สรุปสาระสำคัญในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2561
วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม 2561 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2561 ณ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยมีสาระสำคัญของการประชุมฯ ดังนี้
ที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศ ในระยะครึ่งปีที่ผ่านมาโดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 19.481 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 12.46 เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายนที่มีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.57 นักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย และอินเดีย สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 1,015,893 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.88 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนในเดือนกรกฎาคม จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวเพียงร้อยละ 4 เนื่องจากการหดตัวของนักท่องเที่ยวจีนและยุโรป อย่างไรก็ตามคาดการณ์ตลอดทั้งปี 2561 การท่องเที่ยวจะสร้างรายได้รวม 3 ล้านล้านบาท เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท และจากไทยเที่ยวไทย 1 ล้านล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวที่สร้างรายได้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน รัสเซีย และมาเลเซียที่ประชุมรับทราบผลการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 37 ซึ่งปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในระหว่างวันที่ 21 – 27 มกราคม 2561 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยประเทศไทยได้ผลักดันประเด็นการพัฒนาที่สำคัญได้แก่ การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล การลงทุนด้านการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวทางเรือ
การท่องเที่ยวเชิงอาหาร รวมทั้งได้มีการรับรองปฏิญญาร่วม 2 ฉบับ โดยไม่มีการลงนาม ได้แก่ ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการท่องเที่ยวทางเรือ และปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหาร นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการประชุมคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 41 ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานประสานความร่วมมือการท่องเที่ยวอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และผลการประชุมการท่องเที่ยวอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ปี พ.ศ. 2561 รวมทั้งผลการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากับเลขาธิการองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization : UNWTO) ในคราวเดินทางมาเยี่ยมคารวะเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ณ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน The 4th UNWTO World Forum on Gastronomy Tourism สำหรับการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ กระทรวงคมนาคม ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน (Quick Win) กำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในระยะยาว รวมทั้งการสำรวจพื้นที่ Thailand Riviera เพื่อประเมินศักยภาพ ความพร้อมและความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อกระทรวงคมนาคมจัดทำแผนงาน/โครงการ รองรับ กระทรวงวัฒนธรรมได้มีการหารือเพื่อจัดทำฐานข้อมูลด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงศาสนาพุทธ การพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา ในรูปแบบ Digital Content ผ่าน Platform Thailand Tourism Directory ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมีการประชุมร่วมกันในวันที่ 2 สิงหาคม 2561 เพื่อพิจารณาแนวทางการพัฒนาและส่งเสริม “วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก การกำหนดขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (Carrying Capacity) ของแหล่งท่องเที่ยวและการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยว
ความคืบหน้าการดำเนินโครงการไทยนิยมยั่งยืน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 วงเงิน 891.29 ล้านบาท จำแนกเป็น กรมการท่องเที่ยว 106.29 ล้านบาท ดำเนินโครงการฝึกอบรมภาษาอังกฤษ การจัดการท่องเที่ยวชุมชน การทำโฮมสเตย์ การอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัย จัดหาอุปกรณ์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว พัฒนาระบบสารสนเทศ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 785.00 ล้านบาท ดำเนินโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชนตามโครงการท่องเที่ยวชุมชน อะเมซิ่งไทยแลนด์ โกโลคอล (Amazing Thailand Go Local) โครงการบริหารจัดการข้อมูลอัจฉริยะเพื่อการท่องเที่ยว (Tourism Smart DATA Management) และโครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งห่วงโซ่คุณค่าด้าน การท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองรอง (Marketing – Led Tourism Development) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ
การส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวชุมชนและการกระจายรายได้สู่เมืองรอง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดทำโครงการ Amazing Thailand Go Local และมีการปรับสัดส่วนผู้เยี่ยมเยือนเมืองหลักต่อเมืองรอง จากเดิม ๗๐:๓๐ เป็น ๖๕:๓๕ ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ สร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่และจัดกิจกรรมกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองรอง เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และการพัฒนาคนสร้างเสริมความเข้มแข็งของชุมชนผ่านโครงการอาสาสมัครเพื่อการท่องเที่ยวในรูปแบบพัฒนาผู้สอน แผนการดำเนินงาน ปี ๒๕๖๒ เน้นการใช้วิถีการกินนำไปสู่การสัมผัส Local Experience สร้างมูลค่าเพิ่มด้วย content สร้างกระแสใส่ใจสิ่งแวดล้อม และ ชูอัตลักษณ์เมืองรองมาเป็นส่วนผสมหลักในการสร้างสรรค์สินค้า สร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวเพื่อตอบความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
ทั้งนี้ในส่วนของการขับเคลื่อนงานด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ในวันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิมยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ และนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของไทย เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2564) โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินโครงการ/กิจกรรม ตามแผนปฏิบัติการของยุทธศาสตร์ดังกล่าว รวมทั้งพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรฐานที่พักแบบพำนักระยะยาว (Long Stay Standard) ฉบับปรับปรุง และการจัดทำ “แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชน” เพื่อเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณาทบทวนและกำหนดแนวทางการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ ต่อไป