news on February 21, 2019, 08:58:03 AM
สวทช. นำงานวิจัย เสริมแกร่งภาคใต้ในงาน “สวทช.-วิทย์สัญจร” จ.สงขลา


รองผู้ว่าฯสงขลา-ผอ.สวทช.-อธิการบดี ม.อ. ร่วมเปิดงาน สวทช.-วืทย์สัญจร


นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา


ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการผู้อำนวยการ กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ


พิธีลงนามความร่วมมือการใช้ วทน. ในการส่งเสริมเศรษฐกิจในภูมิภาค


พิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติ “วิทย์สรรค์ นวัตกรรมสร้าง ด้ามขวานไทย”


เสวนาการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตอบโจทย์และส่งเสริมเศรษฐกิจในภาคใต้


(21 กุมภาพันธ์ 2562) ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานประชุมสัมมนาและแสดงนวัตกรรม “สวทช.-วิทย์สัญจร” (ภาคใต้) จังหวัดสงขลา ภายใต้แนวคิด “วิจัยเข้มแข็ง เสริมแกร่งภูมิภาค” เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร สู่ทุกภาคส่วน ทั้งการเกษตร การศึกษา ผู้ประกอบการ SME และเอกชน เพื่อให้เกิดการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ โดยมีนายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคใต้ หัวหน้าส่วนราชการ คณาจารย์ นักเรียน นักวิจัย ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรม หอการค้า ผู้ประกอบการ เกษตรกร และประชาชน กว่า 500 คนเข้าร่วมงาน


ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
กล่าวว่า ในปี 2562 สวทช. มุ่งเน้นการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เพื่อเสริมแกร่งสร้างผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และภูมิภาคทั่วประเทศ ตามนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการดำเนินงานโครงการ Big Rock หรือโครงการที่มีผลกระทบสูงต่อประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ไปสู่ทุกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมพัฒนาศักยภาพในสาขาอาชีพต่างๆ ทั้งในส่วนวิทย์เพื่อธุรกิจ วิทย์เพื่อชุมชน และวิทย์สร้างคน สำหรับผลงานสำคัญของ สวทช. ที่ได้ดำเนินการถ่ายทอด วทน. ในพื้นที่ภาคใต้ในรอบปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย

ด้านชุมชุน สวทช. นำ วทน. ถ่ายทอดและขยายผลด้านการเกษตรในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อการบริหารจัดการข้าวแบบครบวงจร ได้แก่ พื้นที่ จ.สงขลา ร่วมกับศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาค ภาคใต้ (ศวภ.3) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้กับเกษตรกรแกนนำในพื้นที่ จ. สงขลา 11 อำเภอ 13 กลุ่ม มีเกษตรกรเข้าร่วม 700 คน ดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์ 1,000 ไร่ พื้นที่ปลูกข้าวเพื่อบริโภค 5,000 ไร่ โดยใช้สายพันธุ์ข้าวของชุมชนและคาดว่าจะได้รับผลผลิต 2,000 ตัน

พื้นที่ จ.พัทลุง (บ้านคอกวัว และบ้านโคกฉิ่ง ต.ชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง) สนับสนุนให้เกษตรกรใช้สายพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยใช้สายพันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์ (ทนน้ำท่วม) ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีร่วมกับการบริหารจัดการแปลง โดยดำเนินการจัดทำแปลงเรียนรู้ การผลิตเมล็ดพันธุ์พื้นที่ 11 ไร่ และแปลงปลูกข้าวสายพันธุ์หอมชลสิทธิ์ ในพื้นที่เกษตรกร 22 คน พื้นที่ 126 ไร่

พื้นที่ จ.ปัตตานี ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี สำนักชลประทานที่ 17 กรมชลประทาน และเกษตรกรในพื้นที่ ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี สนับสนุนใช้พันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วมฉับพลันให้กับกลุ่มเกษตรกร จำนวน 1,000 กิโลกรัม ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ใช้การจัดการแบบเกษตรแปลงใหญ่ และปลูกข้าวแบบใช้น้ำน้อย “ระบบการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง” ได้ผลผลิตเฉลี่ย 750 กิโลกรัม/ไร่ ลดต้นทุนการผลิต ปัจจุบันได้ผลิตข้าวอินทรีย์ “ข้าวเขื่อนปัตตานี” จำหน่ายใน จ.ปัตตานี และประเทศเพื่อนบ้าน

