news on October 06, 2018, 03:07:09 PM


นาโนเทค และ 7 มหาวิทยาลัยลงนามความร่วมมือโครงการ RNN


นาโนเทค-สวทช.จับมือ 7 มหาวิทยาลัยเดินหน้าเครือข่ายวิจัยนาโนเทคโลยี 3 ปีวางโจทย์ชัด เพื่อได้ผลงานนำใช้จริง ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0


บรรยากาศการลงนาม


(4 ต.ค. 2561) กรุงเทพฯ -ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามความร่วมมือดำเนินโครงการ “ศูนย์เครือข่ายการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี” ระยะที่ 3 ร่วมกับ 11 ศูนย์เครือข่ายฯ จาก 7 มหาวิทยาลัย เพื่อมุ่งสร้างเครือข่ายบุคลากรวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา พร้อมผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จริงในเชิงเศรษฐกิจและเชิงสังคม ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม


ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
กล่าวว่า นาโนเทค ตระหนักในความสำคัญของการร่วมมือกับกลุ่มวิจัยที่ทำงานด้านนาโนเทคโนโลยี จึงได้จัดทำโครงการศูนย์เครือข่ายการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี (Research Network of Nanotechnology: RNN)ตั้งแต่ปี 2549 โดยการลงนามครั้งนี้ในปี 2561 ระหว่างศูนย์นาโนเทค กับ11 ศูนย์เครือข่ายฯ จาก 7 มหาวิทยาลัยได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิทยสิริเมธี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นการดำเนินงานในระยะที่ 3 เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดเครือข่ายวิจัยเฉพาะทางที่ทำงานวิจัยร่วมกันกับ นาโนเทค-สวทช. สร้างฐานเทคโนโลยีและต่อยอดผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์ และเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยการดำเนินงานตามหัวข้อวิจัยในประเด็นมุ่งเน้นของศูนย์นาโนเทคประกอบด้วย 5 ขอบข่ายวิจัยได้แก่ นาโนเทคโนโลยีเพื่อการแพทย์และสาธารณสุข นาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม นาโนเทคโนโลยีเพื่ออาหารและการเกษตร นาโนเทคโนโลยีเพื่อมาตรวิทยาและการวิเคราะห์ทดสอบ และนาโนเทคโนโลยีเพื่อพลังงาน



งานวิจัยตัวอย่างในโครงการ RNN


“ผลงานตัวอย่างในแต่ละด้านที่จะร่วมกันพัฒนาใน 3 ปีนี้ (2561-2564) เช่น การพัฒนาชุดตรวจติดตามทางการแพทย์ ระบบบำบัดน้ำเสียในอุตสาหกรรม เซ็นเซอร์แบบพกพาสำหรับการตรวจวัดโลหะหนักและสารปนเปื้อน ระบบอัจฉริยะเพื่อใช้งานด้านการเกษตร ตัวเก็บประจุประสิทธิภาพสูง และอนุภาคนาโนสำหรับใช้เป็นสารมาตรฐานสำหรับการสอบเทียบ เป็นต้น โดยคาดว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการจะสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 1,200 ล้านบาท ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่จะสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาที่สอดคล้องกับแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย รวมถึงนโยบายการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่จะนำพาประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0” ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค กล่าว

ทั้งนี้ ในระยะที่ 1 ดำเนินงานในปี 2549-2554 มุ่งเน้นสนับสนุนและสร้างเครือข่ายการวิจัยที่มีความเป็นเลิศทางด้านนาโนเทคโนโลยีประกอบด้วย 8 ศูนย์เครือข่ายฯ จาก 8 มหาวิทยาลัย สามารถสร้างกลุ่มวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยี ผลิตผลงาน ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติได้มากกว่า 400 เรื่อง รวมถึงมีส่วนในการสนับสนุนการผลิตบุคลากรด้านนาโนเทคโนโลยี ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเป็นจำนวนรวมกว่า 700 คน ขณะที่ในระยะที่ 2 ปี 2556 -2560 มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายศูนย์พันธมิตรความเป็นเลิศด้านนาโนเทคโนโลยี จำนวน 9 ศูนย์เครือข่ายฯ จาก 8 มหาวิทยาลัย สามารถผลิตผลงานในเชิงวิชาการ เช่น การตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการระดับนานาชาติกว่า 500 เรื่อง สนับสนุนการผลิตบุคลากร นิสิตนักศึกษา ปริญญาโท และปริญญาเอกรวมกว่า 200 คน เกิดผลงานสิทธิบัตรกว่า 40 เรื่อง ตลอดจนเริ่มมีการผลงานที่นำไปใช้ประโยชน์ อาทิ การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาทางแสงไททาเนียมไดออกไซด์เพื่อการประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับลดก๊าซเรือนกระจก สูตรตำรับยา Povidone Iodine และ เสื้อดมกลิ่นอัจฉริยะ เป็นต้น