happy on February 11, 2021, 08:56:53 PM
สแกนเนีย สยาม พัฒนา เร่งฟื้นตลาดรถบรรทุก - รถบัส ปี 2021

สแกนเนีย สยาม ผู้ผลิตรถบรรทุกและรถบัสสำหรับงานหนักระดับพรีเมียมวางเป้าหมายปี 2564 เป็นปีแห่งการฟื้นตัวและพัฒนาศักยภาพ ช่วยผู้ประกอบการในประเทศไทยต่อสู้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น


             นางสตีน่า เฟเกอร์แมน กรรมการผู้จัดการบริษัทสแกนเนีย สยาม จำกัด เปิดเผยว่า สแกนเนียยังคงวางแผนลงทุนในการเพิ่มศักยภาพทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์และงานบริการอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยในปี 2564 จะเป็นปีแห่งการพัฒนาเพื่อช่วยให้ลูกค้าฟื้นตัวได้เร็วที่สุดจากสถานการณ์ยากลำบากหลังจากการระบาดของโควิด -19 อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 ที่ผ่านมา สแกนเนียมีส่วนแบ่งการตลาดประเภทรถบรรทุกในประเทศไทยประมาณร้อยละ 2.5 และส่วนแบ่งตลาดรถบัสโดยสารในประเทศไทยถึงประมาณร้อยละ 20 ซึ่งตัวเลขทั้งสองตลาดเป็นส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโดยมียอดขายรถบรรทุกสแกนเนียที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก 297 คัน และรถบัส 96 คัน ทำให้เห็นว่าสแกนเนียได้ทำตลาดให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น โดยสแกนเนียเน้นตอบโจทย์การขนส่งทุกรูปแบบให้กับลูกค้ารถบรรทุก และยังรักษาความเป็นพันธมิตรธุรกิจเคียงข้างลูกค้ารถโดยสาร เพื่อที่จะรักษายอดขายและได้ขยายส่วนแบ่งการตลาดและเป็นแบรนด์อันดับ 1 ของยอดขายในประเทศไทยต่อไปอย่างต่อเนื่อง


             นางสตีน่ากล่าวว่า​ สำหรับงานด้านบริการ สแกนเนียพร้อมกับการเปิดศูนย์บริการแห่งใหม่ที่จังหวัดสระบุรีที่จะเปิดให้บริการในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งศูนย์บริการแห่งนี้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีลูกค้านิยมใช้บริการเป็นจำนวนมากซึ่งห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 100 กิโลเมตรเท่านั้น ด้วยสระบุรีเป็นเหมือนประตูสู่ภาคอีสาน และธุรกิจขนส่งของลูกค้าเรามากมายผ่านเส้นทางนี้ ดังนั้นเราจึงตัดสินใจที่จะลงทุนเพิ่ม โดยสแกนเนียเป็นผู้บริหารจัดการด้วยตัวเราเอง (Captive Dealer) เพื่อมอบบริการที่ดีขึ้นให้กับกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการอยู่ปัจจุบัน และเรายังมองศูนย์ฯ สระบุรีใหม่นี้ให้สามารถรองรับการเติบโตในอนาคตได้อีกด้วย” นอกจากนั้น สแกนเนียยังมองการขยายให้สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาล กับโครงสร้างพื้นฐานมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา คาดการณ์ว่าหลังวิกฤตโควิด จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง


             “การระบาดของโรคไวรัสโคโรน่าได้ส่งกระทบกับทุกคนในทุกอุตสาหกรรมอย่างหนัก แม้แต่สแกนเนียสยามก็ไม่มีข้อยกเว้นโดยบริษัทฯได้หยุดดำเนินการผลิตที่โรงงานประกอบรถบรรทุกในเขตชานเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้วและปรับกลยุทธ์ใหม่และเริ่มนำเข้ารถบรรทุก ส่งตรงจากระบบการผลิตในสวีเดน ก่อนที่จะนำเข้ามาในประเทศไทย ด้วยระบบการผลิตทั่วโลกของสแกนเนีย ทำให้มั่นใจได้ว่ารถของเราจะมีคุณภาพเหมือนกัน ไม่ว่าเราจะสร้างมาจากที่ไหนก็ตาม”นางสตีน่ากล่าวและว่าที่สำคัญที่สุดคือรถที่ผลิตในสวีเดน จะมีราคาจำหน่ายเทียบเท่ากับการผลิตในประเทศไทย ไม่กระทบต่อการให้บริการลูกค้าแต่อย่างใด


