happy on October 22, 2019, 06:29:32 PM
เปิดตัวหนังสือ ‘WHY SO DEMOCRACY ประชาธิปไตยมีดีอะไร?’
งานเขียนเล่มแรกจากปลายปากกาของ ไอติม – พริษฐ์ วัชรสินธุ


                    วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2562 ณ ร้านหนังสือ B2S สาขา Central World สำนักพิมพ์ บันลือบุ๊คส์ (Banlue Books) ร่วมกับร้านหนังสือ B2S จัดงาน เปิดตัวหนังสือ ‘WHY SO DEMOCRACY ประชาธิปไตยมีดีอะไร?’ หนังสือเล่มแรกในชีวิตของ ไอติม – พริษฐ์ วัชรสินธุ พร้อมชวนพูดคุยในหัวข้อ หน้าตาประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21 ดำเนินรายการโดย   พิชญาพร โพธิ์สง่า ผู้สื่อข่าว / พิธีกร สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS

                    เปิดเวทีด้วยการพูดถึงเรื่องของสถานการณ์การเมือง ประชาธิปไตยในปัจจุบันของประเทศไทย โดย ไอติม- พริษฐ์ วัชรสินธุ บอกว่า เมื่อพูดถึงประชาธิปไตยตนจะแบ่งออกเป็น 2 มิติ มิติแรกคือเรื่องของระบบหมายความว่า กฎกติกาที่ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญของประเทศไทยในปัจจุบัน มีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ ไหน มิติที่สองคือ ด้านของวัฒนธรรม หมายความว่าไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกเขียนอย่างไร ประชาชนทั่วไปในแต่ละมิติ  เข้าใจประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน เคารพความแตกต่าง เชื่อมั่น ศรัทธาในประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน ถ้าพูดถึงในระบบต้องยอมรับว่าสถานการณ์ความเป็นประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบันค่อนข้างอยู่ในสภาวะที่ถดถอย รัฐธรรมนูญ ปัจจุบัน มีหลายๆ ปัญหาที่คิดว่าสังคมเริ่มตั้งคำถาม ตั้งแต่การเลือกตั้งที่มีระบบบัตรใบเดียว ที่ทำให้คนถูกบังคับว่าต้องเลือก ส.ส.เขต กับพรรคการเมืองที่ชอบจากพรรคเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ก็มีคนตั้ง คำถามเยอะว่าทำไมได้คะเเนนน้อยแต่กับมี ส.ส.เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นรายละเอียดที่สามารถถกเถียงกันได้ ว่าควรจะเป็นบัตรใบเดียวบัตรสองใบ แต่สิ่งที่คิดว่าเป็นอุปสรรคมากที่สุดต่อระบบปัจจุบันที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยคือเรื่องของวุฒิสภา


                    เมื่อถามถึงหน้าตาประชาธิปไตยที่ควรจะอยู่ในศตวรรษที่ 21 ไอติมแสดงความคิดเห็นว่า เราอยู่ในศตวรรษที่ 21 มาสักพักแล้ว ถ้ามองว่าอนาคตประชาธิปไตยเป็นอย่างไร ตนมองในเรื่องการการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี เพราะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเร็วที่สุดในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เมื่อถามว่าเทคโนโลยีมาเปิดประตูอะไรบ้างให้กับวิวัฒนาการของประชาธิปไตย ย้อนกลับไปอดีตประชาธิปไตยเริ่มต้นจากความคิดที่ต้องเป็นระบบประชาธิปไตยโดยตรง แต่ผ่านมาสักพักเกิดปัญหาเพราะทุกคนไม่ได้มีเวลามานั่งประชุมถกเถียงกัน เช่นถ้าทุกคน 60 ล้านคนต้องไปอยู่ประชุมสภาในช่วงสองสามวันที่ผ่านเศรษฐกิจคงหยุดทันที  เพราะฉะจึงมีนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า ส.ส. เลือกคนเข้าไปทำหน้าที่แทน แต่ก็เริ่มเจอความท้าทายเพราะบางทีส.ส.ที่เลือกเข้าไปไม่ได้โหวตตรงใจ ฉะนั้นในความไม่พอใจในตัวนักการเมืองในตัว ส.ส.จึงเริ่มทำให้คนเรียกร้องประชาธิปไตยโดยตรงกลับมา ในสหราชอาณาจักร 3 ปี ที่ผ่านมามีหลายมิติมากกว่าแค่มาโหวตว่า ใช่หรือไม่ใช่ เกิดเป็นความคิดประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล (liquid democracy) ที่พยายามเอาข้อดีของทั้งสองแบบมารวมกัน สามารถแยกได้ว่าสิทธิในการโหวตเรื่องเศรษฐกิจจะโอนให้ตัวแทนคนใด สิทธิในการโหวตเรื่องสิ่งแวดล้อมจะให้ใครเป็นตัวแทน ถ้าผ่านไปสิบวันตัวแทนทำหน้าที่พอใจไม่พอใจ ก็สามารถดึงสิทธิ์กลับมาได้ ในอดีตพูดเรื่องนี้คนจะหัวเราะ แต่ปัจจุบันมีหลายประเทศในทวีปยุโรปเริ่มทดลองนวัตกรรมเหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งสิ่งที่ทำให้เป็นไปได้ ก็คือเรื่องของเทคโนโลยี และแพลตฟอร์มที่สามารถให้คนโอนสิทธิ์ไปมาได้

