5. Kidbright chem kid: เครื่องอ่านสีสารละลายเพื่อการศึกษาทางด้านเคมี (NECTEC)
KidBright เป็นบอร์ดสมองกลฝังตัวที่สามารถทำงานตามชุดคำสั่ง โดยผู้ใช้งานสามารถสร้างชุดคำสั่งผ่านโปรแกรม KidBright IDE บนคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานง่าย เพียงใช้การลากบล็อกคำสั่งมาวางต่อกัน (Drag and Drop) ช่วยลดความกังวลเรื่องการพิมพ์ชุดคำสั่งผิด ชุดคำสั่งที่ถูกสร้างดังกล่าวจะถูกส่งไปที่บอร์ด KidBright ให้ทำงานตามที่โปรแกรมไว้ เช่น รดน้ำต้นไม้ตามระดับความชื้นที่กำหนด หรือเปิด-ปิดไฟตามเวลาที่กำหนด เป็นต้น
การนำไปใช้ / ถ่ายทอดเทคโนโลยี
ChemKid : เป็นเครื่องอ่านสีตามความเข้มข้นของสารเคมีในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีเชิงแสงร่วมกับการเขียน coding ผ่าน KidBright IDE ซึ่งจะอ่านค่าสีของน้ำที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีของชุดทดสอบกับสารเคมีในน้ำจากบ่อเพาะเลี้ยง ซึ่งเครื่องนี้จะช่วยแก้ปัญหาความผิดพลาดจากการอ่านค่าสีของสารเคมีในน้ำด้วยตาเปล่า ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนรับภาพสีจากปฏิกิริยา ส่วนโปรแกรมวิเคราะห์และประมวลผลเป็นความเข้มข้น และส่วนสื่อสารข้อมูลแบบไร้สายผ่านระบบ Bluetooth หรือ Wi-Fi
MuEye ROBOKid เป็นกล้องจุลทรรศน์ดิจิทัลขนาดเล็กที่แสดงภาพผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ สามารถปรับระยะโฟกัส หรือเลื่อนตำแหน่งของวัตถุตัวอย่างได้โดยสั่งการผ่านบอร์ด KidBright ทำให้การใช้งานกล้องจุลทรรศน์มีความสะดวกและสนุกมากขึ้น มีความสามารถดังนี้
• มีฟังก์ชั่นเลื่อนหาระยะภาพคมชัดแบบอัตโนมัติ
• ควบคุมความสว่างของแหล่งกำเนิดแสงด้วยบอร์ด KidBright
• เลื่อนตำแหน่งด้วยความละเอียดถึง 25 ไมครอน/Step ด้วยบอร์ด KidBright
• สแกนถ่ายภาพต่อเนื่องทั้งแผ่นสไลด์ เพื่อเก็บรายละเอียดในแต่ละตำแหน่ง
• สามารถกดเรียกหาตำแหน่งของวัตถุได้ ทำให้การใช้งานง่ายและสนุกมากขึ้น
• เลนส์พอลิเมอร์ ทนทานต่อเชื้อรา บรรจุในแผ่นพลาสติก เปลี่ยนกำลังขยายได้ง่าย
กลุ่มลูกค้า/ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป้าหมาย
- ภาคเอกชน: เกษตรกรกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ผลิตหรือจำหน่ายชุดทดสอบคุณภาพน้ำ หน่วยงานบริการและตรวจสอบคุณภาพน้ำ ผุ้ผลิตสื่อการศึกษา และผู้ประกอบการเทคโนโลยี
- กลุ่มการศึกษาและการวิจัย
- นักวิจัย หน่วยงานวิจัยภาครัฐ หน่วยงานวิจัยภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ต่างๆ รวมไปถึง อาจารย์ นิสิต/นักศึกษา
- กลุ่มบุคคล/บุคคลทั่วไป ที่สนใจ
ความก้าวหน้า
พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้ประกอบการ
6. ไฮโดรเจลกักเก็บโปรตีนสำหรับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์น้ำ (NANOTEC)
เทคโนโลยีที่ใช้ เทคโนโลยีการกักเก็บสารสำคัญในโครงสร้างแบบเจลเพื่อเพิ่มความสามารถในการดูดซึมสารอาหารในสัตว์น้ำ
การนำไปใช้ / ถ่ายทอดเทคโนโลยี / ตัวเลขผลกระทบ