รวมถึง สวทช. ยังได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอาหารโคเนื้อ (อาหารผสมครบส่วน : TMR) ตามช่วงอายุโดยใช้วัสดุท้องถิ่น ดำเนินงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กับเกษตรกร 200 ครอบครัว โดยร่วมกับสหกรณ์มือนารอ จ.นราธิวาส และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ควบคุมและตรวจสอบคุณภาพอาหารที่ผลิตขึ้น มีการผลิตใช้ในกลุ่มโดยมีศูนย์ผลิตอยู่ที่สหกรณ์ฯ บ้านฮูแตทูวอ พร้อมติดตามผลและถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีการบริหารจัดการฟาร์มแบบครบวงจร ในเรื่องเทคโนโลยีโรงเรือนเพาะปลูกและการบริหารจัดการแบบครบวงจรในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต พร้อมจัดตั้งฐานเรียนรู้ 2 ฐานในการจัดการดิน ปุ๋ย น้ำ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ชุมชนที่สนใจ รวมถึงร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร ต.ชุมโค และ ต.ปะทิว อ.ปะทิว จ.ชุมพร ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ Smart Farm ในพื้นที่ 5 ชุมชน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้สร้างเศรษฐกิจชุมชนจากฐานชีวภาพ (BIOBANK) ซึ่ง สวทช. มีเครือข่ายพื้นที่ป่าฮาลาบาลา จ.นราธิวาส-ยะลา จัดทำฐานข้อมูลพันธุ์พืช BALA INFO ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน วทน. ด้วยการใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยพันธุ์พืชบางส่วนนำกลับคืนสู่ป่า และพันธุ์พืชบางชนิด เช่น ดาหลาขาว นำไปปลูกแซมสวนยาง สร้างอาชีพผลิตไม้ดอกจำหน่ายในท้องถิ่น และส่งออกประเทศมาเลเซีย ตลอดจนการแปรรูปผลผลิต นอกจากนี้ยังมีการขยายผลองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสู่โรงเรียนในพื้นที่เพื่อการเรียนการสอนแบบบูรณาการ รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์เพื่อเพิ่มอาหารโปรตีนให้กับชุมชน และสร้างความร่วมมือกับศูนย์รวบรวมพันธุ์พืชระดับชุมชน เครือข่ายสินธุ์แพรทอง อ. ศรีนครินทร์ จ. พัทลุง เพื่อยกระดับการผลิตพืชสมุนไพรคุณภาพสูง โดยการถ่ายทอดทอดเทคโนโลยีโรงเรือนผลิตพืชสมุนไพรมูลค่าสูง การจัดเก็บ และใช้ประโยชน์พืชสมุนไพรอย่างยั่งยืนในชุมชน การผลิตพืชสมุนไพรปลอดโรค และมาตรฐาน GMP แปรรูปผลิตภัณฑ์

ด้านผู้ประกอบการ สวทช. ให้การสนับสนุน SME ผ่านโปรแกรม ITAP หรือโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในภาคใต้ จำนวน 609 โครงการ คิดเป็น 15% ของโครงการทั่วประเทศ มีมูลค่าโครงการรวมกว่า 270 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรถึง 65% ไม้และเครื่องเรือน 16% และธุรกิจบริการและท่องเที่ยว 3% ซึ่งเน้นการพัฒนาปรับกรุงกระบวนการผลิต และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่  โดยในปี 2561 มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นกว่า 912 ล้านบาท

ด้านการพัฒนากำลังคน สวทช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช และ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการดำเนินงานโครงการที่สำคัญได้แก่ โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย ในโรงเรียน 19 แห่ง และวิทยาลัยเทคนิค 9 แห่ง โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก โดยเชฟรอน Enjoy Science และ โครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน (Coding at School Powered by KidBright) มอบสื่อการสอน KidBright ให้กับโรงเรียนในภาคใต้ทั้งหมด 200 แห่ง รวมทั้งมีการพัฒนาการเรียนการสอน ด้านสะเต็มศึกษาให้กับครูและนักเรียนในเครือข่ายรักษ์ป่าบาลา 22 โรงเรียน ตลอดจนพัฒนาทักษะด้าน 3D-Printing โดยจัดหาเครื่องพิมพ์ 3 มิติ แบบ Open Hardware มอบให้กับโรงเรียนด้อยโอกาสในภาคใต้ 6 โรงเรียน มีเยาวชนเข้าร่วมในกิจกรรมทั้งหมดมากกว่า 20,000 คน ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมา สวทช. สนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยดังกล่าว ที่ทำงานวิจัยร่วมกับนักวิจัย สวทช. และภาคอุตสาหกรรม รวม 12 ทุน

ทั้งนี้ การจัดงาน สวทช.-วิทย์สัญจร ครั้งแรกในภาคใต้ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากจังหวัดและพันธมิตรภาคการศึกษาในพื้นที่ เป็นการเปิดโอกาสให้ภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ชุมชน เกษตรกร และนักวิจัย พบปะรับทราบปัญหา แลกเปลี่ยนข้อมูล กลไกสนับสนุน ตลอดจนพัฒนาความร่วมมือด้านนวัตกรรมต่างๆ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจในภูมิภาค นอกเหนือจากนี้ ยังมีการลงนามความร่วมมือการใช้ วทน. เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในภูมิภาค ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด รวม 14 จังหวัดภาคใต้ (สงขลา พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี) พร้อมกันนี้รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้มอบรางวัล “วิทย์สรรค์ นวัตกรรมสร้าง ด้ามขวานไทย” ให้กับ นายสิทธิเทพ นราทอง กรรมการบริษัท นราทองค้าไม้และวัสดุก่อสร้าง จำกัด อ.เมือง จ.นราธิวาส ผู้ประกอบการที่เปิดรับนำองค์ความรู้ด้าน วทน. ไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองได้อย่างเหมาะสม มีผลประกอบการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นตัวอย่างผู้ประกอบการที่ใช้ วทน. นำธุรกิจให้ก้าวหน้าอย่างเข้มแข็ง มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างยั่งยืน 






บรรยากาศในงาน


ภายในงาน “สวทช.-วิทย์สัญจร” จ.สงขลา ยังมีการแสดงนวัตกรรมและนิทรรศการที่น่าสนใจ แบ่งเป็น 3 โซนคือ วิทย์เพื่อธุรกิจ วิทย์เพื่อชุมชน และวิทย์เพื่อพัฒนาคน อาทิ โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสะเต็ม (STEM) เพื่อการวิจัยและพัฒนาสำหรับภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวนับเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัย สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร ให้กับประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดทั้งในเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ หนุนให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ในพื้นที่ รวมถึงช่วยพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 อันจะเป็นกำลังสำคัญในการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในอนาคตต่อไป
« Last Edit: February 21, 2019, 03:06:16 PM by news »