news on March 04, 2019, 03:33:34 PM


แถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2562 (NAC2019)


สวทช. โชว์ผลงานวิจัยตอบโจทย์เศรษฐกิจแนวใหม่ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จัดเต็มในงานประชุมประจำปีครั้งใหญ่ “NAC2019”


Poster NAC2019



บรรยากาศงานแถลงข่าวการจัดงาน NAC2019


กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2562 หรือ NAC2019 อย่างยิ่งใหญ่ โชว์ศักยภาพผลงานวิจัยและพัฒนาของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร ภายใต้แนวคิด “ตอบโจทย์เศรษฐกิจแห่งอนาคตไทย ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” ชูผลงานวิจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

4 มีนาคม 2562 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี: ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ในฐานะประธานจัดงานฯ ร่วมแถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2562 (NSTDA Annual Conference: NAC2019) ที่จะจัดขึ้นวันที่ 25 - 28 มีนาคม 2562 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี


ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
กล่าวว่า สวทช. หน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ ผ่านการทำงานของ 4 ศูนย์เทคโนโลยีแห่งชาติ และสนับสนุนให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs สตาร์ทอัพ เกษตรกร และอุตสาหกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งการงานประชุมวิชาการ NAC2019 ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจแห่งอนาคตไทย ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม”  เพื่อตอบโจทย์ประเทศในการนำ วทน. มาใช้ในทุกภาคส่วน เพื่อสนองตอบยุทธศาสตร์ของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้าน วทน. เน้นการวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ พร้อมทั้งยกระดับศักยภาพของประเทศสร้างความมั่นคง ยั่งยืน

จากยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจแนวใหม่ เพื่อตอบโจทย์ประเทศโดยมีเป้าหมายยกระดับศักยภาพของประเทศไปสู่ประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ ได้แก่ 1) เศรษฐกิจชีวภาพ  (Bioeconomy) มุ่งเน้นใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และต้นทุนความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นจุดแข็งของประเทศเป็นตัวขับเคลื่อน 2) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งเน้นใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง 3) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งเน้นประหยัดพลังงาน ลดความเสี่ยงที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย ตอบสนองการพัฒนาที่ยั่งยืน 4) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Intelligent Economy) เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ โดยใช้เวลาน้อยลง 5) เศรษฐกิจร่วมใช้ประโยชน์ (Sharing Economy) เป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่ใช้พื้นฐานแนวคิดความร่วมมือและแบ่งปัน ทำให้เกิดรูปแบบสินค้าและบริการใหม่ สร้างรายได้แบบพึ่งพากัน และ 6) เศรษฐกิจผู้สูงวัย (Silver Economy) เป็นระบบที่นำความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้

“สวทช. ได้ปรับกลยุทธ์ตามนโยบายประเทศมุ่งเน้นงานวิจัยใน 10 กลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจแบบจับต้องได้และเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย 1) สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ หรือ Biochemicals ต่างๆ เช่น สารประกอบที่สำคัญในอุตสาหกรรม 2) สารสกัดที่จะนำมาใช้ทำเครื่องสำอาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารในกลุ่มสมุนไพร 3) ยาแบบใหม่ที่ใช้กระบวนการสังเคราะห์ทางชีวภาพ 4) การทำวิจัยการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision Medicine) ที่จะนำไปสู่การตั้งคลังข้อมูลพันธุกรรม การใช้เทคโนโลยีนาโนในการตรวจและรักษา รวมไปถึงการรักษาโรคแบบจำเพาะบุคคล 5) Medical devices & implants งานวิจัยที่เกี่ยวกับระบบดิจิทัลที่ใช้กับอุปกรณ์ช่วยการผ่าตัด หรือชิ้นส่วนทดแทนอวัยวะต่างๆ 6) Food & feed เป็นกลุ่มที่ศึกษา Functional ingredients ในอาหารคน อาหารสัตว์ และอาหารเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เช่น อาหารสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย รวมไปถึง Smart packaging แบบต่างๆ ที่จะทำให้อาหารสดอยู่ได้นาน เป็นต้น 7) เกษตรแม่นยำ (Precision agriculture)   8) Mobility & Logistics การศึกษาระบบโครงสร้าง การขับเคลื่อนมอเตอร์ การชาร์จไฟ ระบบควบคุมและให้สัญญาณ รวมถึงต้นแบบชิ้นส่วนรถไฟฟ้ารางเบา 9) พลังงานทั้งการพัฒนาแบตเตอรีแบบแพ็กที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงวัสดุกับระบบพลังงานทางเลือกแบบต่างๆ เช่น ไบโอดีเซล เป็นต้น และ 10) Dual-use defense เช่น การพัฒนาเครื่องแจมมอร์สำหรับโดรน และเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดหรือสารเสพติดต่างๆ เป็นต้น” ซึ่งการจัดงาน NAC2019 นี้จะมีการประชุม/สัมมนาเจาะลึกในประเด็นต่างๆ นิทรรศการการแสดงผลงานวิจัยทั้งจาก สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร NSTDA Open House  การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและหน่วยงานทดสอบมาตรฐานต่างๆ ของ สวทช. สัมผัสงานวิจัย และสร้างเสริมกระบวนการคิดด้าน วทน. เพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจแนวใหม่ สร้างขีดความสามารถด้าน วทน. ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศต่อไป


ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ในฐานะประธานจัดงาน NAC2019 กล่าวว่า งานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2562 (NAC2019) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 28 มีนาคม 2562 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดย สวทช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดการประชุมฯ และนิทรรศการในวันที่ 25 มีนาคม   2562 เวลา 09.00-12.00 น. ภายในงานจะมีการสัมมนาที่น่าสนใจจากผู้ทรงคุณวุฒิและอบรมเชิงปฏิบัติการมากกว่า 50 เรื่อง โดยมีทั้งเรื่องราวความรู้ของเศรษฐกิจแนวใหม่ที่ สวทช. ดำเนินการเพื่อตอบโจทย์ของประเทศ อาทิ แนวโน้ม โอกาสและความท้าทายของการวิจัยพัฒนาชั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อผสมผสานการวิจัยพื้นฐานร่วมกับการวิจัยประยุกต์ เพื่อสร้างแนวคิดและองค์ความรู้ที่มีศักยภาพไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน   Smart Farm นำผลงานวิจัยที่นำไปใช้จริงในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจะได้เรียนรู้ประสบการณ์จากเกษตรกรตัวจริงเสียงจริงที่ได้ใช้งาน สูตรตำรับอาหารสัตว์เพื่อนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีนาโน เช่น การปรับปรุงคุณภาพอาหารสัตว์โดยใช้กระบวนการผลิตในระดับนาโนเมตร เพื่อเพิ่มสารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ “นวัตกรรมจากไข่เพื่อการมีสุขภาพที่ดี” เน้นการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ไข่ “ระบบไซเบอร์กายภาพ กุญแจสู่ Smart Factory” เทคโนโลยีที่จะสื่อสารและทำงานร่วมกันทำให้สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาอัตโนมัติ สานพลังเทคโนโลยียางพารา สร้างอุตสาหกรรม สร้างชุมชน พร้อมเครือข่ายระดับชุมชน สหกรณ์ และอุตสาหกรรม การขอรับรองมาตรฐาน สมอ. การส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์จากผลงานนวัตกรรม สะเต็มศึกษาและวิทยาการคำนวณ : องค์ความรู้และการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เชิงรุก เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยจาก สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร ซึ่งในวันนี้มีตัวอย่างผลงานวิจัยที่นำมาแสดง ได้แก่ นวัตกรรมน้ำยาง ParaFIT: น้ำยางพาราข้นชนิดใหม่สำหรับการผลิตหมอนและที่นอนยางพารา โดยเอ็มเทค สวทช. ได้คิดค้นนวัตกรรมน้ำยาง ParaFIT (พาราฟิต) เป็นวัตถุดิบในผลิตหมอนและที่นอนยางพาราที่มีคุณภาพดีเพื่อทดแทนการใช้น้ำยางพาราข้นที่ใช้ในปัจจุบันที่มีส่วนผสมของแอมโมเนียเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำยางบูดเน่า และช่วยลดเวลาในการบ่มน้ำยางก่อนนำไปใช้งานเหลือเพียง 3 วัน (จากเดิมต้องใช้เวลาบ่มนาน 21 วัน) จึงช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ผลิตหมอนและที่นอนยางพารา อีกทั้งยังเป็นมิตรกับคนทำงาน สิ่งแวดล้อม และชุมชน อาหารปั่นผสมสำเร็จรูปสำหรับผู้ที่ต้องได้รับอาหารทางสายยาง โดย ไบโอเทค และ เอ็มเทค สวทช. ได้ร่วมมือกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลนครนายกพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตอาหารปั่นผสมสำเร็จรูปที่มีการควบคุมปริมาณสารอาหาร สะอาด เก็บไว้ได้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน สามารถไหลผ่านสายยางได้ และคุณภาพเป็นที่ยอมรับจากผู้ใช้งาน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอ ช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการเตรียมอาหารปั่นผสม ซึ่งอาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ได้และผู้ดูแลใช้งานได้สะดวกและเก็บไว้ได้นาน เวย์โปรตีนพร้อมดื่ม เก็บได้นาน มีโปรตีนสูง ในปัจจุบันเวย์โปรตีนที่มีจำหน่าย มีหลากหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบผงพร้อมชง จึงมีการพัฒนาเครื่องดื่มเวย์โปรตีนบรรจุขวดพร้อมดื่ม แต่ผลิตภัณฑ์ที่วางขายในปัจจุบันมีอายุการเก็บรักษาที่สั้นและต้องเก็บรักษาในตู้เย็น จึงเป็นที่มาขอความร่วมมือระหว่างไบโอเทค สวทช. และบริษัท ตะวันบอตต์แอนด์แคน จำกัด ในการพัฒนาเครื่องดื่มเวย์โปรตีนสูงที่สามารถทนความร้อนโดยที่ไม่จับตัวเป็นก้อน สามารถเก็บรักษาได้นานถึง 6 เดือน โดยไม่จำต้องแช่เย็น อีกทั้งยังมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ด้วยการใช้เครื่องรีทอร์ท นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นยังมีโปรตีนสูงถึง 28 – 30 กรัม ต่อ 350 มิลลิลิตร และยังได้มีการพัฒนารสชาติของเครื่องดื่มควบคู่กับการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ ทำให้ได้เวย์โปรตีนที่มีคุณสมบัติเฉพาะและยังมีรสชาติที่อร่อยอีกด้วย

ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand) เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพที่ได้ชื่อว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากแห่งหนึ่งของโลก ก่อให้เกิดการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ด้านการเกษตรและอาหาร ด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อม และด้านส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต  Kidbright chem kid: เครื่องอ่านสีสารละลายเพื่อการศึกษาทางด้านเคมี โดย เนคเทค สวทช. เครื่องอ่านสีตามความเข้มข้นของสารเคมีในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีเชิงแสงร่วมกับการเขียน Coding ผ่าน KidBright IDE ซึ่งจะอ่านค่าสีของน้ำที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีของชุดทดสอบกับสารเคมีในน้ำจากบ่อเพาะเลี้ยง ซึ่งเครื่องนี้จะช่วยแก้ปัญหาความผิดพลาดจากการอ่านค่าสีของสารเคมีในน้ำด้วยตาเปล่าที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ผลิตหรือจำหน่ายชุดทดสอบคุณภาพน้ำ หน่วยงานบริการและตรวจสอบคุณภาพน้ำ ผู้ผลิตสื่อการศึกษา และผู้ประกอบการเทคโนโลยีที่สนใจ ไฮโดรเจลกักเก็บโปรตีนสำหรับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์น้ำ โดย นาโนเทค สวทช. ได้พัฒนาสูตรอาหารเลี้ยงลูกกุ้งแบบไร้ปลาป่น โดยใช้เทคโนโลยีการกักเก็บสารสำคัญในโครงสร้างแบบเจล    มาช่วยเพิ่มความสามารถในการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและยืดอายุให้ไม่เน่าเสียเร็ว เพื่อลดปัญหาของการให้อาหารในสัตว์น้ำ เนื่องจากปัจจุบันปัญหาที่พบคือ สัตว์น้ำในวัยอนุบาลต้องการสารอาหารที่ย่อยง่าย ดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว แต่สารสำคัญหลายชนิดมีความไม่คงตัว มักจะละลายไปกับน้ำเมื่อให้อาหาร

