happy on June 25, 2020, 03:10:42 PM
โตชิบาร่วมทีมนานาชาติสร้าง “ดวงอาทิตย์จำลอง” ด้วยเทคโนโลยีฟิวชัน


ที่มา: สถาบัน QST (https://www.qst.go.jp/site/naka-fusion-english/4779.html)

ลองคิดดูสิว่า หากเราสามารถสร้าง “ดวงอาทิตย์จำลอง” ขึ้นบนโลกได้จะเป็นอย่างไร? นี่อาจจะฟังดูเหมือนเรื่องเพ้อฝัน แต่ความจริงโครงการนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการแล้ว โดยอาศัยพลังงาน ฟิวชัน (Fusion Power) ซึ่งเป็นรูปแบบพลังงานที่หลายคนเชื่อว่าเป็นคำตอบของทั้งปัญหาด้านพลังงานและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

ปัจจุบัน โครงการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ทดลอง อย่างโครงการ ITER (มีความหมายว่า "เส้นทาง หรือ การเดินทาง" ในภาษาละติน) และโครงการ JT-60SA (Super Advanced) กำลังอยู่ในขั้นตอนการสร้าง ด้วยความร่วมมือระดับนานาชาติ ซึ่งมีหลายประเทศมหาอำนาจ รวมถึงประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมด้วย

ฟิวชัน ถือว่าเป็น “พลังงานในฝัน” เลยทีเดียว เพราะมันเป็นขุมทรัพย์พลังงานขนาดใหญ่ที่ไม่เพียงปลอดภัย แต่ยังปราศจากการปล่อยคาร์บอน ในบทความนี้ เราจะพาไปรู้จักกับพลังงานฟิวชัน และเรียนรู้ถึงความน่าสนใจของโครงการแห่งอนาคตนี้


(จากซ้าย)
นายทาคุมะ วาคาสึกิ กลุ่มทดลองพลาสมาขั้นสูง ห้องทดลองพลาสมาขั้นสูง สถาบันนาคาฟิวชัน คณะกรรมการพลังงานฟิวชัน สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัมและรังสีแห่งชาติ

นายฮิเดกิ คาจิทานิ กลุ่มพัฒนาแม่เหล็กตัวนำยิ่งยวด โครงการ ITER สถาบันนาคาฟิวชัน คณะกรรมการพลังงาน    ฟิวชัน สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัมและรังสีแห่งชาติ

นายยูสุเกะ อิชิอิ แผนกออกแบบและวิศวกรรมระบบขั้นสูง บริษัท โตชิบา เอ็นเนอร์ยี่ ซิสเต็มส์ แอนด์ โซลูชัน        คอร์ปอเรชั่น

▼ แหล่งพลังงานประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัยสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่มีวันหมด : พลังงานฟิวชันทำงานอย่างไร?

สรุปง่าย ๆ ฟิวชัน คือ การสร้างปฏิกิริยาฟิวชันที่เกิดขึ้นภายในดาวฤกษ์และดวงอาทิตย์ขึ้นมาใหม่บนโลก โดยเราได้สัมภาษณ์ นายทาคุมะ วาคาสึกิ นักวิจัยด้านฟิวชัน แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัมและรังสีแห่งชาติ (QST) และขอให้เขาช่วยอธิบายคอนเซ็ปต์นี้ในแบบที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้

“ทุกสิ่งในจักรวาลนี้ล้วนประกอบขึ้นด้วยอะตอม และอะตอมก็ประกอบขึ้นด้วยนิวเคลียสและอิเล็กตรอน​
เมื่อนิวเคลียสเหล่านี้ปะทะกันด้วยความเร็วสูง มันจะรวมตัวกันเป็นอะตอมที่หนักขึ้น ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า ฟิวชัน นายทาคุมะ วาคาสึกิ อธิบาย คุณอาจจะไม่คุ้นเคยกับกระบวนการที่ว่านี้ แต่เราทุกคนล้วนได้รับประโยชน์จากแหล่งพลังงานที่สร้างขึ้นจากกระบวนการฟิวชัน เป็นแหล่งพลังงานที่มอบแสงสว่างให้เราในทุก ๆ วัน ซึ่งก็คือ ดวงอาทิตย์ นั่นเอง ปฏิกิริยาฟิวชันที่เกิดขึ้นระหว่างนิวเคลียสไฮโดรเจนของดวงอาทิตย์คือต้นกำเนิดของความร้อน และแสงสว่างที่มนุษย์เราได้รับในทุก ๆ วัน


อย่างที่เราเห็นได้จากดวงอาทิตย์ว่า ฟิวชันสามารถผลิตพลังงานความร้อนได้มหาศาลเพียงใด จนสามารถนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าและพลังงาน โดยแหล่งเชื้อเพลิงของฟิวชันคือ ดิวเทอเรียม และทริเทียม ซึ่งเป็นไอโซโทปของไฮโดรเจน​ ด้วยปริมาณเชื้อเพลิงเพียง 1 กรัม ฟิวชันสามารถผลิตพลังงานได้เทียบเท่ากับการเผาไหม้ปิโตรเลียมถึง 8 ตัน​ แม้ว่าปัจจุบันเราจะมีวิธีการมากมายในการผลิตพลังงาน แต่มีเพียงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบดั้งเดิมและฟิวชันเท่านั้นที่สามารถผลิตพลังงานในปริมาณมหาศาลได้จากเชื้อเพลิงปริมาณเล็กน้อย” นายวาคาสึกิ กล่าว


ภาพ กลไกการทำงานของการฟิวชัน

ความปลอดภัยของพลังงานนิวเคลียร์ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด ตั้งแต่การเกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล แต่ในทางตรงกันข้าม พลังงานฟิวชันมีความปลอดภัยสูงมาก

“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบดั้งเดิมจะใช้พลังงานความร้อนซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาฟิชชัน (Fission) โดยการนำเชื้อเพลิงปริมาณมหาศาล (มูลค่าเทียบเท่าปริมาณการใช้เชื้อเพลิงหลายปี) มาจัดเก็บในเครื่องปฏิกรณ์และใช้แท่งควบคุมมาควบคุมอัตราการเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์ ดังนั้น พลังงานจึงจะถูกผลิตขึ้นจากการเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิงทีละเล็กละน้อยไปเรื่อย ๆ

ในขณะที่เครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันต้องการเชื้อเพลิงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการรักษาปฏิกิริยาฟิวชัน หากการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหยุดลงปฏิกิริยาฟิวชันก็จะหยุดลงเช่นกัน และแม้ว่าเราจะนำเชื้อเพลิงจำนวนมากมากักเก็บในเครื่องปฏิกรณ์ แต่เชื้อเพลิงเองก็จะทำให้ พลาสมา* เย็นลง ซึ่งจะไปหยุดการเกิดปฏิกิริยาฟิวชันโดยอัตโนมัติ
ด้วยรูปแบบการทำงานของฟิวชันนี้เอง จึงทำให้ไม่มีทางที่จะเกิดปฏิกิริยาที่อยู่นอกเหนือการควบคุม”
 
นายวาคาสึกิ กล่าว

*พลาสมา คือสถานะทางกายภาพที่ 4 ของสสาร นอกเหนือจากสถานะของแข็ง ของเหลว และก๊าซ โดยทั่วไป สสารจะสามารถเปลี่ยนสถานะเป็นพลาสมาได้ที่อุณหภูมิหลายพันองศาเซลเซียสหรือสูงกว่านั้น (เนื่องจาก ต้องมีพลังงานที่มากพอที่จะสามารถแยกอิเล็กตรอนออกจากอะตอมได้) เครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันจึงต้องมีความสามารถที่จะสร้างพลาสมาที่อุณหภูมิสูงกว่า 100 ล้านองศาเซลเซียส และสามารถบรรจุ (รักษา) พลาสมาไว้โดยไม่สัมผัสกับของแข็ง เช่น ตัวถังเครื่องปฏิกรณ์ ได้