                    แต่เมื่อพูดถึงเรื่องเทคโนโลยี ก็จะมีเรื่องของความเหลื่อมล้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง ไอติมพูดถึงมุมนี้ว่า ในมุมหนึ่ง เทคโนโลยีก็ทำให้คนเข้าถึงอะไรหลายๆ อย่างมากขึ้น เทคโนโลยีสามารถทำให้เด็กที่อาจจะไม่ได้เรียนอยู่ในโรงเรียนที่มีคุณภาพดีสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนที่มีคุณภาพผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้ เทคโนโลยีทำให้คนที่อาจจะอยู่ในสังคมชนบทที่ไม่ได้มีโรงพยาบาลใหญ่สามารถปรึกษาแพทย์ที่อยู่ในสังคมเมืองได้ แต่ในอีกมุมนึง ถ้ามุ่งเน้นโอนบริการทุกอย่างไปอยู่บนโลกออนไลน์ก็จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า Digital divide หรือความเหลื่อมล้ำของดิจิทัล ซึ่งกลายเป็นว่าถ้าเราไม่มีตัวเลือกของคนสูงอายุที่ใช้เทคโนโลยีไม่เป็น หรือคนที่ไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานได้ มันกลับไปตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงการทำเทคโนโลยีลดความเหลื่อมล้ำ มันต้องเริ่มก่อนจากการ  วางโครงสร้างพื้นฐานให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ สามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้


                    “ศตวรรษที่21 ผมคิดว่ามันจะมีอะไรมากกว่าประชาธิปไตย อย่างที่บอกสังคมที่ก้าวหน้า ประธิปไตยต้องเป็นเหมือนออกซิเจน ต้องเป็นอะไรที่อยู่โดยไม่มีไม่ได้ และควรจะซึมซับทุกมิติของสังคม ผมคิดว่าประเทศไทยมีปัญหาหลายอย่างที่พยายามจะแก้ นอกจากประชาธิปไตย หรือความเหลื่อมล้ำ เช่นเรื่องของสิ่งแวดล้อมการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การลดมลพิษลดการผลิตคาร์บอนไดออกไซค์ ท้ายสุดผมจึงบอกว่าการพัฒนาประชาธิปไตยที่เข้มแข็งต้องควบคู่กับการหาคำตอบด้านอื่นของสังคมด้วย”

                    ในช่วงที่สองของงานเสวนาเป็นการพูดถึงความท้าทายใหม่ของการส่งต่อแรงบันดาลใจทางการเมือง ประชาธิปไตยผ่านตัวอักษรในผลงานหนังสือเล่มแรก ‘WHY SO DEMOCRACY ประชาธิปไตยมีดีอะไร?’ จากปลายปากกาของ ไอติม โดยมี นาย อาทิตย์ ธรรมชาติ บรรณาธิการสำนักพิมพ์บันลือบุ๊คส์ ผู้อยู่เบื้องหลังการทำหนังสือเล่มนี้ ร่วมพูดคุยด้วย 

