IOD ประกาศผลรางวัล Board of the Year ในงานใหญ่ประจำปี National Director Conference 2019
24 กรกฎาคม 2562 – สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ประกาศผลรางวัล Board of the Year ในงาน National Director Conference 2019 ทั้งรางวัล Board of the Year Awards และรางวัลใหม่ของปีนี้ ได้แก่ Visionary Board Award และ Rising Star Awards ซึ่งพิจารณาจากประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทที่ครอบคลุมทั้งในแง่ของการกำกับดูแลกิจการที่ดี การสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น และการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ
รางวัล Board of the Year เป็นรางวัลอันทรงเกียรติเพียงหนึ่งเดียวในตลาดทุนที่มอบให้กับคณะกรรมการของบริษัท จดทะเบียนไทย โดยครั้งนี้ มี 3 ประเภทรางวัล ได้แก่ Board of the Year Awards ซึ่งมีการแบ่งประเภทรางวัลตามขนาดธุรกิจใหญ่ กลาง เล็ก ตาม market capitalization ทั้งนี้รางวัลในแต่ละขนาดจะประกาศเป็น 3 อันดับ คือ Gold Silver และ Bronze และครั้งนี้ยังมีรางวัลใหม่ 2 ประเภท ได้แก่ Visionary Board Award เป็นรางวัลที่มอบให้กับคณะกรรมการบริษัทที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มุ่งผลักดันกลยุทธ์ของบริษัทไปในทิศทางที่สร้างมูลค่าในระยะยาวให้แก่บริษัท ทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรม วัฒนธรรมองค์กร และการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้บริษัทสามารถบรรลุผลสำเร็จได้ตามเป้าหมาย และ Rising Star Awards ซึ่งมอบให้กับคณะกรรมการบริษัทที่มีพัฒนาการทางด้านการกำกับดูแลกิจการอย่างโดดเด่น
“วัตถุประสงค์ของการมอบรางวัล Board of the Year คือ การสร้างพื้นที่ให้กับคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่คณะกรรมการอื่น โจทย์ที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรให้พื้นที่นี้ถูกขยายกว้างออกไป การแบ่งประเภทรางวัลตามขนาดและการเพิ่มรางวัลใหม่จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่นำมาใช้ในการตอบโจทย์ดังกล่าว” นายประสัณห์ เชื้อพานิช ประธานโครงการ Board of the Year 2018 และประธานกรรมการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยกล่าว
ในการพิจารณารางวัล Board of the Year ครั้งนี้ ได้เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ในตลาดทุน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสถาบันภายใต้ความร่วมมือกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมประกันชีวิตไทย และกลุ่มกรรมการที่เป็นสมาชิกของ IOD มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อคณะกรรมการที่สมควรผ่านเข้าสู่กระบวนการสัมภาษณ์
“การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ ในตลาดทุนในการพิจารณารางวัล เป็นอีกหนึ่งแนวทางของการสร้าง CG Impact ที่นอกจากจะทำให้คณะกรรมการที่ได้รางวัล Board of the Year ในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ได้รับการยอมรับจาก IOD เท่านั้น แต่ยังถือได้ว่าได้รับการยอมรับจากประชาคมในตลาดทุน ซึ่งจะเป็นแบบอย่างให้กับคณะกรรมการอื่น ๆ สามารถปฏิบัติตามได้ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีบทบาทในการผลักดันด้านการกำกับดูแลกิจการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป” นายเกริกไกร จีระแพทย์ ประธาน Judging Panel ของโครงการ Board of the Year 2018 กล่าว
สำหรับเกณฑ์การพิจารณารางวัลครั้งนี้ มีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ให้ครอบคลุมมิติทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึกมากยิ่งขึ้น นอกจากผู้เชี่ยวชาญด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ IOD เองแล้ว ยังมีการเชิญบริษัทที่ปรึกษาชั้นแนวหน้า ได้แก่ Bain & Company, Baker & McKenzie, Grant Thornton, Heidrick & Struggles, PwC (Thailand) ให้เข้ามาร่วมกำหนดเกณฑ์พิจารณารางวัล และมีการตรวจสอบความโปร่งใสในการพิจารณาให้รางวัลโดย EY ด้วย
นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า “ความเป็นผู้นำด้านวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ ความเสี่ยง ความหลากหลายทางด้านทักษะ ความเชี่ยวชาญ การให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ รวมถึงการสร้างและส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีในองค์กรถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของ Board of the Future ในยุคที่มี Disruption เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นการพิจารณารางวัลในครั้งนี้จึงพิจารณาคณะกรรมการที่มีคุณสมบัติดังกล่าว โดยเน้นทั้ง “ครบองค์” และ “ครบเครื่อง” กล่าวคือ มีทั้ง Form และ Substance เพื่อเชิดชูให้เป็น Board of the Year”
รางวัล Board of the Year เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการส่งเสริมให้คณะกรรมการของบริษัทต่างๆ พัฒนาการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมากขึ้น ยังคงมีอีกหลากหลายแนวทางที่สามารถใช้ในการส่งเสริมเรื่องนี้ ซึ่ง IOD จะได้ร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
เกี่ยวกับโครงการ Board of the Year
รางวัล Board of the Year ริเริ่มโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ตั้งแต่ปี 2546 โดยดำเนินการร่วมกับองค์กรต่าง ๆในตลาดทุนเป็นประจำทุก 2 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องและส่งเสริมคณะกรรมการของบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพและประสิทธิผลตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และสร้างแรงจูงใจให้คณะกรรมการบริษัทไทยทุกขนาดต้องการพัฒนาการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงทำให้ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ มีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดแรงผลักดันในการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการในวงกว้างอย่างต่อเนื่องต่อไป