ที่มา: https://www.qst.go.jp/site/qst-english/list39.html


ยิ่งไปกว่านั้น ฟิวชันไม่ก่อให้เกิดกากกัมมันตรังสีระดับสูงใด ๆ (ขณะที่ ฟิชชันก่อให้เกิดกากกัมมันตรังสีระดับสูง) จึงถือเป็นกระบวนการที่ “สะอาด” ทั้งยังไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อีกด้วย

เท่านั้นยังไม่พอ ดิวเทอเรียม หนึ่งในแหล่งเชื้อเพลิงของฟิวชัน สามารถสร้างขึ้นได้จากการแยกธาตุประกอบของน้ำด้วยไฟฟ้า นั่นหมายความว่ามันแทบจะไม่มีวันหมด และแม้ว่า ทริเทียม ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอีกตัวของฟิวชันจะต้องสกัดขึ้นจากธรรมชาติ นักวิจัยต่างเชื่อว่ามันเป็นไปได้ที่จะประดิษฐ์ ทริเทียมขึ้นในเครื่องปฏิกรณ์ ดังนั้น ในทางทฤษฎี เราจึงไม่ต้องกังวลอะไรในส่วนของอุปทาน


▼ เหล่าอเวนเจอร์สแห่งโลกพลังงาน 7 ประเทศสมาชิกในโครงการ ITER
แหล่งพลังงานประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัยสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่มีวันหมด มันราวกับฝันที่เป็นจริง แล้วเหตุใดความฝันนี้จึงยังนำมาใช้งานจริงไม่ได้สักที?

เครื่องปฏิกรณ์ฟิวชัน เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ซับซ้อนยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดที่เคยถูกสร้างขึ้นโดยมวลมนุษยชาติ การพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์ – ซึ่งกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ – จึงต้องอาศัยการผสานรวมของสุดยอดเทคโนโลยีล้ำสมัยแห่งยุค ตัวอย่างเช่น ในการผลิตฟิวชัน เริ่มแรก เราจะต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงไฮโดรเจนให้เป็นพลาสมา โดยแยกอิเล็กตรอนออกจากนิวเคลียส
ซึ่งพลาสมานี้จะต้องถูกสร้างขึ้นในสภาวะสุญญากาศด้วยความร้อนสูงกว่า 100 ล้านองศาเซลเซียส จากนั้น พลาสมาจะต้องถูกกักเก็บและควบคุมอยู่ภายในเครื่องปฏิกรณ์โดยใช้สนามแม่เหล็กที่ทรงประสิทธิภาพ และการสร้างสนามแม่เหล็กที่ทรงประสิทธิภาพนี้ เราจำเป็นต้องใช้ขดลวดตัวนำยิ่งยวด (Superconducting Coils)

องค์ประกอบที่ใช้ในเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันนั้นมีปริมาณมหาศาลมาก แต่ทุกองค์ประกอบล้วนต้องมีมิติความคลาดเคลื่อนต่ำมากเพียงไม่กี่มิลลิเมตร อีกนัยหนึ่งจึงกล่าวได้ว่า เครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันคือการรวมตัวของบรรดาสุดยอดเทคโนโลยีล้ำสมัยแห่งยุค



ภาพ กระบวนการฟิวชัน

โดยในปัจจุบัน มีโครงการระดับโลกที่กำลังสร้างเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันขึ้นมาจริง ในชื่อ ITER (มีความหมายว่า "เส้นทาง หรือ การเดินทาง" ในภาษาละติน) ประกอบด้วย 7 ประเทศสมาชิก (ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป รัสเซีย สหรัฐอเมริกา เกาหลี จีน และอินเดีย) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเหล่า อเวนเจอร์สแห่งโลกพลังงาน ที่กำลังทำงานร่วมกันเพื่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์ทดลองที่เมือง แซ็งต์-ปอล-เลซ-ดูร็องส์ ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส


แผนภาพ ITER
ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (http://www.mext.go.jp/a_menu/shinkou/iter/021/005.htm)

ประเทศญี่ปุ่นรับผิดชอบในส่วนของการพัฒนาและประกอบขดลวดตัวนำยิ่งยวด เพื่อนำมาใช้สร้างสนามแม่เหล็กที่ทรงประสิทธิภาพในการกักเก็บพลาสมา ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการผลิตฟิวชัน เราได้พูดคุยกับ นายคาจิทานิ จากสถาบัน QST และ นายอิชิอิ จากบริษัท โตชิบา เอ็นเนอร์ยี่ ซิสเต็มส์ แอนด์ โซลูชัน คอร์ปอเรชั่น เกี่ยวกับโครงการระดับโลกนี้

“ในโครงการ ITER สมาชิกแต่ละประเทศมีบทบาทของตัวเองในการจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นในการสร้างเครื่อง ITER โดยในขณะนี้ เรากำลังพัฒนาและดำเนินการผลิตองค์ประกอบเพื่อเตรียมพร้อมในการเริ่มดำเนินการสร้างพลาสมาครั้งแรกภายในปี ค.ศ. 2025 ซึ่งเราได้ทำงานร่วมกับโตชิบาในการผลิตขดลวดตัวนำยิ่งยวด โดยเฉพาะขดลวด Toroidal Field (ขดลวด TF) ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชัน ขดลวด TF ที่ว่านี้มีโครงสร้างขนาดใหญ่ สูง 16.5 เมตร กว้าง 9 เมตร และมีน้ำหนักกว่า 300 ตัน อีกทั้งยังต้องมีมิติความคลาดเคลื่อนต่ำมากเพียงไม่กี่มิลลิเมตร ขั้นตอนการผลิตจึงเป็นกระบวนการที่มีหลายแง่มุมที่ต้องคำนึงถึง และในแต่ละขั้นตอนก็มีความซับซ้อนสูงมาก อย่างตัวนำไนโอเบียมดีบุกที่ใช้ในขดลวด ที่ต้องใช้เวลากว่าร้อยชั่วโมงในการทำความร้อนที่ 650 องศาเซลเซียสเพื่อให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน” นายคาจิทานิ กล่าว



“โตชิบามีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 โดยเราเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ขั้นตอนร่างแบบ และยังมีส่วนช่วยอย่างมากในการออกแบบและประดิษฐ์เทคโนโลยีต่าง ๆ เราได้จับมือกับสถาบัน QST ในการสร้างอุปกรณ์ฟิวชัน JT-60 (เครื่องทดสอบ Breakeven Plasma) รวมถึงอุปกรณ์รุ่นต่อมา คือ JT-60SA (Super Advanced) และในตอนนี้ เราก็กำลังปรับปรุงเทคโนโลยีตัวนำยิ่งยวดที่เราได้พัฒนาขึ้น พร้อมกันนั้น เรายังทำการปรับแต่งการรักษาความร้อนแม่นยำสูงสำหรับตัวนำในขดลวด TF เพื่อใช้สำหรับโครงการ ITER ปรับจูนความแม่นยำในขั้นตอนการวัดสำหรับโครงสร้างขนาดใหญ่ และพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรของเราไปด้วย” นายอิชิอิ กล่าว


นี่เป็นสาขาการพัฒนาใหม่ที่รวมศาสตร์ทางฟิสิกส์และวิศวกรรมเข้ากับการผลิต การประกอบขดลวด TF เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แม้ว่าขดลวดตัวนำยิ่งยวดจะถูกนำมาใช้งานในอุปกรณ์หลากหลายชนิดแล้ว อย่างเช่น ตัวเร่ง แต่มันยังไม่เคยถูกนำมาใช้งานกับอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่และต้องการความแม่นยำในระดับนี้

“ในการผลิตขดลวด TF เราจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น
ความรู้เกี่ยวกับตัวนำยิ่งยวด วิศวกรรมไฟฟ้า และแม่เหล็กไฟฟ้าสำหรับขดลวด เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงมากพอตามที่ ITER ต้องการ ความรู้พลศาสตร์ของไหลและอุณหพลศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ลักษณะของเหลวของสารหล่อเย็นภายในขดลวด ส่วนในด้านการผลิต ก็จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับวิศวกรรมวัสดุประเภทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระบวนการประกอบนั้นต้องใช้เทคโนโลยีเครื่องจักร และการเชื่อมขั้นสูง ผมคิดว่าขดลวด TF จะเป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรก ๆ ของโลก ที่ถูกสร้างขึ้นโดยการผสานเทคโนโลยีขั้นสูงในหลายสาขาขนาดนี้” นายคาจิทานิ บอก

