happy on March 21, 2021, 03:38:56 PM
สแกนเนียมุ่งมั่นสู่การลดคาร์บอน

               สแกนเนีย เผยหลัก 3 ประการ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผลักดันการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบการขนส่งที่ยั่งยืน (Driving the shift towards a sustainable transport system) แม้สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกยังคงส่งผลกระทบธุรกิจอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างต่อเนื่อง แต่เป้าหมายด้านสู่ความยั่งยืนยังคงเดินหน้าต่อไป


               นายโจฮัน คลาสัน ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดและหัวหน้างานด้านความยั่งยืน บริษัท สแกนเนีย สยาม จำกัด เปิดเผยว่า​ ในปี 2564 คาดว่าจะเป็นปีที่ยากลำบากของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 แต่​ ​“สแกนเนีย”  ผู้ผลิตรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดใหญ่จากสวีเดน จะยังคงไม่ทิ้งเป้าหมายที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่ระบบการขนส่งที่ยั่งยืน ด้วยผลิตภัณฑ์ งานบริการ และเทคโนโลยีที่มีความพร้อมสำหรับธุรกิจลูกค้า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนของประเทศไทย ด้วยการนำหลักการขนส่งที่ยั่งยืน 3 ประการ มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งในระดับต่าง ๆ ได้แก่​ 1. ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) ซึ่งหมายถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ช่วยทำให้ใช้พลังงานน้ำมันสำหรับการเผาไหม้น้อยลง เมื่อเผาไหม้น้อยลงก็ปล่อยมลพิษน้อยลงไปด้วย แน่นอนว่าต้นทุนขนส่งก็ลดลงไปด้วย เป็นการช่วยเพิ่มผลกำไรให้ธุรกิจไปพร้อมกัน​ 2. เชื้อทางเลือกและพลังงานไฟฟ้า (Alternative Fuels and Electrification) โดยการพัฒนาการรองรับพลังงานทางเลือกและรถพลังงานไฟฟ้า ซึ่งแน่นอนว่าสามารถลดปริมาณการปล่อยมลพิษได้อย่างชัดเจนและ​ 3.การขนส่งที่ชาญฉลาดและปลอดภัย​ (Smart and Safe Transport) โดยสแกนเนียได้พัฒนาระบบการขนส่งอัจฉริยะและปลอดภัย เพราะนักขับคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดในธุรกิจขนส่ง ระบบอัจฉริยะที่ช่วยให้ขับขี่ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปลอดภัยยิ่งขึ้น นอกจากจะช่วยลดอุบัติเหตุบนสังคมท้องถนนแล้ว ยังช่วยบริหารธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งทั้ง 3 หลักการด้านการขนส่ง จะสามารถช่วยให้ระบบขนส่งของเราสะอาดปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น


               นายโจฮัน กล่าวว่า​ “ตามความตกลงปารีส ปี 2559 มีหลายประเทศได้ร่วมลงนามกับองค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ทำให้สแกนเนียมุ่งมั่นอย่างมากที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนให้ทุกคนจริงจังกับความยั่งยืน เพราะมันไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป สภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ฝุ่น PM 2.5 รวมถึงการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกและภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ล้วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตทางธรรมชาติ

               “จุดประสงค์ของสแกนเนีย คือการผลักดันการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบการขนส่งที่ยั่งยืนมากขึ้นไม่ว่าเราจะอยู่ในยุโรปหรือไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดในโลกก็ตาม และมากกว่าร้อยละ 25 ของไอเสียคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดมาจากอุตสาหกรรมการจราจรและระบบการจราจรขนส่งทางบก โดยเรามุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา” นายโจฮัน กล่าว


               ดังนั้นเพื่อเข้าสู่ระบบการขนส่งที่ยั่งยืนในแต่ละปีสแกนเนีย จึงได้ใช้งบประมาณจำนวนมากในการวิจัยและพัฒนาเพื่อความยั่งยืนพร้อมกับเพิ่มศักยภาพธุรกิจขนส่งให้กับลูกค้า แม้ในสถานการณ์โควิด-19 จะมีความรุนแรงต่อเนื่องยาวนาน แต่การดำเนินงานสู่ระบบการขนส่งที่ยั่งยืนยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือและทำงานร่วมกับลูกค้าเพื่อคงความเป็นผู้นำด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสนับสนุนให้ลูกค้าของเราสามารถสร้างความแตกต่าง โดยการทำตลาดและให้บริการไปพร้อมกับธุรกิจที่ยั่งยืนโดยใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของสแกนเนีย

               นายโจฮัน ยังให้ความเห็นว่า​ การขนส่งที่ยั่งยืนสามารถเพิ่มมูลค่าและโอกาสให้กับผู้ประกอบการขนส่งได้ พร้อมกับการลดมลพิษ จากที่ปัจจุบันการตั้งเป้าหมายการลดมลพิษเพื่อความยั่งยืน เป็นเรื่องที่บริษัทชั้นนำหลาย ๆ บริษัทมีอยู่ในแผนพื้นฐานทางธุรกิจ และสแกนเนียมีผลิตภัณฑ์และบริการที่พร้อมจะตอบโจทย์เหล่านั้นได้ “เรามีรถที่ตอบโจทย์ธุรกิจขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมงานบริการที่มีคุณภาพและระบบที่ช่วยวิเคราะห์เพื่อพัฒนาการขนส่งให้ดียิ่งขึ้น ให้ความยั่งยืน กับกำไรในธุรกิจดีขึ้นไปด้วยกัน”




               ทั้งนี้เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา สแกนเนียได้เปิดตัวรถบรรทุกไฟฟ้าเต็มรูปแบบ สามารถเดินทางได้ไกลสูงสุดถึง 250 กิโลเมตร ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง และรถบรรทุกไฮบริด นอกจากนี้ ยังเปิดตัวเครื่องยนต์ V8 ใหม่ ที่พัฒนาให้มีกำลังสูงขึ้น แต่ปล่อยมลพิษน้อยลง ในตลาดยุโรปและอเมริกาใต้ แสดงให้เห็นว่าแม้ต้องประสบกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 แต่สแกนเนียไม่หยุดการพัฒนาด้านการขนส่งที่ยั่งยืน “ประเทศไทยมีทรัพยากรที่ดีสำหรับผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างไบโอดีเซล เนื่องจากเป็นประเทศเกษตรกรรม” และในปีเดียวกันสแกนเนียสามารถบรรลุการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส (Science Based Targets initiative (SBTi) ได้สำเร็จ ซึ่งเป้าหมายที่ตั้งไว้คือการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากภายในองค์กรลงให้ถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยคาร์บอนในปี พ.ศ.2558

#####

Scania เป็นผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกด้านโซลูชั่นการขนส่ง ร่วมกับพันธมิตรและลูกค้าผลักดันการเปลี่ยนไปสู่ระบบการขนส่งที่ยั่งยืน Scania ก่อตั้งขึ้นในปีพ. ศ. 2434 มีสำนักงานในกว่า 100 ประเทศและมีพนักงาน 51,000 คน ทั่วโลก มีศูนย์วิจัยและพัฒนาในสวีเดน โดยมีสาขาในบราซิลและอินเดีย การผลิตจะเกิดขึ้นในยุโรปละตินอเมริกาและเอเชีย พร้อมศูนย์การผลิตระดับภูมิภาคในแอฟริกาเอเชียและยูเรเซีย Scania เป็นส่วนหนึ่งของ TRATON SE สำหรับการเยี่ยมชมข้อมูลเพิ่มเติม: www.scania.com

เกี่ยวกับ Scania ในประเทศไทย

ในประเทศไทย  Scania  เริ่มต้นด้วยการนำเข้ารถบรรทุกเพื่อจัดหน่าย โดยบริษัท โฟฟร้อนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ในปี พ. ศ. 2529 และในปี 2543 บริษัท สแกนเนีย สยาม จำกัด ก่อตั้งขึ้นเป็นบริษัท ในเครือของ Scania ประเทศสวีเดน ในปี 2552 ได้ลงทุนในสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ 16 ไร่ ดำเนินงานเป็นสำนักงานขายและศูนย์บริการหลังการขายที่ครบวงจร ขณะนี้เรามี 11 สาขาในประเทศไทย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมดูได้ที่: www.scania.co.th
« Last Edit: March 21, 2021, 05:42:51 PM by happy »