news on October 03, 2018, 08:33:02 AM

ผู้บริหาร สวทช. และ ผู้บรืหาร บมจ. สามารถฯ มอบรองวัลให้ผู้ชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1และรองชนะเลิศอันดับ 2


ผู้เข้าร่วมประกวดโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี 2018 ทั้ง 19 ทีม


“พระเครื่อง 3 มิติ” คว้ารางวัล “SIA 2018” สวทช. -บมจ.สามารถฯ เดินหน้า ปั้นนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ สู่ปีที่ 8
   
โครงการ Young Technopreneur 2018 ปิดฉากสวย ทุกผลงานที่ได้รับรางวัล ล้วนต่อยอดทางธุรกิจด้านเทคโนโลยีได้จริงและมีความแปลกใหม่ พร้อมประกาศปี 2019 กลุ่มสามารถ และ สวทช. จับมือต่อเนื่อง ลุยปั้นคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเจ๋งๆ และมี Passion แบบจัดเต็ม  ให้พร้อมเป็นเจ้าของธุรกิจตัวจริงปีที่ 8 เน้นเป็นโครงการที่เจาะลึกด้านความรู้อย่างต่อเนื่อง สอดรับแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นการวิจัย พัฒนานวัตกรรมและนำเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้และต่อยอด

(3 ตุลาคม 2561) ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ บางกอก สุขุมวิท 22 กรุงเทพฯ: กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. ร่วมกับ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดงานประกาศรางวัล Samart Innovation Awards 2018 หรือ SIA2018 พร้อมแถลงข่าวความร่วมมือเดินหน้าโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี  หรือ Young Technopreneur ก้าวสู่ปีที่8 อย่างต่อเนื่อง โดยมี นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดร.ฐิติภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. และผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้ง 19 ทีม เข้าร่วมแถลงข่าว


นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า “กลุ่มบริษัทสามารถ มีนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ ด้วยการส่งเสริมให้เกิดโครงการที่สนับสนุนด้านความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการ Samart Innovation Awards มาตลอด 16 ปี เราได้เห็นพัฒนาการและไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ จากคนรุ่นใหม่กว่า 7,000 คน และมีการปรับรูปแบบให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ร่วมโครงการ  โดยได้ร่วมมือกับ สวทช. จัดโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี หรือ Young Technopreneur มาถึง 7 ปี  เพื่อสร้างเวทีให้น้องๆ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจ ได้มีเวทีสร้างโอกาสให้เป็นจริงได้ ที่สำคัญน้องๆ ได้รู้จักกันและกลายเป็นเครือข่ายทางธุรกิจ มีการจับมือกัน เกิดเป็นธุรกิจเทคโนโลยีหลากหลาย จึงมั่นใจได้ว่าโครงการฯ นี้เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นในการสร้าง “โอกาส” ให้กับคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง”



ผู้ชนะเลิศ รับรางวัล

รองชนะเลิศอันดับ 1รับรางวัล

รองชนะเลิศอันดับ 2


“หลังจากผ่านช่วงการคัดเลือกกันมาอย่างเข้มข้น มีการอบรมและลงมือปฏิบัติจริงในเรื่องการทำธุรกิจอย่างจริงจัง พร้อมได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ จากกูรูผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรชื่อดังในวงการอย่างใกล้ชิด ในที่สุดก็ได้สุดยอดผลงานที่สามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้จริง พร้อมรับเงินรางวัลและโอกาสดูงานด้านเทคโนโลยี ณ ประเทศญี่ปุ่น อันได้แก่ รางวัลที่ 1 Samart Innovation Award (SIA) ปี 2018 พร้อมเงินรางวัล 200,000 บาท ได้แก่ ผลงานพระเครื่อง 3 มิติ นวัตกรรมที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้ศึกษาพระเครื่อง ด้วยการผนวกเทคโนโลยี 3 มิติ ที่สามารถดูพระเครื่องแท้ได้แบบพาโนรามา (Panorama) 360 มุมมอง รองรับ 3 ภาษา และมีระบบซื้อขายและประมูล ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เคลื่อนที่ (Smart Phone) ซึ่งจะสร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้กับวงการพระเครื่อง รางวัลที่ 2 เงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท ได้แก่ ผลงาน ActiveBoost อนุภาคนาโนอัจฉริยะ เป็นนวัตกรรมที่ช่วยกักเก็บสารอาหารที่มีประโยชน์ และปล่อยเข้าสู่ร่างกายได้อย่างจำเพาะเจาะจงและเต็มประสิทธิภาพ สร้างขึ้นจากเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวการแพทย์และนาโนเทคโนโลยีขั้นสูง ที่มีการพิสูจน์แล้วจากการวิจัยและการทดลองทางวิทยาศาสตร์