▼ เทคโนโลยีที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อสร้างฝันพลังงานฟิวชันให้เป็นจริง

ความรับผิดชอบหนึ่งของ JT-60SA ภายใต้การพัฒนาร่วมกันระหว่างประเทศญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป คือการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาโครงการ ITER โดย JT-60SA เป็นอุปกรณ์ฟิวชันทดลองรุ่นทายาทของ JT-60 ที่ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 และ JT-60U ในช่วงทศวรรษ 1980

พลังงานฟิวชัน จำเป็นจะต้องให้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนอยู่ในรูปของพลาสมา ซึ่งเป็นสถานะของสสารที่แตกตัวเป็นไอออน มีลักษณะคล้ายก๊าซ แต่การจะทำให้เกิดฟิวชันได้ พลาสมาจะต้องได้รับความร้อนสูงกว่า 100 ล้านองศาเซลเซียส อุปกรณ์ JT-60SA จะทำการควบคุมพลาสมาโดยใช้สนามแม่เหล็กซึ่งสร้างขึ้นจากตัวนำยิ่งยวด ภายใต้ความร้อนและแรงดันที่สูงมาก เพื่อจะสร้างสภาพแวดล้อมพลาสมาที่เหมาะสมสำหรับการวิจัยฟิวชัน

“มีตัวแปรสำคัญ 3 ส่วน ในการสกัดพลังงานจากฟิวชัน ได้แก่ อุณหภูมิ ความหนาแน่น และเวลาในการกักเก็บพลาสมา ณ ขณะนี้ เรากำลังพยายามหาวิธีเพิ่มความหนาแน่นของอนุภาคพลาสมา โดยในขณะเดียวกันก็ต้องเก็บรักษาพลาสมาไว้ในอุณหภูมิที่สูงขึ้น เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากขึ้น สำหรับโครงการ ITER ภารกิจหลักอย่างหนึ่งของเราคือการสร้างการเผาไหม้ของพลาสมาโดยใช้ดิวเทอเรียมและทริเทียม การออกแบบ ITER จึงมาจากวิธีการทำงานที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความน่าเชื่อถือสูงในแง่ของตัวแปรที่สำคัญทั้งสามส่วน อย่างไรก็ตาม
JT-60SA ได้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อให้เราสามารถดำเนินการทดลองที่มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการผลิตพลาสมาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย เราสามารถเพิ่มความดันของพลาสมาได้โดยอาศัยสนามแม่เหล็ก และยังสามารถทำการทดลองที่มีความหมายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ในอนาคต” นายวาคาสึกิ อธิบาย

การทดลองอุปกรณ์ JT-60SA จะเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 2020 และหากการทดลองนี้ประสบความสำเร็จในการรักษาเสถียรภาพและการกักเก็บพลาสมา มันจะเป็นก้าวที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์ ฟิวชันที่สามารถนำมาผลิตพลังงานได้ และแน่นอนว่า มันก็มีความคาดหวังที่สูงมาก ไม่เฉพาะต่อโครงการนานาชาติอย่าง ITER เท่านั้น แต่รวมถึงงานวิจัยที่ล้ำสมัยเช่นกัน

แน่นอนว่า งานวิจัยขั้นสูงสำหรับ JT-60SA นั้นจะช่วยผลักดันให้การสร้าง ITER ที่ได้กำหนดไว้ว่าจะเริ่มดำเนินการในปี ค.ศ. 2025 ให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้ ยังมีแผนงาน Roadmap หลังจากนั้นต่อไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ต้นแบบ “DEMO” ที่สามารถผลิตพลังงานด้วยฟิวชัน และเครื่องปฏิกรณ์เชิงพาณิชย์ที่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่าน Power Grid ได้ โดยผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งสามท่าน ซึ่งทำงานอยู่ในแนวหน้าของโครงการการพัฒนานี้ ล้วนเน้นย้ำถึงความสำคัญในระยะยาวว่า เทคโนโลยีฟิวชันจะถูกส่งต่อสู่คนรุ่นต่อไปได้อย่างไร