นาโนวัคซีนดูดซึมทางเหงือกต้านโรคในปลา นาโนเทค สวทช. ร่วมกับคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนานวัตกรรมนาโนวัคซีนที่มีคุณสมบัติเกาะติดเยื่อเมือกแบบแช่เพื่อใช้ทดแทนการฉีด สำหรับการควบคุมโรคติดเชื้อในปลานิล จากการออกแบบและสังเคราะห์วัคซีนเชื้อตายจากเชื้อฟลาโวแบคทีเรียม (Flavobacterium columnare) ที่ก่อให้เกิดโรคในปลานิล ในรูปของอนุภาคนาโนที่มีคุณสมบัติในการเกาะติดเยื่อเมือก เพื่อแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลานิลที่ประสบปัญหาโรคระบาดจากเชื้อดังกล่าว ซึ่งการให้วัคซีนในปลาเป็นอีกวิธีหนึ่งเพื่อวางแผนป้องกันไม่ให้ปลาเกิดโรคและมีความจำเป็นอย่างมากในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในปัจจุบัน สารเคลือบนาโนป้องกันตะกรันบนแผงรังผึ้ง โดย นาโนเทค สวทช. และบริษัท ฮิวเทค (เอเซีย) จำกัด ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ได้พัฒนาสารเคลือบนาโนเพื่อลดการเกาะของตระกรันแคลเซียมบนแผงรังผึ้งที่ไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ดูดซับความชื้นในระบบปรับอากาศแบบประหยัดพลังงานไฟฟ้าด้วยพัดลมไอเย็น  และจากการทำงานของระบบแผงรังผึ้ง จำเป็นต้องใช้น้ำเป็นตัวหลักที่ทำให้แผงรังผึ้งมีความชื้น แต่เนื่องจากน้ำที่นำมาใช้งานส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมและปศุสัตว์นำมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น น้ำผิวดินและน้ำบาดาล มีแร่ธาตุอยู่มาก และไม่สามารถควบคุมคุณภาพน้ำได้ ดังนั้นจึงส่งผลให้เมื่อใช้แผงรังผึ้งในระยะเวลานานจะทำให้เกิดคราบขาวหรือตะกรันขึ้นบนแผงรังผึ้งได้ โดยตะกรันดังกล่าวเกิดจากสารประกอบกลุ่มเกลือแคลเซียมและแมกนีเซียมที่ละลายอยู่ในน้ำ เกิดการรวมตัวกันและตกผลึกเป็นตะกรันเกาะตามพื้นผิวถ่ายเทความร้อนบนแผงรังผึ้ง เกิดเป็นปัญหาการระบายความร้อน ส่งผลให้ประสิทธิภาพของระบบด้อยลงและสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามากกว่าปกติ รวมถึงเป็นการลดอายุการใช้งานของแผงรังผึ้งอีกด้วย และเพอร์ริคอล นวัตกรรมทดแทนยาปฏิชีวนะที่ใช้ผสมในอาหารสัตว์ (หมู/ไก่) ผลงานวิจัยของบริษัท เวทโปรดักส์ รีเซิร์ช แอนด์ อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่จัดตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดย เพอร์ริคอล เป็นผลิตภัณฑ์ที่ลดการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์ที่นำมาสู่ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่เป็นปัญหาทั้งในคนและสัตว์ มีส่วนประกอบจากธรรมชาติที่ช่วยรักษาและลดความเสียหายจากปัญหาท้องเสียที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียในสุกร นอกจากนี้ยังช่วยฟื้นฟูเซลล์ลำไส้ และการอักเสบของทางเดินอาหาร ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของสุกรและไก่

อีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจคือ เปิดบ้าน สวทช. (NSTDA Openhouse) การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและหน่วยงานทดสอบมาตรฐานต่างๆ ของ สวทช. จะได้พบกับอุปกรณ์และเครื่องมือในการวิจัยที่ทันสมัยระดับโลก โดย สวทช. และประชาคมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ร่วมเปิดบ้านต้อนรับนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม และนักลงทุนที่สนใจ ได้เยี่ยมชมเทคโนโลยีจากศักยภาพของบุคลากรวิจัยและห้องปฏิบัติการ สวทช. ตลอดจนนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ธุรกิจจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ พร้อมคำแนะนำบริการและมาตรการสนับสนุนภาคเอกชนของ สวทช. ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพและสร้างกำไรให้กับธุรกิจได้โดยไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่ www.nstda.or.th/nac หรือ โทร. 0 2564 8000
« Last Edit: March 04, 2019, 03:40:31 PM by news »

news on March 04, 2019, 03:35:10 PM
ผลงานวิจัยจาก สวทช. แสดงในงานแถลงข่าว NAC 2019  (4 มีนาคม 2562)


1. นวัตกรรมน้ำยาง ParaFIT: น้ำยางพาราข้นชนิดใหม่สำหรับการผลิตหมอนและที่นอนยางพาราโดยเฉพาะ (MTEC)
2. อาหารปั่นผสมสำเร็จรูปสำหรับผู้ที่ต้องได้รับอาหารทางสายยาง (Ready-to-use tube-feeding blenderized diets) (BIOTEC)
3. เวย์โปรตีนพร้อมดื่ม เก็บได้นาน รสชาติอร่อย มีโปรตีนสูง (BIOTEC) 
4. ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand: NBT หรือ BIOBANK) (BIOTEC)
5. Kidbright chem kid: เครื่องอ่านสีสารละลายเพื่อการศึกษาทางด้านเคมี (NECTEC)
6. ไฮโดรเจลกักเก็บโปรตีนสำหรับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์น้ำ (NANOTEC)       
7. นาโนวัคซีนดูดซึมทางเหงือกต้านโรคในปลา (Nanovaccines against fish diseases) (NANOTEC) 
8. สารเคลือบนาโนป้องกันตะกรันบนแผงรังผึ้ง (CelPad Xtreme) (NANOTEC)
9. เพอร์ริคอล (PERICOL) นวัตกรรมเพื่อทดแทนยาปฏิชีวนะที่ใช้ผสมในอาหารสัตว์ (หมู/ไก่) ของบริษัท เวท โปรดักส์ รีเซิร์ช แอนด์ อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด (ผู้เช่าอุทยานฯ)