และรางวัลที่ 3 เงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท ได้แก่ ผลงาน คิดถึง แอปพลิเคชันแหล่งรวมบริการรถยนต์ครบวงจร เป็นระบบค้นหาอู่หรือศูนย์ซ่อมรวมถึงโปรโมชั่น และบริการเดลิเวอรี่เกี่ยวกับรถยนต์ ทำให้เจ้าของรถยนต์มีความสะดวกสบายมากขึ้น ส่วนผลงานที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 16 ทีม โครงการยังเห็นโอกาสด้านธุรกิจจึงสนับสนุนทุนในการพัฒนาผลงาน จำนวน 30,000 บาทด้วย”



ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การดำเนินโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี  หรือ Young Technopreneur ตั้งแต่ปี 2555-2561 มีผู้สมัครเข้าทั้งนิสิต นักศึกษาและประชานทั่วไปอายุตั้งแต่ 20-35 ปี มีจำนวนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 850 ทีม โดยศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยีธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. และ บมจ.สามารถฯ ได้เลือกผู้เข้าร่วมโครงการฯ 400 ทีม อบรมความรู้พื้นฐานธุรกิจเพื่อพัฒนาความรู้สำคัญในการนำเทคโนโลยีออกสู่ตลาด โดยได้รับคำปรึกษาจากศูนย์บ่มเพาะฯ กว่า 880 คน เกิดการตั้งธุรกิจจำนวน 45 ราย มีรายได้รวม 29 ล้านบาท และมีอัตราการจ้างงานแล้ว 80 อัตรา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของธุรกิจเทคโนโลยีรุ่นใหม่ของประเทศไทย ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมสมัคร 138 ทีม และคัดเลือกทีมที่มีแนวธุรกิจชัดเจน เหลือ 64 ทีม ก่อนคัดเลือกมาเหลือ 19 ทีมมาแข่งขันการนำเสนอแผนธุรกิจต่อผู้เชี่ยวชาญและประกาศผลในวันนี้

ดร.ฐิตาภา กล่าวว่า สำหรับในปีหน้ายังเน้นหลักสูตรอบรมเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง โดยนำข้อมูลที่ได้รับจากการประเมินผลโครงการฯ ทั้ง 7 รุ่น มาปรับปรุงเนื้อหากิจกรรมให้เหมาะกับนักธุรกิจ รุ่นใหม่ โดยยังคงให้ความสำคัญภายใต้ “การนำแนวคิดสู่ธุรกิจทำเงิน” โดยน้องๆ ต้องผ่านการอบรมทั้งสิ้น 48 ชั่วโมง ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดพื้นฐานในการทำธุรกิจ การศึกษาความต้องการตลาด ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ทักษะการนำเสนอ พร้อมกิจกรรม Idea To Market Boot Camp ซึ่งถือเป็น Workshop ที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ลงภาคสนามเพื่อสำรวจตลาด เก็บข้อมูล วิเคราะห์ และวางแผนการทำธุรกิจด้วยหลักการที่เรียนมา สำหรับโครงการ Young Technopreneur ปี 2019 ได้กำหนดหัวข้อในการประกวดให้สอดรับกับแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศ ที่มุ่งเน้นการวิจัย พัฒนานวัตกรรม และนำเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้และต่อยอด โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีหลักๆ ได้แก่ 1.เทคโนโลยีอาหารและการเกษตร 2.เทคโนโลยีการแพทย์และบริการเพื่อผู้สูงอายุ 3. เทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยว 4.เทคโนโลยีด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ 5.เทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์และ Automation และ 6.เทคโนโลยี IOT

“ผลงานของน้องๆ ปีนี้มีมุมมองในการพัฒนาที่ดีขึ้น เพราะไม่ได้มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างเท่านั้น แต่มีการศึกษาค้นคว้าทั้งพฤติกรรมและความต้องการของตลาด แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้ไปค้นหางานวิจัยเพื่อช่วยพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการผู้ใช้เป็นสำคัญ ทำให้เรามั่นใจว่าหากโปรดักส์ของน้องๆ มีความพร้อม และมีการศึกษาความต้องการตลาด ต่อยอดจนเกิดแนวคิดธุรกิจที่ใช่ บวกกับความมุ่งมั่นตั้งใจ โครงการฯ พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยี ให้รวดเร็วยิ่งขึ้นได้” ดร.ฐิตาภา กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดโครงการ Young Technopreneur 2019 ได้ที่ www.samartsia.com หรือที่ https://www.facebook.com/SamartInnovationAwards/
« Last Edit: October 03, 2018, 11:30:22 PM by news »