บทสัมภาษณ์พระเอกใหม่ “อาร์ อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ” รับบท “ชาด” ในเรื่อง “คนโขน”
บทบาท-คาแร็คเตอร์
เรื่องนี้ผมรับบทเป็น “ชาด” เป็นเด็กกำพร้าที่ถูกเก็บมาเลี้ยงในบ้านคณะโขนของครูหยด (สรพงษ์ ชาตรี) ตัวชาดเองก็มีความใฝ่ฝันอยากจะมีชื่อเสียง อยากจะไปอยู่จุดสูงสุดของการแสดงโขน แต่ด้วยชะตากรรมบวกกับการกระทำของตัวเขาเอง ก็ทำให้การจะไปสู่จุดสูงสุดนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะได้มาง่ายๆ มันต้องเจอกับอุปสรรคปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องความรัก ความแค้น มิตรภาพระหว่างเพื่อน แล้วก็เรื่องราวในคณะโขนด้วย
ก่อนการแสดงเรื่องนี้มีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
อย่างแรกเลยที่ต้องเตรียมหนักมากๆ ก็คือการฝึกซ้อมแอ็คติ้งการแสดงต่างๆ เพราะผมไม่เคยผ่านงานด้านนี้มาก่อนเลย ก็ต้องไปฝึกฝนกับทางพี่ตั้วและก็ทีมงานครับ ส่วนเรื่องการร่ายรำต่างๆ ผมก็พอมีพื้นฐานและทักษะอยู่บ้าง เพราะผมเองก็กำลังเรียนด้านนาฏยศิลป์ไทยที่จุฬาฯ ก็ดีใจที่ได้ใช้ทักษะที่เรียนมาให้เป็นประโยชน์ครับ
ความรู้สึกแรกที่ได้เข้ากล้องแสดงภาพยนตร์เป็นยังไงบ้าง
ในการถ่ายทำในช็อตแรกซีนแรกก็รู้สึกตื่นเต้นมากๆ ครับ เพราะไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน ในฉากแรกจะเป็นฉากที่เข้าร่วมกับพี่กองที่เล่นเป็นเพื่อนเราอีกคนนึง ก็เป็นฉากรำไปด้วย พูดคุยกับเพื่อนไปด้วย อันนี้ก็จะมีท่ารำด้วย เป็นท่าเชิดฉิน มีการยกเท้าขึ้นมาด้วย ซึ่งตอนซ้อมก็เป็นพื้นธรรมดา แต่พอไปถ่ายที่จริงเหมือนเป็นพื้นที่เป็นแผงกั้นอยู่ด้านบนตัว ก็ยืนขาเดียว ด้านข้างล่างก็เป็นคลอง พื้นที่ก็ค่อนข้างน้อย แต่ก็พยายามรวบรมสติและก็ทำออกมาให้ดีครับ
มีการทำอารมณ์ให้เข้าถึงบทบาทและผ่อนคลายเวลาเครียดอย่างไรบ้าง
ผมเชื่อว่าเวลาที่ผมรู้สึกเครียดหรือตื่นเต้น ผมก็จะพยายามทำตัวเองให้มีสมาธิ นึกถึงบทบาทเข้าไว้ว่าเราต้องทำสิ่งนี้ เหมือนกับเวลาที่ผมแสดงโขนก็เหมือนกัน ก็จะพยายามนึกถึงบทหรือตัวละครที่เราต้องเล่นเข้าไว้ ต้องทำอะไรบ้าง พยายามมีสมาธิ ไม่วอกแวกถึงสิ่งอื่นครับ
การร่วมงานกับนักแสดงรุ่นใหญ่
อย่าง “อาหนิง นิรุตติ์” ที่เล่นเป็น “ครูเสก” จะอยู่ฝ่ายตรงข้าม แต่ก็ไม่ค่อยได้เข้าฉากร่วมกันเท่าไหร่ แต่ในกองถ่ายก็ได้เจอกันอยู่ตลอด ก็ได้พูดคุยกัน แกก็ให้ทัศนคติและแนะนำเรื่องการแสดงเป็นอย่างดีครับ ส่วนเรื่องการแสดงของอาหนิงไม่ต้องพูดถึงครับ ผมเห็นการแสดงของแกแล้วฝีมือชั้นครูมากๆ เราก็ครูพักลักจำดูว่าแกแสดงยังไง เล่นไหลลื่นเนียนมากๆ ครับ
