นิทรรศการ “ศิลปะเกิดจากใจแม่” (แม่ผู้สร้างศิลป์)
วันที่ 4 มีนาคม – วันที่ 30 พฤษภาคม 2553
ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
วันที่ 4 มีนาคม 2553 เวลา 17.30 น. – 20.30 น.
ณ. ชั้น 2 หอศิลป์ สมบัติเพิ่มพูน
ภัณฑารักษ์ : หงส์จร เสน่ห์งามเจริญ
ศิลปิน
เสาวภา วิเชียรเขตต์ ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ
รัตนา อัตถากร บุญยิ่ง เอมเจริญ
ลาวัลย์ (ดาวราย) อุปอินทร์ วรรณา สวัสดิ์ศรี(ศรีดาวเรือง)
ชุมสาย มีสมสืบ ศรีวารี ปุยอ๊อก
ดุษฏี พนมยงค์ จินตนา เปี่ยมศิริ
จิระนันท์ พิตรปรีชา สมพร พึ่งอุดม(แม่ส้ม)
ดวงเดือน บุนยาวง จุไรรัตน์ กุลพานิชย์
ปิ่นนุช ปิ่นจินดา
กำหนดการ
17.30 น. - ร่วมพูดคุยแบบอบอุ่นมีสาระแห่งคุณงามความดี จากคุณแม่ศิลปิน
- การอ่านบทกวีโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา (นักเขียนรางวัลซีไรต์ จาก ใบไม้ที่หายไป, เมษายน 2532)
- เป่าขลุ่ยโดย สีแพร เมฆาลัย
- การอ่านบทกวีโดย ดวงเดือน บุนยาวง (นักเขียนรางวัลซีไรต์ จากประเทศลาว ,
อาถรรพ์แห่งพงไพร2549)
- การขับร้องเพลง “แม่จ๋า” จาก อ. ดุษฏี พนมยงค์
- อ. สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปาฐกถา เรื่อง แม่
18.30 น. - ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เป็นประธานเปิดงาน
เป็นที่รู้กันดีว่า “พื้นที่ทางศิลปะ” ของบ้านเราค่อนไปทางขาดแคลนมาตั้งแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ของศิลปินหญิง เพราะอะไร บทบาทของผู้หญิงถึงไม่ได้รับการยอมรับมากนัก ซึ่งคงจะเป็นความท้าทายไม่น้อย หากเราจะหยิบยกเรื่องพื้นที่ทางศิลปะของผู้หญิงมานำเสนอในบทบาทของแม่ ที่นอกเหนือไปจากการเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดแล้ว ยังเป็นแม่ผู้สร้างงานศิลป์อันทรงคุณค่าเทียบเท่าหรือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าศิลปินชาย....
เหมือนดั่ง อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ บุคคลสำคัญของสังคมไทย ได้ให้ความสำคัญกับ “แม่” หรือผู้หญิงในชีวิตมาก เราดูได้จากข้อเขียนบางส่วนของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เขียนถึงแม่ ในบทความที่ชื่อ “ผู้หญิงในชีวิตของผม-แม่” สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดและความสำคัญของแม่ที่มีต่อลูกนั้นยิ่งใหญ่เหลือคณานับการสั่งสอนอบรมเลี้ยงดูลูกถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่สามารถส่งผลสามัญชนคนธรรมดาที่ยึดมั่นและต่อสู้เพื่ออุดมคติ เป็นสามัญชนที่สง่างาม อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มองเห็น ความงาม ความดี ความถูกต้อง เพราะท่านได้ซึมซับสิ่งเหล่านี้มาจาก “แม่”
