ม.บูรพา เปิดประตูแดนตะวันออก จัดเวที "WISDOM OF THE EAST"
ผสานภูมิปัญญาและงานวิจัย สู่ผลงานเอกลักษณ์ใหม่แห่งภาคตะวันออก
กองบริหารการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดประตูสู่แดนตะวันออกครั้งใหญ่ ผ่านนิทรรศการ WISDOM OF THE EAST เวทีแสดงผลงานสร้างสรรค์ จากงานวิจัยภูมิปัญญาแห่งภาคตะวันออก จัดเต็มผลงานนวัตกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ ผ้าจกไทยวน, ผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก, กี่ไฮบริด, PRIMA Metal Clay, นวัตกรรมสิ่งทอชุมชนบ้านปึก จังหวัดชลบุรี พร้อมกางพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ด้านงานวิจัยและนวัตกรรม ผ่านเวทีการอบรมและสัมมนาเชิงวิชาการ เสริมด้วยการแสดงดนตรี และ Creative Market
รศ.ดร.จิตติมา เจริญพานิช รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย กองบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า "ดินแดนภาคตะวันออกถือเป็นพื้นที่สำคัญของประเทศไทยมาตั้งแต่อดีต ผู้คนท้องถิ่นได้สะท้อนวิถีชีวิตของพวกเขาออกมาในรูปแบบภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่ามากมาย เป็นแนวคิดให้คนรุ่นหลังได้นำมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับชุมชน โดยในปัจจุบัน กองบริหารการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในเครือข่ายภาคตะวันออก หยิบเอาผลงานนวัตกรรมท้องถิ่นมาวิจัย ต่อยอดภูมิปัญญา และยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ เกิดเป็นผลงานที่ทันสมัย แต่ยังคงกลิ่นอายอัตลักษณ์ท้องถิ่นไว้ครบถ้วน และที่สำคัญ กองบริหารการวิจัยและนวัตกรรมฯ ยังได้นำผลงานทั้งหมดมาจัดแสดงในนิทรรศการ WISDOM OF THE EAST เพื่อเป็นการแสดงเอกลักษณ์แห่งภาคตะวันออก สู่เวทีระดับประเทศ"
นิทรรศการ WISDOM OF THE EAST เป็นเวทีสำคัญในการเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ จากงานวิจัยภูมิปัญญาแห่งภาคตะวันออก โดยภายในงานจะเปิดตัวงานวิจัยนวัตกรรมหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ผ้าจกไทยวน นวัตกรรมท้องถิ่นจังหวัดราชบุรี ขยายกลุ่มงานผลิตภัณฑ์ออกแบบตกแต่งภายใน ด้วยนวัตกรรมขึ้นรูปผ้าจากแม่พิมพ์และสิ่งทอสีเขียว, นวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก, การออกแบบและพัฒนากี่ไฮบริด ต่อยอดภูมิปัญญา และยกระดับคุณภาพผ้าทอแห่งภาคตะวันออก, PRIMA Metal Clay เครื่องประดับผงโลหะขึ้นรูปด้วยมือ
และไฮไลท์ของงาน สินค้าแฟชั่นจากนวัตกรรมสิ่งทอชุมชนบ้านปึก จังหวัดชลบุรี จากความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและชุมชน ผสมผสานเทคนิคการตัดเย็บขั้นสูง แปรเปลี่ยนเป็นสินค้าแฟชั่นสำเร็จรูปที่มีความทันสมัย คงอัตลักษณ์แห่งท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างลงตัว โดยผลงานทั้งหมดจะนำเสนอผ่านแฟชั่นฟลอร์
รศ.ดร.จิตติมา เจริญพานิช กล่าวต่อว่า "การจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นเสน่ห์และเอกลักษณ์จากภูมิปัญญาภาคตะวันออกแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันและชุมชน ที่ร่วมมือกันยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้กลายเป็นผลงานระดับประเทศ ซึ่งภายในงานยังเป็นเสมือนพื้นที่สำคัญ ให้บรรดานิสิต, นักศึกษา, นักวิชาการ และผู้ที่สนใจในงานผลิตภัณฑ์ ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ด้านงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกัน ผ่านเวทีการอบรมและสัมมนาเชิงวิชาการที่จัดขึ้นตลอดทั้งงานอีกด้วย"
ตลอดระยะเวลา 2 วัน นิทรรศการ WISDOM OF THE EAST อัดแน่นไปด้วยความรู้และความบันเทิง อาทิ การอบรมกิจกรรมสร้างสรรค์, เวทีเวิร์คช้อปและสาธิตผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย, การแสดงดนตรีเวทีแสดงผลงานสร้างสรรค์จากนักวิจัยของกลุ่มมหาวิทยาลัยเครือข่ายภาคตะวันออก รวมถึง ตลาด Creative Market ของนิสิต-นักศึกษา, ผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน, วิสาหกิจชุมชน และสินค้า OTOP สุดครีเอท
"ผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากภูมิปัญญาภาคตะวันออกในงานครั้งนี้ เป็นภารกิจหนึ่งของมหาวิทยาลัยบูรพา ที่มีจุดประสงค์ในการพัฒนางานวิจัย, งานนวัตกรรม และงานสร้างสรรค์ ให้ตอบสนองความต้องการของชุมชน ภาคประชาสังคม รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม โดยภารกิจนี้ได้สร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ รวมถึงสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้จริง แน่นอนว่าผลสำเร็จในครั้งนี้จะเป็นผลงานสำคัญ ย้ำให้เรามุ่งมั่นพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดสู่เวทีใหญ่ เพื่อเผยแพร่เอกลักษณ์และสีสันแห่งแดนตะวันออก ให้เป็นที่รู้จักในสายตาโลกต่อไป" รศ.ดร.จิตติมา เจริญพานิช กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อ-สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง "กองบริหารการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา" เว็บไซต์ http://research.buu.ac.th/ และ http://www.buu.ac.th/ หรือเฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/BUUresearch/