“อาเอก สรพงษ์” ในเรื่องจะรับบทเป็น “ครูหยด” ที่เก็บชาดมาเลี้ยงและคอยสั่งสอนอะไรต่างๆ ทั้งความเป็นอยู่ การแสดงโขน ผมจะเข้าฉากกับอาเอกเยอะอยู่เหมือนกันครับ แรกๆ ก็รู้สึกกดดันและก็ตื่นเต้นมาก เพราะอาเอกเป็นมืออาชีพเรื่องการแสดงจริงๆ ผมก็ได้รับคำสอนที่ดีจากอาเอกเยอะมาก เพราะอย่างที่บอก ผมไม่เคยมีทักษะพื้นฐานเรื่องการแสดงมาก่อน อาเอกก็จะสอนเรื่องการแสดง การมีสมาธิ การใช้จิตเข้าถึงบทบาท เข้าถึงอารมณ์ตัวละคร พยายามฟังผู้กำกับว่าเขาต้องการให้เราทำอะไรเป็นสิ่งสำคัญครับ
การร่วมงานกับเพื่อนนักแสดงรุ่นเดียวกัน
กับ “พี่ตรี” ที่รับบทเป็น “แรม” พี่เค้าก็จะเป็นรุ่นพี่ที่คณะอยู่แล้วครับ ในเรื่องจะเล่นเป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกัน และเราก็แอบชอบเค้าอยู่แต่ไม่กล้าบอก เพราะเพื่อนเราอีกคนก็ชอบแรมอยู่เหมือนกัน มันก็จะมีเหตุการณ์ที่ทำให้เพื่อนรักต้องหมางเมินกันไป ในเรื่องการแสดงพี่ตรีก็ช่วยสอนการแสดง และก็คอยรับส่งบทให้ผมเป็นอย่างดีครับ
ฉากใหญ่ๆ กับพี่ตรีก็จะเป็นฉากบอกรักบนเขา จะเป็นฉากที่สวยแปลกตาจากเรื่องอื่นๆ ไปเลยครับ เรายกกองไปถ่ายกันที่เขาเต่า หัวหิน เพชรบุรี ตอนที่ไปเจอสถานที่ครั้งแรกก็เป็นที่อยู่บนโขดหินและมีทะเลอยู่รอบๆ ข้าง ทิวทัศน์สวยงามมาก แต่ทางเดินขึ้นไปอาจจะลำบาก แต่พี่ทีมงานเขาก็ลำบากกว่าเราอีกเพราะเขาต้องยกของแบกของขึ้นไป แต่ด้านบนก็สวยมาก เป็นวิวทิวทัศน์ที่เห็นรอบเลย ในฉากนี้ก็เป็นฉากที่ชาดจะบอกความในใจให้กับแรมได้รับรู้ ซึ่งก็ไม่รู้จะทำยังไงดี ไม่กล้าพูด ชาดก็เลยใช้ภาษาท่าทางของโขนนี่แหละเป็นตัวสื่อความในใจให้คนที่เราชอบได้รับรู้ซะเลย ท่านี้ก็จะเป็นท่ารำของตัวพระอยู่แล้ว ก็เหมือนกับว่าทำตามความรู้สึกออกมาว่าท่านี้หมายความว่าอย่างไร ท่าสวยงามมากครับ ต้องไปติดตามดูในโรงครับ ก็เป็นฉากที่ชอบมากๆ ฉากหนึ่งของเรื่องเลยครับ
การแสดงกับ “พี่นัท” (ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์) ที่เล่นเป็นคู่อริกัน พี่เค้าจะเล่นเป็น “คม” ซึ่งจะมีเหตุการณ์แค้นฝังใจตั้งแต่เด็กๆ ที่ทำให้ไม่ถูกกัน ตัวคมก็จะคอยหาทางแก้แค้นชาดอยู่ตลอดเวลา ก็จะมีฉากปะทะคารมและอารมณ์กันในฉากโรงละครแห่งชาติ ฉากนั้นจะเป็นฉากเปิดโรงละครซึ่งเราต้องมีฉากแสดงร่วมกัน และตัวคมก็จะคอยหาเรื่อง และยุแหย่ให้เราอารมณ์เสียอยู่ตลอด ทำให้เกิดเรื่องชกต่อยเลือดตกยางแตกกันไป (หัวเราะ) พี่นัทก็เฮฮากันดี ก็รับส่งอารมณ์กันตลอด พี่เค้าก็บอกให้เล่นได้เลยเต็มที่สมจริงครับ ก็เขม่นกันตลอดเรื่อง จนจะติดมานอกจอแล้วครับ (หัวเราะ)
