ฮอนด้าประกาศผลโครงการ Honda Green Bin Design Contest
บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศผลผลงานชนะเลิศการประกวดออกแบบถังขยะแบบ Eco Design ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในโครงการ “ฮอนด้า กรีน บิน ดีไซน์ คอนเทสต์ (Honda Green Bin Design Contest)” ได้แก่ คุณเอกภูมิ เกียรติผดุงกุล เจ้าของผลงานชนะเลิศ ภายใต้ชื่อ START พร้อมเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจร่วมชมผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 10 ผลงาน ซึ่งจะจัดแสดงไว้ ณ บริเวณ เซ็นทรัล เวิล์ด ในวันเสาร์ที่ 16 และวันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม นี้
คุณพิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการบริหาร บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ผมขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศในการประกวดผลงานการออกแบบถังขยะแนวคิดใหม่ครั้งนี้ด้วย ซึ่งเป็นผลงานที่โดดเด่นทั้งในด้านความคิดสร้างสรรค์ สวยงาม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถนำมาผลิตใช้ได้จริง เรายังประสบความสำเร็จในการเชิญชวนนิสิตนักศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไปให้เข้าร่วมส่งผลงานกว่า 300 ผลงานจากทั่วประเทศ ซึ่งผมรู้สึกยินดีที่ฮอนด้าได้จุดประกายให้คนรุ่นใหม่มีความห่วงใยในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องใกล้ตัวเรา อย่างเช่นการคัดแยกขยะได้อย่างถูกต้องตลอดจนเพิ่มโอกาสในการนำขยะแปรรูปเป็นสิ่งของกลับมาใช้ใหม่”
คุณเอกภูมิ เกียรติผดุงกุล เจ้าของผลงานชนะเลิศ ภายใต้ชื่อ START กล่าวถึงแรงบันดาลใจ และแนวคิดในการออกแบบถังขยะ ว่า “กรีน ดีไซน์ หรือโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะประสบความสำเร็จได้ เราต้องเข้าใจวัตถุประสงค์หรือเนื้อหาของโครงการนั้นจริงๆ ซึ่งเมื่อทางฮอนด้าได้จัดโครงการ ฮอนด้า กรีน บิน ดีไซน์ คอนเทสต์นี้ ผมจึงเกิดความคิดว่า ถ้าเราสามารถดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้โดยการประยุกต์ของเหลือใช้ในชีวิตประจำวันให้มากที่สุดและใกล้กับสถานการณ์จริงที่สุด เช่น ถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อต่างๆ โดยเฉพาะถุงขนาดเล็ก มักคิดไม่มีประโยชน์ที่จะนำไปใช้ต่อ ก็จะทิ้ง ทำให้เกิดขยะมากขึ้น การออกแบบของผมจึงนำโจทย์ของนี้ มาพัฒนาการนำมาขยะมาสร้างคุณค่าต่อ ”
ผลงานชนะเลิศ : คุณเอกภูมิ เกียรติผดุงกุล
ชื่อผลงาน : START
ได้รับรางวัลเงินสด 100,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ
แนวความคิด : เนื่องจากปัจจุบันเรื่อง eco social เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเรามากขึ้น คนส่วนใหญ่เริ่มรับรู้แต่ยังไม่ร่วมมือกันอย่างแท้จริง ดังนั้นชุดแยกขยะนี้จึงเป็นจุดเริ่ม (START) ให้ผู้ใช้เกิดการเรียนรู้และปรับพฤติกรรมส่วนตัว ในการแยกขยะ โดยออกแบบเป็นขนาดเล็ก ติดตั้งและใช้งานได้ง่าย ส่วนที่ใช้บรรจุขยะ ใช้ถุงพลาสติกที่ได้รับจากการซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อต่างๆ มักจะมีขนาดเล็ก (6 นิ้ว หรือ 8 นิ้ว) ซึ่งเป็นจำนวนที่มีปริมาณมากและไม่ได้ถูกนำมาใช้ซ้ำโดยชุดแยกขยะนี้ สามารถแยกขยะได้ สามประเภท คือ กระดาษ พลาสติก และเศษอาหาร ตามของที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อ
วัสดุที่ใช้ : ยางเส้น และ แผ่นสเตนเลสพับขึ้นรูป
ผลงานรองชนะเลิศอันดับที่ 1: คุณศรัณพร กาลิก, คุณเจษฎา อินทรภักดิ์
ชื่อผลงาน : FLOW
ได้รับรางวัลเงินสด 50,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ
แนวความคิด : เนื่องจากแต่ละสถานที่มีประเภทและปริมาณของขยะที่แตกต่างกัน เช่น โรงพยาบาล,โรงอาหาร,office ต่างๆ,โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาขยะล้นถังบ้าง หรือทิ้งขยะผิดประเภทลงในถังที่ว่างอยู่บ้าง ดังนั้นจึงออกแบบให้ถังขยะแต่ละประเภทมีขนาดที่แตกต่างกันและยังสามารถปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมถังขยะแต่ละประเภทได้ โดยการวางต่อกันได้เป็น pattern นั่นคือ สถานที่ไหนเน้นขยะอะไรก็นำถังขยะประเภทนั้นมาวางเพิ่มต่อได้ โดยเริ่มต้นจะมี 1set คือ ถังสีเหลือง(ขยะแห้ง),ถังสีเขียว(ขยะเปียก),และถังสีแดง(ขยะอันตราย) ซึ่ง “FLOW” มีรูปแบบที่มี Inspiration มาจากเส้นสันบนผิวน้ำ ยามถูกแสงแดดกระทบซึ่งมีความลื่นไหลไม่คงที่และไม่หยุดนิ่งทำให้รู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติและความสดชื่น เหมาะที่จะใช้กับสถานที่ที่เป็นหน่วยงาน, องค์กรต่างๆ ที่มีคนเป็นจำนวนมากได้
วัสดุที่ใช้ : แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ นั่นคือ
1.ส่วนที่เป็นถังในและฝาปิด วัสดุที่ใช้จะเป็นพลาสติก เพราะเป็นส่วนที่ต้องเจอกับขยะที่หลากหลายจึงจำเป็นต้องเป็นวัสดุที่ทนทานต่อขยะที่หลากหลายประเภทได้
2.ส่วนที่เป็นถังนอก วัสดุที่ใช้สามารถเป็นได้หลายอย่าง เช่น พลาสติก, กระดาษ, แผ่นอะลูมิเนียม หรือไม้ เป็นต้น
ขนาด: เป็นขนาดรวมของ 1 set (มี 3 ถัง คือ ถังสีเหลือง, สีเขียว, สีแดง) คือ (กว้างxยาวxสูง)
51.7 ซม.x82.2ซม.x60ซม.
ผลงานรองชนะเลิศอันดับที่ 2 : คุณเมธา ศีตะจิตต์
ชื่อผลงาน : ECO-TIE
ได้รับรางวัลเงินสด 30,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ
แนวความคิด : ECO-TIE ถังขยะที่ช่วยให้การคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยแถบสีที่แตกต่างกันบ่งบอกถึงประเภทของขยะแต่ละชนิด ทำให้ขั้นตอนในการคัดแยกจากผู้ใช้ ไปสู่พนักงานเก็บขยะ หรือคนรับซื้อของเก่ารวดเร็ว เป็นระเบียบ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนถึงโรงงานที่มีการ Recycle วัสดุต่างๆ และการกำจัดขยะบางประเภทเป็นไปได้จริง มันสำปะหลังแปรรูปเป็นวัตถุดิบชีวภาพ เป็นวัสดุหลักที่ใช้ในการทำ ECO-TIE ซึ่งสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยชิ้นงานที่มีขนาดเล็ก ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อย และใช้การขึ้นรูปชิ้นงานด้วยการปั๊ม จึงทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ ส่งผลให้ราคาขายไม่แพงมาก คนในหลายกลุ่มสามารถซื้อใช้ได้ก็จะทำให้วงจรในการคัดแยกขยะสมบูรณ์ และเป็นไปได้จริง
วัสดุที่ใช้ : มันสำปะหลังแปรรูป
ขนาด : W4 x L70 cm. Thickness 2mm.
เกี่ยวกับบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์นั่งอันดับสองของประเทศ เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2526 ฮอนด้าร่วมเป็นหนึ่งในสังคมไทยผ่านกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพันธสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ‘ฮอนด้า กรีนเวย์’ เช่น การปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ จ.ชลบุรี โครงการ ‘โรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมดีเด่นเฉลิมพระเกียรติ’ โครงการ Miracle Green หรือต้นไม้มหัศจรรย์ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร แคมเปญรณรงค์ ‘วิธีขับขี่รถยนต์อย่างประหยัดน้ำมัน’ กิจกรรมอบรมการขับขี่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่ต้องการสอบใบขับขี่ และโครงการ ‘Bon Voyage ยิ่งมีสติ.. ยิ่งปลอดภัย’ ที่รณรงค์ให้ผู้ใช้รถยนต์ขับขี่อย่างถูกต้อง มีสติและปลอดภัย รวมทั้งการสนับสนุนกิจกรรมกีฬาระดับโลกเช่น การแข่งขันฮอนด้า กอล์ฟ แอลพีจีเอ กิจกรรมการศึกษาโดยก่อตั้ง ศูนย์การศึกษาด้านเทคนิคของฮอนด้าที่วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม และกิจกรรมอบรมการขับขี่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่ต้องการสอบใบขับขี่