู่อริกัน ก็ตามสูตรหนังเลย ต้องเป็นคนที่มีบารมีที่จะมาค้ำทั้งหมดของหนัง คือถ้าดูแล้วไม่เชื่อ ตรงนี้ก็จะดูไม่แข็งแรง ในโลกการแสดงเมืองไทยต้องเป็นสองคนนี้เท่านั้น “สรพงษ์ ชาตรี” และ “นิรุตติ์ ศิริจรรยา” ซึ่งดูแล้วมีบารมี มีศักดิ์ศรีค้ำกันได้ มันเป็นคาแร็คเตอร์ที่ต่างกัน ก็เลยมองว่าทั้งพี่เอกและพี่หนิงน่าจะเหมาะ โดยที่สรพงษ์อยู่กับความเป็นสมถะ และนิรุตติ์อยู่กับความยิ่งใหญ่ ศักดิ์ศรีชื่อเสียง
          ตามมาด้วยอีกสองคนของเรื่องซึ่งเป็นหัวใจสำคัญไม่แพ้กัน คนหนึ่งก็คือแฟนเก่าของครูหยดคือสรพงษ์ เมื่อได้สรพงษ์มา ใครล่ะที่จะใส่ชุดนางรำได้สวยงาม เป็นคนรำแล้วสวยงาม ก็นึกถึง “พี่ต่าย เพ็ญพักตร์” คุณต่ายก็ยินดีอยากใส่ชุดสวยงามเหล่านี้ ก็มีรำนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งทุกคนก็ไปซ้อมนะ ทุกคนก็ไปฝึกที่กรมศิลป์
          และอีกคนที่เป็นหัวใจของเรื่องที่เป็นคนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมด้วยกิเลสตัณหาของเธอเอง ก็คือตัวที่เป็นครูสอนรำชื่อครูรำไพ เราก็ต้องการใครสักคนที่มีความเหมาะสมกับนางรำในยุคนั้น ต้องมีความเป็นไทย แต่ต้องมีกิเลลสตัณหามาจับในชีวิตของเขา และก็ต้องสะท้อนเรื่องราวเหล่านี้ได้ ก็คิดอยู่นานเพราะเราก็อยากได้ตัวอิจฉาที่รำได้ ก็มีเสนอหลายคนจากนักแสดงที่มีอยู่ สุดท้ายเราก็ต้องเลือก “กบ พิมลรัตน์” ไม่มีเหตุผลใด คือเราวางกบไปแล้วมันพอดี มันตอบทุกอย่างได้ มันไม่ได้โดดเด่นจนข่มนักแสดงคนอื่นทั้งหมด และก็ไม่ได้กลืนหายจากการเป็นนางรำคนหนึ่ง น้องกบก็มีภาพความเรียบร้อย สาวไทย แต่ด้วยโครงหน้าด้วยตาเขาทำให้พี่เห็นว่าเขามีอารมณ์มีเรื่องราวแบบนั้นแฝงอยู่ด้วย และเขาก็ทำงานออกมาได้น่าชื่นชมมากๆ ด้วย

การซ้อมก่อนเปิดกล้องมีส่วนช่วยมากน้อยแค่ไหนในช่วงการถ่ายทำ
          มีส่วนช่วยเยอะมากครับ เพื่อให้ใช้เวลาหน้ากองน้อยที่สุด เพราะพี่ก็จะบอกทุกคนว่าต้องทำแบบนี้ พอไปถึงหน้ากองพี่จะไม่สามารถไปเจาะรายละเอียดเฉพาะคนได้ ทุกคนต้องทำการบ้านจากที่เราซ้อม พี่ก็จะดูภาพรวมในเรื่องของเซ็ต เรื่องไฟ พอถึงเวลาก็เรียกนักแสดงเข้าฉากเลย คือถ้าพูดถึงละคร ถ้านัดกันวันนี้ทุกคนเห็นคิวถ่ายฉากอะไรบ้าง พอเรียกมาก็มาซ้อมกันก่อนหนึ่งเที่ยว นั่นมันก็ละครคืออีกแบบหนึ่ง แต่นี่มันเป็นหนัง มันทำแบบนั้นไม่ได้ พี่ก็คอยบอกแบบนั้นตลอด เพราะหนังนี่มันประวัติศาสตร์ เป็นเหมือนลายเซ็นคุณเลยนะ ที่จะอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน คุณทำให้เต็มที่ อย่างน้อยคุณต้องตอบตัวเองได้ว่า คุณทำเต็มที่แล้วข้อบกพร่องมันคืออะไร แก้ไขที่มาที่ไป ไม่ใช่ทำไปแล้วมาคิดว่า ไม่น่าเลยเพราะนั่นนี่อย่างนั้นอย่างนี้ ก็ต้องทำให้เต็มที่ งานหน้ากองก็จะไปได้เร็วขึ้น ไม่อย่างนั้นก็ต้องใช้คิวถ่ายกันบานเลย

ถ้าพูดถึงแอ็คติ้งการแสดงของนักแสดงรุ่นเด็กๆ นี่มีอะไรหนักใจมั้ย
          ถ้าพูดว่าหนักใจก็คงเป็นพระเอกของเรานี่แหละ เพราะว่าเขาสวยงามทางด้านโขน แต่นี่คือเรื่องแรกของเขา และเป็นตัวเดินเรื่องทั้งหมด ตั้งแต่เขาเริ่มเกิดไปจนจบ คือเดินเรื่องจริงๆ เรื่องอยู่กับเขาหมดเลย มันเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเขา เขาก็รู้และเขาก็ซ้อมเยอะ ซึ่งเขาทำเต็มที่และด๊ที่สุดแล้ว ข้อบกพร่องคงมีแน่นอนเพราะเป็นเรื่องแรกของเขา พี่ว่ามันถูกทดแทนด้วยความบริสุทธิ์ของเขา คือสิ่งที่เขายังไม่มีคือ เสน่ห์แบบซูเปอร์สตาร์ ต้องยอมรับเพราะมันเป็นเรื่องแรก แต่สิ่งที่เขามีในเรื่องนี้คือความจริงของเขาที่มีในทุกตอนทุกนาทีของหนังเรื่องนี้ และถ่ายทอดอย่างจริงใจกับมันจริงๆ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับคนดูว่าจะรับมันได้แค่ไหน เขาไม่มีแสแสร้งเลย เมื่อไหร่ที่เขารำ เมื่อไหร่ที่เขาอยู่ในโขน เขาจะสวยสง่างามจริงๆ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นการทดแทนกันไป นี่คือความเต็มที่ของเขา