ภาพ กลยุทธ์การวิจัยและพัฒนาฟิวชันในอนาคต (ตุลาคม 2005 คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านนิวเคลียร์ฟิวชัน
คณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณู) (ด้วยความอนุเคราะห์จากสถาบัน QST คณะวิจัยและพัฒนาพลังงานฟิวชัน)

ที่มา: โตชิบา เอ็นเนอร์ยี่ ซิสเต็มส์ แอนด์ โซลูชัน คอร์ปอเรชั่น
(https://www.toshiba-energy.com/en/nuclearenergy/rd/energy.htm)


“ในเวลานี้ ฟิวชันไม่ใช่แค่เรื่องฝันเฟื่องอีกต่อไป แต่เป็นเทคโนโลยีที่เรามองเห็นแล้วว่าสามารถใช้งานได้ในโลกจริง ๆ แต่ ณ ตอนนี้ กว่ามันจะถูกนำมาใช้สร้างกระแสไฟฟ้าได้จริงก็น่าจะเป็นช่วงกลางศตวรรษที่ 21 หรือราว ๆ ปี ค.ศ. 2050 ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ที่จะทำให้การวิจัยนี้เป็นจริงได้เร็วยิ่งขึ้น ก็คือ บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ มันจึงเป็นความหวังในใจของผมว่าเราจะมีคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีความกระตือรือร้น มาช่วยเราผลักดันโครงการที่จะเปลี่ยนโลกนี้ให้ก้าวต่อไป” นายวาคาสึกิ กล่าว

“ส่วนใหญ่ผู้ที่เข้ามาทำงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชัน จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ ผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างแหล่งพลังงานในอนาคต และผู้ที่ต้องการเรียนรู้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อนำไปต่อยอดในการทำงานด้านอื่น ๆ ต่อ ที่โตชิบา เรามีนักวิจัยและวิศวกรจำนวนมากที่ได้อุทิศชีวิตให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชัน เราจึงหวังว่าจะสามารถสานต่อมรดกจากความทุ่มเทของพวกเขาผ่านกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยทำให้ฟิวชันเป็นโครงการที่ยืนยาวและหยั่งรากลึกในองค์กรของเรา” นายอิชิอิ กล่าว

“ขณะนี้ เรากำลังร่วมมือกับโรงงานผู้ผลิตในการสร้างขดลวด TF และกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการส่งมอบขดลวด TF ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2021 แต่แน่นอนว่า ขั้นตอนที่มีความหมายจริง ๆ คือหลังจากนั้น โตชิบามีพนักงานรุ่นใหม่จำนวนมากที่มีโอกาสได้ลงพื้นที่ทำงาน และมีความมุ่งมั่นที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในสายการผลิต เพื่อสืบทอดและสานต่อสุดยอดเทคโนโลยี ล้ำสมัยแห่งยุคทั้งหลาย โครงการ ITER ถือว่าเป็นโครงการระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ คุณจะไม่มีทางหาประสบการณ์แบบนี้ที่ไหนได้อีก มันเป็นโอกาสที่หาได้ยากมาก ผมจึงอยากขอให้พนักงานรุ่นใหม่ของเรานำประสบการณ์ที่มีค่าที่ได้รับจากโครงการ ITER ไปใช้ประโยชน์ในอนาคต ความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันของพวกเรา ทั้งที่ QST และที่โตชิบา รวมถึงความรู้ทั้งหลายที่ได้รับจากความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยและพัฒนาในอนาคต หลังการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ทดลอง “DEMO” สำเร็จ” นายคาจิทานิ กล่าว


« Last Edit: June 25, 2020, 06:58:01 PM by happy »