มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์
มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นองค์กรเอกชนสาธารณกุศลที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประกาศกระทรวงการคลังลำดับที่ 75 เป็นมูลนิธิฯ ที่ให้ความช่วยเหลือคนพิการแห่งแรกในประเทศไทย โดยมุ่งช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาด้วยการพัฒนาความรู้ความสามารถและประสบการณ์ ที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวันโดยมิได้หวังผลตอบแทน จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2482 มีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ ดังนี้
• เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาทั้งชายหญิง โดยไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา
• เพื่อให้การศึกษาสายสามัญและการฝึกอบรมด้านอาชีพ เพื่อช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข
• เพื่อร่วมมือกับหน่วยงานราชการและองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้พิการทางสายตา
เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ มูลนิธิฯ จึงมีการบริหารและดำเนินงานด้านต่าง ๆ 5 ส่วนคือโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด ศูนย์พัฒนาอาชีพคนตาบอดและศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพราน โดยมีสำนักบริหารมูลนิธิฯ เป็นศูนย์กลางประสานงาน มูลนิธิฯ ได้รับความร่วมมือและช่วยเหลืออย่างดีจากผู้ที่เล็งเห็นคุณค่าความสำคัญในการหยิบยื่นโอกาสให้กับผู้พิการทางสายตา ทั้งในรูปแบบการบริจาคเงิน สิ่งของ และการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ นำมาซึ่งความหวังและโอกาสที่ดีแก่ผู้พิการทางสายตา เพื่อช่วยให้เกิดแสงสว่างในชีวิต
ประวัติและความเป็นมา
การก่อตั้งมูลนิธิฯ เกิดขึ้นจากแนวความคิดของ มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ สตรีตาบอดชาวอเมริกัน ที่มีความมุ่งมั่นและต้องการช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการเห็น และเห็นว่าประเทศไทยในขณะนั้นยังไม่มีองค์กรใดให้ความสนใจช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการเห็น จึงเดินทางเข้ามาในประเทศไทยและเริ่มก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ณ บ้านเช่าหลังเล็ก ถนนคอชเช่ ศาลาแดง
โดยได้ร่วมกับนักศึกษาไทยประดิษฐ์อักษรเบรลล์ภาษาไทยขึ้น ต่อมามีผู้มีจิตกุศลช่วยเหลือและสนับสนุนร่วมกันจัดตั้งมูลนิธิชื่อว่า “มูลนิธิช่วยให้การศึกษาแก่คนตาบอดในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 โดยมีวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษาแก่ผู้บกพร่องทางการเห็นตามสมควรแก่อัตภาพ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเองและอยู่ในสังคมได้อย่างคนปกติทั่วไปโดยมิต้องเสียค่าใช้จ่าย
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ จำต้องวางมือจากงานเพื่อเดินทางไปญี่ปุ่น จึงได้ติดต่อขอนักบวชคณะซาเลเซียนมาช่วยบริหารงานแทน คณะซิสเตอร์ได้เข้ามาดูแลนักเรียนด้วยความเอาใจใส่ให้กำลังใจ ทำให้เด็กๆมีกำลังใจต่อสู้อุปสรรคต่างๆ พิสูจน์ให้สังคมทั่วไปเห็นว่าพวกเขามีความสามารถในการเรียนรู้ และทำสิ่งต่างๆได้ เป็นเด็กมีระเบียบวินัย ซื่อสัตย์ และมีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ มีผู้ศรัทธาบริจาคเงินให้การสนับสนุนมากขึ้น ทำให้การศึกษาของเด็กนักเรียนผู้บกพร่องทางการเห็นเจริญก้าวหน้าและมั่นคงยิ่งขึ้น คณะซิสเตอร์ได้มอบงานคืนให้มูลนิธิฯ ในปี พ.ศ. 2535
ในปี พ.ศ. 2502 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์” โดยมีคณะกรรมการมูลนิธิฯ เป็นผู้บริหารงาน
ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ให้การสงเคราะห์ผู้บกพร่องทางการเห็น โดยตั้งอยู่ในหลักการที่ว่า การช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการเห็นนั้น มิใช่ช่วยเพียงการเริ่มต้นที่โรงเรียนเพื่อให้ได้รับการศึกษาเท่านั้น หากแต่ต้องช่วยพัฒนาศักยภาพและสร้างโอกาสทางวิชาชีพเพื่อหารายได้เลี้ยงตนเอง โดยไม่เป็นภาระแก่ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ จึงจะถือได้ว่าการดำเนินงานของมูลนิธิฯ นั้น สัมฤทธิ์ผลโดยสมบูรณ์
มูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ข้างต้นอย่างเคร่งครัดและโปร่งใสมาโดยตลอด จนได้รับคัดเลือกเป็นหน่วยงานดีเด่นของชาติประจำปี พ.ศ. 2542 จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
วิสัยทัศน์
“เป็นผู้นำในการฟื้นฟู ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพ และสมรรถภาพของผู้บกพร่องทางการเห็น ในประเทศไทย เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี”
พันธกิจ
• มุ่งส่งเสริมการเรียนการสอนด้านภาษา ดนตรี กีฬา สู่ความเป็นเลิศ
• มุ่งส่งเสริมการสอนและฝึกอบรมด้านอาชีพเพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้
• มุ่งส่งเสริมและประสานงานเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางสังคมและเศรษฐกิจแก่ชุมชน