การทำงานของผู้กำกับเป็นอย่างไรบ้าง
การทำงานของผู้กำกับ “พี่ตั้ว ศรัณยู” แกจะเต็มที่ในการทำงานเรื่องนี้มาก จะละเอียดมากๆ ในทุกช็อตทุกซีน ตั้งแต่การเตรียมงาน การซ้อมการแสดง การถ่ายทำ บางอย่างเราคิดว่าไม่สำคัญ แต่พี่ตั้วก็สอน ก็ทำให้เราเข้าใจและเห็นว่าทุกสิ่งมันมีความสำคัญนะ จะคอยบอกคอยสอนเราอยู่ตลอด ทำให้เราเข้าใจบทบาทของตัวเองได้ดียิ่งขึ้นครับ
ความยากง่ายในการแสดงหนังเรื่องแรก
ยากมากครับ เพราะงานภาพยนตร์เป็นงานที่ต้องทำกันเป็นทีม ต้องพร้อมกันเป็นทีม จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ ทีนี้เราเป็นนักแสดงหน้าใหม่ เพิ่งเล่นเป็นเรื่องแรก เราก็รู้สึกกดดัน กลัวถ่วงเวลา เสียเวลาคนอื่น อย่างการแสดงนาฏศิลป์ที่ผมเรียนหรือแสดงมาก การแสดงมันก็เรียงตามลำดับเวลาใช่มั้ยครับ แต่พอมาเป็นภาพยนตร์การถ่ายทำมันไม่เรียงลำดับฉากหรือเวลา มันอาจจะถ่ายฉากท้ายก่อน ค่อยมาถ่ายฉากต้นอะไรอย่างนี้ บางฉากบางอารมณ์เราไม่เคยผ่านมาก่อน แต่เราก็ต้องแสดงให้เป็นไปตามอารมณ์ตัวละคร ณ ตอนนั้น ก็ต้องอาศัยการอ่านบทและมีสมาธิจดจ่ออยู่ในการทำงานหรือการแสดงของเรา ทุกอย่างมันก็ผ่านไปได้ ถ้าพูดถึงความพอใจในการแสดง ผมว่าก็น่าพอใจได้อยู่ครับ เพราะได้ครูดีครับ (หัวเราะ) แต่ถ้ามีโอกาสหรือเวลาในการเรียนการแสดงเพิ่มเติมก็จะยินดีเลยครับ
ฉากประทับใจในเรื่อง
มีหลายฉากเลยครับ โดยเฉพาะฉากที่ปะทะอารมณ์กับครูหยด ตัวละครของอาเอกครับ ทั้งยากทั้งประทับใจ มันจะเป็นฉากที่ครูหยดมาเห็นเราในเหตุการณ์ไม่คาดฝันบางอย่างทำให้ต้องทะเลาะกันอย่างรุนแรงครับ ฉากนั้นเรารู้สึกถึงการรับส่งอารมณ์ที่เราได้มาจากอาเอกโดยตรงเลยครับ เหมือนมีพลังดึงดูดให้เราอินไปกับฉากนี้จริงๆ เลยครับ และก็ต้องยอมรับว่าฉากนี้เป็นฉากที่ผมกังวลที่สุดเลยนะครับ แต่กลายเป็นว่าเป็นฉากที่ไม่ทันตั้งตัว แต่ก็ได้รับการส่งผ่านทางอารมณ์จากอาเอกได้เป็นอย่างดี ให้รู้สึกได้ถึงอารมณ์นั้นจริงๆ เลยครับ ซึ่งฉากนั้นอาเอกก็ต้องมีเจ็บตัวด้วย แต่แกก็ทุ่มเทเต็มที่เต็มความสามารถจริงๆ ครับ ต้องยอมรับถึงความเป็นมืออาชีพของแกจริงๆ ครับ
ฉากยากที่สุดในเรื่อง