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. พัฒนาสูตรอาหารเลี้ยงลูกกุ้งแบบไร้ปลาป่น โดยใช้เทคโนโลยีการกักเก็บสารสำคัญในโครงสร้างแบบเจล มาช่วยเพิ่มความสามารถในการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและยืดอายุให้ไม่เน่าเสียเร็ว เพื่อลดปัญหาของการให้อาหารในสัตว์น้ำ เนื่องจากปัจจุบันปัญหาที่พบคือสัตว์น้ำในวัยอนุบาลต้องการสารอาหารที่ย่อยง่าย ดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว แต่สารสำคัญหลายชนิดมีความไม่คงตัว มักจะละลายไปกับน้ำเมื่อให้อาหาร นอกจากนี้อาหารสัตว์น้ำที่เติมเอนไซม์หรือฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตมักจะไม่เสถียรในกระบวนการผลิตดั้งเดิมที่ใช้อุณหภูมิสูง เป็นเหตุให้สารอาหารสลายตัวในระหว่างการผลิต ประกอบกับนโยบายของสหภาพยุโรปที่ลดการใช้ปลามาเป็นวัตถุดิบในอาหารสัตว์ ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายมีความพยายามในการพัฒนาสูตร แต่มักติดข้อจำกัดทั้งทางด้านต้นทุน วัตถุดิบทดแทนปลา และอื่นๆ
สูตรอาหารเลี้ยงลูกกุ้งแบบไร้ปลาป่นในรูปแบบไฮโดรเจลนี้ เพิ่มความสามารถในการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและยืดอายุให้ไม่เน่าเสียเร็ว โดยไม่ใช้ปลาป่น แต่ใช้กากถั่วแทน ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของอียู อีกทั้งยังย่อยง่าย สามารถดูดซึมได้ทันที พร้อมทั้งสามารถเติมสารสำคัญอื่นและไขมันได้มากกว่าอาหารที่มีในท้องตลาดที่จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำได้ โดยเริ่มจากการปรับสูตรอาหาร โดยเลือกใช้โปรตีนและเปปไทด์ที่ย่อยง่ายมาขึ้นรูปเพื่อเก็บกักสารอาหารไว้ในโครงสร้างแบบวุ้นเพื่อไม่ให้ละลายน้ำได้ง่ายจนเกินไป และในขณะที่ลูกกุ้งอายุ 10 วัน ต้องการอาหารขนาดจิ๋ว 150-450 ไมครอน จึงได้ออกแบบระบบการผลิตใหม่ที่มีความแม่นยำสูงที่ระดับ 1 ใน 1,000 มิลลิเมตร เพื่อพัฒนาเป็นเครื่องผลิตอนุภาคไฮโดรเจลชนิดต่อเนื่องที่สามารถผลิตเม็ดไฮโดรเจลได้ในขนาดที่เล็กกว่า 1,000 ไมครอน และได้รับการพัฒนาต่อยอดมาใช้เทคโนโลยีไมโครเอ็นแคปซูเลชันพร้อมกับวัสดุเคลือบชนิดใหม่ เพื่อกักเก็บโปรตีนที่มีโมเลกุลขนาดเล็กโดยไม่มีการรั่วซึม และเพิ่มค่าการดูดซึมให้กับลูกกุ้งอีกด้วย นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วยกระบวนการผลิตใหม่สามารถเติมกรดอะมิโน เอนไซม์ ฮอร์โมน วัคซีน และโพรไบโอติกส์ ลงไปโดยไม่สลายไประหว่างกระบวนการผลิตอีกด้วย
จากการทดสอบภาคสนามในลูกกุ้ง 6 ล้านตัว เปรียบเทียบกับอาหารลูกกุ้งที่เป็นผู้นำตลาดโลก พบว่า อาหารที่พัฒนาขึ้นใหม่มีอัตราการรอดและอัตราการเจริญเติบโตสูง ใกล้เคียงกับอาหารกุ้งวัยอนุบาลที่มีขายในท้องตลาด นอกจากนี้อัตราการสิ้นเปลืองลดน้อยลงกว่า 20% เพราะเป็นอาหารเม็ดที่ไม่สลายตัวในบ่อเลี้ยง อีกทั้งดูดซึมได้เร็ว ไม่สูญเสียสารสำคัญในระหว่างการย่อยเหมือนอาหารกุ้งทั่วไป ที่สำคัญนวัตกรรมนี้ยังตอบโจทย์ Zero Fish Meal ของ EU ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งสามารถเข้าถึงตลาดในระดับโลกได้
จุดเด่นผลิตภัณฑ์อาหารกุ้งและปลาที่พัฒนาขึ้น
• Fully EU compliant (non-fish meal formula)
• Tailor-made design available สามารถปรับองค์ประกอบและลักษณะทางกายภาพ ให้ใช้กับสัตว์น้ำได้ทุกวัย (Post-Laval, Nursery & Grown out)
• เน่าเสียช้า ลดการเกิดของเสีย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
• ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร
• ลดข้อจำกัดของวัตถุดิบ ทำให้เลือกใช้วัตถุดิบได้หลากหลาย
• ประสิทธิภาพ การย่อย และองค์ประกอบของโปรตีนดีกว่า
• Better water stability
• Better absorption in GI tract
• ควบคุมต้นทุนได้ทำให้ราคาแข่งขันกับของในตลาดได้
• Green-Technology
