news on December 13, 2018, 03:39:15 PM

“บัน คี มูน” ร่วมเปิดตัว“สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย” รวมพลังภาคเอกชนขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน











13 ธันวาคม 2561 – นายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาติ บินตรงมาร่วมฉลองประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ของภาคเอกชน พร้อมผู้แทนเครือข่ายองค์กรธุรกิจจากทุกอุตสาหกรรมชั้นนำของไทยกว่า 500 คน ร่วมในการ
เปิดตัวอย่างเป็นทางการของ “สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย” โครงการสำคัญขององค์การสหประชาชาติ  ประกาศร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อตอกย้ำการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบตามมาตรฐานสากล ตั้งเป้าเพิ่มสมาชิกให้ครบ 100 องค์กรสิ้นปี 2562


นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “โกลบอลคอมแพ็ก เป็นโครงการสำคัญขององค์การสหประชาชาติที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งเสริมให้องค์กรทุกภาคส่วนทั่วโลกตระหนักและ ร่วมกันนำแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในแต่ละประเทศ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลัง ยกระดับมาตรฐานการทำธุรกิจอย่างมีธรรมา ภิบาลโดยเน้นแกนหลัก 4 ด้าน คือ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต องค์กรธุรกิจชั้นนำของไทยที่เล็งเห็นประโยชน์ของโครงการนี้ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกจัดตั้งเครือข่ายในประเทศไทย ”




นายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาติ ที่ให้เกียรติมาเป็นประธานในการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กในประเทศไทย กล่าวว่า “ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นผู้นำจากองค์กรชั้นนำของภาคเอกชนไทยจำนวนมากมารวมตัวกันเพื่อสร้างเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กในประเทศไทยและร่วมกันรับภาระอันยิ่งใหญ่ที่สอดคล้องกับแนวทางการทำงานขององค์การสหประชาชาติ  โลกเราในทุกวันนี้กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งนำมาซึ่งความไม่มั่นคงและความเสี่ยงหลายประการ  แต่การที่ทุกท่านหันมาร่วมมือกันเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาเช่นนี้ เราจะสามารถรับมือกับปัญหาเร่งด่วนที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งสามารถสร้างอนาคตที่ดีกว่าวันนี้ได้”

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กในประเทศไทย มีสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งจากทุกอุตสาหกรรมหลัก คือ กลุ่มเกษตรและอาหาร ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)  บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)  บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด  และบริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม ได้แก่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)  บริษัท ไทยออยล์  จำกัด (มหาชน)  บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)  บริษัท ปตท. โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)  และ กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ได้แก่  บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ได้แก่ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ได้แก่ บริษัท พินนาเคิล โฮเต็ลส์ แอนด์ รีสอร์ท จำกัด กลุ่มอุตสาหกรรมสื่อและสิ่งพิมพ์ ได้แก่ บริษัท พริ้นท์ ซิตี้ จำกัด   

“การที่องค์กรธุรกิจเอกชนจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรมรวมพลังกันเช่นนี้ ในงานเปิดตัว จะส่งผลในวงกว้าง เนื่องจากแต่ละองค์กรต่างก็มีซัพพลายเชนขนาดใหญ่ มีลูกค้า คู่ค้า และพนักงานรวมกันเป็นจำนวนมากสะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนของไทยมีความตื่นตัวเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน  และการสร้างจิตสำนึก การให้ความรู้ และการจัดกิจกรรมร่วมกัน จะก่อให้เกิดพลังที่ยิ่งใหญ่ที่เป็นหัวใจของการพัฒนา และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรม” นายศุภชัยกล่าว

การดำเนินกิจกรรมของสมาคมฯ จะเน้นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนให้ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ และขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์ภายใต้เป้าหมายหลัก 4 ด้านของโกลบอลคอมแพ็ก กิจกรรมหลักได้แก่ การจัดฝึกอบรม เกี่ยวกับความรู้ใหม่ๆ และเทรนด์ของโลกด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน การจัดสัมมนาเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ อาทิ แรงงานเด็ก การจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้องค์กรสมาชิก ได้พบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และหารือเรื่องความ ร่วมมือในการดำเนินการต่างๆ ที่จะยกระดับการทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