“แม่ไม่ใช่พระอรหันต์ เป็นมนุษย์ธรรมดาที่มีคุณธรรมหลายประการ ความบกพร่องย่อมมีอยู่บ้างเป็นธรรมดา แม่ไม่ใช่วิสัยของลูกที่จะมาบรรยาย แม่มีคาถาอยู่ 3-4 ข้อ ซึ่งถ้าอธิบายให้ทราบ บางที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย ความมานะเด็ดเดี่ยว เป็นคาถาข้อแรกของแม่ที่เห็นได้ชัดจากประวัติของท่าน เมื่อตั้งใจทำอะไร โดยเห็นแน่วแน่แล้วว่าเป็นสิ่งที่ดีสิ่งที่ชอบธรรม ก็ต้องทำให้ได้แม้จะต้องเสี่ยงต่ออันตรายความยากลำบาก ใครจะนินทาเย้ยหยันอย่างไรก็ต้องมานะอดทน โดยหวังประโยชน์ถาวร จะเด็ดเดี่ยวได้ต้องกล้าหาญ แต่กล้าหาญไม่ใช่กล้าบ้าบิ่น ซึ่งเป็นการเสี่ยงภัยโดยไร้ประโยชน์ แม่ไม่เคยขลาดและไม่เคยบ้าบิ่น แต่กล้าหาญกว่าใคร ๆ
แม่รักอิสรภาพและเสรีภาพยิ่งกว่าชีวิต ถ้าท่านยอมไปอยู่เมืองจีนเมื่อท่านเป็นหม้ายใหม่ ๆ บางทีชีวิตของแม่อาจจะยืนนานกว่าที่เป็นอยู่ แต่แม่ไม่เคยคิดจะให้ใครเลี้ยง เงินอุปการะของลุงท่านถือว่าเป็นสิทธิ์ของท่านที่ควรได้ เพราะเตี่ยได้ช่วยลุงทำงานจนสร้างบ้านที่เมืองจีนได้ใหญ่โต ท่านพูดให้ฟังเสมอว่าไปให้ลุงเลี้ยงที่เมืองจีนก็เหมือนไปเป็นนกขุนทองอยู่ในกรง บินไปไหนไม่ได้ตามใจชอบ เช้าค่ำมีอาหารกินจะพูดตามใจตัวก็พูดไม่ได้ พูดไม่ได้ตามใจไม่ใช่ไทยแท้คาถาข้อต่อไปคือ ความซื่อสัตย์สุจริต แม่พูดบ่อย ๆ ว่าเลี้ยงลูกมาไม่ได้เอาเปรียบใคร ไม่ให้คนในข้องอในกระดูก ต้องถือสัตย์ ต้องคงวาจาสัตย์ เมื่อแม่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถชำระคืนเขา แม่ก็จะปักใจรับกรรมด้วยชีวิต ครั้นบุญวาสนาส่งให้ได้เงิน เจ้าหนี้กี่ราย ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยทวง แม่ก็ชำระคืนหมดทั่วหน้า บางรายให้ยืมมาจนลืม ก็ยังชำระให้เสร็จสิ้นไป
ความใจกว้างเมตตากรุณานั้น แม่ปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่าง ท่านว่าคนเราก็ต้องมีเรื่องทุกข์ร้อนกันทั้งนั้น ถ้ามนุษย์ไม่ช่วยซึ่งกันและกันแล้วโลกจะแคบ มีคนเตือนแม่ว่าทำไมใจกว้างนัก ใครขออะไรก็มักจะให้ แม่ก็ตอบว่าถ้าเขาไม่ลำบากจริง ๆ แล้ว เขาจะบากหน้ามาขอเราหรือ”
จะเห็นได้ว่าบทบาทผู้หญิงที่สำคัญนอกเหนือจากการดูแลครอบครัวและเลี้ยงดูลูกแล้วสิ่งอื่นใดสะท้อนได้อย่างชัดเจนสำหรับความเป็น “ผู้หญิง” คือ การสร้างสรรค์ศิลปะให้เกิดขึ้นในหัวใจได้ตลอดเวลา เป็นลมหายใจที่สำคัญที่บ่งบอกถึง ความเกื้อกูล ความเมตตา และความงามให้เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคนได้อย่างแท้จริง
