MSN on December 19, 2018, 08:53:14 AM
เพราะชีวิตของหนูไม่ “หมู” เลย

เปิดกำแพงความคิด สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กในชุมชนแออัดในเวิร์คช็อปวาดภาพ “หมูๆ กับ ครูปาน” โดย บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)



ในภาพ: บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) จัดเวิร์คช็อปวาดภาพ “หมูๆ กับ ครูปาน” สมนึก คำนอก ศิลปินนักวาดภาพประกอบชื่อดังให้แก่น้องๆจากชุมชนกองขยะอ่อนนุช เมื่อวันก่อน

กรุงเทพฯ – 19 ธันวาคม 2561 สำหรับเด็กคนอื่นๆ ชั่วโมงศิลปะอาจเป็นเพียงหนึ่งในกิจกรรมนอกหลักสูตรเสริมทักษะ ที่ช่วยส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ แต่สำหรับเด็กๆ ในชุมชนแออัดที่เติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ชั่วโมงศิลปะ ถือเป็นช่วงเวลาพิเศษที่เปิดโอกาสให้เด็กๆได้ผ่อนคลายจากภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวัน และสนุกสนานกับการ “เป็นเด็ก” อย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS จึงร่วมมือกับมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จัดกิจกรรมเวิร์คช็อปสอนวาดภาพ “หมูๆ กับครูปาน” ให้แก่เด็กๆ โดยมี “ครูปาน” สมนึก คลังนอก ศิลปินนักวาดภาพประกอบชื่อดัง มาให้ความรู้เกี่ยวกับการวาดภาพขั้นพื้นฐาน เปิดโอกาสให้เด็กๆ สนุกสนานกับการใช้จินตนาการ กล้าคิด ไม่ปิดกั้น ที่ชุมชนกองขยะอ่อนนุช เมื่อวันก่อน


รศ. อัจจิมา เศรษฐบุตร ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (ซ้าย) และครูปาน สมนึก คลังนอก (ขวา)


รศ. อัจจิมา เศรษฐบุตรและน้องจากชุมชนกองขยะ


รศ. อัจจิมา เศรษฐบุตร ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ให้ความสำคัญในการสร้างและส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเยาวชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในกลุ่มสุ่มเสี่ยง เช่น เด็กในชุมชนแออัด เพราะเป็นกลุ่มที่มักประสบปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงโอกาสในการสนุกสนานกับการใช้ชีวิตแบบเด็กๆ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องช่วยผู้ปกครองทำมาหากิน หรือรับหน้าที่ดูแลญาติพี่น้องในบ้าน ด้วยเหตุนี้ เราจึงอยากมอบโอกาสให้เด็กเหล่านี้ ได้เรียนรู้วิธีที่จะผ่อนคลายความตึงเครียดในชีวิตประจำวันผ่านงานศิลปะ และเป็นการนำเด็กๆให้ได้มีโอกาส มาร่วมทำกิจกรรมที่สนุกสนานกับเพื่อนๆ ผ่านการจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปวาดภาพกับผู้มีความสามารถอย่าง ครูปาน สมนึก คลังนอก โครงการนี้ต่อยอดมาจากการ “โครงการวัคซีนพ่อแม่” ซึ่งทั้งหมดเป็นความพยายามของ BDMS ในการนำทางเด็กๆสู่คุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น โดยทาง BDMS จะไม่ได้หยุดแต่เพียงเท่านี้  ยังมีแผนที่จะเข้าถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง และเด็กในชุมชนแออัดทั่วประเทศไทย เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กๆในชุมชนแออัด และในพื้นที่ต่างๆ มีสิทธิที่จะได้รับโอกาสในการมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงกัน”


“ครูปาน” สมนึก คลังนอก ศิลปินนักวาดภาพประกอบชื่อดัง ให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการวาดภาพแก่น้องๆในมูลนิธิฯ

คุณครูภัคจิรา ไชยมูล หรือครูแอร์ จากมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม เสริมว่า “ศิลปะถือเป็นกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อเด็กๆ ในชุมชนแออัด เพราะศิลปะเป็นโอกาสที่เด็กๆ จะได้ผ่อนคลายจากการเรียนหนังสือและการทำงานบ้าน ที่สำคัญยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาอาการขี้อาย ไม่มีความมั่นใจ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปในกลุ่มเด็กด้อยโอกาส โดยกิจกรรมเวิร์คช็อปในวันนี้เปิดโอกาสให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ได้ปลดปล่อยจินตนาการโดยไม่มีการปิดกั้น ถือเป็นการเพิ่มความมั่นใจด้านความคิด ความรู้สึกของเด็กๆ ด้วย”


เด็กๆตื่นเต้นได้ร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปวาดภาพ หมูๆ กับ ครูปาน









บรรยากาศเวิร์คช็อปวาดภาพ หมูๆ กับ ครูปาน



ผลงานเด็กที่เข้าร่วมเวิร์คช็อปวาดภาพ หมูๆ กับ ครูปาน


“วันนี้หนูมีความสุขมากค่ะที่ได้มาวาดรูปกับครูปาน ได้ฝึกใช้จินตนาการ ได้ออกมาเจอเพื่อนๆด้วย สนุกมากค่ะ โตขึ้นหนูก็อยากจะเป็นครูอย่างครูปานบ้าง” น้องฟ้า หนึ่งในน้องๆที่มาร่วมกิจกรรมกล่าว

ครูปาน สมนึก คำนอก กล่าวว่า “ศิลปะมีพลัง เพราะนอกจากจะเป็นกิจกรรมที่ผลักดันให้เด็กๆ ใช้ความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ทำให้เด็กๆ ตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง และยังช่วยส่งเสริมความมั่นใจ เพราะศิลปะไม่มีคำว่าผิด จึงเป็นช่องทางการแสดงออกที่เปิดโอกาสให้เด็กๆกล้าแสดงออก กล้าคิด ไม่ปิดกั้น”
 
สามารถติดตามกิจกรรมของมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมในพระอุปถัมภ์ฯได้ที่ http://www.fscc.or.th/thai/children.html และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการเพื่อสังคมของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ได้ที่ http://www.bdms.co.th/th/our-community/
« Last Edit: December 20, 2018, 03:21:48 PM by MSN »