• เศษจากการกินเหลือ จะลอยขึ้นผิวน้ำ ทำให้คุณภาพน้ำดีกว่า
กลุ่มลูกค้า/ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป้าหมาย
นวัตกรรมการพัฒนาอาหารสัตว์น้ำในรูปแบบไฮโดรเจลนี้ สามารถนำไปต่อยอดสู่อาหารอื่นๆ ได้อย่างหลากหลายในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อแก้ปัญหาความสามารถในการการกักเก็บสารสำคัญต่างๆ และยังเป็นสามารถผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรม ถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ เข้าถึงตลาดใหม่และขายได้ในราคาที่สูงขึ้น
7. นาโนวัคซีนดูดซึมทางเหงือกต้านโรคในปลา (Nanovaccines against fish diseases) (NANOTEC)
เทคโนโลยีที่ใช้ เทคโนโลยีระบบนำส่งยาด้วยตัวพาระดับนาโนชนิด Polymeric Nanocarriers เพื่อการพัฒนาวัคซีนที่มีคุณสมบัติเกาะติดเยื่อเมือก สำหรับใช้เป็นวัคซีนแบบแช่ (ทดแทนการฉีด) ควบคุมโรคติดเชื้อในปลานิล
การนำไปใช้ / ถ่ายทอดเทคโนโลยี / ตัวเลขผลกระทบ
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนานวัตกรรมนาโนวัคซีนที่มีคุณสมบัติเกาะติดเยื่อเมือกแบบแช่เพื่อใช้ทดแทนการฉีด สำหรับการควบคุมโรคติดเชื้อในปลานิล จากการออกแบบและสังเคราะห์วัคซีนเชื้อตายจากเชื้อฟลาโวแบคทีเรียม (Flavobacterium columnare) ที่ก่อให้เกิดโรคในปลานิล ในรูปของอนุภาคนาโนที่มีคุณสมบัติในการเกาะติดเยื่อเมือก เพื่อแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลานิลที่ประสบปัญหาโรคระบาดจากเชื้อดังกล่าว ซึ่งการให้วัคซีนในปลาเป็นอีกวิธีหนึ่งเพื่อวางแผนป้องกันไม่ให้ปลาเกิดโรคและมีความจำเป็นอย่างมากในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในปัจจุบัน
ด้วยนวัตกรรมนาโนวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมานี้ จึงสามารถให้วัคซีนปลาด้วยการแช่ในวัคซีนเป็นระยะเวลาสั้นๆ ครั้งละจำนวนมาก และยังสามารถทำได้กับปลาทุกวัย โดยจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้สำหรับป้องกันและลดความเสียหายจากโรคระบาดจากเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคในปลานิล รวมไปถึงลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคได้อีกด้วย
กลุ่มลูกค้า/ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป้าหมาย
นวัตกรรมนาโนวัคซีนดังกล่าวเหมาะสำหรับการนำไปใช้งานในเกษตรกรและอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงปลานิล เพื่อการป้องกันและลดความเสียหายจากการติดเชื้อฟลาโวแบคทีเรียม
ความก้าวหน้า
ผลงานวิจัยและพัฒนาดังกล่าว ประสบความสำเร็จในการลดอัตราการตายของปลานิลที่มีการจำลองการระบาดของเชื้อในระดับห้องปฏิบัติการซึ่งในปัจจุบันมีการทดสอบในระดับภาคสนามและได้ยื่นขอการจดสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว
8. สารเคลือบนาโนป้องกันตะกรันบนแผงรังผึ้ง (CelPad Xtreme) (NANOTEC)
เทคโนโลยีที่ใช้
การพัฒนาสูตรสารเคลือบนาโนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการเกาะของตะกรันแคลเซียม และคงประสิทธิภาพการทำความเย็นและความแข็งแรงของแผงรังผึ้งในระดับอุตสาหกรรม
การนำไปใช้ / ถ่ายทอดเทคโนโลยี / ตัวเลขผลกระทบ
