MSN on February 29, 2020, 12:32:58 PM



ข่าวประชาสัมพันธ์ บ้านปูฯ เดินหน้ากลยุทธ์ Greener เต็มพิกัด เพิ่มสัดส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ พร้อมติดเครื่อง “บ้านปู เน็กซ์” ขยายพอร์ตพลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรม

•   รายได้จากการขาย 2,759 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 85,660 ล้านบาท) และ EBITDA 695 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 21,578 ล้านบาท)

•   เดินหน้ากลยุทธ์ Greener ขยายธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และจัดตั้งธุรกิจ “บ้านปู เน็กซ์” เต็มพิกัด เพื่อเพิ่มพอร์ตพลังงานสะอาด ตอบโจทย์รูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต


บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รายงาน
ผลภาพรวมการดำเนินงานปี 2562 ของบริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 2,759 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 85,660 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อน 722 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 22,416 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 21 โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 695 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 21,578 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 41 จากปีก่อนหน้า โดยบริษัทฯ เดินหน้าด้วยกลยุทธ์ Greener อย่างเต็มพิกัด สร้างการเติบโตธุรกิจพลังงานสีเขียวด้วยการเพิ่มสัดส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และการจัดตั้งบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด เพื่อพัฒนาและต่อยอดธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน ให้สอดรับกับเทรนด์พลังงานแห่งโลกอนาคต





นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “แนวโน้มธุรกิจพลังงานในช่วงปี 2562 สะท้อนถึงความท้าทายจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าของประเทศคู่กรณี ความต้องการใช้พลังงานชะลอตัวจากปัจจัยสภาวะอากาศที่ไม่หนาวเย็นนักในช่วงฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ และการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง แม้กระนั้น เรายังคงเดินหน้าเสริมสร้างความแข็งแกร่งและสมดุลให้กับระบบนิเวศทางธุรกิจระหว่างกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ทั้ง กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน  และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน มุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจที่ตอบรับกับเทรนด์พลังงานแห่งโลกอนาคต ที่สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้อย่างชาญฉลาด ซึ่งจะเริ่มได้เห็นความคืบหน้าทางธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2563

เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยกลยุทธ์ Greener & Smarter เมื่อเดือนธันวาคม 2562 บ้านปูฯ ได้ลงทุนเป็นจำนวน 770 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 23,907 ล้านบาท) เพื่อเข้าซื้อแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ในมลรัฐ  เท็กซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอุปสงค์การใช้ก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาคิดเป็น 15% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติรวมของประเทศ และส่งผลให้บ้านปูฯ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 20 อันดับแรกของสหรัฐอเมริกา การเข้าซื้อกิจการแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ นับได้ว่าอยู่ในช่วงเวลาและราคาที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังมีความเสี่ยงและมีต้นทุนการดำเนินการที่ต่ำ และช่วยยกระดับศักยภาพของบ้านปูฯ ให้มีพอร์ตทางธุรกิจที่หลากหลายตอบรับกับความต้องการในหลากหลายพื้นที่ ต่อยอดความเป็นผู้นำและศักยภาพในการบริหารทรัพยากรด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติของบ้านปูฯ จากเดิมที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติ Marcellus ในพื้นที่ตะวันออกเฉียง เหนือของมลรัฐเพนซิลเวเนียอยู่แล้ว นอกจากนี้ การเข้าซื้อบาร์เนตต์ฯ ยังมีโอกาสคืนทุนได้เร็ว โดยคาดการณ์ว่าสามารถคืนทุนให้บ้านปูฯ ได้ภายใน 6 ปี ขณะที่มีปริมาณสำรองการผลิตระยะยาวอย่างน้อย 16 ปี

นอกจากนี้ บ้านปูฯ ยังปรับกระบวนทัพทางธุรกิจครั้งสำคัญ โดยการจัดตั้ง บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ที่มีทุนจดทะเบียน 7,919 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งจะดำเนินงานเป็นบริษัทหลัก (Flagship) ของกลุ่มบริษัทบ้านปูฯ เพื่อมุ่งลงทุนและพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน อาทิ การดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การให้บริการวางระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด การออกแบบและผลิตยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน และระบบการจัดการเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อเสริมทัพสมาร์ทโซลูชันด้านพลังงานอย่างครบวงจร โดยมีความคืบหน้าทางธุรกิจตลอดปี 2562 ทั้งการขยายพอร์ตธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคากับลูกค้าระดับพรีเมี่ยมทั่วประเทศ แผนความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ทั้งการขนส่งสินค้าและพัสดุไปรษณีย์ด้วยยานยนต์ไฟฟ้า และการขยายกำลังผลิตโรงงานแบตเตอร์รีลิเธียมอิออน 1 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ ๆ ไปพร้อม ๆ กับการรุกขยายธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและฉับไวเช่นนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบ้านปูฯ ในการเติบโตในพอร์ตพลังงานสะอาดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งความตั้งใจในการดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืนตามหลัก ESG ซึ่งประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และการกำกับดูแลกิจการ (Governance)

“ในวันที่ บ้านปูฯ กำลังก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 กลยุทธ์ Greener & Smarter รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้อย่างชาญฉลาด และการเสริมสร้างแพลตฟอร์มทางธุรกิจที่เอื้อประโยชน์และส่งเสริมซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มธุรกิจทั้งหมดของเราใน 10 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คือหัวใจหลักในการเดินหน้าสร้างการเติบโตที่ตอบรับกับเทรนด์พลังงานแห่งโลกอนาคตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว ทั้งในส่วนธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้บ้านปูฯในปัจจุบันคือกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ซึ่งเราจะไม่หยุดยกระดับการปรับปรุงคุณภาพและลดต้นทุน รวมทั้งพิจารณาถึงตลาดที่มีศักยภาพใหม่ ๆ อาทิ อินเดียและบังคลาเทศ ส่วนในกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงานจะมุ่งหน้าสู่เป้าหมายการมีกำลังการผลิตรวม 5.3 กิกะวัตต์เทียบเท่า ภายในอีก 5 ปี โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่เน้นประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเสริมความแข็งแกร่งในศักยภาพการสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอผ่านการพัฒนาโครงการในพอร์ตฟอลิโอให้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด ในส่วนกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน บ้านปูฯ จะพิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพของเราในการสร้างสมาร์ทโซลูชันที่หลากหลายแบบครบวงจรและสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มบริษัทบ้านปูฯ อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เราจะยังคงยืนหยัดก้าวข้ามความท้าทายทั้งหลาย เพื่อแสดงความเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานแบบครบวงจรอย่างแท้จริง” นางสมฤดี กล่าวปิดท้าย

สำหรับภาพรวมปี 2562 บ้านปูฯ มีรายได้จากการขายรวม 2,759 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 85,660 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อน 722 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 22,416 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 21 มีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 695 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 21,578 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 41 จากปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิก่อนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนคิดเป็นจำนวน 75 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,329 ล้านบาท) ซึ่งปรับลดลงร้อยละ 66 จากปีก่อนหน้า จากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐในปีที่ผ่านมาทำให้เกิดผลขาดทุนจากการแปลงค่างบการเงินจำนวน 95 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,950 ล้านบาท) งบการเงินรวมจึงได้บันทึกขาดทุนสุทธิจำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 621 ล้านบาท)

*หมายเหตุ: คำนวณโดยอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนที่ USD 1: THB 31.0476

เกี่ยวกับบ้านปูฯ
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ดำเนิน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจแหล่งพลังงาน ธุรกิจผลิตพลังงาน และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานใน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม สำหรับสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 8,542 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 88 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561
« Last Edit: February 29, 2020, 12:42:21 PM by MSN »

MSN on February 29, 2020, 12:38:41 PM



ข่าวประชาสัมพันธ์ บ้านปู เพาเวอร์ฯ รายงานผลประกอบการปี 2562 เดินหน้าเต็มสูบขยายโรงไฟฟ้าและพอร์ตพลังงานสะอาดในจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม

•   ปี 62 ดันเมกะวัตต์เพิ่มจากโรงไฟฟ้า 7 แห่ง กำลังผลิตรวมเพิ่มเป็น 2,901 เมกะวัตต์เทียบเท่า

•   ปี 63 เตรียม COD โรงไฟฟ้าในจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม รวมอีก 451 เมกะวัตต์เทียบเท่า

•   ลงทุนธุรกิจซื้อขายไฟและโรงไฟฟ้าเสมือน พร้อมขยายพอร์ตพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานผ่าน Banpu NEXT


บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP หนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากทั้งพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป (Base-Load Power Business) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รายงานผลประกอบการปี 2562 มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ 4,802 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 19 และมีกำไรจากการดำเนินงานรวม 3,191 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรที่ลดลงของโรงไฟฟ้าหงสาและโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี อย่างไรก็ดี โรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งยังคงเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยรายงานดัชนีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) ที่ร้อยละ 81 และร้อยละ 90 ตามลำดับ สำหรับปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการขยายกำลังผลิตในจีนและญี่ปุ่น

ทั้งจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) โรงไฟฟ้าตามแผนและการลงทุนเพิ่มในโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว ซึ่งช่วยสร้างรายได้กลับคืนสู่บริษัทฯ ได้ทันที อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ มีการจัดพิธีเปิดหน้าดินเพื่อเริ่มการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ระยะที่ 1 ขนาด 30 เมกะวัตต์ ที่เวียดนาม ถือเป็นการเดินหน้าสร้างการเติบโตในเวียดนาม ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายกับภาครัฐและชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบ้านปู เพาเวอร์ฯ ในการขยายการเติบโตให้ถึงเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า ภายในปี 2568