เรื่องการแสดงจะมีฉากดราม่าอยู่พอตัวเลย
          เป็นเพราะการซ้อม ถามว่ายากไหม ยากนะ เพราะน้องๆ เขาก็อายุ 19-20 ซึ่งก็ต้องให้เขาเข้าใจ พอมีเวลาซ้อมก็มีเวลาที่จะสามารถค่อยๆ ซ้อม ค่อยๆ บอก และอธิบาย เอาเรื่องประสบการณ์มาหยิบยืมทดแทนกันได้ ตรงที่ยากที่สุดของอาร์ (พระเอก) คือฉากเมา พี่ก็ไม่อยากเชื่อว่าจะมีคนแบบนี้อยู่ในกองถ่ายนะ ตอนถ่ายทำตอนนั้นก็อยู่ศิลปกรรมจุฬาฯ ขึ้นปี 2 ไม่เคยกินเหล้า เป็นเด็กดีมาก ดีจริงๆ พูดเพราะ สุภาพ ครั้งหนึ่งฉากว่ายน้ำก็หลายเทค มันก็หงุดหงิดตัวเองนะ ก็พูดออกมา โธ่เว้ย พี่ก็ทำไม่ได้ยิน พอเสร็จมาขอโทษ ขอโทษทุกคน พี่ก็ถามขอโทษเรื่องอะไร มันก็บอกขอโทษที่ผมพูดจาไม่ดี มันไม่ตรงซักทีแล้วผมพูดว่า แม่งโว้ย พี่ก็บอกมันต้องขอโทษด้วยเหรอ คือเป็นคนดีสุภาพมาก เรียบร้อยนั่งรออยู่กับบทตลอด
          กลับมาที่ฉากเมา ที่ยากก็เพราะเป็นฉากที่ไปกับรำไพแล้วโดนมอมเหล้า เมาจนคุมสติไม่อยู่ แต่ไม่ได้เลยมันไม่เหมือน ก็ถามว่าอาร์เคยดูหนังเรื่องอะไรไรบ้าง ที่มีพระเอกเมา ร้องไห้ ให้ไปดูมา เรื่องฉากร้องไห้ด้วย ให้ร้องไห้มันร้องไม่ได้ ถามว่าอาร์ เคยเศร้ามากไหม ก็เคยเศร้าแต่ก็ไม่ร้องไห้ ก็ให้มันไปทำการบ้านเยอะมาก มีผู้ช่วยพี่คนหนึ่งก็ให้ดูซีรี่ส์ญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งเศร้ามาก บอกมันว่าสมมติแม่ตาย สมมติพ่อตาย ยังไงมันก็ไม่ร้องจนพี่ถอยกลับมา แล้วบอกอ่ะสบายๆ พอเอาซีรี่ส์ญี่ปุ่นไปดู หายไปอาทิตย์หนึ่ง กลับมาบอกผมได้แล้วพี่ มันเอาคลิปมาให้ดู คือมันนั่งดูหนังนะแล้วมันเศร้าจริงๆ พอมันรู้ว่าเศร้าจนมันจะร้องไห้ มันจับกล้องมาถ่ายตัวเอง ก็เห็นมันร้องไห้โฮเลย มันบอกผมรู้แล้วมันเป็นแบบนี้ ก็บอกให้จำแบบนี้ไว้ กว่าจะเจอ แต่พี่ประทับใจความน่ารักของน้องมันนะ ก็ต้องคอยบอกให้มันจำไว้
          ส่วนอีกอันตรงกินเหล้าไม่เคยเมาก็พูดเล่นว่าต้องพาไปมอมเหล้าซักวัน มันก็ถามพูดเล่นพูดจริง ไม่ได้แม่ไม่ยอมแน่ จนก่อนจะทำงานจริงแล้วก็ไปอยู่หัวหินก็แกล้งๆ ชวนมันไป เหมือนก็รู้ตัวว่าต้องไปแน่ แม่ก็ปล่อยละ อาร์เนี่ยจะอยู่กับการทำงานเราตลอด ผ่านการทำงานที่ละเอียดมาก ก็บอกมันว่าอาร์คืนนี้ต้องกินเหล้า มันก็ขอแม่เรียบร้อย พอนั่งคุยกันไปดึกๆ พี่ก็เอาว้อดก้าให้กิน ใส่นิดเดียวนะ ให้มันลองกิน ก็นิ่งๆ ก็เริ่มคุย ก็ถามมันว่ารู้สึกยังไงบ้าง มันก็เล่าๆ มันไม่เคยกินจริงๆ สักพักหน้าเริ่มแดง เอากล้องถ่ายเลยก็เริ่มคุย มันก็พยายามบอกตัวเองนะ ว่ามันเริ่มร้อนแบบนี้นะ แล้วเดี๋ยวมันจะเริ่มยืนไม่อยู่ แก้วเดียวนะ มันก็เริ่มหัวเราะไม่มีเหตุผล เราก็ซักพักอีกจิบหนึ่ง 2 จิบ แค่นั้นนะเป๋เลย แกล้งบอกมันไหนเต้นรำให้ดูสิ มันลุกเต้นเลยแล้วก็บอกเราพี่แทงโก้เป็นแบบนี้นะไปใหญ่เลย และถามมันว่าจำได้ไหม มันก็ตอบว่าจะร้อนๆ แบบนี้นะ แล้วก็จะหัวเราะแบบนี้ และก็ถ่ายเก็บไว้แล้วไปนั่งดู ตอนเช้ายังแซวอยู่แลย ได้ยันเช้านะ มันบอกยังมึนอยู่เลย 2 จิบแค่นี้ พี่ก็ต้องบอกมันว่าปกติพี่ก็ไม่ได้ทำแบบนี้นะ อาร์มันก็บอกครับผมเข้าใจพี่ พอถ่ายฉากเมาจริงๆ มันก็เป็นแบบนี้เลย จริงๆ พี่ไม่เห็นด้วยที่วิธีฉากเมาแล้วก็ให้กินเหล้า นั่นแหละก็ยากสุดสำหรับพระเอกก็สองฉากนี้

ฉากบอกรักล่ะเป็นยังไงบ้าง
          ฉากบอกรักเป็นฉากหนึ่งที่คิดกันอยู่นานมาก คือเขาบอกว่าอย่างนี้นะ เวลาเล่นโขนเวลาสวมศีรษะ คือเราไม่ใช่คนโขนเราก็ไม่รู้หรอก เรายังคิดว่าหานักแสดงหล่อๆ มาดึงวัยรุ่น แล้วใช้นักแสดงแทนเอา เพราะโขนสวมศีรษะไง แต่โอ้โห ยังไงก็ไม่ได้ ถ้าไม่เรียนตั้งแต่เด็กๆ ยังไงก็เล่นไม่ได้ ยากมาก สุดท้ายังดีที่ได้นักแสดงที่เป็นโขนจริงๆ แต่คนที่เป็นแฟนโขนเนี่ยแค่ท่าเยื้องย่าง แล้วสวมศีรษะก็รู้ว่าใครเป็นคนเล่น ถามครูมืดว่าจริงเหรอ ครูมืดก็บอกว่าอย่างนี้จริงๆ เพราะฉะนั้นแฟนโขนที่มาดูหนังเรื่องนี้ก็จะได้เห็นลีลาโขนในยุคนี้ที่ยังเล่นกันอยู่มากมายครบ เกือบทุกคน ไม่น่าเชื่อจริงๆ ด้วยความที่โขนมีรากเหง้า มันไม่ใช่ว่าอยากจะเล่นก็เล่นได้ มันต้องมีการฝึกฝนฝึกปรือมา ทำให้คนที่เล่นเก่งๆ สามารถทำให้ศีรษะดูมีชีวิตขึ้นมา ศีรษะเดียวกันเวลาเล่นเนี่ย เวลาโกรธ พอมองไปรู้สึกว่าเขาโกรธอยู่จริงๆ เวลาเล่นมีความสุขเข้าพระเข้านางก็ดูมีความสุขจริงๆ มันเป็นไปได้จริงๆ สะท้อนให้เห็นถึงงานศิลปะความสามารถของนักแสดงหนึ่งคนสามารถแสดงผ่านท่วงท่าทำให้ศีรษะที่ดูนิ่งๆ ดูมีชีวิตขึ้นมา อย่างมีอยู่ฉากหนึ่งที่ต้องมีการต่อสู้และตัวพระเอกเสียท่า ถ้าเกิดเป็นแอ็คการแสดงก็จะเห็นความโกรธผ่านจากหน้านักแสดง คราวนี้พอเป็นโขนสวมศีรษะยักษ์อยู่ก็เห็นตามนั้นเลยและก็ดูว่ามันได้ และในความเป็นจริงเล่นโขนอยู่คือมันถอดไม่ได้ มันมีอารมณ์พวกนี้ได้โดยที่ไม่ต้องถอดศีรษะ
          รวมไปถึงฉากบอกรักของพระเอกนางเอกที่เกริ่นไว้ตอนต้น ในเรื่องนี้ไม่มีคำพูดใดๆ เลย แต่แสดงออกโดยท่ารำ ก็ถกกันอยู่หลายครั้งในทีมงานว่าคนดูจะรู้เรื่องเหรอ ตีท่าโขนจะรู้เรื่องเหรอ ซึ่งเดิมพี่ก็ไม่รู้เรื่อง ตอนแรกก็เป็นการบอกรักผ่านข้อความเหล่านี้ เชิญครูมาลองตีท่าตามนี้ซิ พอพี่ดูในเฟรมกล้องแล้วมันสวย มันเข้าใจว่าเขาพูดอะไรมา อาจจะไม่เข้าใจถึงว่าท่านี้คือคำว่าอะไร แต่ภาพรวมๆ คือมันเข้าใจได้ และพี่มั่นใจว่าไม่ต้องพูดก้รู้ มีบางคนบอกใส่ซับไตเติ้ลหน่อยมั้ย แต่พี่ว่านี่แหละคือเสน่ห์ อย่างน้อยถ้าหนังเรื่องนี้มันทำให้คนได้เห็นเสน่ห์ตรงนี้แล้ว อาจจะโชคดีก็ได้ เขาอาจจะหันไปดูโขน หรือไม่ถึงขนาดนั้น แค่กลับไปคิดต่อหรือหาหนังสืออ่าน แค่นี้ก็เป็นความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ที่สามารถสะท้อนศิลปะวัฒนธรรมของสังคมนี้ได้