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. พัฒนาสารเคลือบเพื่อลดการเกาะของตระกรันแคลเซียมบนแผงรังผึ้ง ซึ่งทำหน้าที่ดูดซับความชื้นในระบบปรับอากาศแบบประหยัดพลังงานไฟฟ้าด้วยพัดลมไอเย็น และจากการทำงานของระบบแผงรังผึ้ง จำเป็นต้องใช้น้ำเป็นตัวหลักที่ทำให้แผงรังผึ้งมีความชื้น แต่เนื่องจากน้ำที่นำมาใช้งานส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมและปศุสัตว์นำมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น น้ำผิวดินและน้ำบาดาล มีแร่ธาตุอยู่มากและไม่สามารถควบคุมคุณภาพน้ำได้ ดังนั้นจึงส่งผลให้เมื่อใช้แผงรังผึ้งในระยะเวลานานจะทำให้เกิดคราบขาวหรือตะกรันขึ้นบนแผงรังผึ้งได้ โดยตะกรันดังกล่าวเกิดจากสารประกอบกลุ่มเกลือแคลเซียมและแมกนีเซียมที่ละลายอยู่ในน้ำ เกิดการรวมตัวกันและตกผลึกเป็นตะกรันเกาะตามพื้นผิวถ่ายเทความร้อนบนแผงรังผึ้ง เกิดเป็นปัญหาการระบายความร้อน ส่งผลให้ประสิทธิภาพของระบบด้อยลงและสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามากกว่าปกติ รวมถึงเป็นการลดอายุการใช้งานของแผงรังผึ้งอีกด้วย
จากความร่วมมือระหว่างศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. และบริษัท ฮิวเทค (เอเซีย) จำกัด ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) นำไปสู่การพัฒนาสูตรสารเคลือบนาโนที่ไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกระบวนการเคลือบที่สามารถประยุกต์ให้เข้ากับกระบวนการผลิตที่มีอยู่เดิมของบริษัท ฯ เพื่อเคลือบแผงรังผึ้งให้มีประสิทธิภาพลดการเกาะของตะกรัน จากผลการทดสอบภาคสนามเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่า สูตรสารเคลือบดังกล่าว สามารถคงประสิทธิภาพของการทำความเย็นและความแข็งแรงของแผงรังผึ้ง อีกทั้งยังช่วยลดการเกาะของตะกรันได้ถึง 30-40% ซึ่งเป็นการยืดอายุการใช้งานของแผงรังผึ้งให้นานขึ้นเกือบสองเท่า ลดความถี่และงบประมาณในการกำจัดตะกรัน พร้อมทั้งเป็นการช่วยประหยัดพลังงานในอีกทางหนึ่ง
กลุ่มลูกค้า/ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป้าหมาย
สารเคลือบนาโนเพื่อลดการเกาะของตะกรันแคลเซียมบนแผงรังผึ้ง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง อาทิ อุตสาหกรรมด้านการเกษตร โรงเรือนปลูกพืช โรงเรือนปศุสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ รวมไปถึงการนำไปใช้ในระบบปรับอากาศสำหรับครัวเรือนได้อีกด้วย
9. เพอร์ริคอล (PERICOL) นวัตกรรมเพื่อทดแทนยาปฏิชีวนะที่ใช้ผสมในอาหารสัตว์ (หมู/ไก่) ของบริษัท เวท โปรดักส์ รีเซิร์ช แอนด์ อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด (ผู้เช่าอุทยานฯ)
วัตถุประสงค์
เพื่อลดการใช้ยาในอาหารสัตว์ ที่นำมาสู้ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่เป็นปัญหาทั้งในคนและสัตว์ในปัจจุบัน
รายละเอียด
เพอร์ริคอล เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากธรรมชาติที่ช่วยรักษา และลดความเสียหายจากปัญหาท้องเสียที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบในสุกร เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคปศุสัตว์ นอกจากนี้ยังช่วยฟื้นฟูเซลล์ลำไส้ และการอักเสบของทางเดินอาหาร ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของสุกรและไก่
โดยผลของเพอร์ริคอลจะเข้าไปช่วย
1. ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะอี คอไล
2. บำรุงและฟื้นฟูเซลล์ลำไส้ ทำให้ความยาวของวิลไลในลำไส้เล็กยาวขึ้น
3. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในสุกรและไก่
ความร่วมมือ
มีการพัฒนาต่อร่วมกับไบโอเทค สวทช.