สำหรับวงการศิลปะในประเทศไทยได้พัฒนาและเปิดกว้างสำหรับผู้หญิงมากขึ้นนับตั้งแต่ยุคสมัยที่ศิลปวิทยาการแบบตะวันตกเข้ามามีบทบาทเทียบเท่าศิลปะแบบประเพณี อันมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้บุกเบิก มีเซียม ยิบอินซอย
นับว่าเป็นศิลปินหญิงคนแรกที่ก้าวขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าทัดเทียมกับผู้ชายได้อย่างงามสง่า และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงอีกหลายคนในยุคต่อมา ทำให้ในปัจจุบัน วงการศิลปะของไทยมีความหลากหลายและน่าสนใจด้วยศิลปินหญิงมากฝีมือที่เข้ามาเติมเต็มในสังคมศิลปะร่วมสมัยไม่น้อยหน้าชาติใด จะเห็นได้ว่าผู้หญิงในยุคหลัง ได้เข้ามามีความสำคัญในพื้นที่ทางศิลปะมากกว่าแต่ก่อน เกิดศิลปินหญิงรุ่นใหม่ ๆ ที่น่าจับตาและได้รับการยอมรับ รวมถึง “โอกาส” จากวงการศิลปะร่วมสมัย ที่จะแสดงความสามารถให้โลกได้ประจักษ์ ว่าไม่มีข้อจำกัดใด ๆ สำหรับคำว่า “ศิลปะ”
ป๋วยเสวนาคาร มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป จึงได้จัดกิจกรรมโครงการนิทรรศการ “ศิลปะเกิดจากใจแม่”(แม่ผู้สร้างศิลป์) โดยร่วมกับ สมบัติเพิ่มพูน แกลลอรี ซึ่งได้มอบพื้นที่ทางศิลปะนี้ ด้วยการคัดเลือกศิลปินหญิงที่มากไปด้วยความสามารถทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม ประติมากรรม กวี ดนตรี วรรณกรรม ฯลฯ จำนวน 15 ท่าน จากผลงานที่โดดเด่นด้วยความคิดและฝีมือ เพื่อร่วมกันแสดงศักยภาพที่แท้จริงของผู้หญิงให้สังคมได้รับรู้ว่า ผู้หญิง ไม่ได้มีดีแต่ความงามที่ปรากฏทางกายภาพ หากแต่ความงามนั้นได้ปรากฏอยู่ในจิตที่ส่งผ่านสู่งานศิลปะที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง
รูปแบบการนำเสนอ :
1) จัดแสดงผลงานของศิลปินหญิง 15 คน รวมเป็นผลงาน 80 ชิ้น โดยประมาณ ภายในพื้นที่บริเวณชั้น 2 ซึ่งประกอบไปด้วยผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม กวี ดนตรี วรรณกรรม ฯลฯ
2) การจัดเสวนา ในหัวข้อ “แม่ คือ ลมหายใจของศิลปะ”
แม่ลาวัลย์ อุปอินทร์
แม่จิระนันท์ พิตรปรีชา
แม่ดุษฏี พนมยงค์
แม่ชุมสาย มีสมสืบ
3) ขับร้องเพลง โดย แม่ ดุษฏี พนมยงค์
4) อ่านบทกวีโดยแม่ จิระนันท์ พิตรปรีชา, แม่หญิง ดวงเดือน บุนยาวง และ เป่าขลุ่ยประกอบโดย สีแพร เมฆาลัย
องค์กรร่วมจัด
หอศิลป์ สมบัติเพิ่มพูน
เลขที่ 12 สุขุมวิท ซอย 1 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
โทร.0.2254.6040.6 โทรสาร0.2254.6048, มือถือ 081.826.1434
Email:
info@sombatpermpoongallery.com,
www.sombatpermpoongallery.com หน่วยงานที่รับผิดชอบ
ป๋วยเสวนาคาร
มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
666 ถนนเจริญนคร คลองสาน กรุงเทพฯ 10600
โทร.02-438-9331-2 โทรสาร 02-860-1278