FB on August 18, 2011, 01:06:22 PM
การร่วมงานกับนักแสดงรุ่นใหญ่
          คือต้องบอกว่ามืออาชีพ ทุกคนเป็นมืออาชีพอยู่แล้ว เราก็คุ้นเคยอยู่แล้ว ก็เลยไม่มีปัญหา คือปัญหาก็มีอยู่เรื่องเดียวคือชงกาแฟให้พี่หนิงไม่ทัน (หัวเราะ) พอทุกคนเป็นมืออาชีพ ทุกคนก็จะรู้ว่าตอนนี้คือเวลาเข้าฉาก ฉากนี้นั่งสบายๆ รอคิว ทุกคนก็จะมีอารมณ์ มีลักษณะประจำตัวกันไปแต่ละแบบ พี่หนิงเขาก็จะนั่งสบายๆ ว่าตรงเนี่ยเข้ากำลังมีสมาธิกับงาน พี่เอกเขาก็จะมีของเขา เอาผ้าขาวม้าพาดบ่าอยู่ริมน้ำ ก็จะมีวิธีการของตัวเอง พี่ว่านั่นแหละคือการเซ็ตอัพให้กับตัวเองให้พร้อมที่จะเข้าฉาก แล้วเขาจะไม่มาวอแวอะไรเรื่องอื่น เขาก็จะจัดแจงการรอของเขาให้พร้อมกับการเข้าฉาก พอเป็นมืออาชีพเขาก็จะเข้าใจ บางทีเราก็เร่งเขากลัวแสงไม่ทันเขาก็เข้าใจและสามารถไปได้เร็ว พอมาเช้าๆ งานไม่รีบร้อนก็จะมาการโอภาปราศัยกัน ทำให้น้องๆ ทีมงานก็สนุกสนานกันไป รวมทั้งพี่ต่ายด้วยซื้อขนมมาฝาก พี่ว่าสังคมนักแสดงมันมีตรงนี้อยู่ น่ารักดี พอคุ้นเคยบรรยากาศเหล่านี้ มันก็โอเค

ในส่วนของโปรดักชั่นและการถ่ายทำใช้เวลานานแค่ไหน
          รู้สึกจะ 5 เดือนกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วมันควรจะน้อยกว่านั้น แต่ไปเจอช่วงฝนตกน้ำท่วม เซ็ตบ้านที่อัมพวาน้ำท่วมหมดเลย แล้วเหลือฉากนอกลานวัดที่ใช้จัดประชันโขน ท่วมตรงนั้น 2 เดือนนะทำอะไรไม่ได้ ซึ่งคิวถ่ายจริงๆ 25 คิวถือว่าน้อย เพราะตอนแรกพี่วางว่า 30 คิวแน่เลย แต่ถ้าเทียบกับหนังเรื่องอื่นพี่ก็กะวางไว้ ทีมงานก็วางไว้ว่า 30 คิว ซึ่งพอหนังเรื่องนี้ 30 คิวก็ยังไม่รู้สึกอะไร พอมาทำจริงๆ 25 คิว จากการซ้อมนี่เองที่ทำให้ทุกอย่างลดน้อยลงมา พอซ้อมแล้วงานด้านอื่นก็ทำล่วงหน้าไป ถ้าไม่ติดตรงนั้น 3 เดือนก็คงเสร็จแล้ว พอไปติดตรงนั้นก็เลยยืดไป 5 เดือน เกือบ 6 เดือน
 
ดินฟ้าอากาศถือเป็นอุปสรรคเดียวในการถ่ายทำ
          ใช่ ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคเดียว เรื่องอื่นก็ไม่มี เพียงแต่ว่าเรื่องหน้างานก็หนักเพื่อให้มันเสร็จ อย่างที่พี่บอกว่าเมื่อพี่ได้ซ้อมนักแสดง หน้างานอุปสรรคทางด้านนักแสดงก็ไม่มีเลย ก็เป็นเรื่องอุปสรรคฟ้าฝน และก็ตั้งกล้องตรงนี้ไม่มีแดด แดดหุบอะไรแบบเนี้ย ใช้เวลาในคิวถ่ายหน้างานกับเรื่องเหล่านี้ เซ็ตอัพอุปกรณ์ เพื่อให้มันได้งานเยอะ มันก็เลยถ่ายต่อวันก็อาจจะมากฉากหน่อย พอเราซ้อมนักแสดงดีการทำงานตรงนั้นก็ไม่มีปัญหา พี่ก็ทำงานเต็มที่ คือวางแผนว่าถ่ายด้านนี้ให้เสร็จ แล้วค่อยมาเจาะถ่ายด้านนี้ ไปทีละขั้นทีละตอน ก็โอเคเป็นงานที่สนุกครับ