สำหรับผมรู้สึว่าจะยากทุกฉากจริงๆ นะครับ ไม่ว่าจะเป็นฉากปะทะอารมณ์กับอาเอก, ฉากที่ต้องเล่นกับพี่กบ, พี่นัท, พี่ตรี หรือว่ายกตัวอย่างให้เห็นภาพก็ในฉากที่เราโดนเขารุมซ้อมมา แล้วเราก็ต้องปกปิดความเจ็บปวดกลับมาแสดงในฉากประชันโขนที่ทุกคนรอเราอยู่คนเดียว ตอนนั้นในการแสดงครั้งนี้หน้าก็เละเลยเพราะโดนเขาต่อยมา มีแผลที่ปาก บวมมาหมด ก็ต้องเอาเครื่องสำอางมาปกปิดเอาไว้ เพื่อที่จะได้ออกมาแสดงโขนต่อ ในตอนนั้นก็จะต้องโดนต่อยมารู้สึกเวียนหัว ต้องคิดว่าเราโดนเขารุมมาไม่รู้จะทำยังไงต่อ เราก็ต้องพยายามทำอารมณ์ให้เป็นไปตามนั้นทั้งเจ็บปวด เสียใจ สับสน หลายอารมณ์มากๆ ในฉากนั้นครับ
งานสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้และคุณค่าของศิลปะวัฒนธรรมไทย
ต้องยอมรับว่านาฏศิลป์ไทยหรือการแสดงโขนเป็นวัฒนธรรมที่สวยงาม ละเอียดละออ วิจิตรตระการตา แสดงให้เห็นถึงคุณค่าที่มีอยู่ภายในของคนไทยออกมา ซึ่งพอดัดแปลงมาเป็นภาพยนตร์ ก็ต้องยอมรับว่า งานสร้างก็ละเอียดไม่แพ้กัน และสวยงามทุกฉากทุกซีนในทุกๆ องค์ประกอบทั้งฉาก, เสื้อผ้าการแต่งกาย การแสดงประณีตและสวยงามจริงๆ ครับ ต้องติดตามดูกันให้ได้นะครับ
ความน่าสนใจโดยรวมของเรื่องนี้
ภาพยนตร์เรื่อง “คนโขน” โดยเนื้อเรื่องมันก็สะท้อนการทำความฝันของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่พยายามทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง ซึ่งในเรื่องนี้ตัวละครก็มีความฝันที่จะเป็นนักแสดงโขนที่โด่งดังให้ได้ ภายในเรื่องนี้เนี่ยเรื่องโขนจะเป็นความสุดยอดของยุคสมัยนั้นแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีการแสดงทางด้านศิลปะโขน ทำให้ท่านผู้ชมได้เห็นมุมมองการแสดงที่เป็นมรดกของชาติไทย ซึ่งอยู่คู่กับชาติไทยมาเป็นเวลานานแล้วนาน แต่เราอาจจะเริ่มลืมเลือนไปบ้างแล้ว ผมเชื่อว่าเมื่อท่านได้มาชม ท่านจะได้ทราบ ได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ที่เป็นการแสดงโขนนะครับ ที่ถือว่าเป็นการแสดงนาฏศิลป์ของเรา ในเรื่องไม่ได้มีเพียงแค่เสน่ห์แปลกใหม่ของการแสดงโขนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการสอดแทรกเรื่องราวที่เข้มข้น เป็นเรื่องราวของรักโลภโกรธหลงของมนุษย์เรานี่แหละ มีครบทุกอารมณ์ ครบทุกรสชาติความเป็นหนังไทย ประกอบกับการแสดงของนักแสดงชั้นครูแต่ะคน และความตั้งใจของพี่ตั้วผู้กำกับที่ต้องการถ่ายทอดแง่คิดดีๆ ให้กับผู้ชม ซึ่งรับรองได้ว่าเป็นหนังไทยเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรพลาดนะครับ