news on January 21, 2020, 08:39:24 AM
เชฟรอน ผนึกกำลัง สวทช. กระทรวง อว. ร่วมสร้างอนาคตแห่งทศวรรษใหม่ในงาน “Maker Faire Bangkok 2020”





ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีกระทรวง อว. และผู้บริหารหน่วยงานพันธมิตร


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีกระทรวง อว. และผู้บริหารหน่วยงานพันธมิตร ถ่ายภาพร่วมกับเหล่ายุวชนสร้างชาติ


คณะผู้บริหารหน่วยงานร่วมจัดงาน Maker ถ่ายภาพกับน้อง ๆ ผู้ชนะเลิศการประกวดโครงการ


ภาพบรรยากาศ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีกระทรวง อว. เยี่ยมชมบูธยุวชนสร้างชาติ



โครงการชุดเลี้ยงกบในขวดพลาสติกระบบรีไซเคิลน้ำ จากวิทยาลัยการอาชีพไชยา จ.สุราษฎร์ธานี คว้ารางวัลชนะเลิศสายสามัญไปครอง



โครงการอุปกรณ์เลี้ยงปลาวาไรตี้ จากโรงเรียนปลาปากวิทยา จ.นครพนม คว้ารางวัลชนะเลิศสายสมัญไปครอง


กรุงเทพฯ - บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และกลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย จัดงาน “Maker Faire Bangkok 2020: THE FUTURE WE MAKE” มหกรรมการแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์และการรวมตัวของเมกเกอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเมกเกอร์ชาวไทยและต่างประเทศร่วมแสดงผลงาน สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมหลากหลายแขนง กว่า 60 บูธ พร้อมด้วยเวิร์กช็อปอีกมากมายที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้สัมผัสวัฒนธรรมเมกเกอร์และเข้ามามีส่วนร่วมในการเนรมิตอนาคตที่ดีให้แก่ประเทศไทยและโลกใบนี้ด้วยตัวคุณเอง โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 - 19 มกราคม 2563 ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา โดยผลการประกวดโครงการ “Enjoy Science: Young Makers Contest ปี 4” ภายใต้งาน Maker Faire Bangkok 2020 ผลการพิจารณาคัดเลือกการนำเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์ สายอาชีพ ปรากฏว่า โครงการชุดเลี้ยงกบในขวดพลาสติกระบบรีไซเคิลน้ำ จากวิทยาลัยการอาชีพไชยา จ.สุราษฎร์ธานี คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง ขณะที่ใน สายสามัญ ปรากฏว่า โครงการอุปกรณ์เลี้ยงปลาวาไรตี้ จากโรงเรียนปลาปากวิทยา จ.นครพนม คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง จากหัวข้อการประกวดในเรื่อง Social Innovations นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน รับทุนการศึกษาพร้อมสิทธิ์ในการเข้าร่วมงานเมกเกอร์แฟร์ระดับโลก


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีเป้าหมายในการเตรียมความพร้อมให้กับคนไทยในการก้าวไปสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจสามารถจับต้องได้และใช้ได้จริง ซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยในปัจจุบัน โดยองค์ประกอบที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายและช่วยวางรากฐานประเทศสู่อนาคตได้นั้น  คือ การสร้างและพัฒนาคนให้เป็น Smart Citizen ซึ่งไม่ใช่เพียงทำให้เยาวชนเก่งขึ้น แต่ต้องปลูกฝังลักษณะนิสัยและความรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาสะเต็ม เพื่อให้พร้อมรับมือกับโลกในศตวรรษที่ 21 ซี่งกระทรวงฯ มีโครงการ KidBright ที่ทำให้เกิดนวัตกรรุ่นใหม่ Startup และมีการทำงานร่วมกันในหลาย ๆ ศาสตร์ อาทิ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม การตลาด การออกแบบ เป็นต้น ต่อยอด Maker Nation ไปสู่การเป็น Coding Nation และก้าวไปสู่การเป็น Smart Nation

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ “ยุวชนสร้างชาติ” ที่เพิ่งจะคิ๊กออฟไปเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล โครงการนี้มีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยอาศัยพลังของยุวชนวัยหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัย และบัณฑิตจบใหม่ มาช่วยขับเคลื่อนประเทศ ผ่าน 3 โครงการย่อย ประกอบด้วย 1.โครงการยุวชนอาสา 2.โครงการบัณฑิตอาสา และ 3.โครงการกองทุนยุววิสาหกิจเริ่มต้น ซึ่ง “ยุวชนสร้างชาติ” จะเน้นการเรียนรู้ สร้างประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน คิด-วิเคราะห์ รวมทั้งบูรณาการหลาย ๆ สาขาศาสตร์วิชาเข้าด้วยกัน เพื่อใช้นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำของชุมชน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่เป็นตัวกลางในการนำความรู้และเทคโนโลยีไปถ่ายทอดให้ชุมชนพัฒนาพื้นที่ชนบท โดยมีมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีพร้อมใช้งาน ส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์และผู้ประกอบการยุคใหม่ รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีทั้ง “ทักษะทางวิชาการ (Hard Skill) และ“ทักษะทางอารมณ์และสังคม (Soft Skill) รวมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคม และศักยภาพที่จะดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งวันนี้ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นหน่วยงานรัฐและเอกชนร่วมมือกันบูรณาการโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ซึ่งมีประโยชน์ต่อเยาวชนและประชาชนไทยในหลายมิติ เรียกได้ว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยของเราให้ก้าวไปสู่ศตวรรษที่ 21 และร่วมกันพัฒนานวัตกรรมไปสู่ Innovation Nation ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเปลี่ยนชีวิต พลิกอนาคตของประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป

โครงการยุวชนสร้างชาติถือเป็น "การลงทุนทางสังคม" ที่แม้จะไม่ใช่การลงทุนในเชิงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ หรือนโยบายทางด้านการเงินการคลัง ที่สามารถวัดประเมินผลได้ด้วยตัวชี้วัดเชิงปริมาณ แต่โครงการยุวชนสร้างชาติคือ การขับเคลื่อนองคาพยพของทุกภาคส่วนเพื่อหล่อหลอมและจรรโลงจิตสำนึกสาธารณะความเป็นพลเมืองไทยและความภูมิใจในทรัพยากรของชาติให้บังเกิดขึ้นในยุวชนรุ่นใหม่ และจะเป็นทั้งมาตรการพยุงสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางในปี 2563 ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า จะมีบัณฑิตตกงานประมาณ 5 แสนคน ด้วยการดึงบัณฑิตตกงานออกมาช่วย 5 หมื่นคน หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ ทำงาน 1 ปี ได้คนละ 15,000 บาท ถือเป็นการลดภาระให้กับสังคมและยังถือเป็นการลงทุนทางสังคมด้วย เพราะทั้งช่วยลดอัตราการว่างงานและช่วยหยิบยื่นโอกาสให้เด็กจบใหม่ได้เรียนรู้จริง โครงการนี้จึงเป็นการลงทุนทางสังคมที่จะทำให้ "คนรุ่นใหม่" เป็น "ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง" อย่างสร้างสรรค์และเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง


ด้าน นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “เชฟรอนให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศ เราจึงมุ่งส่งเสริมให้วัฒนธรรมเมกเกอร์ในประเทศไทยเติบโต โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักของการพัฒนาประเทศในอนาคต ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความสนใจในวัฒนธรรมเมกเกอร์ให้กับเยาวชน ภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เช่น การประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับเมกเกอร์เยาวชน Young Makers Contest เวิร์กช็อปนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ Enjoy Maker Space และการจัดงานเมกเกอร์แฟร์ ซึ่งได้รับความสนใจจากเมกเกอร์ และเยาวชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นงานเมกเกอร์แฟร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเชฟรอนเชื่อว่ากิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนเหล่านี้ จะมีส่วนช่วยจุดประกายความสนใจและแรงบันดาลใจในการเป็นเมกเกอร์ให้กับเยาวชน ให้พวกเขากล้าคิด และลงมือเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์สู่ผลงานจริง ตลอดจนเกิดความสนใจศึกษาในสาขาสะเต็ม อันเป็นสาขาที่มีความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในระยะยาว อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของโครงการ”


ขณะที่ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สวทช. มีหน้าที่ในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ในหลายปีที่ผ่านมา “วัฒนธรรมเมกเกอร์” มีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนในสาขาสะเต็ม (การเรียนรู้ด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) ที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำการทดลอง และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่นำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง สวทช. เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมเมกเกอร์นักสร้างสรรค์นวัตกรรม ฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของคนในชาติ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี เกิดเป็น “เมกเกอร์เนชั่น” จึงมีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และหน่วยงานพันธมิตร ผ่านทางการจัดงานเมกเกอร์แฟร์ที่เป็นส่วนหนึ่งโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับเมกเกอร์รุ่นใหม่ Enjoy Science: Young Makers Contest ระดับนักเรียน-นักศึกษา ทั้งสายสามัญและสายอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เพื่อส่งเสริมเด็กและเยาวชนในการเรียนรู้ด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ “สะเต็ม” และปลูกฝังให้เกิดการคิดสร้างสรรค์และการลงมือทำจริง โดยในปีนี้จัดการประกวดในหัวข้อ “Social Innovation: นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน” มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 400 ทีม ทีมผู้ชนะการประกวดจะได้รับรางวัลทุนการศึกษา มูลค่ารวมกว่า 1.2 ล้านบาท นอกจากยังมีกิจกรรมและพื้นที่ให้เหล่าเมกเกอร์ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ซึ่งจะเป็นการแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมกเกอร์ในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นเลิศทางด้าน วทน. และก้าวไปสู่ “Smart Nation” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปก้าวไปสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างมั่นคงต่อไป


และด้าน ดร.กฤษชัย สมสมาน หนึ่งในเมกเกอร์คนไทยผู้ร่วมผลักดันเมกเกอร์แฟร์ กล่าวเสริมว่า “งานเมกเกอร์แฟร์มีบทบาทสำคัญมากในการสนับสนุนให้คนไทยมีความกล้าที่จะลงมือทำหรือสร้างสรรค์ผลงานด้วยตัวเอง นอกจากนี้ งานเมกเกอร์แฟร์ยังถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่เมกเกอร์จากทั่วประเทศไทยและจากต่างประเทศมารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดประสบการณ์ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นคุณสมบัติของเมกเกอร์แล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้วงการเมกเกอร์มีการเติบโตอีกด้วย จากที่ผ่านมา เราได้เห็นผลกระทบที่สำคัญ คือผู้ที่เคยมาร่วมงานเมกเกอร์แฟร์ในฐานะผู้ชมจะกลายมาเป็นผู้นำเสนอผลงานภายในงานปีต่อไป แล้วช่วยกันเผยแพร่แนวคิดของตัวเองเพื่อจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าร่วมงานอยากมาเป็นเมกเกอร์กันมากยิ่งขึ้น ผมจึงอยากขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ช่วยกันสนับสนุนให้เกิดงานเมกเกอร์แฟร์ขึ้นในทุกปีมา ณ ที่นี้ด้วย”

สำหรับงาน Maker Faire Bangkok 2020 จะมีการแสดงผลงานของเมกเกอร์ชาวไทยและต่างประเทศกว่า 60 บูธ อาทิ การแข่งขันรถจิ๋ว AI การประลองหุ่นเห่ย HEBOCON ดาบอัศวินเจได หุ่นยนต์แปลงร่าง และโดรนดำน้ำ ฯลฯ และที่ขาดไม่ได้เลยคือ ขบวนอิเล็กทริคพาเหรด ที่เปรียบเสมือนไฮไลท์สำคัญประจำงาน Maker Faire Bangkok ที่จะมาสร้างบรรยากาศความสนุกสนานและแสงสีอันน่าตื่นเต้นในยามค่ำคืนแก่ผู้มาร่วมงานทุกคน พร้อมด้วยกิจกรรมเวิร์กช็อปอีกหลายรูปแบบให้เลือกเข้าร่วมได้ตามอัธยาศัย นอกจากนี้ ยังมีการประกาศผลและมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศโครงการ Young Makers Contest ปี 4 การประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียนสายสามัญและอาชีวะ ภายใต้หัวข้อ Social Innovations: นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษาและสิทธิ์ในการเข้าร่วมงานเมกเกอร์แฟร์ระดับโลกที่ต่างประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 8,000 คน และมียุวชนอาสา อว. เข้าร่วมงานมากกว่า 1,000 คน
ดูรายละเอียดและเงื่อนไขของกิจกรรมเวิร์กช็อปเพิ่มเติมได้ที่
www.makerfairebangkok.com



ภาพบรรยากาศ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีกระทรวง อว. พร้อมคณะผู้บริหารพันธมิตร เยี่ยมชมผลงานของนักเรียนที่เข้าประกวด



บรรยากาศระหว่างการพิจารณาคัดเลือกการนำเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์ของคณะกรรมการ


ภาพบรรยากาศเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมในงาน


ข้อมูลเพิ่มเติม
ผลการประกวดโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับเมกเกอร์รุ่นใหม่ Enjoy Science: Young Makers Contest ระดับนักเรียน-นักศึกษา ทั้งสายสามัญและสายอาชีวศึกษา ได้แก่
สายสามัญ

รางวัลที่ 1  อุปกรณ์เลี้ยงปลาวาไรตี้ จากโรงเรียนปลาปากวิทยา จ.สุราษฎร์ธานี
รางวัลที่ 2 เครื่องตรวจวัดโลหะตะกั่วตกค้างในน้ำดื่มด้วยขั้วไฟฟ้านาโนคาร์บอน โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน และโรงเรียนเซนต์คาเบรียล
รางวัลที่ 3 WHEELPLAY อุปกรณ์วีลแชร์เล่นเกมเพื่อผู้พิการทางขา โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร
รางวัลที่ 4 เสื้อบอกสัญญาณไฟเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน จากพลังงานการเคลื่อนไหวร่างกาย ด้วยหลักการเพียโซอิเลคทริค โรงเรียนแกน้อยศึกษา เชียงดาว จ.เชียงใหม่

สายอาชีวศึกษา
รางวัลที่ 1 ชุดเลี้ยงกบในขวดพลาสติกระบบรีไซเคิลน้ำ วิทยาลัยการอาชีพไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
รางวัลที่ 2 Crab Bank: นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี
รางวัลที่ 3 อุปกรณ์ตัดสับปะรดในไร่ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรเพื่อประโยชน์ในชุมชน วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี
รางวัลที่ 4  เครื่องขัดล้างเมล็ดในการผลิตเมล็ดพันธ์เพื่อจำหน่าย วิทยาลัยเทคนิคลำปาง จ.ลำปาง

รายละเอียดรางวัลสําหรับทีมที่ชนะการประกวด
o   รางวัลชนะเลิศ จํานวน 2 รางวัล จะได้รับรางวัลมูลค่ารวม 600,000 บาท ประกอบด้วย
– เกียรติบัตรและทุนการศึกษา มูลค่า 60,000 บาท
– ตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ค่าอาหารตลอดการเดินทาง ค่าประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ ค่าดําเนินการจัดทําวีซ่า และค่าใช้จ่ายเพื่อเข้าร่วมงาน Maker Faire ระดับโลก และทัศนศึกษาในสถานที่สําคัญๆ ณ สหรัฐอเมริกา ในปี 2563 มูลค่ารวม 660,000 บาท
o   รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จํานวน 2 รางวัล
– เกียรติบัตรและทุนการศึกษา มูลค่า 60,000 บาท
o   รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จํานวน 2 รางวัล
– เกียรติบัตรและทุนการศึกษา มูลค่า 30,000 บาท
o   รางวัล Popular Vote จํานวน 2 รางวัล
– เกียรติบัตรและทุนการศึกษา มูลค่ารางวัลละ 10,000 บาท
o   รางวัลชมเชย จํานวน 2 รางวัล
– เกียรติบัตรและทุนการศึกษา มูลค่า 10,000 บาท
« Last Edit: January 21, 2020, 08:48:21 AM by news »