ความเป็นมา หลักการและความสำคัญ
ในการประชุมชี้แจงและหารือเพื่อจัดทำเป้าหมายเชิงสมัครใจในการลดปริมาณโซเดียมในอาหารสำเร็จรูปของไทย(Voluntary targets on sodium reduction for packaged food in Thailand)
ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารมีการใช้โซเดียมหรือสารประกอบโซเดียม เพื่อเข้ามาช่วยยืดอายุการเก็บรักษา ปรับปรุงหรือคงไว้ซึ่งลักษณะของอาหารบางประการ โดยส่วนมากจะนิยมใช้ในปริมาณที่กฎหมายกำหนด แต่สำหรับผู้บริโภคอาหารที่มีโซเดียมมากเกินไป อาจจะส่งผลต่อสุขภาพได้ในระยะยาว โดยจะเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable disease, NCDs) ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุเกิดมาจากการรับประทานอาหารในแต่ละวันที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน โซเดียมมากเกินกว่าปริมาณที่กำหนดในแต่ละวัน (Thai RDI) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกลือหรือโซเดียมที่มีอยู่ในอาหารสำเร็จรูป และอาหารที่ขายตามท้องถนนทั่วไป ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
อีกทั้งยังสอดคล้องกับตัวชี้วัดขององค์กรอนามัยโลกในการตั้งเป้าหมายสู่การลดการบริโภคโซเดียมในอาหารลงร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ.2030 ด้วยเหตุนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) จึงร่วมกันผลักดันการลดการบริโภคเกลือหรือโซเดียมตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือกับผู้ผลิตอาหารในการลดปริมาณเกลือหรือโซเดียมลง โดยเน้นที่อาหารกลุ่มเสี่ยงทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ ขนมขบเคี้ยว อาหารกึ่งสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส อาหารแช่เย็นและแช่แข็ง อีกทั้งยังพบว่าหลายประเทศได้มีมาตรการแบบบังคับ และ/หรือสมัครใจในการลดปริมาณเกลือหรือโซเดียมในอาหารสำเร็จรูป (หรือจะใช้เป็นกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน) และกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป
ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ทำการเผลิตอาหารสำเร็จรูปเป็นจำนวนมาก และมีส่วนสำคัญในการช่วยปรับลดปริมาณเกลือหรือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร จากผลการสำรวจสถานการณ์การแสดงข้อมูลบนฉลากโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงปี 2555 ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยสำนักอาหาร พบว่าแหล่งของโซเดียมที่ประชากรไทยได้รับจากผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคมากที่สุด คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูป(บะหมี่/ ก๋วยเตี๋ยวสำเร็จรูป) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,272 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และกลุ่มผลิตภัณฑ์โจ๊ก/ ข้าวต้มสำเร็จรูป มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,269 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (นักโภชนาการแนะนำว่าอาหารมื้อหลักควรมีปริมาณโซเดียมไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และอาหารว่างควรมีปริมาณโซเดียมไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค) อีกทั้งอาหารสำเร็จรูปบางอย่าง นิยมนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของผู้ผลิตอาหารมีผลต่อการบริโภคเกลือหรือโซเดียมในอาหารของประชากรไทยเป็นอย่างมากที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ตามที่องค์การอนามัยโลก ที่กำหนดให้การลดบริโภคเกลือเป็น 1 ใน 9 เป้าหมายโลกในการควบคุมปัญหาโรคไม่ติดต่อภายในปี พ.ศ.2568 โดยกำหนดให้ลดการบริโภคเกลือ และโซเดียม ของประชาชนทั่วไปให้ได้ร้อยละ30 ภายในปี พ.ศ. 2568
แนวทางการดำเนินงาน
จัดทำค่ากลางและค่าเป้าหมายเชิงสมัครใจในการปรับลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน ขนมขบเคี้ยว อาหารกึ่งสำเร็จรูป และเครื่องปรุงรส ผ่านการเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งเป็นเกณฑ์ในการลดปริมาณโซเดียมอ้างอิงจากค่าเฉลี่ยของปริมาณโซเดียมในกลุ่มผลิตภัณฑ์นั้นๆ โดยจะปรับลดร้อยละ 10 ในทุก ๆ 2 ปี โดยมีการติดตามผลปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ทุกปี
ผลที่คาดหวังว่าจะได้หลังจากการประชุมครั้งนี้
1. สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาข้อมูลทางวิชาการ และวิธีการดำเนินงานร่วมกัน
2. ได้แนวทางและข้อเสนอแนะในในการลดปริมาณโซเดียมสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร
3. ความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการลดปริมาณโซเดียมในอาหาร