du_sit on November 07, 2018, 09:42:09 AM
สถาปัตยกรรมไทย จุดพลุสถาปัตย์แห่งเอเชีย

ผ่านเวทีประชุมวิชาการ ครั้งที่ 6






แวดวงสถาปัตยกรรมไทยเลื่องชื่อ โชว์ศักยภาพอาคารประชุมให้เป็นโมเดิร์นแห่งเอเชีย พร้อมจัดทัพนักวิชาการประชุมเข้ม 3 วันที่กรุงเทพฯ เพื่อเดินหน้าพัฒนาวงการสถาปัตยกรรมเอเชียทั้งพัฒนา รักษา และ อนุรักษ์

งานสัมมนาวิขาการนานาชาติครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ “The Future of the Past : Materiality and Resilicence of Modern Architecture in South East Asia” จัดขึ้นที่กรุงเทพฯระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2561  โดยมีสมาคมอิโคโมสไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพร่วม ทางผู้จัดได้เชิญนักวิชาการและวิชาชีพสาขาการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น จากทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนมาร่วมนำเสนอผลงานทางวิชาการวิชาชีพ และแลกเปลี่ยนแนวความคิดในการพัฒนาเชิงอนุรักษ์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน






ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์อะนา โตสโต  ประธานโดโคโมโม่ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นชาวโปรตุเกส ( Prof. Ana Tostoes ประธาน Docomomo International พร้อมกับมิสเตอร์เจฟฟ์ โคดี้  จากเกตต์ตี้ คอนเวอร์เซชั่น อินสทิทิวท์ และ ศาสตราจารย์ไอว่าโมโต ไคชิ  (Mr. Jeff Cody จาก Getty Conservation Institute และ Prof. Iwamoto Keiichi ) มาแสดงปาฐกถาพิเศษร่วมกับ ผศ.ดร.ยวธนิศร์ พิมลเสถียร จากประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 25-26 ตุลาคม 2561






สำหรับวันแรกของการจัดสัมมนาดังกล่าว ทางเจ้าภาพคือสมาคมอิโคโมสไทยได้ เลือกสถานที่อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือตึกเคมีเดิม ซึ่งเป็นอาคารยุคโมเดิร์นที่ได้มีการใช้สอยต่อเนื่องกันมายาวนานร่วม 70 ปี และสำหรับวันที่ 2 จัดที่อาคารศูนย์เรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเดิมเป็นอาคารโรงพิมพ์ธนบัตร และถูกปรับเปลี่ยนการใช้สอยมาเป็นศูนย์การเรียนรู้ ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และห้องประชุมสัมมนาครบวงจร นับเป็นโครงการล่าสุดที่ประเทศไทยมีความภูมิใจในการนำเสนอการอนุรักษ์มรดกยุคโมเดิร์นของชาติให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมโลก






ส่วนในวันที่ 27 ตุลาคม ทางเจ้าภาพมีการนำผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นสถาปนิกจากทั่วภูมิภาคเอเซีย นำชมสถานที่ที่เป็นมรดกสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นที่น่าสนใจในกรุงเทพฯ ที่หาโอกาสเข้าไปชมได้ยากคือ ที่โรงงานรถไฟ มักกะสัน ซึ่งนับเป็นมรดกทางอุตสาหกรรมที่สำคัญที่ควรอนุรักษ์ไว้และควรหาวิธีนำมาใช้สอยในอนาคตอย่างเหมาะสม ในฐานะมรดกของชาติที่แสดงถึงประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองของการรถไฟไทยที่เคยยิ่งใหญ่ในภูมิภาคนี้ และอาคารหลายหลังในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเฉพาะตึกกลมที่ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิก อมร ศรีวงศ์ ผู้มีความสามารถโดดเด่นออกแบบสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นที่ทรงคุณค่าหลายหลังทั่วในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด






ส่วนหัวข้อที่นักวิชาการและวิชาชีพนำเสนอในการประชุมครั้งนี้มีเกี่ยวกับเรื่อง การถ่ายทอดเทคโนโลยีอาคารและการใช้วัสดุก่อสร้างในยุคโมเดิร์น ตลอดไปจนถึงการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น ซึ่งผู้นำเสนอผลงานทางวิชาการ และวิชาชีพ ได้รับเชิญจากทุกประเทศในอาเซียน รวมทั้งเป็นเวทีแสดงผลงานของนักวิชาการไทยอีกหลายท่านด้วยกัน งานสัมมนาดังกล่าว เป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการ mASEANa 2015-2020 ซึ่งได้ริเริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 โดยมีเป้าหมายที่จะอนุรักษ์และส่งเสริมการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นในกลุ่มประเทศอาเซียน โครงการนี้จัดขึ้นโดยองค์กร Docomomo Japan และ Japan Foundation และได้รับการสนับสนุนจากองค์กรแม่ระดับสากล คือ Docomomo International ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น และมีเครือข่ายอยู่ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม mAAN (Modern ASEAN Architecture Network) และคณะทำงานมรดกสถาปัตยกรรมศตวรรษที่ 20 ขององค์กร ICOMOS International เป็นผู้สนับสนุน และ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ได้มีการจัดงานสัมมนาวิชาการสลับกับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการไปแล้วในหลายประเทศเริ่มจากโตเกียว ฮานอย ย่างกุ้ง จาการ์ต้า และพนมเปญ มาในปีนี้เป็นการจัดในประเทศไทย






นอกจากนี้โครงการ mASEANa ยังมีเป้าประสงค์ที่จะรวมตัวนักวิชาการวิชาชีพสถาปัตยกรรม เพื่อมาหารือกันในการร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์ของมรดกสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าแห่งมรดกสถาปัตยกรรมยุคนี้ และเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของมรดกวัฒนธรรมของแต่ละชาติ รวมถึงการประหยัดทรัพยากรของโลกโดยการไม่รื้อ-สร้างใหม่ แต่เป็นการนำเอาของเดิมกลับมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอย และความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกยุคใหม่






งานนี้สำเร็จงอย่างราบรื่น โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทชั้นนำ อาทิ  Toyota Foundation, Thai Obayashi, Kokuyo International, Nomura Real Estate Development และ On Ground Co., Ltd. และธนาคารแห่งประเทศไทยในการเอื้อเฟื้อสถานที่