ทางด้านโขนได้ครูมืด (ประสาท ทองอร่าม) มาเป็นที่ปรึกษาด้วย
          ใช่ครับ อย่างที่บอกไป เราได้ครูมืดเป็นหลักเลย คือบอกเลยว่าถ้ามีอะไรผิดพลาดโทษครูคนเดียว เพราะมีชื่อแกขึ้นเลย ซึ่งครูมืดแกจะมีทีมของแก มีครูคนอื่นด้วย ก็ตอนไปคุยก็บอกแกเลยว่าผมขอครูเป็นที่ปรึกษานะถ้ายอมนะ ถ้าครูไม่เอาครูก็ต้องหาคนอื่น แกก็ยินดีแกก็มาตบไหล่บอกว่าขอบคุณมาก ที่ช่วยทำเรื่องโขนและแกก็ตามดูตลอด ตั้งแต่ขั้นบทอ่ะ เอาบทไปนั่งเล่าให้ฟัง แกก็สนุกอ่านบทกันไปแบบนี้เลย และก็เอากลับทมาแก้ พอหมดเรื่องบทก็มาเจาะเรื่องการแสดงโขน ทีนี้ความที่เป็นภาพยนตร์ อุปสรคคความยุ่งยากมันเป็นสิ่งที่ต้องเจออยู่แล้ว สมมติถ้าเป็นหนังเพลง เพลงสากลหรืออะไรแบบเนี่ย มันจะถูกกำหนดด้วยคำร้องที่ชัดเจน ท่อนดนตรีมีกี่ห้อง มีตัวโน้ตอะไรบ้าง เราจะจดซ้อนภาพแล้วเอาท่อนนี้มาซ้อนต่อหรือย่นไปท่อนท้ายเลย มันก็จะทำได้ง่าย ทุกคนก็จะมีความเป็นสากล ซึ่งทุกคนจะเห็นว่าเราตัดแบบนี้ๆ เพราะความที่หนังมัน 100 นาที ถ้าเป็นหนังเพลง เพลงหนึ่งก็ 3-4 นาทีมันก็จะมาเรียงกันได้ เราก็จะนับได้กี่เพลงก็ว่ากันไป
          แต่โขนเวลาเขาเล่นโขนกันหนึ่งครั้ง สอง-สามชั่วโมงครึ่ง โขนหนึ่งตอนที่เขาเล่นกันจริงๆ มันยาวกว่านี้อีก ทีนี้เราก็รู้แล้วว่าหนังเรื่องนี้เป็นการเอาโขนตอนนี้สอดแทรกหรือฉากประชัน แต่มันก็ไม่ได้เห็นทั้งเรื่อง ควรจะเห็นตอนไหนๆ ตรงนี้ๆ ทีนี้พี่ก็ต้องไปคุยกับครูมืดว่าจะเอาตอนนี้ๆ ควรจะเอาฉากไหน พอคุยที่เทียบกับเพลงเมื่อกี้จะเอาท่อนนี้ๆ แต่พอเป็นโขนเราไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าจะจับตอนตรงไหน ก็เลยต้องอธิบายครูว่ามันเป็นแบบนี้ๆ ซึ่งก่อนนั้นพี่ก็ต้องเอามาดูก่อนว่า โขนตอนนี้ทั้งเรื่องมันร้องว่าอะไร มันเล่นอะไร พี่ก็ต้องเอาแผ่นที่เขาเล่นทั้งเรื่องมานั่งดู พอมาดูขับพิเภก พี่ก็มาดู อ้อ...ตอนนี้เป็นแบบนี้ ตรงนี้เอาท่านี้สวย งั้นขอเริ่มตรงนี้ละกัน มันร้องว่าอะไร ก็โน้ตตรงนี้ไปแล้วก็กลับไปหาครูมืด อยากได้ตรงนี้เพราะตรงนี้มันสวย แกก็จะรู้ของเราพอทีนี้นัดแก แกก็จะเอานักเรียนโขนทั้งหมดของแกมา อ่ะฉากแรกผู้กำกับคุณตั้วเขาอยากได้แบบนี้ เป็นแบบนี้ลองเล่นให้ดู นึกออกไหม พี่ก็ดูแล้วบอกแกตรงนี้มันยาวไปครูย่นได้ไหม ต้องทำแบบนี้หลายครั้งมาก จนกว่าจะเสร็จตรงตามกันพี่ก็ต้องถ่ายตรงนี้ไว้ พอมาประชุมกันก็จะเห็นว่าแบ็คกราวด์โรงละครเขาเล่นกันแบบนี้ นึกออกไหม ขั้นตอนมันเยอะเลยต้องทำแบบนี้เยอะ ยังไม่จบพอผ่านกระบวนการถ่ายกันเสร็จไปหนักตอนตัดต่ออีก
          คือถ่ายมันต้องมีตัดต่ออยู่แล้ว สองต่อหนึ่ง สามต่อหนึ่งอะไรก็ว่าไป 3 เทคเลือกเทคดีที่สุดอะไรก็ว่าไป ต้องมีเผื่อหัวเผื่อท้ายในการตัด เหมือนเพลงนักแต่งเพลงก็จะรู้โน้ตห้องนี้ตัดตรงนี้ เอาตรงนี้ต่อตรงนี้ พอเป็นโขนไอ้เสียงระนาดตรงนี้มันอยู่ท่อนไหน นึกออกไหม พอเราได้ท่ารำมาแล้ว แต่เราก็ไม่รู้ว่าระนาดท่อนนี้มันท่ารำท่าไหน มันไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน ก็บอกคนตัด ตัดไปก่อน เอาภาพเราได้ก่อนแบบนี้ละกัน เสร็จปั๊ปเชิญครูมืดมาดูต่ออีกที ครูก็บอกเสียงตรงนี้มันไม่ตรงกับท่า ต้องมาแก้อีก สุดท้ายต้องไปอัดเสียงซ่อมแก้กันเยอะ ซึ่งครูมืดแกยินดีในทุกขั้นตอนในการดูมาเช็คงานให้ ต้องขอบคุณแกมากจนสุดท้ายต้องไปพากษย์เสียงใหม่ เพราะอย่างที่บอกพอถ่ายเสร็จมานั่งดูว่าตรงนี้มันยาวไป พอย่นแล้วไปเลยว่าท่านี้มันคือคำร้องว่าอะไร เพราะไม่รู้ก็ต้องให้แกมาดูว่ามันคืออย่างนี้ ถ้างั้นเดี๋ยวพากย์ตรงนี้ใหม่กว่าจะเสร็จสมบูรณ์
คือพี่เชื่อครูมืด ถ้าผิดก็โทษครูมืดคนเดียว (หัวเราะ) แกบอกไม่มีใครว่าได้ละ ทุกอย่างถูกต้องหมด ละเอียดหมด กระทั่งท่วงท่าคนพากย์โขน คือโขนก็เล่นไปคนพากย์ก็ยืนพากย์ เราเห็นผ่านไหลคนพากย์ ครูมืดแกละเอียดมากท่านี้คือต้องพากย์แบบนี้ ก็ต้องพากย์กันใหม่ ให้เข้ากันไป เพราะฉะนั้นพี่เชื่อว่าหนังเรื่องนี้จะละเอียดในเรื่องของโขน คือเมื่อเราเชื่อครูแล้วว่ามันสมบูรณ์ไม่รู้จะว่าไงแล้วเพราะว่าก็แก้กันทุกขั้นตอน ซึ่งเราก็ไม่อยากให้พลาด ครูแกก็ยินดีมานั่งดูแก้ทั้งหมด แม้กระทั่งจังหวะเท้าไม่ลง ก็ต้องมานั่งเอาใหม่ ร้องเอื้อนไม่ถูกก็ต้องเอาใหม่เอาให้ดี เพราะแกก็บอกทำแล้วต้องเก็บไว้เป็นตำนาน จะได้ไม่มีใครว่าได้

FB on August 18, 2011, 01:06:55 PM
เรื่องนี้มีฉากใหญ่ๆ เยอะมาก
          ฉากใหญ่เราแยกเป็นเรื่องโขนก่อน พอเป็นเรื่องโขนก็ใหญ่ทุกฉาก คือใหญ่ด้วยขั้นตอนกระบวนการที่จะสร้างสรรค์ขึ้นมา กระบวนการที่จะเล่นฉากไหน ใช้คนเล่นยังไง ต้องมีอะไรบ้าง ฉากแรกเลยที่เราเห็นโขนในเรื่องนี้ คือฉากซ้อมแสดงที่ฉลองเปิดโรงละครเป็นตอนขับพิเพก คือมันก็ต้องเห็นการซ้อมข้างบน เห็นชีวิตของคนโขน เมื่อซ้อมมันเหมือนละครเวทีหรือเปล่า คนอื่นที่ไม่ได้เล่นแล้วมานั่งดูได้หรือเปล่า เราก็ไปเอาจริงๆ เลย เราต้องสร้างบรรยากาศให้เหมือนจริงในตอนนั้น เท่าที่สิ่งที่เรามีมันเอื้อในทุกๆ อย่าง ทั้งทรัพยากรบุคคล และการเซ็ตของเราก็เลยเป็นเรื่องใหญ่
          ฉากโรงละครจะไปสร้างฉากโรงละครก็ไม่ไหว ก็ไปดูโรงละครจริงหามุมว่าทำยังไงให้เหมือนโรงเพิ่งสร้าง เอาผ้าขาวไปขึงเอาไม้ค้ำไปวางก็พอได้ และก็ต้องซ้อม พอซ้อมก็คือฉากขับพิเพก วันแสดงจริงก็เป็นฉากยกรบ เป็นเหมือนฉากบู๊ คือทัพสองทัพยักษ์กับลิงปะทะกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องมีราชรถของทั้งสองฝั่ง และมีกองทัพมาเป็นแถวนี่คือฉากใหญ่เลย
          จากนั้นก็เป็นเรื่องของงานประชันของครูหยดและครูเสก ครูหยดทำโขนนางลอย ครูเสกทำศึกพรหมมาศ เป็นศึกใหญ่ที่สุด ก็ต้องมีการซ้อมและก็มีฉากจริง ฉากซ้อมก็จะเป็นฉากหนึ่ง ฉากเล่นจริงก็จะเป็นฉากหนึ่ง เราจะได้เห็นการแสดงครบ เราก็ต้องวางแผน ขั้นตอนวางแผนพี่ก็ต้องนั่งดูกันทุกตอน พี่ดูโขนเต็มไปหมดเลยทุกเรื่อง เอาตรงนี้ ตรงนี้สวย ตอนนี้มันตอนอะไรเราก็มาร์คกันเป็นช่วงๆ แล้วเอาไปให้ครูมืดดูแบบนี้ เราก็ต้องตั้งภาพใหญ่ไว้ก่อน แล้วลดลงมา ฉากมันก็ไม่เล็กหรอก กับเฟรมภาพที่เห็นมันก็ยิ่งใหญ่ แต่อย่างว่าเราก็ต้องลดดีเทลบางอย่าง ซึ่งตรงนี้ก็ต้องไปผ่านครูมืดหมด ก็จะบอกตรงนี้ผมขอแค่นี้ได้ไหมเพราะสนามมันมีแค่นี้ ครูก็เออๆ ได้ๆ เพราะฉะนั้นมันก็ยังครบรสชาติความยิ่งใหญ่เหมือนเดิม เพียงแต่เบื้องหลังการทำงานมันต้องค่อยๆ ถอนออกมา ถึงได้บอกว่ามันก็ยุ่งยาก เพราะท่าโขน ไม่ใช่แค่แสดงกันตรงๆ มันต้องมีเยื้องย่าง ดนตรีปี่พาทย์มาถึงตรงนี้แล้ว พอคัทจะเปลี่ยนมุมตรงนี้ก็ต้องสื่อสารกันให้ดี ครูมืดช่วยตรงนี้ได้มาก โขน 80 กว่าคนในฉาก ถ้าเป็นฉากนักแสดง 5-6 คนชกกัน พี่คัท พี่ก็เปลี่ยนมุม พี่เอาตรงนี้นะ ตอนที่ชกไอ้นี่ต้องล้มไปแล้วนะ ทีนี้พอเป็นโขนทั้งทัพ พี่จะเอาคนที่ถือธงไปถือตรงนี้ พี่จะไปพูดกับคน 90 คนได้ยังไง ก็ต้องบอกครูมืดดูมอนิเตอร์ตรงนี้พอดีนะ ครูก็เข้าใจ แล้วก็ไปบอกดนตรีเล่นถึงตรงนี้นะ แต่พอเอาจริงพี่กับครูมืดก็ยังเหลื่อมๆ กันอยู่ ซึ่งมารู้ทีหลังมันเป๊ะไม่ได้ พอเรามาดูตรงนี้ปั๊บครูแกก็ต้องไปดูถอยหลังให้ปี่พาทย์ เพื่อให้ไอ้นี่ตั้งตัวตรงนี้ก่อน เพราะฉะนั้นตอนแรกๆ พอถ่ายปั๊บประมาณนาทีแรกที่ซ้อมมันยังไม่ได้ตอนที่ใช้เลย ก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้ มันจึงเป็นการทำงานที่ไม่ง่าย ที่จะต้องจูนให้เข้ากัน ด้วยความที่เป็นศิลปะ มันมีวัฒนธรรมมีระบบของมัน เราต้องเข้าใจมัน แล้วเทคโนโลยีสมัยใหม่เราก็ต้องเข้าไปหามันว่าเขาเป็นแบบนี้ มันถึงจะเป็นการช่วยอนุรักษ์และสืบทอดตรงนี้ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราใจร้อนจะเอาตรงนี้ มันก็จะไม่ได้ตรงนี้ ทุกอย่างมันเป็นกระบวนการเดียวกัน นี่คือคุณค่าของมัน

การหาโลเกชั่นในเรื่องนี้ยากมากน้อยแค่ไหน
          ยากครับ พอตัดฉากใหญ่ที่เป็นโขนที่เหลือก็เป็นฉากใหญ่ที่ไม่ใช่ผู้คน ฉากที่เหลือก็กลายเป็นฉากเล็กไปหมด ฉากบู๊ก็เป็นเรื่องของการซ้อมและคิว ที่มันจะยากอีกหนึ่งเรื่องก็คือเป็นฉากรักที่พระเอกบอกรักนางเอก ก็ตั้งใจตั้งแต่แรกเลยว่าจะต้องบอกรักด้วยท่าโขน อยากให้สวยงามก็อิงๆ ล้อๆ เกาหลีนิดหนึ่ง คือเป็นชุดธรรมดาแต่เป็นที่ที่สวยโรแมนติก ก็นึกเลยว่าต้องเป็นภูเขา ก็คุยกับทีมงานว่าจะเอาป่าหรือทะเล คนก็เห็นด้วยว่าจะเป็นทะเล แต่พี่ว่ามันจะต้องอยู่บนที่สูง ก็เลยต้องหาเนินเขาที่อยู่ตรงทะเล ก็ได้ที่ตรงนี้ แต่ยุ่งยากคือรถมันไปไม่ถึง จอดและเดินเกือบกิโล แบกอุปกรณ์ เอาฮ็อตเฮดไป ต้องไปตั้งอุปกรณ์ล่วงหน้า 1 วัน ก็ต้องยอมเหนื่อยกันเพื่อให้ได้ภาพที่สวยงาม อันนี้ก็คือที่หัวหิน
ภาพรวมที่มันยากก็เพราะว่ามันเรื่องพีเรียดในยุค 2510 ซึ่งพีเรียดไม่สุด มีรถแล้ว เสื้อผ้าหน้าผมก็แบบหนึ่งแล้ว เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก จะหลุดไปอยู่ในป่าเลยก็ไม่ใช่ พูดถึงย่านฝั่งธน บางกอกน้อย มีคลอง แต่ก็มีไฟฟ้า ตลาดก็ไปได้แถวอ่างศิลา แต่บ้านหลักที่เป็นบ้านของสรพงษ์เป็นบ้านที่พระเอกอยู่เนี่ยในเรื่องคือบางขุนเทียนบางกอกน้อย ในแง่อารมณ์ของหนังเราอยากได้เป็นสวนๆ สุดท้ายก็ไปได้ที่อัมพวา ต้องไปสร้างเอง
          ที่อ่างศิลาก็ต้องไปเซ็ตเป็นตลาด ในเรื่องเป็นตลาดบางแสน พระเอกหลงไปทางนั้นแล้วก็ไปเจอนางเอกจำนวนนาทีในหนังมันก็ไม่มาก ก็อยากได้ฉากที่มันเป็นโล่งๆ ก็เลยไปหาที่มันเป็นถนน ก็มาดูว่าใช้ได้หรือเปล่า ก็เป็นความสวยงามที่ให้เห็นว่ามีเด็กถือว่าว มีวิ่งเล่น เหมือนเพลงก็ต้องมีเร็วมีช้า ต้องมีผ่อนมีเบา ไม่ใช่อย่างเรื่องที่แล้วที่อยู่ในโรงหนังอย่างเดียว คือมันเป็นตอนที่พระเอกหนีมาแล้วก็แบบอยากให้เห็นอะไรที่ปลอดโปร่งบ้าง นอกจากนี้ยังมอีกหลายๆ ฉาก ซึ่งทีมงานเราพิถีพิถันในการเลือกและสร้างสรรค์ในทุกๆ ฉากครับ
 
เรื่องนี้ก็มีซีจีด้วย
          ใช่ครับ ความที่พี่ไม่คุ้นกับซีจี มันก็เลยประเมินไม่ได้ว่าอันไหนคือมาก เท่าไหนคือน้อย แต่ซีจีของพี่คือมันจะมีที่จำเป็น ในเรื่องของว่าวที่ต้องผ่านในเฟรมที่ต้องการ ในเรื่องของนก ในฉากของไฟไหม้ แต่พอเอาเข้าจริงแล้วซีจีของพี่ไปอยู่ในฉากรบซะเยอะ พอถ่ายออกมาแล้วตรงนี้มันไม่ได้ ไม่รู้ทำไงก็ต้องลบเอา จนไปเข้าแล็บที่สยามพัฒน์ฯ ก็พบว่ามันเยอะ แต่มันก็ไม่ได้เรื่องใหญ่อะไร แต่พี่มีต้องเขียนเข้าไปก็เป็นเงา เป็นนก เรื่องไฟไหม้ ไม่กี่จุด ที่เขียนเพิ่มเติมก็เพื่อให้มันสมบูรณ์ จะเป็นแบบนั้นมากกว่า มันไม่ใช่หนังซีจีที่เป็นอวกาศอะไรชนาดนั้น พี่คิดว่าเป็นเทคโนโลยีที่เรานำมาใช้เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับหนัง

ในเรื่องของดนตรีประกอบได้ใครมาทำให้
          โอ๋ ซีเปีย ซึ่งสำหรับพี่ก็เห็นเขามานาน ไม่รู้ว่ายังอินกับวัยรุ่นยุคนี้มั้ย แต่คิดว่าเขาน่าจะยังอยู่ในกระแส ถ้าพูดชื่อไปก็น่าจะรู้จัก เขาก็อยู่ในแวดวงนี้ อินดี้หน่อยๆ และก็รู้จักกันเป็นการส่วนตัว ก็มีคนแนะนำว่าโอ๋เขาน่าจะทำเรื่องนี้ได้ ก็เคยคิดอยู่แล้วว่าจะชวนเขามาร่วมงาน พอคุยปั๊บเขาก็ทำเลย และก็กำลังทำเกี่ยวกับดนตรีไทยอยู่พอดีเลย ทีนี้พอตกลงทำกันแล้ว ก็ทำไปเร็วมาก สกอร์เบื้องต้นมาเร็วมาก แล้วก็จะมาสโลว์ลงหน่อยเพราะรองานด้านอื่น คือทำงานเร็ว เดี๋ยวก็มีเพลงร้องมาให้ฟังดู พี่ก็ฝันไว้เยอะ เพลงร้อง 4-5 เพลง ทีนี้พอเป็นคนรุ่นใหม่เขาก็จะดูสกอร์ดนตรีไทยก่อน ดูปี่พาทย์ก่อน เขาจะเลือกตัวโน้ตที่มันสามารถไปกับดนตรีไทยได้ โน้ตของดนตรีไทยจะไม่กว้างเท่าดนตรีสากล เขาก็ไปศึกษาหาหนังสืออ่าน ซึ่งก็ทำออกมาได้ดีมากทีเดียว เพราะถ้าคนที่ศึกษาจริงๆ จะเห็นว่าตัวโน้ตของดนตรีไทยสามารถผสมผสานไปกับดนตรีสากลได้อย่างกลมกลืน คือถ้าคนโขนทั้งเรื่องมีแต่ซาวด์ปี่พาทย์มันจะยิ่งแคบลงไปอีก พี่อยากให้เป็นอินเตอร์ขึ้นไปดูได้ทั่วไป ก็ควรจะมีสกอร์ที่เป็นสากล มีเปียโน มีออร์เคสตร้า มีกีต้าร์ มีเครื่องสายที่มันผสมผสานไปกับระนาด ฆ้อง ซึ่งโอ๋ก็สามารถผสมผสานออกมาได้ดี พี่ได้พบว่าพี่มีความสุขกับหนังเรื่องนี้ เพราะมันมีความสมบูรณ์ครบถ้วนในหลายๆ ด้าน ซึ่งพี่ภูมิใจเพราะพี่ได้ทำเต็มที่กับมันแล้ว

ในเรื่องของเพลงประกอบ ตั้งใจไว้ว่าจะมีกี่เพลง
          ก็ฝันไว้เยอะก่อน ตอนแรกก็เขียนไว้ถึง 4 เพลง ก็ตามตัวละครเลย พระเอกบอกรักนางเอก นางเอกก็ “ทำไมเพิ่งมาบอก” มีเรื่องของเพื่อนที่เป็นโศกนาฏกรรม โอ๋ตั้งชื่อเพลงว่า “เพื่อนฉันรักเธอ” คือมองต่อไปก็เป็นได้ว่า เพื่อนฉันรักเธอ หรือจะเป็น เพื่อน...ฉันรักเธอ แต่เป็นเพลงที่ใช้ประกอบภาพยนตร์จริงๆ ไม่สามารถที่จะมาขายแยกเดี่ยวๆ ได้ จริงๆ ก็ตั้งไว้อีกเพลงชื่อเพลง “ศิลปะ” ตามธีมของเรื่อง แต่พอมาวางสกอร์หนัง เพลงที่ใช้ได้มากที่สุดก็เป็น 2 เพลง ก็เป็นเพลง “ศิลปะ” กับเพลง “ทำไมเพิ่งบอก” สามารถนำไปใช้ได้เยอะกว่า

ส่วนคอสตูมมีความยากง่ายยังไงบ้าง
          รู้สึกจะเป็นเรื่องที่ยากน้อยที่สุด เพราะพอมันลงตัวว่าเป็นเรื่องประมาณนี้ ก็ส่งให้ทีมคอสตูมไปทำ เขาก็มีเวลาเยอะ เพียงแต่ก็จะมีมาดูว่ามันเหมาะหรือไม่เหมาะ เราก็ได้คอสตูมที่ค่อนข้างถนัดเรื่องพีเรียด จะมีเรื่องหน้าเรื่องผมหน่อย ถ้าจะพูดให้มันๆ ก็จะตบตีกับช่างหน้าช่างผม ในความที่พระเอกของเราเป็นคนในบ้านโขน พี่ก็อยากเป็นคนธรรมดาๆ พี่ก็ไม่อยากให้แต่งให้เซ็ตผมอะไรมาก แต่พี่เชื่อว่ามันก็ต้องเซ็ตเพื่อให้เหมือนไม่เซ็ต พี่เชื่อว่ามันจะหล่อ มันก็มีอยู่ฉากที่เซ็ตหวีเต็มที่ พี่ก็ขยี้ บอกเอาแบบนี้พี่ก็ว่ามันหล่อ พี่ก็พบว่าพระเอกของพี่เนี่ย พอมันยุ่งๆ เลอะๆ แล้วมันดูหล่อมากกว่า (หัวเราะ)

ทำไมเรื่องนี้ถึงเลือกถ่ายด้วยฟิล์ม
          พี่ยังเป็นคนรุ่นเก่าอยู่มั้ง (หัวเราะ) คือถ้าดูว่าระหว่างฟิล์มกับกล้อง HD ยังไงพี่ก็ชอบฟิล์มมากกว่า จะเห็นความแตกต่างอารมณ์ด้วยเนื้อฟิล์ม สิ่งที่ได้มาจากการใช้ฟิล์มถ่ายคือสมาธิหน้ากองดีมาก ถ้าจะถ่ายเป็น HD เป็นวิดีโอ จะถ่ายกี่เทคก็ได้ สมาธิก็น้อย พอเป็นฟิล์มก็ต้องซ้อมนะ พอถ่ายจริงฟิล์มพี่ก็ไม่เปลือง ไม่ถึง 200 ม้วน ก่อนนี้พี่ก็ไม่ได้คิดว่าจะใช้ฟิล์ม ก็คิดว่างบมันจะสูง ก็ไปลองสรุปแล้วก็จะเป็นกล้อง RED แต่พอพี่มาดูแล้วกับฟิล์มจริงๆ ก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่เพียงแต่เราก็ต้องคุมฟิล์มให้ได้ บางคนอาจจะไม่ชอบตรงที่พี่ชอบ ที่มันยุ่งยากแต่พี่ชอบที่มันมีสมาธิดี พี่รู้เลยว่าถ้าไม่ใช่ฟิล์มจะมีการถ่ายเผื่อเยอะมาก ซึ่งตรงนั้นจะทำให้ใช้คิวในการถ่ายเยอะไปอีก พอเป็นฟิล์มก็จะคิดเดี๋ยวเปลืองฟิล์มก็ต้องมีการทำงานบนโต๊ะเยอะ พอถ่ายทุกคนก็จะมีสมาธิที่จะเงียบที่จะฟัง คือถ้ามันยังผลิตฟิล์มอยู่ พี่ก็จะใช้มันไปเรื่อยๆ นะ
ความน่าสนใจและจุดเด่นโดยรวมของหนัง
          ความน่าสนใจรวมๆ ของเรื่องนี้คือวางให้หนังเรื่องนี้มันมีอิสระจากการประทับยี่ห้อของมันทุกอย่าง ทั้งตัวผู้กำกับเองหนังก็ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองใดๆ อย่างชื่อหนังที่ชื่อ “คนโขน” แล้วพี่ก็ไม่อยากให้เป็นการประทับตราว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังวัฒนธรรม ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากดู ความโดดเด่นของหนังเรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องรสชาติของความเป็นภาพยนตร์ไทย ไม่ได้เข้าใจยาก แต่มีความละเอียดอ่อน แต่ก็ไม่ใช่หนังที่สามารถเดาได้ มันจะมีลีลามีปมหลังของตัวละคร สามารถกลมกลืนทำให้เราลุ้นตาม เราเชียร์ตัวละคร สงสาร เห็นใจ เข้าใจชีวิตเขาได้ เป็นหนังที่อารมณ์แรงในทุกๆ ด้าน ไม่มีโกรธนิดๆ งอนหน่อยๆ ไม่ใช่ โกรธมาก รักมาก อิจฉามาก เศร้ามาก เพราะฉะนั้นคอหนังไทยที่ซึบซับเรื่องราวเหล่านี้เกือบๆ จะเป็นดราม่าด้วย เกือบจะเป็นชีวิตน้ำเน่าด้วยซ้ำ แล้วแต่ว่าใครจะมองว่าหนังน้ำเน่าเป็นแบบไหน ซึ่งหนังฝรั่งก็มีหลายเรื่องที่เป็นแบบนี้
          ในมุมคนที่ชอบโขนชอบศิลปะ แน่นอนมีครบถ้วน เพราะฉะนั้นอย่างน้อยคน 2 กลุ่มนี้สามารถดูได้ ในมุมของวัยรุ่นรุ่นใหม่ของคนทั่วไป คือต้องเป็นคนชอบดูหนังก่อน ถ้าไม่ชอบซื้อตั๋วไปนั่งดู 100 นาทีทำยังไงก็ลำบาก ถ้าชอบดูหนังคุณไม่ต้องรู้ก่อนเลยว่า คนโขนเป็นอะไร ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ชอบศิลปะความเป็นภาพยนตร์ หนังเรื่องนี้มีให้ดูครบถ้วน จะครบ 100% หรือไม่ต้องให้ท่านผู้ชมตัดสินใจเอง แต่ในฐานะของคนทำภาพยนตร์ เราได้ทำเต็มที่กับปัจจัยต้นทุนในการทำภาพยนตร์อย่างเต็มร้อยเท่าที่เรามีแล้ว ในเรื่องของมุมมอง ในเรื่องของภาพ จังหวะ บท เรื่องของการแสดงมีตรงนี้ให้ดูได้ เหมือนกับการที่เราเข้าไปดูหนังฝรั่งเรื่องหนึ่งที่นำเสนอเรื่องปฏิวัติวัฒนธรรม การเรียกร้องของสังคม ที่เราสามารถดื่มด่ำกับหนังเรื่องนั้นได้ก็เพราะบทและการนำเสนอ ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็นำเสนอเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปกลัวว่าหนังเรื่องนี้เป็นโขน ถ้าคุณเข้าไปดูเรื่องนี้ มันมีมุมตรงนั้นให้ดูแน่นอน มีเพลงเพราะ มีพระเอกหล่อ นางเอกสวยๆ ให้เด็กดูก็ได้ พี่ว่าเป็นหนังที่ครบรสชาติ แล้วแต่ว่าเมื่อไปดูแล้วจะซึบซับอะไรกลับมา แต่เบื้องต้นต้องเป็นคนชอบดูหนัง คุณสามารถมีความสุขในการดูภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะฉะนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่คุณไม่ควรพลาด และสามารถเลือกซึมซับสิ่งที่คุณชอบได้ครับ 