                    โดย นาย อาทิตย์ ธรรมชาติ พูดถึงความแตกต่างของหนังสือ WHY SO DEMOCRACY จากหนังสือที่อธิบายเรื่องหลักประชาธิปไตยทั่วไปว่า อาจเพราะเป็นการเล่าเรื่องในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ที่ตั้งใจเล่าเรื่องเข้าใจได้ยากอย่าง การเมือง ประชาธิปไตย และอื่นๆ ให้ออกมาเข้าใจง่าย และอ่านง่าย ซึ่งในหนังสือถูกเล่าโดยมีตัวเปรียบเทียบเป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวันที่ทุกคนสามารถเห็นภาพชัด เช่น การเปรียบเทียบวิวัฒนาการประชาธิปไตยกับการพัฒนาร่างของโปเกม่อน รูปแบบการปกครองผ่านการตัดสินใจเลือกร้านอาหารของครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่ง เป็นต้น


                    “ซึ่งตรงกับจุดประสงค์ที่ทางสำนักพิมพ์ตั้งใจ เราอยากถ่ายทอดเรื่องราวของประชาธิปไตยในคนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายๆ เพราะประชาธิปไตยก็เหมือนอากาศ มีความสำคัญต่อคนหมู่มาก อยู่รอบตัวเรา แต่เราอาจมองไม่เห็นมัน ตรงนี้น่าตั้งคำถามมากว่าทำไมในเมื่อสำคัญขนาดนี้ เราจึงไม่อาจอธิบาย เห็น จับต้องมันได้ชัดเจนนัก เพราะฉะนั้นการที่มีใครสักคนสามารถอธิบายเรื่องที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับคนหมู่มากอย่างประชาธิปไตยได้ดี เห็นภาพ เข้าใจง่าย ย่อมเป็นเรื่องที่ดี และไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุคือคนนั้น”

                    ทางด้านไอติม ได้เขียนไว้ในคำนำหนังสือว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าบ้านเมืองเรามีปัญหาอีกมากมายที่ต้องได้รับการแก้ไข นอกเหนือจากการพัฒนาประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น และแบ่งแยกสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังทำลายอนาคตลูกหลานเรา หรือการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่จะสร้างความท้าทายให้โครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ ถึงแม้ประชาธิปไตยอาจช่วยให้วิธี หรือนโยบายที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ถูกหยิบยกมาทำได้โดยง่าย แต่ถ้าพรุ่งนี้เราตื่นมาและประเทศถูกเสกให้เป็นประชาธิปไตยอันสมบูรณ์แบบ ก็ใช่ว่าปัญหาเหล่านี้จะหายไปด้วยในชั่วข้ามคืน




                    ถ้าใครอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วยังรู้สึกว่าตัวเองไม่สนใจการเมือง ขอให้อย่างน้อยสนใจบ้านเมือง เพราะคำถามสำคัญคือ เราจะออกแบบอนาคตประเทศอย่างไร ในวันที่ประเทศเป็นประชาธิปไตยแล้ว หรือในวันที่ประชาธิปไตยเป็นเสมือนออกซิเจนที่ดีต่อร่างกาย อยู่เคียงข้างเราโดยอาจไม่มีการพูดถึงหรือมองไม่เห็นเป็นรูปธรรมเราจะเสียดายแค่ไหน ถ้าสักวันนึงประชาชนเป็นเจ้าของประเทศและมีอำนาจในการกำหนดอนาคตของตัวเองอย่างแท้จริงแล้ว แต่เรากลับไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาด้านอื่นหรือสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้กับตัวเองอย่างไร?

                    หนังสือเล่มนี้ไม่มีคำตอบอยู่ข้างในว่าการเมืองที่ ก้าวหน้า หน้าตาเป็นอย่างไร แต่ตนหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นก้าวแรกสำคัญที่ทำให้ทุกคนเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ประชาธิปไตย มีดีอะไร?”

สามารถซื้อหนังสือ ‘WHY SO DEMOCRACY ประชาธิปไตยมีดีอะไร?’ จำนวน 296 หน้า ราคา 355 บาท ได้แล้วที่ร้านหนังสือทั่วไป หรือสั่งทางออนไลน์ได้ที่ store.minimore.com