MSN on July 24, 2019, 02:09:16 PM
ยันม่าร์ สาธิตโรบอทแทรกเตอร์ ที่ทำงานอัตโนมัติแบบไร้คนขับโดยใช้เทคโนโลยีนำทางความละเอียดสูงที่ก้าวล้ำ
 


กรุงเทพฯ – บริษัท ยันม่าร์ เอส.พี. จำกัด และบริษัท ยันม่าร์ อกริบิสเนส จำกัด ในเครือยันม่าร์กรุ๊ป จัดการสาธิตโรบอทแทรกเตอร์ที่ทำงานอัตโนมัติโดยไร้คนขับ ณ แปลงสาธิต อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยโรบอทแทรกเตอร์ดังกล่าวเกิดจากความสำเร็จของโครงการทดลองนำเทคโนโลยีดาวเทียมนำทางมาใช้ในเครื่องจักรกลการเกษตรในประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JICA และคณะกรรมการร่วมไทย-ญี่ปุ่น เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำเกษตรกรรม และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตรของไทยในอนาคต

ยันม่าร์เชื่อว่าการใช้หุ่นยนต์เครื่องจักรกลการเกษตรเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มผลผลิตในระยะยาว เพราะคาดว่าประเทศไทยจะมีแรงงานในภาคการเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่อง ยันม่าร์จึงได้ริเริ่มโครงการดังกล่าวขึ้นโดยนำโรบอทแทรกเตอร์ที่มีวางจำหน่ายแล้วในญี่ปุ่นเมื่อเดือนตุลาคม 2561 มาทดสอบการทำงานในประเทศไทยโดยติดตั้งเทคโนโลยีนำทางที่ทางหน่วยงานภาครัฐของไทยได้พัฒนาเครือข่ายขึ้นมาก่อนหน้านี้

นอกเหนือจากโรบอทแทรกเตอร์แล้ว ในอนาคตยันม่าร์มีแผนจะทดลองนำเทคโนโลยีดาวเทียมนำทางมาใช้ในผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ ในประเทศไทย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับลูกค้า รวมถึงลดการใช้แรงงานคนลงตามเทรนด์ในอนาคต

แทรกเตอร์ที่ใช้ในการสาธิต
โรบอทแทรกเตอร์ รุ่น YT5113

ฟีเจอร์หลักของแทรกเตอร์
1.   มีการทำงานให้เลือก 2 โหมด

ใน “โหมดอัตโนมัติ” (Auto Mode) นอกจากแทรกเตอร์สามารถวิ่งเดินหน้าแล้ว ยังสามารถถอยหลัง หยุด และเลี้ยวได้แบบอัตโนมัติได้ ส่วนใน “โหมดเดินหน้า” (Linear Mode) อย่างเดียว แทรกเตอร์สามารถวิ่งไปมาได้ด้วยตัวเอง แต่บางคำสั่งยังต้องอาศัยการบังคับด้วยคน เช่น การเลี้ยว ทั้งนี้ผู้ใช้สามารถสับเปลี่ยนการทำงานระหว่าง 2 โหมดได้ตามทักษะของคนควบคุมรถ และลักษณะงานที่ทำ



“โหมดเดินหน้า” (Linear Mode) ที่ทำงานแบบเดินหน้าอัตโนมัติ (ซ้าย)
ส่วน “โหมดอัตโนมัติ” (Auto Mode) แทรกเตอร์สามารถขับขี่ได้ด้วยตัวเอง (ขวา)


2.   ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นด้วยระบบปฏิบัติการที่เรียนรู้ด้วยตัวเองและระบบนำทางความแม่นยำสูง
โรบอทแทรกเตอร์สามารถควบคุมการปฏิบัติงานและตั้งค่าผ่านแท็บเล็ตหน้าจอ 10 นิ้วได้ ซึ่งมีความทนทานและกันฝุ่นกันน้ำเพื่อให้มั่นใจได้ในสภาพการทำงานที่สมบุกสมบัน โดยผู้ใช้ 1 คนสามารถควบคุมแทรกเตอร์จากแท็บเล็ตได้สูงสุด 2 คันพร้อมกัน จึงสามารถใช้แทรกเตอร์ไร้คนขับ 1 คัน และแทรกเตอร์ที่มีคนขับ 1 คัน ทำงานคู่กันไป แท็บเล็ตยังใช้งานง่ายโดยแสดงข้อมูลบนหน้าจอเป็นสัญลักษณ์และคำอธิบาย เช่น การตั้งขอบเขตพื้นที่ทำงาน การกำหนดเส้นทาง และการติดตามดูแทรกเตอร์ในระหว่างทำงาน




หน้าจอการทำงานและการตั้งค่าของแท็บเล็ต


3.   วางใจได้ด้วยอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยอย่างรอบด้าน
เพื่อความปลอดภัย โรบอทแทรกเตอร์ที่ทำงานได้โดยไร้คนขับจึงมีการติดตั้งเซนเซอร์จำนวนมากและสัญญาณไฟความปลอดภัยเพื่อหยุดเมื่อเข้าใกล้คนหรือสิ่งกีดกวาง นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถสั่งหยุดการทำงานฉุกเฉินได้จากแท็บเล็ตที่ใช้ควบคุมได้ 




เซนเซอร์ความปลอดภัยเพื่อตรวจจับคนและสิ่งกีดขวาง (ซ้าย) ไฟสัญญาณความปลอดภัย (ขวา)

ความเป็นมาของโครงการทดลองนำเทคโนโลยีนำทางมาใช้ในเครื่องจักรกลการเกษตรในประเทศไทยของยันม่าร์

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 รัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศว่าจะร่วมกันพัฒนา “เครือข่ายเสารับสัญญาณมาตรฐาน” ที่ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมนำทางขึ้นในประเทศไทย และได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือสานต่อเครือข่ายดังกล่าวในเดือนมิถุนายน 2560 นับแต่นั้นมาทั้งสองฝ่ายได้มีความร่วมมือกันในหลายโครงการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสังคมข้อมูลข่าวสารในไทยโดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมนำทางจากญี่ปุ่น

ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ JICA ที่เป็นหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่นได้ช่วยสนับสนุนรัฐบาลไทยด้านเทคนิกหลายด้าน และยังสนับสนุนภาคเอกชนของญี่ปุ่นในการนำเทคโนโลยีดาวเทียมนำทางมาช่วยพัฒนาประเทศไทย โดยยันม่าร์เป็นหนึ่งในภาคเอกชนของญี่ปุ่นที่นำเทคโนโลยีข้อมูลนำทางมาทดลองใช้ในโรบอทแทรกเตอร์เพื่อช่วยพัฒนาการทำเกษตรกรรมในประเทศไทย



นายชินจิ ซูเอนากะ ประธาน บริษัท ยันม่าร์ เอส.พี. จำกัด กล่าวเปิดงาน


นายชิเกมิ ฮิดากะ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนา บริษัท ยันม่าร์ อกริบิสเนส จำกัด หัวหน้าทีมวิศวกรผู้พัฒนาโรบอทแทรกเตอร์ของยันม่าร์


นายชินจิ ซูเอนากะ (ซ้าย) ประธาน บริษัท ยันม่าร์ เอส.พี. จำกัด และนายชิเกมิ ฮิดากะ (ขวา) ผู้จัดการฝ่ายพัฒนา บริษัท ยันม่าร์ อกริบิสเนส จำกัด กับโรบอทแทรกเตอร์ YT5113
« Last Edit: July 24, 2019, 02:14:15 PM by MSN »