FB on August 21, 2011, 01:08:44 PM
ตั้ว-ศรัณยู ทุ่มสุดตัวดึง ตรี-อาร์ นำทีมคนโขนลงรัวชัตเตอร์ถ่ายแฟชั่นสุดหรู

 

          ใกล้ถึงเวลาลงโรงเข้าฉายแล้ว สำหรับภาพยนตร์ คนโขน ผลงานจากผู้กำกับที่คร่ำหวอดในวงการบันเทิงมายาวนานอย่าง ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง ภาพยนตร์ที่ผูกเรื่องราวของศิลปะชั้นสูงกับตัณหาและมายาแห่งนาฎกรรมไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน วันนี้เลยถือโอกาสดีที่ได้มาแนะนำศิลปะชั้นสูงอย่างโขน ผ่านแฟชั่นเซ็ตหรูสุดอลังการกับนิตยสารเปรียว เราตามไปดูกันดีกว่าว่าจะสวยเริ่ดหรูกันมากขนาดไหน

           ว่าแล้วผู้กำกับของเราพาเหล่านักแสดงหน้าใหม่แต่ฝีมือไม่ใหม่ ตรี-นันทรัตน์ ชาวราษฎร์ และอาร์-อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ คู่พระนางที่มีศิลปะไทยอยู่ในสายเลือด มาประเดิมแฟชั่นเซ็ตสไตล์โขน โดยเริ่มต้นกันตั้งแต่แต่งหน้าทำผมกันซะก่อน ใครที่คิดว่าจะแต่งหน้าทำผมกันปกติให้ลืมไปได้เลย เพราะนี้เป็นศิลปะชั้นสูง ดังนั้นการแต่งหน้าทำผมจึงต้องประณีตบรรจงเป็นพิเศษโดยใช้เวลาไปมากกว่า 2 ชั่วโมง แล้วไหนจะแต่งองค์ทรงเครื่องกันอีก โดยมีหนุ่มอาร์ที่เป็นตัวพระ สาวตรีที่เป็นนางสีดาแล้ว ยังมีหนุ่มนัท-ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์ นักแสดงหน้าใหม่อีกคนร่วมเป็นตัวลิง เรียกได้ว่างานนี้เป็นเซ็ทใหญ่กันเลยทีเดียว จนทีมงาน ช่างภาพ ช่างไฟก็รอจนแทบจะเคลิ้มหลับ แต่พอเสร็จก็ไม่ทำให้ผิดหวังแม้แต่น้อย เพราะสวยงามอลังการชนิดที่เรียกว่าหาดูกันไม่ได้บ่อยๆ จากนั้นช่างภาพของเราก็รัวชัตเตอร์กันใหญ่ ส่วนนักแสดงของเราก็งัดท่าทางร่ายรำขึ้นมาโชว์ พร้อมปิดท้ายด้วยช็อตสุดท้ายในมาดเท่ๆ ของผู้กำกับที่อยู่ท่ามกลางเหล่าตัวละครต่างๆ พระ นาง ลิง ยักษ์ งานนี้ผู้กำกับไม่ยอมน้อยหน้านักแสดงแม้แต่น้อย เรียกได้ว่าจัดเต็มกันทุกหน่วยเลยทีเดียว

          “ปกติอาร์จะใส่ชุดแบบนี้เวลาขึ้นแสดงเท่านั้นครับ นี้ถือว่าเป็นครั้งแรกสำหรับการถ่ายแฟชั่นและเป็นครั้งแรกสำหรับใส่ชุดโขนถ่ายแฟชั่นอีกด้วย ก็เป็นอะไรที่แปลกใหม่ดีครับ เพราะปกติเวลาเห็นภาพแฟชั่นก็จะเป็นชุดสวยงามทั่วไป แต่พอมาเป็นชุดโขนก็รู้สึกว่ามันน่าจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้คนทั่วไปได้สัมผัสถึงศิลปะไทยๆ แบบนี้มากขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าเข้าไม่ถึงหรือเป็นอะไรที่ยากจะเข้าถึง คิดว่าแฟชั่นเซ็ทนี้คงทำให้คนทั่วไปหันมาสนใจศิลปะแขนงนี้มากขึ้นครับ ยังไงก็ฝากทุกคนช่วยกันติดตามได้ในนิตยสารเปรียว ฉบับเดือนกันยายนนี้นะครับ”

          “ตรีเคยถ่ายแบบมาบ้างคะก่อนหน้านี้ แต่อันนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกเหมือนกันที่ใส่ชุดตัวนางถ่ายแบบ อยากให้คนที่ได้เห็นแฟชั่นเซ็ทนี้สนใจในศิลปะไทยๆ อย่างโขนและสามารถสัมผัสถึงได้ จริงๆแล้วโขนไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวคนไทย ยิ่งในหนังเรื่องนี้จะเห็นได้ชัดเลยว่าคนที่เล่นโขนและคลุกคลีอยู่กับโขนก็เป็นคนปกติทั่วไป มีรัก โลภ โกรธ หลง แล้วในหนังก็จะมีเรื่องแบบรักสามเส้าเข้ามาด้วย เป็นการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปแต่มีแบ็คกราวด์เรื่องราวที่อยู่ในแวดวงคนโขนค่ะ ตรีก็หวังอยากให้คนมาดูเยอะๆ เพราะมันเป็นศิลปะวัฒนธรรมไทยของเราด้วยที่ตรีอยากให้อนุรักษ์ไว้ รวมถึงทีมนักแสดง เรื่องราวโดยรวมก็น่าสนใจมากๆ ค่ะ อยากให้มาชมกันค่ะ”

          ทั้งผู้กำกับและนักแสดงทุ่มกันสุดตัวขนาดนี้แล้วคนดูมีหรอจะพลาดได้ ยังไงก็อย่าลืมติดตามภาพแฟชั่นสุดอลังการได้ใน เปรียว ฉบับเดือนกันยายน และภาพยนตร์คนโขน 25 สิงหาคมนี้ ทุกโรงภาพยนตร์

FB on August 24, 2011, 04:26:07 PM


“ตั้ว ศรัณยู” สะท้อนภาพมนุษย์สุดเข้มข้น รัก-โลภ-โกรธ-หลง-ตัณหาราคะ จัดเต็มครบทุกรสในหนัง “คนโขน”
 
          “คนโขน” ผลงานกำกับเรื่องที่ 2 ของผู้กำกับคุณภาพ “ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง” ถ่ายทอดเรื่องราวชะตากรรมของคน เรื่องเข้มข้นของโขนที่สะท้อนผ่านหลากหลายแง่มุมชีวิตของตัวละครในแวดวง “โขน” ที่เบื้องหน้าประดับด้วยความวิจิตรตระการตา แต่เบื้องหลังแฝงไว้ด้วยตัณหาและมายาแห่งนาฎกรรม ผกก. “ตั้ว ศรัณยู” ย้ำว่าเรื่องนี้มีเนื้อหาสาระที่ย่อยง่าย ครบรสชาติ ดูสนุกตลอดเรื่อง เหมาะกับทุกเพศวัย