             ทั้งนี้สแกนเนีย สยามก่อตั้งในปี 1986 และครบรอบ 35 ปีในการทำตลาดในประเทศไทยในปีนี้ สแกนเนียสยามยังคงวางแผนที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีความมุ่งมั่นในระยะยาวต่อตลาดในประเทศไทย พร้อมมุ่งมั่นพัฒนางานบริการให้ดีขึ้น ให้รถลูกค้าพร้อมใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพิ่มผลกำไรธุรกิจขนส่ง ขับเคลื่อนสู่ระบบขนส่งที่ยั่งยืน​ “เพราะธุรกิจคุณ สำคัญที่สุด”

             นางสตีน่า กล่าวต่อว่า ลูกค้าของสแกนเนีย ทุกรายจะได้รับข้อเสนอสเปครถ และงานบริการหลังการขายที่เหมาะกับธุรกิจของลูกค้า ทำให้ไม่ต้องกังวลกับปัญหาค่าซ่อมที่ไม่คาดคิด และให้รถของลูกค้ารับงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสแกนเนียยังได้ปรับงานบริการให้โดนใจลูกค้ามากขึ้นโดยการขยายเวลาเปิดศูนย์บริการถึง 22.00 น. (4 ทุ่ม) เพื่อรองรับการใช้บริการหลังเวลาปกติ (จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 – 17.00 น.)โดยเริ่มต้นจากที่ศูนย์บริการสาขาบางนา กม.19 (สำนักงานใหญ่) เป็นแห่งแรก ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสทางธุรกิจ และทางเลือกที่มากขึ้น นอกจากนี้ สแกนเนียยังมีบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน ที่พร้อมให้คำปรึกษา หรือออกให้บริการซ่อมนอกสถานที่ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน


             ในปี 2564 สแกนเนียสยาม ยังคงทำงานร่วมกับลูกค้าในการร่วมเปลี่ยนแปลงสู่ระบบการขนส่งที่ยั่งยืนการขนส่งที่ยั่งยืน (Driving the shift towards a Sustainable transport system) เช่น การฝึกสอนนักขับรถบรรทุกและรถบัส เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมุ่งมั่นสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน รวมถึงพยายามผลักดันเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยสแกนเนียมีความรู้ และความพร้อมเกี่ยวกับระบบการขนส่งที่ยั่งยืนหลากหลายรูปแบบ บนพื้นฐาน หลัก 3 ประการ ได้แก่ 1.การใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ 2.ระบบขนส่งอัจฉริยะและปลอดภัย 3.รถพลังงานทางเลือกและพลังงานไฟฟ้า

             “เราต้องการที่จะมั่นใจว่า ลูกค้าเข้าใจในเรื่องการใช้สแกนเนียแล้วสามารถลดมลพิษได้อย่างไร แน่นอนว่าการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ หรือ ความประหยัดน้ำมันของรถสแกนเนียคือหนึ่งในสิ่งที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ตั้งแต่ตอนนี้ นอกจากนี้ สแกนเนียยังพร้อมที่จะเปลี่ยนสู่พลังงานเชื้อเพลิงทางเลือกในรูปแบบต่างๆ ถ้าหากมีความต้องการจากตลาดประเทศไทยในอนาคต ซึ่งเราภูมิใจที่จะบอกว่ามันจะช่วยให้ลูกค้าได้กำไรไปพร้อมกับความยั่งยืน” นางสตีน่า กล่าว

###

Scania เป็นผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกด้านโซลูชั่นการขนส่ง ร่วมกับพันธมิตรและลูกค้าผลักดันการเปลี่ยนไปสู่ระบบการขนส่งที่ยั่งยืน Scania ก่อตั้งขึ้นในปีพ. ศ. 2434 มีสำนักงานในกว่า 100 ประเทศและมีพนักงาน 49,300 คน มีการวิจัยและพัฒนาในสวีเดน โดยมีสาขาในบราซิลและอินเดีย การผลิตจะเกิดขึ้นในยุโรปละตินอเมริกาและเอเชีย พร้อมศูนย์การผลิตระดับภูมิภาคในแอฟริกาเอเชียและยูเรเซีย Scania เป็นส่วนหนึ่งของ TRATON SE  สำหรับการเยี่ยมชมข้อมูลเพิ่มเติม: www.scania.com

เกี่ยวกับ Scania ในประเทศไทย

ในประเทศไทย  Scania  เริ่มต้นด้วยการนำเข้ารถบรรทุกเพื่อจัดหน่าย โดยบริษัท โฟฟร้อนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ในปี พ. ศ. 2529 และในปี 2543 บริษัท สแกนเนีย สยาม จำกัด ก่อตั้งขึ้นเป็นบริษัท ในเครือของ Scania ประเทศสวีเดน ในปี 2552 ได้ลงทุนในสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ 16 ไร่ ดำเนินงานเป็นสำนักงานขายและศูนย์บริการหลังการขายที่ครบวงจร ขณะนี้เรามี 11 สาขาในประเทศไทย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมดูได้ที่: www.scania.co.th