“จากเป้าหมายหลัก 4 ด้านเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลกนั้น ในประเทศไทยเราจะเริ่มที่ เรื่อง สิทธิมนุษยชน เนื่องจากเป็นประเด็นหลักที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ สมาคมฯ เล็งเห็นว่าเรื่องของสิทธิมนุษยชนยังมีความละเอียดอ่อนมาก และมีหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเรื่องแรงงานเด็ก แรงงานต่างชาติ แรงงานสตรี สวัสดิการ และอื่นๆ ที่หลายคนยังไม่ทราบ  จำเป็นที่เราจะต้องนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นเร่งด่วนและผลักดันให้มีการปรับปรุงอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งนอกจากสมาคมฯ จะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการเผยแพร่ความรู้และเปิดโอกาสให้สมาชิกเรียนรู้ร่วมกันผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว เรายังมุ่งหวังจะชักชวนให้องค์กรธุรกิจทั่วประเทศเข้าร่วมกับสมาคมฯ เพื่อให้เกิด
เครือข่ายที่สามารถสร้างพลังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างในสังคม โดยวางเป้าหมายที่จะเพิ่มสมาชิกให้ครบ 100 องค์กรภายในสิ้นปี 2562” นายศุภชัยกล่าว

ในการดำเนินงานปี 2562 สมาคมฯ มีภารกิจหลักในการให้ข้อมูลแก่องค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรชั้นนำ และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมฯ เพื่อให้เกิดพลังในการเปลี่ยนแปลง  ทั้งนี้ สมาคมฯ จะโรดโชว์ไปตามกลุ่อุตสาหกรรมต่างๆ และหอการค้าแต่ละจังหวัด และมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวน องค์กรสมาชิกจาก 40 ราย ในปัจจุบัน เป็น 100 รายภายในสิ้นปี 2562  ตลอดจนสนับสนุนและช่วยเหลือให้องค์กรภาคเอกชนไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกของโกลบอลคอมแพ็กขององค์การสหประชาชาติด้วย   

เกี่ยวกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand – GCNT) จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2560 ประกอบด้วย 40 องค์กรไทยชั้นนำ โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้มีความสมดุลและยั่งยืน  ภายใต้ United Nations Global Compact ของสหประชาชาติ  ซึ่งเป็นเครือข่ายของภาคเอกชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีสมาชิกกว่า 13,000 องค์กรใน 160 ประเทศทั่วโลก

ติดต่อ Global Compact Network Thailand ได้ที่ +66 81 408 8484 หรือ +66 2051 9405
www.globalcompact-th.com
pearly@globalcompact-th.com
« Last Edit: December 13, 2018, 03:47:13 PM by news »

news on December 13, 2018, 03:40:48 PM
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand – GCNT)

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand – GCNT) จัดตั้งขึ้นเมื่อ  พ.ศ. 2560 ประกอบด้วย 40 องค์กรไทยชั้นนำ โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้มีความสมดุลและยั่งยืน  ภายใต้ United Nations Global Compact ของสหประชาชาติ  ซึ่งเป็นเครือข่ายของภาคเอกชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีสมาชิกกว่า 13,000 องค์กรใน 160 ประเทศทั่วโลก

วิสัยทัศน์และพันธกิจของสมาคม (Vision/Mission)
ร่วมสร้างเศรษฐกิจโลกที่ยั่งยืนและเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ให้มีความสมดุล

พันธกิจ
1.   สนับสนุนภาคเอกชนให้ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ ทั้งด้านการวางยุทธศาสตร์และการปฏิบัติการที่สอดคล้องกับหลักสากล 10 ประการของ UN Global Compact ภายใต้แกนหลัก 4 ด้าน ได้แก่
1.1   สิทธิมนุษยชน ประกอบด้วยหลักสากล 2 ประการคือ
•   การสนับสนุนและเคารพในการปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ประกาศในระดับสากล
•   การหมั่นตรวจตราดูแลมิให้ธุรกิจของตนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน

1.2   มาตรฐานแรงงาน ประกอบด้วยหลักสากล 4 ประการคือ
•   การส่งเสริมสนับสนุนเสรีภาพในการรวมกลุ่มของแรงงานและการรับรองสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรองอย่างจริงจัง
•   การส่งเสริม สนับสนุน และหาแนวทาง เพื่อต่อต้านการใช้แรงงานเกณฑ์ และแรงงานที่ใช้การบังคับในทุกรูปแบบ
•   การส่งเสริม สนับสนุน และหาแนวทาง เพื่อต่อต้านการใช้แรงงานเด็กอย่างจริงจัง
•   การส่งเสริม สนับสนุน และหาแนวทาง เพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติในเรื่องการจ้างแรงงานและการประกอบอาชีพ

1.3   การปกป้องสิ่งแวดล้อม  ประกอบด้วยหลักสากล 3 ประการคือ
•   การสนับสนุนแนวทางการระแวดระวังในการดำเนินงานที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
•   อาสาจัดทำกิจกรรมที่ส่งเสริมการยกระดับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
•   การส่งเสริมการพัฒนาและการเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

1.4   การต่อต้านการทุจริต ประกอบด้วยหลักสากล คือ
•   การดำเนินงานเพื่อต่อต้านการทุจริตรวมทั้งการกรรโชก และการให้สินบนในทุกรูปแบบ

2.   สนับสนุนภาคเอกชนให้ดำเนินการเชิงยุทธศาสตร์ที่ช่วยผลักดันเป้าหมายของสังคมในวงกว้าง
อาทิ เป้าหมายสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน (UN Sustainable Development Goals) โดยมุ่งเน้นที่การสร้างภาคีความร่วมมือและการพัฒนานวัตกรรม

วัตถุประสงค์ (Objectives)
1.   ส่งเสริมความรู้และการนำหลักสากล 10 ประการของ UN Global Compact และเป้าหมายการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของสหประชาชาติไปปฏิบัติภายในประเทศ รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง การหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น การส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ และการส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้เสียหลักและรองเข้ามาร่วมมือกันด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
2.   ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมตามพันธกิจด้านการส่งเสริม สนับสนุน และหาแนวทาง เพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติในเรื่องการจ้างแรงงานและการประกอบอาชีพ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศไทย
3.   ส่งเสริมและสนับสนุนการประสานงานระหว่างสมาคมฯ และสมาชิก UN Global Compact ในประเทศกับสำนักงานใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา (UNGCHQ) ในด้านต่าง ๆ ตามความเหมาะสมและความพร้อมของสมาคมฯ อาทิ การจัดทำเอกสารเพื่อการสื่อสารระหว่างทั้งสองระดับ ได้แก่ รายงาน Communication on Progress (COP) หรือ รายงาน Communication on Engagement (COE)
4.   ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและนำเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล และเข้าใจง่ายในการติดต่อ และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสมาคมฯ สมาชิก UN Global Compact ในประเทศไทยกับสำนักงานใหญ่   
5.   ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกและผู้ที่สนใจรับทราบกฎ ระเบียบ แนวปฏิบัติต่าง ๆ เกี่ยวกับ UN Global Compact เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินงานของสมาชิกสมาคม รวมทั้งผู้ที่สนใจทั่วไป
6.   เผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร กิจกรรมเกี่ยวกับ UN Global Compact และเกี่ยวกับสมาคมและปรับปรุงข้อมูลเหล่านี้ในฐานข้อมูลของ UN Global Compact (Knowledge Sharing System – KSS) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการแบ่งปันความรู้กับสังคมโลก

รายชื่อองค์กรผู้ร่วมก่อตั้งทั้ง 15 รายได้แก่
1.   บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)   9. บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด
2.   เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพีกรุ๊ป)   10. บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน)
3.   บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ   11. บริษัท พินนาเคิล โฮเต็ลส์ แอนด์ รีสอร์ท จำกัด
4.   บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)   12. บริษัท พริ้นท์ ซิตี้ จำกัด
5.   บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)   13. บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
6.   บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)   14. บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
7.   บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.   15. บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
8.   บริษัท ปตท. โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
« Last Edit: December 13, 2018, 03:47:57 PM by news »