MSN on July 31, 2018, 08:20:14 AM
ทรีนีตี้ ประเมินหุ้นไทยเดือนส.ค.ชะลอการปรับตัวขึ้น หลังตลาดเดือนก.ค.รีบาวน์ขึ้นตามคาด รับกำไรไตรมาส 2 ของกลุ่มแบงก์ที่ดีกว่าคาดการณ์และมีแรงซื้อหนุนจากนักลงทุนสถาบัน ทำให้มูลค่าหรือ Valuation หุ้นไทยแพงขึ้น แนะติดตามผลประกอบการหุ้นกลุ่มอื่นที่กำลังทยอยออกมา เพราะมีผลต่อทิศทางตลาด แนะกลยุทธ์หากดัชนีขึ้นมาที่ 1,720 จุด ให้ขายทำกำไรส่วนหนึ่ง หากดัชนียังไปต่อได้ที่ 1,750 จุด ให้ขายหุ้นเพื่อถือเงินสดเพิ่ม ส่วนคนไม่มีหุ้นในพอร์ตเน้นหุ้นใหญ่รายตัวใน SET50 ที่ราคายังขึ้นน้อยกว่าตลาด


นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ได้สรุปภาวะตลาดเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวรีบาวด์ขึ้นตามคาด โดยมีสาเหตุหลักจาก ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาดีกว่าคาดการณ์อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารฯปรับตัว Outperform ตลาดและเป็นตัวผลักดันให้ตลาดในภาพรวมปรับขึ้นมาในรอบนี้ นอกจากนั้นดัชนีหุ้นไทยยังได้แรงหนุนจากการซื้อสุทธิของนักลงทุนสถาบัน ที่เป็นผลจากการเพิ่มน้ำหนักของ Active fund manager ภายหลังจาก Valuation ของหุ้นไทยอยู่ในระดับที่น่าสนใจและการไหลเข้าของเม็ดเงิน LTF/RMF รวมทั้งการเปิดขายกองทุน Trigger Fund

แต่อย่างไรก็ดี ยังไม่เห็นสัญญาณการปรับประมาณการ อัตราส่วนของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของตลาดหุ้นไทยขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการปรับตัวขึ้นมาของดัชนีครั้งนี้จึงมาพร้อมกับ Valuation หรือมูลค่าหุ้นที่สูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งประเมินว่าระดับดัชนีที่จะเริ่มเปราะบางในแง่ของ Valuation จะอยู่ที่บริเวณ 1,700 จุดขึ้นไป หรือเทียบเท่าระดับ Forward PE 14.1 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ได้ย้ำมาเสมอว่าเป็นระดับที่มีเสถียรภาพมากที่สุดของ SET Index ในอดีต

นายณัฐชาตยังได้ประเมินถึงภาพการลงทุนเดือนสิงหาคมว่า ดัชนีตลาดจะเริ่มชะลอการปรับตัวขึ้น โดยมองกรอบแนวต้านแรกไว้ที่ 1,720 จุด และกรอบแนวต้านสำคัญที่ 1,750 จุด ส่วนแนวรับสำคัญที่ 1,650 จุด  โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
สำหรับปัจจัยบวก ได้แก่ผลประกอบการไตรมาส 2/2561 ของกลุ่มธนาคารฯที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ จึงทำให้ Sentiment ระยะสั้นของหุ้นกลุ่มธนาคารฯปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ยังแนะนำให้ติดตามผลประกอบการของกลุ่มอื่นๆที่กำลังจะทยอยออกในช่วงถัดไป ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อทิศทางของ SET Index ในระยะสั้นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากกระแส Fund flow หรือเงินทุนไหลเข้าที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้น หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติ Long หรือซื้อสุทธิในตลาดล่วงหน้าติดต่อกันถึง 40,000 กว่าสัญญา และเริ่มซื้อสุทธิในตลาดหุ้นให้เห็นบ้างแล้ว

ส่วนปัจจัยลบที่ยังคงต้องติดตาม คือ 1.ประเด็นสงครามการค้าที่ยังคงมีความวุ่นวายต่อเนื่อง คาดว่าจะยังคงเป็นปัจจัยรบกวนบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป  2.การปรับตัวขึ้นของ Bond yield ไทยจนทำระดับสูงสุดใหม่ของปีนี้ ซึ่งหากยังคงปรับขึ้นต่ออีก อาจทำให้ความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยเริ่มลดลงโดยเปรียบเทียบ 3.ความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในยุโรป เนื่องจากอิตาลีจะถึงคิวกำหนดชำระหนี้ก้อนใหญ่ในเดือนนี้ ซึ่งกรณีนี้แนะนำให้จับตาท่าทีของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หากมีการออกมาลดอันดับ Credit rating ของอิตาลีลง มองว่าจะเป็นปัจจัยที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดได้  4.การเพิ่มน้ำหนักหุ้น A-Shares ของจีนในดัชนี MSCI EM ช่วงปลายเดือนนี้อีก 2.5% ของ Market cap ที่อาจทำให้ Passive funds ที่อิงการลงทุนกับดัชนี MSCI EM มีการโยกย้ายเงินออกจากประเทศ EM อื่น ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นกัน

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนเดือนสิงหาคมนี้ นายณัฐชาต กล่าวว่าแนะนำนักลงทุนที่สะสมหุ้นไปตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ให้ถือหุ้น Let profit run ต่อไปได้ แต่เนื่องด้วย Valuation ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามมาด้วยนั้น ทำให้มองว่าจะต้องกำหนดจุดขายทำกำไรที่ชัดเจน โดยหากดัชนีปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับแนวต้านแรกที่ 1,720 จุด แนะนำให้ขายทำกำไรออกมาส่วนหนึ่งและหากดัชนีปรับตัวขึ้นต่อไปยังบริเวณ 1,750 จุด มองว่าจำเป็นที่จะต้องขายหุ้นออกมาและถือเงินสดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าลงทุนใหม่ในเวลานี้ จำเป็นที่จะต้องโฟกัสไปยังหุ้นขนาดใหญ่ (SET50) ที่ยังปรับตัวขึ้นได้น้อยกว่าตลาดในรอบนี้และเป็นหุ้นที่บล.ทรีนีตี้ยังคงคำแนะนำให้ “ซื้อ”ในเชิงพื้นฐาน (เรียงตามลำดับความ Laggard) ได้แก่ TISCO (ให้ราคาเป้าหมาย102บาท), PTTEP (เป้าหมาย144บาท), TMB (เป้าหมาย2.60บาท), CPALL (เป้าหมาย 101บาท), TOP (เป้าหมาย101บาท), BBL (เป้าหมาย220บาท) และ TU (เป้าหมาย 18 บาท)
« Last Edit: July 31, 2018, 02:41:57 PM by MSN »