1. นวัตกรรมน้ำยาง ParaFIT: น้ำยางพาราข้นชนิดใหม่สำหรับการผลิตหมอนและที่นอนยางพาราโดยเฉพาะ (MTEC)
เทคโนโลยีที่ใช้   
เทคโนโลยีการรักษาสภาพน้ำยาง, เทคโนโลยีการแปรรูปน้ำยางสด/น้ำยางข้น, เทคโนโลยีการวัลคาไนซ์น้ำยาง และเทคโนโลยีการผลิตโฟมยางจากน้ำยาง
การนำไปใช้ / ถ่ายทอดเทคโนโลยี / ตัวเลขผลกระทบ
น้ำยางพาราข้นเป็นวัตถุดิบหลักสำคัญที่ใช้ในการทำผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนยางพารา ทั้งนี้น้ำยางพาราข้นที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีส่วนผสมของแอมโมเนียเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำยางเกิดการบูดเน่า แต่แอมโมเนียเป็นสารเคมีที่ระเหยง่ายและมีกลิ่นฉุนรุนแรงมาก เมื่อระเหยสู่บรรยากาศจะทำให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายระบบทางเดินหายใจ กัดกร่อนโลหะ และทำให้น้ำยางพาราข้นที่อยู่ระหว่างการเก็บรักษามีสมบัติไม่คงที่ จึงเป็นปัญหาสำหรับผู้ทำผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนยางพาราที่ต้องกำจัดแอมโมเนียออกจากน้ำยางพาราข้นก่อนนำไปผลิตหมอนและที่นอน
เอ็มเทค สวทช. ได้คิดค้นนวัตกรรมน้ำยาง ParaFIT (พาราฟิต) ซึ่งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในผลิตหมอนและที่นอนยางพาราที่มีคุณภาพดีเพื่อทดแทนการใช้น้ำยางพาราข้นทางการค้า ซึ่งช่วยลดเวลาในการบ่มน้ำยางก่อนนำไปใช้งานเหลือเพียง 3 วัน (ในขณะที่น้ำยางพาราข้นทางการค้าต้องใช้เวลาบ่มนาน 21 วัน) ลดเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อน้ำยางพาราสด และประหยัดเงินลงทุนในการสร้างอุปกรณ์จัดเก็บน้ำยางพาราข้น และไม่จำเป็นต้องมีขั้นตอนกำจัดแอมโมเนียออกจากน้ำยางก่อนนำไปทำผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนยางพารา จึงช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ผลิตหมอนและที่นอนยางพารา อีกทั้งยังเป็นมิตรกับคนทำงาน สิ่งแวดล้อม และชุมชน
ในงาน NAC2019  มีผลิตภัณฑ์สินค้าเกรดเอ ราคาโดนใจ ผลิตโดยสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด (อ.ควนขนุน จ.พัทลุง) ซึ่งใช้น้ำยาง ParaFIT  ผลิตหมอนและที่นอนยางพารา โดยใช้ชื่อสินค้าว่า “หมอนและที่นอนเปี่ยมสุข”  ได้แก่ หมอนหนุนนุ่มสบาย (400 บาท) หมอนข้างเพื่อนกายคุณ (400บาท) และหมอนรองคอสุขใจ (199 บาท) รับพรีออเดอร์ที่นอนราคาลดพิเศษเฉพาะในงาน NAC2019 เท่านั้น
กลุ่มลูกค้า/ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป้าหมาย
-   อุตสาหกรรมตั้งแต่ขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยาง และอุตสาหกรรมแปรรูปโฟมยาง
-   วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มบุคคลและบุคคลทั่วไป
ความก้าวหน้า
พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี

หน่วยงานพันธมิตร
สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
ผลกระทบ
นวัตกรรมน้ำยาง ParaFIT: จะก่อให้เกิดประโยชน์ ดังนี้
1.   ช่วยสนับสนุนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำยางพาราในภาคเกษตรกร
2.   ช่วยลดเวลาในการบ่มน้ำยางก่อนนำไปใช้งานเหลือเพียง 3 วัน
3.   ไม่มีขั้นตอนการกำจัดแอมโมเนียออกจากน้ำยางก่อนนำไปทำผลิตภัณฑ์
4.   ลดเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อน้ำยางพาราสด
5.   ประหยัดเงินลงทุนในการสร้างอุปกรณ์จัดเก็บน้ำยางพาราข้น
6.   ช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ผลิตหมอนและที่นอนยางพารา
7.   กระบวนการผลิตเป็นมิตรกับคนทำงาน สิ่งแวดล้อม และชุมชน

2. อาหารปั่นผสมสำเร็จรูปสำหรับผู้ที่ต้องได้รับอาหารทางสายยาง (Ready-to-use tube-feeding blenderized diets)
อาหารปั่นผสมมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้เอง เพราะจะต้องได้รับอาหารทางสายยางทดแทน เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่ได้รับอาหารปั่นมีสุขภาพที่ดีและฟื้นตัวจากอาการเจ็บป่วยได้อย่างรวดเร็ว อาหารปั่นผสมมักรวมถึงอาหารที่ประกอบด้วยอาหาร 5 หมู่ ที่ปรุงสุก และปั่นเข้าด้วยกันจนละเอียดและสามารถไหลผ่านสายยางได้ อย่างไรก็ตาม การเตรียมอาหารปั่นผสมมีหลายขั้นตอน ใช้เวลาเตรียมนาน เมื่อเตรียมแล้วต้องใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง ผู้เตรียมอาหารปั่นผสมต้องได้รับการฝึกฝน และมีความเชี่ยวชาญในการเตรียม ไม่เช่นนั้นอาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์และปริมาณสารอาหารไม่ครบถ้วน ดังนั้น ทั้งทางโรงพยาบาลและผู้ดูแลจึงมีความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารปั่นผสมสำเร็จรูปที่มีการควบคุมสารอาหาร ใช้งานได้สะดวกและเก็บไว้ได้นาน แต่หากนำอาหารปั่นผสมที่เตรียมด้วยสูตรที่ใช้ทั่วไปตามโรงพยาบาลไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อเพื่อยืดอายุอาหารปั่น มักพบว่าองค์ประกอบในผลิตภัณฑ์จับตัวกันเป็นก้อน จึงไหลผ่านสายยางไม่ได้
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คณะนักวิจัย สวทช. โดย ไบโอเทค และ เอ็มเทค จึงได้ร่วมมือกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลนครนายก ในการพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตอาหารปั่นผสมสำเร็จรูปที่มีการควบคุมปริมาณสารอาหาร สะอาด เก็บไว้ได้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน สามารถไหลผ่านสายยางได้ และคุณภาพเป็นที่ยอมรับจากผู้ใช้งาน (caregivers)
คณะวิจัยสามารถพัฒนาจนกระทั่งได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารปั่นพร้อมใช้ บรรจุในถุงฟอยล์ในปริมาณที่เหมาะกับการให้ทางสายยาง 1 มื้อ โดยผลิตภัณฑ์นี้ให้พลังงาน 1 กิโลแคลอรี่ต่อมิลลิลิตร (kcal/mL) มีการควบคุมสารอาหารกลุ่มแมคโคร (macronutrient) ให้ได้อัตราส่วนของพลังงานระหว่างคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมัน เป็น 54:17:29 ควบคุมค่าความเข้มข้นของสารที่อยู่ในสารละลาย (osmolality) อยู่ในช่วง 300 - 320 มิลลิออสโมแลลิตี (mOsm) ซึ่งเหมาะสำหรับอาหารที่ผ่านสายยางลงสู่กระเพาะอาหารโดยตรง มีรูปแบบการปลดปล่อยน้ำตาลกลูโคสเมื่อวิเคราะห์ในหลอดทดลอง (in vitro glycemic index) คล้ายกับผลิตภัณฑ์สูตรอาหารสำเร็จรูป (commercial formula สูตร complete nutrient) มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ควบคุมสมบัติรีโอโลยีของผลิตภัณฑ์ให้มีความเหมาะสม มีความหนืดระดับเทียบเท่ากับน้ำหวาน (nectar-like) ตามมาตรฐาน National Dysphagia Diet (NDD) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งตรงกับความหนืดระดับ “mildly thick” กำหนดโดย The International Dysphagia Diet Standardization Initiative (IDDI) สามารถไหลได้ในสายยางให้อาหารขนาด 8-12 Fr ผลิตภัณฑ์สามารถเก็บไว้ได้ที่อุณหภูมิห้องได้ และได้รับการยอมรับจากผู้ใช้งานที่มีประสบการณ์เตรียมและให้อาหารปั่นทางสายยางมาก่อน โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการทดลองขยายขนาดการผลิตในระดับอุตสาหกรรม และเตรียมพร้อมสำหรับการศึกษาในเชิงคลินิก (clinical trial) ในขั้นต่อไป

3. เวย์โปรตีนพร้อมดื่ม เก็บได้นาน รสชาติอร่อย มีโปรตีนสูง (BIOTEC) 
เวย์โปรตีน เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ เนื่องจากว่าอุดมไปด้วยกรดอะมิโนจำเป็น อีกทั้งยังเป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้โปรตีนสามารถเข้าไปเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และซ่อมแซมกล้ามเนื้อที่เสียหายจากการออกกำลังกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันคนไทยหันมาให้ความสนใจรูปร่างที่สวยงามมากขึ้นทั้งผู้ชายและผู้หญิง ส่งผลให้ความต้องการของเวย์โปรตีนในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้น และมีผู้ประกอบการสนใจผลิตหรือนำเข้าเวย์โปรตีนมากขึ้น
ในปัจจุบันเวย์โปรตีนที่มีจำหน่าย มีหลากหลายรูปแบบเช่น รูปแบบผงพร้อมชง ซึ่งจะมีขั้นตอนในการเตรียมเพิ่มเติม ก่อนรับประทาน  ดังนั้นจึงมีการพัฒนาเครื่องดื่มเวย์โปรตีนบรรจุขวดพร้อมดื่ม แต่อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ที่วางขายในปัจจุบันได้มีอายุการเก็บรักษาที่สั้น และต้องเก็บรักษาในตู้เย็น ทำให้ผู้ผลิตบางรายสนใจในการพัฒนาเครื่องดื่มเวย์โปรตีนที่สามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง ได้เป็นระยะเวลานานโดยไม่ต้องแช่เย็น
เนื่องจากคุณสมบัติเฉพาะของโปรตีนคือจับตัวเป็นก้อนได้ง่ายเมื่อสัมผัสความร้อน ทำให้การผลิตเครื่องดื่มเวย์โปรตีนบรรจุขวดโดยไม่ต้องแช่เย็น ทำได้ยาก จำเป็นต้องใช้กระบวนการผลิตที่มีต้นทุนสูง ส่งผลให้ผู้ผลิตกลุ่ม SME ในไทย ยังไม่สามารถดำเนินการได้เอง
จากความร่วมมือกันระหว่างไบโอเทค สวทช. และบริษัท ตะวันบอตต์แอนด์แคน จำกัด จึงนำไปสู่การพัฒนาเครื่องดื่มเวย์โปรตีนสูง ที่สามารถทนความร้อนโดยที่ไม่จับตัวเป็นก้อน ทำให้สามารถเก็บรักษาได้นานถึง 6 เดือน โดยไม่จำเป็นต้องแช่เย็น อีกทั้งยังมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ด้วยการใช้เครื่องรีทอร์ท นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นยังมีโปรตีนสูงถึง 28 – 30 กรัม ต่อ 350 มิลลิลิตร และยังได้มีการพัฒนารสชาติของเครื่องดื่มควบคู่กับการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ ทำให้ได้เวย์โปรตีนที่มีคุณสมบัติเฉพาะและยังมีรสชาติที่อร่อยอีกด้วย
งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจาก โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)

4. ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand: NBT หรือ BIOBANK) (BIOTEC)
เทคโนโลยีที่ใช้         
- เทคโนโลยีการจัดเก็บจัดเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพแบบระยะยาว (Long-term preservation)
- เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิสารสนเทศและระบบข้อมูลดิจิทัล 
ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ หรือ NBT เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มีพันธกิจหลักในการจัดเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพแบบระยะยาว (Long-term preservation) ประกอบด้วย วัสดุชีวภาพ (Biomaterial) และข้อมูลทางชีวภาพ (Biodata) มีกระบวนการจัดเก็บที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศมาบริหารจัดการ
ดังนั้น NBT จึงเป็นแพลตฟอร์มและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio-based economy) ของประเทศให้ทัดเทียมประเทศคู่แข่งทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ทั้งนี้การใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพก่อให้เกิดการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ของประเทศ เช่น
1. ด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น การนำจุลินทรีย์มาใช้เพื่อการพัฒนากระบวนการหรือผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เช่น เอนไซม์ วัคซีน หรือ ยา เป็นต้น
2. ด้านการเกษตรและอาหาร เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืช หรือ พันธุ์สัตว์ให้มีลักษณะที่ต้องการ หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ได้แก่ อาหารเสริมโภชนาการสูง อาหารฟังก์ชั่น หรือ ส่วนผสมเพื่อใช้ประกอบอาหาร เป็นต้น
3. ด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมชุมชนให้พัฒนาคุณภาพ และศักยภาพทรัพยากรชีวภาพท้องถิ่นเพื่อการสร้างรายได้สูงให้ชุมชน หรือการพัฒนาต้นกล้าหรือต้นไม้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า
4. ด้านส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต เช่น การเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมขนาดใหญ่ (big genome data) ในการพัฒนาเครื่องมือช่วยวิเคราะห์เพื่อการแพทย์แม่นยำ การตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์เพื่อลดอัตราความเสี่ยงจากการแพ้ยา เป็นต้น
กลุ่มลูกค้า/ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป้าหมาย
-   ภาคเอกชน ทั้งอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ขนาดกลาง ไปจนถึง ขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหารหมัก อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน และอุตสาหกรรมยา เป็นต้น
-   นักวิจัย หน่วยงานวิจัยภาครัฐ หน่วยงานวิจัยภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ต่างๆ รวมไปถึง อาจารย์ นิสิต/นักศึกษา
-   กลุ่มบุคคล/บุคคลทั่วไป ที่สนใจ

news on March 04, 2019, 03:36:04 PM
5. Kidbright chem kid: เครื่องอ่านสีสารละลายเพื่อการศึกษาทางด้านเคมี (NECTEC)

KidBright เป็นบอร์ดสมองกลฝังตัวที่สามารถทำงานตามชุดคำสั่ง โดยผู้ใช้งานสามารถสร้างชุดคำสั่งผ่านโปรแกรม KidBright IDE บนคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานง่าย เพียงใช้การลากบล็อกคำสั่งมาวางต่อกัน (Drag and Drop) ช่วยลดความกังวลเรื่องการพิมพ์ชุดคำสั่งผิด ชุดคำสั่งที่ถูกสร้างดังกล่าวจะถูกส่งไปที่บอร์ด KidBright ให้ทำงานตามที่โปรแกรมไว้ เช่น รดน้ำต้นไม้ตามระดับความชื้นที่กำหนด หรือเปิด-ปิดไฟตามเวลาที่กำหนด เป็นต้น
การนำไปใช้ / ถ่ายทอดเทคโนโลยี
ChemKid :  เป็นเครื่องอ่านสีตามความเข้มข้นของสารเคมีในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีเชิงแสงร่วมกับการเขียน coding ผ่าน KidBright IDE ซึ่งจะอ่านค่าสีของน้ำที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีของชุดทดสอบกับสารเคมีในน้ำจากบ่อเพาะเลี้ยง ซึ่งเครื่องนี้จะช่วยแก้ปัญหาความผิดพลาดจากการอ่านค่าสีของสารเคมีในน้ำด้วยตาเปล่า ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนรับภาพสีจากปฏิกิริยา ส่วนโปรแกรมวิเคราะห์และประมวลผลเป็นความเข้มข้น และส่วนสื่อสารข้อมูลแบบไร้สายผ่านระบบ Bluetooth หรือ Wi-Fi
MuEye ROBOKid เป็นกล้องจุลทรรศน์ดิจิทัลขนาดเล็กที่แสดงภาพผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ สามารถปรับระยะโฟกัส หรือเลื่อนตำแหน่งของวัตถุตัวอย่างได้โดยสั่งการผ่านบอร์ด KidBright ทำให้การใช้งานกล้องจุลทรรศน์มีความสะดวกและสนุกมากขึ้น มีความสามารถดังนี้
• มีฟังก์ชั่นเลื่อนหาระยะภาพคมชัดแบบอัตโนมัติ
• ควบคุมความสว่างของแหล่งกำเนิดแสงด้วยบอร์ด KidBright
• เลื่อนตำแหน่งด้วยความละเอียดถึง 25 ไมครอน/Step ด้วยบอร์ด KidBright
• สแกนถ่ายภาพต่อเนื่องทั้งแผ่นสไลด์ เพื่อเก็บรายละเอียดในแต่ละตำแหน่ง
• สามารถกดเรียกหาตำแหน่งของวัตถุได้ ทำให้การใช้งานง่ายและสนุกมากขึ้น
• เลนส์พอลิเมอร์ ทนทานต่อเชื้อรา บรรจุในแผ่นพลาสติก เปลี่ยนกำลังขยายได้ง่าย
กลุ่มลูกค้า/ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป้าหมาย
-   ภาคเอกชน: เกษตรกรกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ผลิตหรือจำหน่ายชุดทดสอบคุณภาพน้ำ หน่วยงานบริการและตรวจสอบคุณภาพน้ำ ผุ้ผลิตสื่อการศึกษา และผู้ประกอบการเทคโนโลยี
-   กลุ่มการศึกษาและการวิจัย
-   นักวิจัย หน่วยงานวิจัยภาครัฐ หน่วยงานวิจัยภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ต่างๆ รวมไปถึง อาจารย์ นิสิต/นักศึกษา
-   กลุ่มบุคคล/บุคคลทั่วไป ที่สนใจ
ความก้าวหน้า
พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้ประกอบการ

6. ไฮโดรเจลกักเก็บโปรตีนสำหรับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์น้ำ (NANOTEC)
เทคโนโลยีที่ใช้ เทคโนโลยีการกักเก็บสารสำคัญในโครงสร้างแบบเจลเพื่อเพิ่มความสามารถในการดูดซึมสารอาหารในสัตว์น้ำ
การนำไปใช้ / ถ่ายทอดเทคโนโลยี / ตัวเลขผลกระทบ
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. พัฒนาสูตรอาหารเลี้ยงลูกกุ้งแบบไร้ปลาป่น โดยใช้เทคโนโลยีการกักเก็บสารสำคัญในโครงสร้างแบบเจล มาช่วยเพิ่มความสามารถในการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและยืดอายุให้ไม่เน่าเสียเร็ว เพื่อลดปัญหาของการให้อาหารในสัตว์น้ำ เนื่องจากปัจจุบันปัญหาที่พบคือสัตว์น้ำในวัยอนุบาลต้องการสารอาหารที่ย่อยง่าย ดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว แต่สารสำคัญหลายชนิดมีความไม่คงตัว มักจะละลายไปกับน้ำเมื่อให้อาหาร นอกจากนี้อาหารสัตว์น้ำที่เติมเอนไซม์หรือฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตมักจะไม่เสถียรในกระบวนการผลิตดั้งเดิมที่ใช้อุณหภูมิสูง เป็นเหตุให้สารอาหารสลายตัวในระหว่างการผลิต ประกอบกับนโยบายของสหภาพยุโรปที่ลดการใช้ปลามาเป็นวัตถุดิบในอาหารสัตว์ ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายมีความพยายามในการพัฒนาสูตร แต่มักติดข้อจำกัดทั้งทางด้านต้นทุน วัตถุดิบทดแทนปลา และอื่นๆ
สูตรอาหารเลี้ยงลูกกุ้งแบบไร้ปลาป่นในรูปแบบไฮโดรเจลนี้ เพิ่มความสามารถในการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและยืดอายุให้ไม่เน่าเสียเร็ว โดยไม่ใช้ปลาป่น แต่ใช้กากถั่วแทน ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของอียู อีกทั้งยังย่อยง่าย สามารถดูดซึมได้ทันที พร้อมทั้งสามารถเติมสารสำคัญอื่นและไขมันได้มากกว่าอาหารที่มีในท้องตลาดที่จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำได้ โดยเริ่มจากการปรับสูตรอาหาร โดยเลือกใช้โปรตีนและเปปไทด์ที่ย่อยง่ายมาขึ้นรูปเพื่อเก็บกักสารอาหารไว้ในโครงสร้างแบบวุ้นเพื่อไม่ให้ละลายน้ำได้ง่ายจนเกินไป และในขณะที่ลูกกุ้งอายุ 10 วัน ต้องการอาหารขนาดจิ๋ว 150-450 ไมครอน จึงได้ออกแบบระบบการผลิตใหม่ที่มีความแม่นยำสูงที่ระดับ 1 ใน 1,000 มิลลิเมตร เพื่อพัฒนาเป็นเครื่องผลิตอนุภาคไฮโดรเจลชนิดต่อเนื่องที่สามารถผลิตเม็ดไฮโดรเจลได้ในขนาดที่เล็กกว่า 1,000 ไมครอน และได้รับการพัฒนาต่อยอดมาใช้เทคโนโลยีไมโครเอ็นแคปซูเลชันพร้อมกับวัสดุเคลือบชนิดใหม่ เพื่อกักเก็บโปรตีนที่มีโมเลกุลขนาดเล็กโดยไม่มีการรั่วซึม และเพิ่มค่าการดูดซึมให้กับลูกกุ้งอีกด้วย นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วยกระบวนการผลิตใหม่สามารถเติมกรดอะมิโน เอนไซม์ ฮอร์โมน วัคซีน และโพรไบโอติกส์ ลงไปโดยไม่สลายไประหว่างกระบวนการผลิตอีกด้วย
จากการทดสอบภาคสนามในลูกกุ้ง 6 ล้านตัว เปรียบเทียบกับอาหารลูกกุ้งที่เป็นผู้นำตลาดโลก พบว่า อาหารที่พัฒนาขึ้นใหม่มีอัตราการรอดและอัตราการเจริญเติบโตสูง ใกล้เคียงกับอาหารกุ้งวัยอนุบาลที่มีขายในท้องตลาด นอกจากนี้อัตราการสิ้นเปลืองลดน้อยลงกว่า 20% เพราะเป็นอาหารเม็ดที่ไม่สลายตัวในบ่อเลี้ยง อีกทั้งดูดซึมได้เร็ว ไม่สูญเสียสารสำคัญในระหว่างการย่อยเหมือนอาหารกุ้งทั่วไป ที่สำคัญนวัตกรรมนี้ยังตอบโจทย์ Zero Fish Meal ของ EU ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งสามารถเข้าถึงตลาดในระดับโลกได้
จุดเด่นผลิตภัณฑ์อาหารกุ้งและปลาที่พัฒนาขึ้น
•   Fully EU compliant (non-fish meal formula)
•   Tailor-made design available สามารถปรับองค์ประกอบและลักษณะทางกายภาพ ให้ใช้กับสัตว์น้ำได้ทุกวัย (Post-Laval, Nursery & Grown out)
•   เน่าเสียช้า ลดการเกิดของเสีย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 
•   ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร
•   ลดข้อจำกัดของวัตถุดิบ ทำให้เลือกใช้วัตถุดิบได้หลากหลาย
•   ประสิทธิภาพ การย่อย และองค์ประกอบของโปรตีนดีกว่า
•   Better water stability
•   Better absorption in GI tract
•   ควบคุมต้นทุนได้ทำให้ราคาแข่งขันกับของในตลาดได้
•   Green-Technology
•   เศษจากการกินเหลือ จะลอยขึ้นผิวน้ำ ทำให้คุณภาพน้ำดีกว่า

กลุ่มลูกค้า/ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป้าหมาย
นวัตกรรมการพัฒนาอาหารสัตว์น้ำในรูปแบบไฮโดรเจลนี้ สามารถนำไปต่อยอดสู่อาหารอื่นๆ ได้อย่างหลากหลายในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อแก้ปัญหาความสามารถในการการกักเก็บสารสำคัญต่างๆ  และยังเป็นสามารถผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรม ถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ เข้าถึงตลาดใหม่และขายได้ในราคาที่สูงขึ้น

7. นาโนวัคซีนดูดซึมทางเหงือกต้านโรคในปลา (Nanovaccines against fish diseases) (NANOTEC) 
เทคโนโลยีที่ใช้   เทคโนโลยีระบบนำส่งยาด้วยตัวพาระดับนาโนชนิด Polymeric Nanocarriers เพื่อการพัฒนาวัคซีนที่มีคุณสมบัติเกาะติดเยื่อเมือก สำหรับใช้เป็นวัคซีนแบบแช่ (ทดแทนการฉีด) ควบคุมโรคติดเชื้อในปลานิล
การนำไปใช้ / ถ่ายทอดเทคโนโลยี / ตัวเลขผลกระทบ
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนานวัตกรรมนาโนวัคซีนที่มีคุณสมบัติเกาะติดเยื่อเมือกแบบแช่เพื่อใช้ทดแทนการฉีด สำหรับการควบคุมโรคติดเชื้อในปลานิล จากการออกแบบและสังเคราะห์วัคซีนเชื้อตายจากเชื้อฟลาโวแบคทีเรียม (Flavobacterium columnare) ที่ก่อให้เกิดโรคในปลานิล ในรูปของอนุภาคนาโนที่มีคุณสมบัติในการเกาะติดเยื่อเมือก เพื่อแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลานิลที่ประสบปัญหาโรคระบาดจากเชื้อดังกล่าว ซึ่งการให้วัคซีนในปลาเป็นอีกวิธีหนึ่งเพื่อวางแผนป้องกันไม่ให้ปลาเกิดโรคและมีความจำเป็นอย่างมากในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในปัจจุบัน
ด้วยนวัตกรรมนาโนวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมานี้ จึงสามารถให้วัคซีนปลาด้วยการแช่ในวัคซีนเป็นระยะเวลาสั้นๆ ครั้งละจำนวนมาก และยังสามารถทำได้กับปลาทุกวัย โดยจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้สำหรับป้องกันและลดความเสียหายจากโรคระบาดจากเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคในปลานิล รวมไปถึงลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคได้อีกด้วย

กลุ่มลูกค้า/ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป้าหมาย
   นวัตกรรมนาโนวัคซีนดังกล่าวเหมาะสำหรับการนำไปใช้งานในเกษตรกรและอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงปลานิล เพื่อการป้องกันและลดความเสียหายจากการติดเชื้อฟลาโวแบคทีเรียม

ความก้าวหน้า
ผลงานวิจัยและพัฒนาดังกล่าว ประสบความสำเร็จในการลดอัตราการตายของปลานิลที่มีการจำลองการระบาดของเชื้อในระดับห้องปฏิบัติการซึ่งในปัจจุบันมีการทดสอบในระดับภาคสนามและได้ยื่นขอการจดสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว

8. สารเคลือบนาโนป้องกันตะกรันบนแผงรังผึ้ง (CelPad Xtreme) (NANOTEC)
เทคโนโลยีที่ใช้
การพัฒนาสูตรสารเคลือบนาโนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการเกาะของตะกรันแคลเซียม และคงประสิทธิภาพการทำความเย็นและความแข็งแรงของแผงรังผึ้งในระดับอุตสาหกรรม
การนำไปใช้ / ถ่ายทอดเทคโนโลยี / ตัวเลขผลกระทบ
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. พัฒนาสารเคลือบเพื่อลดการเกาะของตระกรันแคลเซียมบนแผงรังผึ้ง ซึ่งทำหน้าที่ดูดซับความชื้นในระบบปรับอากาศแบบประหยัดพลังงานไฟฟ้าด้วยพัดลมไอเย็น และจากการทำงานของระบบแผงรังผึ้ง จำเป็นต้องใช้น้ำเป็นตัวหลักที่ทำให้แผงรังผึ้งมีความชื้น แต่เนื่องจากน้ำที่นำมาใช้งานส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมและปศุสัตว์นำมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น น้ำผิวดินและน้ำบาดาล มีแร่ธาตุอยู่มากและไม่สามารถควบคุมคุณภาพน้ำได้ ดังนั้นจึงส่งผลให้เมื่อใช้แผงรังผึ้งในระยะเวลานานจะทำให้เกิดคราบขาวหรือตะกรันขึ้นบนแผงรังผึ้งได้ โดยตะกรันดังกล่าวเกิดจากสารประกอบกลุ่มเกลือแคลเซียมและแมกนีเซียมที่ละลายอยู่ในน้ำ เกิดการรวมตัวกันและตกผลึกเป็นตะกรันเกาะตามพื้นผิวถ่ายเทความร้อนบนแผงรังผึ้ง เกิดเป็นปัญหาการระบายความร้อน ส่งผลให้ประสิทธิภาพของระบบด้อยลงและสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามากกว่าปกติ รวมถึงเป็นการลดอายุการใช้งานของแผงรังผึ้งอีกด้วย
จากความร่วมมือระหว่างศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช.  และบริษัท ฮิวเทค (เอเซีย) จำกัด ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) นำไปสู่การพัฒนาสูตรสารเคลือบนาโนที่ไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกระบวนการเคลือบที่สามารถประยุกต์ให้เข้ากับกระบวนการผลิตที่มีอยู่เดิมของบริษัท ฯ เพื่อเคลือบแผงรังผึ้งให้มีประสิทธิภาพลดการเกาะของตะกรัน จากผลการทดสอบภาคสนามเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่า สูตรสารเคลือบดังกล่าว สามารถคงประสิทธิภาพของการทำความเย็นและความแข็งแรงของแผงรังผึ้ง อีกทั้งยังช่วยลดการเกาะของตะกรันได้ถึง 30-40% ซึ่งเป็นการยืดอายุการใช้งานของแผงรังผึ้งให้นานขึ้นเกือบสองเท่า ลดความถี่และงบประมาณในการกำจัดตะกรัน พร้อมทั้งเป็นการช่วยประหยัดพลังงานในอีกทางหนึ่ง

กลุ่มลูกค้า/ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป้าหมาย
   สารเคลือบนาโนเพื่อลดการเกาะของตะกรันแคลเซียมบนแผงรังผึ้ง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง อาทิ อุตสาหกรรมด้านการเกษตร โรงเรือนปลูกพืช โรงเรือนปศุสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ รวมไปถึงการนำไปใช้ในระบบปรับอากาศสำหรับครัวเรือนได้อีกด้วย

9. เพอร์ริคอล (PERICOL) นวัตกรรมเพื่อทดแทนยาปฏิชีวนะที่ใช้ผสมในอาหารสัตว์ (หมู/ไก่) ของบริษัท เวท โปรดักส์ รีเซิร์ช แอนด์ อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด (ผู้เช่าอุทยานฯ)
วัตถุประสงค์
เพื่อลดการใช้ยาในอาหารสัตว์ ที่นำมาสู้ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่เป็นปัญหาทั้งในคนและสัตว์ในปัจจุบัน
รายละเอียด
เพอร์ริคอล เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากธรรมชาติที่ช่วยรักษา และลดความเสียหายจากปัญหาท้องเสียที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบในสุกร เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคปศุสัตว์ นอกจากนี้ยังช่วยฟื้นฟูเซลล์ลำไส้ และการอักเสบของทางเดินอาหาร ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของสุกรและไก่
โดยผลของเพอร์ริคอลจะเข้าไปช่วย
1.   ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะอี คอไล
2.   บำรุงและฟื้นฟูเซลล์ลำไส้ ทำให้ความยาวของวิลไลในลำไส้เล็กยาวขึ้น
3.   เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในสุกรและไก่

ความร่วมมือ
มีการพัฒนาต่อร่วมกับไบโอเทค สวทช.

news on March 04, 2019, 03:42:33 PM

นวัตกรรมน้ำยาง ParaFIT น้ำยางพาราข้นชนิดใหม่สำหรับการผลิตหมอนและที่นอนยางพาราโดยเฉพาะ (MTEC)


อาหารปั่นผสมสำเร็จรูปสำหรับผู้ที่ต้องได้รับอาหารทางสายยาง (BIOTEC)


เวย์โปรตีนพร้อมดื่ม เก็บได้นาน รสชาติอร่อย มีโปรตีนสูง (BIOTEC)


ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (BIOBANK) (BIOTEC)


Kidbright chem kid เครื่องอ่านสีสารละลายเพื่อการศึกษาทางด้านเคมี (NECTEC)


นาโนวัคซีนดูดซึมทางเหงือกต้านโรคในปลา (NANOTEC)


สารเคลือบนาโนป้องกันตะกรันบนแผงรังผึ้ง (CelPad Xtreme) (NANOTEC)


เพอร์ริคอล (PERICOL) นวัตกรรมเพื่อทดแทนยาปฏิชีวนะที่ใช้ผสมในอาหารสัตว์ (หมูไก่)