          “จริงๆ แล้ว เรื่องราวของ ‘คนโขน’ เป็นเรื่องพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ที่มีทั้งรัก โลภ โกรธ หลง มีชะตากรรมเข้ามาเป็นตัวกำหนด คือเรื่องนี้ถ้าถอดเรื่องโขนออกจะชี้ให้เห็นว่าชีวิตคนเราไม่ว่าจะเดินไปทางไหนมันก็คือเรื่องจิตใจ เรื่องกิเลส ถ้าเราให้กิเลสเป็นตัวนำพา เราตัดสินใจอะไรผิดพลาดไปผลที่ตามมานั้นมันก็จะโยงใยหลายชีวิตเข้าด้วยกัน จากโครงหลักนี้ก็จะเล่าผ่านตัวละครในแวดวงของนาฏกรรมโขนที่เห็นเบื้องหน้ามีแต่ความสวยงาม แต่ความจริงเบื้องลึกเบื้องหลังมันก็อาจจะเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ความไม่สวยงามไม่วิจิตรเหมือนฉากหน้าที่เห็นก็เป็นได้ ชะตากรรมของตัวเอกเมื่อเข้าไปอยู่ในคณะโขนก็ไปพบกับสิ่งเร้าใจต่างๆ จากตัวละครอื่นๆ ซึ่งทำให้ต้องเจอทางเลือกที่อาจจะผิดหรือถูกจากกิเลสเหล่านั้นก็เลยนำไปสู่โศกนาฏกรรม ซึ่งเรื่องราวต่างๆ ก็จะถูกขับเคลื่อนด้วยฉากของการแสดงโขนทุกรูปแบบเลยครับ

          มันเป็นหนังชีวิตที่ครบรสชาติ เนื้อหาดูง่ายๆ เลย ผู้ใหญ่หรือเด็กหรือวัยรุ่นจะดูก็ได้ทั้งนั้น นอกจากสะท้อนภาพชีวิตมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ แล้ว ก็ยังสะท้อนศิลปะวัฒนธรรมไทยอย่างโขนด้วย คิดว่ามันจะเป็นสัดส่วนที่ลงตัวสำหรับหนังไทยเรื่องหนึ่งนะครับ”

          “คนโขน” เล่าเรื่องราวความรัก, ความผูกพัน, มิตรภาพ, ตัณหา และอาฆาตแค้นของหลากหลายตัวละครที่มีวิถีศิลปะนาฏกรรมโขนเป็นฉากหลังของชะตากรรมชีวิต พร้อมให้พิสูจน์คุณภาพ 25 ส.ค. นี้ ทุกโรงภาพยนตร์

FB on August 26, 2011, 08:11:14 PM
เปิดรอบปฐมทัศน์ “คนโขน” สุดยิ่งใหญ่ สัมผัสแรกสุดโดนใจ พร้อมโชว์สุดพิเศษ



          เปิดรอบปฐมทัศน์ภาพยนตร์เรื่อง “คนโขน” ผลงานกำกับเรื่องที่ 2 ของผู้กำกับคุณภาพ “ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง” ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ โรงภาพยนตร์ SF World Cinema ชั้น 8 Central World ท่ามกลางบรรยากาศสุดคึกคักของแขกผู้มีเกียรติ, เซเลบ และเหล่าสื่อมวลชนทุกแขนง

          เปิดงานด้วยตัวอย่างภาพยนตร์และโชว์สุดพิเศษประกอบเพลง “ทำไมเพิ่งบอก” เพลงประกอบภาพยนตร์สุดไพเราะ จากนั้นจึงเชิญผู้กำกับฯ “ตั้ว ศรัณยู” พร้อมทีมนักแสดงครบทีม “สรพงษ์ ชาตรี”, “นิรุตติ์ ศิริจรรยา”, “กบ-พิมลรัตน์ พิศลยบุตร”, “อาร์-อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ”, “นัท-ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์”, “ กอง-กองทุน พงษ์พัฒนะ” และ “ตรี-นันทรัตน์ ชาวราษฎร์” ขึ้นมาพูดคุยเรื่องราวความเป็นมา “กว่าจะเป็นคนโขน” ด้วยความสนุกสนานเป็นกันเอง

          ก่อนที่จะปิดท้ายงานบนเวทีด้วยการถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก“คนโขน” เล่าเรื่องราวความรัก, ความผูกพัน, มิตรภาพ, ตัณหา และอาฆาตแค้นของหลากหลายตัวละครที่มีวิถีศิลปะนาฏกรรมโขนเป็นฉากหลังของชะตากรรมชีวิต พร้อมให้พิสูจน์คุณภาพ 25 ส.ค. นี้ ทุกโรงภาพยนตร์

FB on August 30, 2011, 03:19:29 PM
นร.จาก "ซูเปอร์สตาร์ อะคาเดมี่" ร่วมเล่น "คนโขน"


 
          เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งนักแสดง “เล็กพริกขี้หนู” คนล่าสุดของวงการ สำหรับ “น้องใบเตย-จุไลกรณ์ อินทรลาวัลย์” ลูกศิษย์คนเก่งจาก สถาบันดนตรีและศิลปะการแสดงซูเปอร์สตาร์ อะคาเดมี่ (SUPERSTAR ACADEMY) ของ “แพม-ลลิตา ตะเวทิกุล” ที่มีโอกาสได้ร่วมแสดงความสามารถทางการแสดงในภาพยนตร์ ที่มุ่งสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ในเรื่อง “คนโขน” ฝีมือการกำกับฯ ของ “ศรัณยู วงศ์กระจ่าง” ที่กำลังลงโปรแกรมฉายอยู่ในขณะนี้




FB on October 06, 2011, 02:50:23 PM


“ตั้ว ศรัณยู” เป็นปลื้มหนัง “คนโขน” เป็นตัวแทนหนังไทยเข้าประกวดชิงรางวัลออสการ์ ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม
 
          นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของประเทศไทย และของวงการภาพยนตร์ไทยเลยทีเดียว กับความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง “คนโขน” ที่ได้ถูกคัดเลือกให้เข้าประกวดในงานภาพยนตร์ออสการ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในครั้งนี้ทางทางสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาตินำโดย คุณนคร วีระประวัติ ประธานในการคัดเลือกภาพยนตร์เพื่อส่งเข้าประกวด ได้พิจารณาตามรูปแบบของรางวัล ซึ่งในสาขาต่างประเทศนี้ทางคุณนครได้เล่าว่า “ในการคัดเลือกหนังเราพิจารณาภาพยนตร์หลายเรื่องแต่ที่เราเลือกภาพยนตร์เรื่องคนโขน เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย รวมทั้งยังมีเรื่องราวของศิลปะวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของคนแล้วถ่ายทอดเป็นศิลปะบนแผ่นฟิล์มได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งตรงกับประเภทและตรงกับสเปคของรางวัลออสการ์ในสาขานี้ ดังนั้นเราจึงได้ตัดสินใจส่งภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าชิง แต่ผลในตอนท้ายจะเป็นยังไงคงต้องรอลุ้นกันอีกที”

          ซึ่งผู้กำกับของภาพยนตร์ พี่ตั้ว ศรัณยู วงษ์กระจ่าง ได้เล่าถึงความรู้สึกว่า “ดีใจและภูมิใจมากครับ ภาพยนตร์หนึ่งเรื่องนั้นมีผู้ร่วมงานที่เกี่ยวข้องมากมายหลายคน ทุกคนก็ดีใจที่ได้ทราบว่างานที่ตัวเองมีส่วนร่วมได้รับโอกาสนี้ แม้ว่าเป็นเพียงก้าวแรกซึ่งยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า สุดท้ายแล้วหนังจะผ่านการคัดเลือกของกรรมการออสการ์ไปได้ซักแค่ไหน แต่ก็ภูมิใจที่กระทรวงวัฒนธรรมและสมาพันธ์ภาพยนตร์เห็นถึงคุณค่าของภาพยนตร์เรื่องนี้ครับ ส่วนการคัดเลือกภาพยนตร์นั้นเป็นเรื่องของสมาพันธ์ และทางกระทรวงวัฒนธรรม ดังนั้นตัวภาพยนตร์ที่ส่งไปก็เป็นภาพยนตร์เวอร์ชั่นเดียวกันกับที่ฉายในโรงภาพยนตร์นี้ สุดท้ายก็ขอเป็นคนหนึงที่ให้กำลังใจคนทำหนังไทยทุกคน ให้ทำภาพยนตร์ไทยที่ดีมีคุณภาพออกมากันเยอะเพื่อให้ภาพยนตร์ไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก”
« Last Edit: October 06, 2011, 02:53:54 PM by FB »