นายสุธี สุขเรือน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในปีที่ผ่านมา บ้านปู เพาเวอร์ฯ ไม่หยุดที่จะเดินหน้าสร้างการเติบโตด้วยการบริหารพอร์ตการลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพ ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จในการ COD โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คุโรคาวะ (Kurokawa)ในญี่ปุ่น และส่วนขยายโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมหลวนหนาน Luannan) ระยะที่ 3 ในจีนตามแผนที่วางไว้ พร้อมกับการลงทุนใหม่ในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ COD แล้วและพร้อมรับรู้รายได้ทันที รวม 5 แห่ง ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จีซิน (Jixin) ในจีน และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีก 4 แห่งในญี่ปุ่น ได้แก่ มูโรรัง 1 และ 2 (Muroran 1 & 2) ในจังหวัดฮอกไกโด และเท็นซัง (Tenzan) และทาเคโอะ 2 (Takeo 2) ในจังหวัดซะกะ ทำให้กำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าที่ COD แล้วเพิ่มขึ้น 102 เมกะวัตต์ ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทฯ ยังเข้าลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant: VPP) และธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ในประเทศญี่ปุ่นแต่สามารถสร้างรายได้กลับมาทันทีเช่นกัน ตอกย้ำถึงการดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ Greener & Smarter โดยคำนึงถึงการสร้างผลตอบแทนและกระแสเงินสดที่มั่นคงและสม่ำเสมอ

ในปี 2562 บ้านปู เพาเวอร์ฯ มีรายได้รวม 5,687 ล้านบาท จากธุรกิจไฟฟ้าในจีน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 7 แห่ง จำนวน 755 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 40 ล้านบาท เป็นผลมาจากปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต และรายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม จำนวน 4,790 ล้านบาท นอกจากนี้ยังรับรู้รายได้จากธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) จำนวน 142 ล้านบาท และส่วนแบ่งกำไรภายใต้การลงทุนตามโครงสร้าง TK จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น

อีกจำนวน 39 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไร 3,673 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีมีการลดลงของค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment:  AP) ตามโครงสร้างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าหงสาที่หยุดเดินเครื่องเพื่อตรวจสอบอุปกรณ์หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวใน สปป.ลาว เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าหงสาทั้ง 3 หน่วยผลิตสามารถกลับมาเดินเครื่องได้อย่างเต็มประสิทธิภาพพร้อมสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่องตามปกติ

ณ ปัจจุบัน บ้านปู เพาเวอร์ฯ มีโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมด 33 แห่ง แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว 24 แห่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนา 9 โครงการ กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 2,901 เมกะวัตต์เทียบเท่า คิดเป็นกำลังผลิตที่ COD แล้ว 2,247 เมกะวัตต์เทียบเท่า สำหรับปี 2563 บริษัทฯ คาดว่าจะมีโรงไฟฟ้าที่ COD เพิ่มอีก 4 แห่ง กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 451 เมกะวัตต์เทียบเท่า ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวงในจีน โรงไฟฟ้าพลังงานลม ระยะที่ 1 ในเวียดนาม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยามางาตะ (Yamagata) และยาบูกิ (Yabuki) ในญี่ปุ่น

“สำหรับการปรับเป้าหมายขยายกำลังผลิตเพิ่มเป็น 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 แบ่งเป็นพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป 4,500 เมกะวัตต์เทียบเท่า และพลังงานหมุนเวียน 800 เมกะวัตต์ ส่วนหลังจะมาจากการเข้าถือหุ้นร้อยละ 50 ในบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด (Banpu NEXT) ที่มุ่งดำเนินธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน นั่นหมายความว่าพอร์ตธุรกิจไฟฟ้าของบ้านปู เพาเวอร์ฯ จะมีความหลากหลายขึ้นและสอดรับกับกระแสด้านพลังงานแห่งโลกอนาคตได้ดียิ่งขึ้น ในปีนี้ นอกจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ ตามแผนแล้ว บ้านปู เพาเวอร์ฯ ยังคงมองหาโอกาสในการขยายการลงทุนทั้งในประเทศที่ดำเนินธุรกิจอยู่และประเทศที่มีศักยภาพ รวมถึงมุ่งผนึกพลังร่วมกับกลุ่มบ้านปูฯ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการวางแผนและพัฒนาธุรกิจผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในสหรัฐอเมริกาและเวียดนาม พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social and Governance: ESG) ควบคู่กับการรักษาสมดุลระหว่างผลตอบแทนและกระแสเงินสดอย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มมูลค่าที่ยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสีย” นายสุธี กล่าวปิดท้าย

เกี่ยวกับบ้านปู เพาเวอร์ฯ

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครอบคลุมประเทศไทย สปป.ลาว จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา บ้านปู เพาเวอร์ฯ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ด้วยเป้าหมายขยายกำลังการผลิตให้ได้มากกว่า 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 สำหรับสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 48,808 ล้านบาท ลดลง 2,758 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561
« Last Edit: February 29, 2020, 12:41:45 PM by MSN »