news on September 05, 2018, 09:25:33 AM



เอ็มเทค สวทช. จับมือ พพ. แถลงข่าวความสำเร็จการเพิ่มคุณภาพไบโอดีเซล H-FAME ในระดับโรงงานสาธิต และพร้อมทดสอบในรถยนต์


ภาพทดสอบในรถยนต์ ภายใต้โครงการสนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น


(5 กันยายน 2561) ณ โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพฯ – กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ภายใต้การสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน แถลงข่าวความสำเร็จการเพิ่มคุณภาพไบโอดีเซล H-FAME ในระดับโรงงานสาธิต และพร้อมทดสอบในรถยนต์ ภายใต้โครงการ “สนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น” เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการผลักดันการเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซล ในอนาคต


ดร. สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยวัสดุสำหรับพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช.
กล่าวว่า ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือเอ็มเทค เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มีหน้าที่หลักในการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยออกไปใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ และสร้างคุณค่าให้แก่สังคม โดยโครงการ “สนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น” นี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ผ่านกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) โดยการต่อยอดเทคโนโลยี เฮช-เฟม (H-FAME) จากโครงการร่วมวิจัย ไทย-ญี่ปุ่น ซาเทรป (SATREPS) เพื่อผลิตในระดับโรงงานสาธิตในประเทศ สำหรับการทดสอบในรถยนต์


นายวันชัย บรรลือสินธุ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการแถลงข่าวความสำเร็จ ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพไบโอดีเซล H-FAME จากพันธมิตรงานวิจัยญี่ปุ่น อาทิ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA), สถาบันวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมชั้นสูง ประเทศญี่ปุ่น (AIST) และ บริษัท อิเดมิตสึ (Idemitus) ให้กับโรงงานผลิตไบโอดีเซลในประเทศ คือ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) ตลอดจนทำการปรับปรุงระบบให้สามารถผลิต H-FAME ได้ในบริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด (BBF) โดยน้ำมันไบโอดีเซลคุณภาพสูง H-FAME ที่ผลิตได้ดังกล่าวจะถูกนำไปผสมเป็นน้ำมัน B10 เพื่อใช้ในการวิ่งทดสอบกับรถกระบะจำนวน 8 คัน ระยะวิ่งทดสอบของแต่ละคัน ประมาณ 100,000 กิโลเมตร เพื่อสร้างความมั่นใจกับทุกภาคส่วน และสอดรับกับข้อเสนอของกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องการให้มีการปรับคุณภาพของไบโอดีเซล ในกรณีที่ต้องมีการใช้สัดส่วนการผสมไบโอดีเซลที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้น้ำมันไบโอดีเซลคุณภาพสูง B10 ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปนำร่องทดลองใช้กับรถยนต์ของหน่วยงานของรัฐ และจะมีการแถลงผลการดำเนินงานในโอกาสต่อไป


ดร. นุวงศ์ ชลคุป นักวิจัยอาวุโสและหัวหน้าโครงการวิจัยฯ เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า น้ำมันไบโอดีเซลคุณภาพสูง H-FAME นี้คือการนำไบโอดีเซลตามมาตรฐานปัจจุบัน มาลดปริมาณสารปนเปื้อนโดยเฉพาะ โมโนกลีเซอไรด์ เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถใช้ผสมกับดีเซลในสัดส่วนที่สูงขึ้น ความสำเร็จในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลคุณภาพสูง H-FAME ในระดับโรงงานสาธิตนี้ เป็นความร่วมมือเชิงบูรณาการอย่างแท้จริงระหว่างพันธมิตรวิจัยจากทั้งญี่ปุ่นและไทย โดยเฉพาะ JICA AIST และ Idemitsu โดยมี ดร. ยูจิ โยชิมูระ (Dr. Yuji Yoshimura) ผู้คิดค้นเทคโนโลยี H-FAME มาประจำประเทศไทย ภายใต้โครงการความร่วมมืออาสาสมัครญี่ปุ่นอาวุโส (JICA Senior Volunteer)


คุณฮิโรโอะ ทานากะ หัวหน้าผู้แทน องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) สำนักงานประจำประเทศไทย กล่าวว่า ทาง JICA มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่โครงการความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ซาเทรป (SATREPS) ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ได้ส่งมอบผลลัพธ์เทคโนโลยี H-FAME หลังสิ้นสุดโครงการเมื่อปี พ.ศ. 2558 และได้รับการพัฒนาต่อยอดในโครงการ ภายใต้การผลักดันของ พพ. และความช่วยเหลือเชิงเทคนิคจากพันธมิตรวิจัยญี่ปุ่น อันได้แก่ AIST และ Idemitsu และขอให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้เกิดการใช้งาน B10 ในอนาคต


ดร. นิลุบล จงอนุรักษ์กุล ผู้จัดการหน่วยงานวิจัยและพัฒนา บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า “GGC เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกให้ร่วมศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้ ในฐานะผู้ผลิตไบโอดีเซลหรือ B100 รายใหญ่ของประเทศที่มีความพร้อมในทุกด้าน โดยเทคโนโลยี H-FAME เป็นหนึ่งในหลากหลายแนวทางที่มีความเป็นไปได้ในการเพิ่มคุณภาพ B100 สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้วิ่งในระยะยาว แม้จะอยู่ระหว่างการศึกษา แต่ GGC ก็มุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพ B100 เพื่อความมั่นใจของผู้ใช้ B100 ในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นเทคโนโลยีทางเลือกให้กับโรงงานเมทิลเอสเทอร์ของ GGC แห่งที่ 2 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้ GGC มีกำลังการผลิตเมทิลเอสเทอร์รวม 500,000 ตันต่อปี”


นายธนชิต มกรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า “BBF ในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตไบโอดีเซลรายใหญ่และได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของน้ำมันไบโอดีเซลให้เป็นไปตามข้อเสนอของกลุ่มยานยนต์ ซึ่งเทคโนโลยีที่โครงการเลือกใช้ คือ H-FAME และบริษัทฯ ได้ทำการปรับปรุงระบบการผลิต HFAME จากเทคโนโลยี Partial Hydrogenate ที่มีแพร่หลายอยู่ในตลาด โรงงานสาธิต ขนาดกำลังการผลิต 500 กิโลกรัมต่อวัน  เพื่อนำไปทดสอบการใช้งานจริงกับเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้งานของผู้บริโภค โครงการดังกล่าวถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาคุณภาพน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อนำไปสู่การเพิ่มสัดส่วนที่สูงขึ้นในอนาคตของประเทศ”
« Last Edit: September 05, 2018, 02:19:49 PM by news »