ภาวะผมร่วงฉับพลันชนิดทีโลเจน Telogen Effluvium (TE)
โดย รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกผม
รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป ผู้ที่มีภาวะผมร่วงที่มีเส้นผมระยะทีโลเจน (Telogen) หลุดร่วงมากกว่าปกติอย่างฉับพลัน กลไกของการเกิดโรคมาจากรากผมในระยะที่ต่อมรากผมจะอยู่ลึกที่สุดในชั้นหนังแท้ (Anagen) ถูกกระตุ้นให้เข้าสู่ระยะทีโลเจนเร็วกว่าปกติ การกระตุ้นนี้อาจเกิดจากโรคทางร่างกายและจิตใจ หรือภาวะการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายเอง เช่น เกิดจากภาวะไข้สูง ภาวะช็อก อุบัติเหตุรุนแรงหลังผ่าตัด การเสียเลือดหลังคลอดบุตรทารกแรกเกิด ภาวะขาดสารอาหาร การอดอาหารอย่างฉับพลัน ความเครียด โรคเรื้อรัง ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ โรคไทรอยด์ และจากยาบางชนิดเป็นต้น
อาการของโรคผู้ป่วยจะมีอาการผมร่วงมากผิดปกติ มากกว่า 70 เส้นต่อวัน หรืออาจสูงถึง 1,000 เส้น ลักษณะร่วงทั่วศีรษะ ในรายที่ผมร่วงไม่มากอาจจะไม่ทันสังเกต แต่ในรายที่ผมร่วงมากจะสังเกตว่าผมบางลงได้มาก โดยเฉพาะบริเวณขมับด้านข้าง แต่ไม่ถึงกับร่วงจนหมดศีรษะ อาจพบขนที่บริเวณอื่นร่วงประกอบด้วยได้ เช่น ขนรักแร้หรือขนหัวหน่าว ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่บางรายอาจมีมีอาการคัน แสบ เจ็บบริเวณหนังศีรษะได้ โดยอาการผมร่วงมักเกิดตามหลังสาเหตุต่าง ๆ ประมาณ 2-3 เดือน และใช้เวลา 6-12 เดือนกว่าผมจะขึ้นกลับคืนมา ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดผมร่วงทั่ว ๆ ต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือน ที่เรียกว่า Chronic Telogen Effluvium (CTE) เกิดเนื่องจากสาเหตุของโรคที่ทำให้ผมร่วงยังคงอยู่ เช่น ภาวะผมร่วงที่สัมพันธ์กับโรคไทรอยด์, โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก, ภาวะขาดสารอาหาร, ขาดวิตามิน หรือแร่ธาตุบางชนิด หรือในผู้หญิง วัยกลางคน (อายุ 30 - 60 ปี) บางคนที่มีผมร่วงเรื้อรังทั่วศีรษะหรือบริเวณรอยแสก โดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ซึ่งการวินิจฉัยต้องอาศัยการแยกโรคหรือสาเหตุอื่น ๆ ออกไปก่อน โดยเฉพาะภาวะผมบางจากพันธุกรรมในเพศหญิง
การวินิจฉัยของแพทย์ จะอาศัยประวัติของผู้ที่มีผมร่วงอย่างฉับพลัน และมีสาเหตุกระตุ้นที่ชัดเจนก่อนมีผมร่วง การตรวจผม พบผมร่วงติดมือ โดยผมที่ร่วงออกมาอยู่ในระยะทีโลเจน ส่วนการรักษาอาการผมร่วงส่วนใหญ่มักจะเป็นอยู่นานประมาณ 3 เดือนแล้วค่อย ๆ ดีขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ผมขึ้นใหม่ได้เอง หลังจากที่สาเหตุหรือปัจจัยกระตุ้นหมดไป ยกเว้นในรายที่มีสาเหตุที่ทำให้ผมร่วงยังคงอยู่ หรือเกิดซ้ำอีก จนทำให้ต่อมผมถูกทำลาย ซึ่งอาจทำให้ผมขึ้นได้ไม่เต็มเหมือนเดิม โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีผมบางจากพันธุกรรมร่วมด้วยนั้น ความหนาแน่นของผมอาจจะขึ้นกลับมาไม่เท่าเดิม โดยการรักษาอาจพิจารณาให้ยาทาชนิด 5% Minoxidil Lotion เพื่อกระตุ้นให้ผมขึ้นกลับมาเร็วขึ้นร่วมกับการให้วิตามิน โดยวิตามินที่พบว่าขาดได้บ่อยในคนผมร่วงฉับพลัน ได้แก่ ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามินดี วิตามินบี 1, 5, 7 (ไบโอติน) และ 12 นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การทานโปรตีนให้เพียงพอและกรดอะมิโนแอซิดบางชนิด จะมีส่วนช่วยให้เส้นผมคืนสภาพกลับมาแข็งแรงได้เร็วขึ้น
ตาราง แสดงสาเหตุของผมร่วงชนิดฉับพลันหรือทีโลเจน( Telogen effluvium)ภาวะหลังมีไข้สูง (post-febrile) เช่นไข้มาลาเรีย ไข้ไทฟอยด์ ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ
ภาวะช็อก ผู้ที่เสียเลือดเป็นจำนวนมาก อุบัติเหตุรุนแรง ได้รับการผ่าตัดใหญ่
ภาวะหลังคลอดบุตร (postpartum) และเด็กทารกแรกเกิด (physiologic effluvium of the newborn)ภาวะขาดสารอาหาร หรือโปรตีน (protein-calories malnutrition)- ผู้ที่ลดน้ำหนักอย่างฉับพลัน (crash diet)
- ขาดธาตุเหล็ก (iron deficiency), ขาดเกลือแร่สังกะสี (zinc deficiency)ความเครียด หรือผิดหวังอย่างรุนแรง (severe emotional distress)
ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ- Hypothyroid หรือ hyperthyroid, hyperparathyroidism
- Polycystic ovarian syndrome (PCOS)โรคเจ็บป่วยเรื้อรัง- โลหิตจาง
- โรคติดเชื้อเรื้อรัง วัณโรค HIV disease
- systemic lupus erythematosus, chronic obstructive pulmonary disease (COPD), hepatic diseaseยาบางชนิด- Retinoid (acitretin, isotretinoin)
- Anticoagulang (heparin, warfarin)
- Antithyroid (propylthiouracil, methimazole)
- Anticonvulsants (phenyltoin, valproic acid, carbamazepine)
- Beta-blockers (propanolol)
- Heavy metals (arsenic, mercury, thallium)