กิมเอ็งเปิดแผนรุกธุรกิจปี 53 ลั่นครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ทั้งตลาดหุ้นและอนุพันธ์
บมจ. หลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเกมรุกธุรกิจครบวงจรรับปีเสือ ขอเป็นเบอร์หนึ่งในใจลูกค้า เร่งขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ชูจุดเด่นรีเสิร์ซแม่นยำฉับไวมัดใจลูกค้า หวังสู้ศึกค่าคอมพ์ขั้นบันได บุกSBLผ่านอินเทอร์เน็ตและวอร์แรนต์อนุพันธ์เพิ่มผลตอบแทนให้ผู้ลงทุน พร้อมลั่นเป็นผู้นำมาร์เก็ตแชร์ธุรกิจค้าหุ้นและTFEX
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) KEST เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2553 ว่า “ บริษัทฯ จะยังเน้นการขยายฐานนักลงทุนใน 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่มลูกค้าทั่วไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการสร้างกำไรให้บริษัทฯ มากขึ้น และกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งยังคงมีการแข่งขันสูงในตลาด
โดยจะยังคงให้ความสำคัญกับคุณภาพงานวิจัยอย่างเต็มที่ต่อไป ต่อเนื่องจากการที่บริษัทฯ ได้รับรางวัล ทีมวิจัยยอดเยี่ยม สายผู้ลงทุนรายย่อย (Best Research House) ถึง 2 ปีซ้อนติดต่อกัน รวมทั้งจะพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้ทันสมัยสะดวกรวดเร็ว ยิ่งขึ้น โดยจะมีการปรับปรุงเว็บไซต์ของบริษัทฯ ใหม่ และการรักษาความเป็นผู้นำในการให้ข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือ Pocket PC, PDA เป็นต้น ขณะเดียวกันในปีนี้จะออกใบสำคัญแสดงสิทธิ์อนุพันธ์ (Derivatives Warrants : DW) ซึ่งเป็นสินค้าใหม่
ส่วนธุรกิจด้านวาณิชธนกิจจะเน้นงานขนาดใหญ่มากขึ้น โดยอยู่ระหว่างนำหุ้นIPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯประมาณ 3- 4 ราย มูลค่าตั้งแต่ 500 -10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีงานที่ปรึกษาในการออกตราสารประเภทต่าง ๆ อีก รวมทั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอยู่ระหว่างรอจังหวะตลาดที่เหมาะสม ขณะที่การปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ (มาร์จิ้นโลน) ยังคงระมัดระวังความเสี่ยงมากขึ้น และไม่ปล่อยสินเชื่อในหุ้นเก็งกำไรซึ่งยึดถือเป็นนโยบายมาตลอด
นายมนตรี กล่าวต่อว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้เชื่อว่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการขยายธุรกิจ นอกจากนี้ การคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำอันเป็นไปตามสภาวะแวดล้อมของตลาดเงิน ตลาดทุน และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลกจะยังส่งผลดีต่อคุณภาพของสินทรัพย์ โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นปันผลจะมีมูลค่าสูงขึ้น โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ดัชนีหุ้นไทยจะมีโอกาสขึ้นไปถึง 900 จุดได้ และมีปริมาณซื้อขาย(วอลุ่ม)เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 18,000-20,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ ยังคงมีส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)นายหน้าค้าหลักทรัพย์อยู่ในอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง สำหรับสัดส่วนรายได้ปีนี้คาดว่าจะมาจากนายหน้าค้าหลักทรัพย์ประมาณ 90% วาณิชธนกิจประมาณ 5-6% ส่วนที่เหลือมาจากดอกเบี้ยและอื่นๆ ”
ด้านนางบุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจหลักทรัพย์รายย่อย บมจ. หลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ ในปีนี้บริษัทฯ จะเน้นการทำธุรกิจเชิงรุก โดยเน้นการให้บริการครอบคลุมในทุกธุรกิจ ทั้งด้านหลักทรัพย์ ตลาดอนุพันธ์ โกลด์ฟิวเจอร์ส SET50 INDEX Futures ธุรกิจยืมและให้ยืมหลักทรัพย์(SBL) ซึ่งเปิดบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้แล้ว และการออกใบสำคัญแสดงสิทธิ์อนุพันธ์ (DW) เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น
โดยบริษัทฯ จะเน้นการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น เน้นเจาะกลุ่มเฉพาะเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มสถาบันการศึกษา กลุ่มภาคธุรกิจ เป็นต้น พร้อมทั้งมีแผนจะเปิดสาขาเพิ่มอีก 1-2 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ 41 แห่ง ซึ่งเป็นสาขาในกรุงเทพฯ 23 แห่ง ต่างจังหวัด 17 แห่ง และสำนักงานใหญ่ 1 แห่ง
ภายใน 2 -3 ปีนี้จะเน้นการสร้างแบรนด์ให้ผู้ลงทุนนึกถึงกิมเอ็งเป็นอันดับแรก ทั้งในแง่ของการเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ เป็นผู้นำด้านโปรดักส์และเทคโนโลยี ด้วยบทวิจัยคุณภาพจากทีมนักวิเคราะห์นับเป็นจุดแข็งของบริษัทฯ มาโดยตลอดจนได้รับการโหวตจากนักลงทุนรายย่อยให้เป็นอันดับหนึ่งถึงสองปีซ้อน แม้ว่ายุคนี้จะเป็นยุคแห่งการแข่งขันในเรื่องข้อมูลอันรวดเร็ว บริษัทฯ มองว่าการนำเสนอข้อมูลเพื่อตัดสินใจลงทุน และการสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนให้ลูกค้าต่างหากที่จะทำให้บริษัทฯ สามารถครองใจลูกค้าได้ตลอดไป ” นางบุญพร กล่าว
ปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าของบริษัทฯ เป็นรายย่อยประมาณ 85% สถาบันต่างประเทศ 10-12% และสถาบันในประเทศ 2-5% โดยมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ประมาณ 80,000 บัญชี เป็นบัญชีที่มียอดซื้อขายสม่ำเสมอประมาณครึ่งหนึ่ง โดยยังตั้งเป้ามาร์เก็ตแชร์ของธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นอันดับ 1 อยู่ที่ประมาณ 12.5 % และตลาดอนุพันธ์(TFEX) เป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 12 %
นายโฆษิต บุญเรืองขาว รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจหลักทรัพย์รายย่อย บมจ. หลักทรัพย์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) กล่าวว่า “ แนวโน้มการให้บริการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตยังเติบโตต่อเนื่อง โดยปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าครองมาร์เก็ตแชร์ด้านอินเทอร์เน็ตเป็นอันดับ 1 ประมาณ 15% จากปีก่อนที่มีมาร์เกตแชร์อยู่ที่ 13.65% ซึ่งจะเน้นการพัฒนาระบบโปรแกรมซอฟต์แวร์เพิ่มเติม เพื่อรองรับฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เนื่องจาก บล.ต่างๆ ยังคงรักษาฐานลูกค้าเดิมอย่างเหนียวแน่น
ดังนั้นในปีนี้บริษัทฯ ได้ใช้งบลงทุนในการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถรองรับปริมาณการซื้อขายที่คาดว่าในอนาคตจะคึกคักไม่แพ้ปี 2552 ที่ผ่านมา รวมทั้งพัฒนาโปรแกรมบนเครื่องแมคอินทอช KE SMS ผ่านเครือข่ายอื่นมากขึ้น ปรับปรุงเว็บไซต์บริษัทฯ ให้ทันสมัยและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อให้รองรับกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้มากขึ้น เช่น กลุ่มเอ็กซ์คลูซีฟ เป็นต้น หวังครองใจนักลงทุนและตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขวางมากขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถพัฒนาระบบได้เสร็จทันภายในกลางปีนี้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เปิดให้บริการ SBL ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตด้วยโปรแกรม KETrade, KELiberty และบริการ IIIS (Web Trade) ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยอำนวยความสะดวก และเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนมากขึ้น ทำให้ลูกค้าหันมาสนใจในบริการ SBL มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีบล.ในระบบให้บริการธุรกิจดังกล่าวอยู่ประมาณ 4-5 ราย แต่มีน้อยรายที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตได้ โดยบริษัทฯ นับเป็นรายแรกๆ ที่เปิดบริการ SBL ผ่านอินเทอร์เน็ต ”