"อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง:พื้นที่สำหรับการสื่อสารร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน"
รายงานฉบับล่าสุดของกลุ่มธนาคารโลกพบว่านานาประเทศเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการใช้อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) เพื่อให้บริการประชาชนได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามมีโครงการจำนวนไม่มากนักที่สามารถพัฒนาต่อยอดจากช่วงนำร่องจนประสบผลสำเร็จ สาเหตุหลักเป็นเพราะรูปแบบการทำธุรกิจยังไม่ได้รับการพัฒนาให้ครอบคลุมเพียงพอ และความไม่ชัดเจนของนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนรูปแบบ โครงสร้างพื้นฐานของ IoT ที่จำเป็นต่อการพัฒนาธุรกิจ
"อินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่งมีศักยภาพมากมาย หาก ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมีความรู้ ความเข้าใจอย่างชัดเจน และรู้จักนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการทำงานอย่างเป็นระบบ" นายปราศสานา ลาล ดาส หัวหน้านักวิจัยของรายงาน " The Internet of Things: The New Government-to-Business Platform ” กล่าว
IoT จะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่เราในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การติดตั้งเซ็นเซอร์ในลิฟท์เพื่อแจ้งเตือนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหากเกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัย ข้อมูลความปลอดภัยของเด็กสามารถเรียกใช้ได้จากในกระเป๋านักเรียน การใช้รถบรรทุกขยะอัจฉริยะเพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับเทศบาล รายงานฉบับนี้นำเสนอการวิจัยเพื่อหาคำตอบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างไรในแต่ละประเทศ
IoT ได้รับความสนใจอย่างมากจากทุกภาคส่วน มีรายงานหลายฉบับระบุว่า มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนถึงล้านล้านชิ้นในโลกใบนี้ที่สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ เครื่องมือเหล่านี้มีศักยภาพที่มากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้
"รายงานฉบับนี้มุ่งสนับสนุนให้เกิดการหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากการใช้ประโยชน์ IoT" นายกาเนช ราซาแกม ผู้จัดการกลุ่มงานด้านการเงิน ขีดความสามารถในการแข่งขัน และนวัตกรรม“ กล่าว
ภาคเอกชนเริ่มพัฒนาเรื่องนี้ไปดัในระดับหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ดี แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ภาครัฐยังคงต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเรื่องนี้ในอีกหลายด้าน อาทิ
• ความรู้ - หน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ยังคงไม่คุ้นเคยกับ IoT และไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างไร
• เปลี่ยนเรื่องที่อยู่เพียงแค่ในความสนใจให้เกิดขึ้นจริง - หน่วยงานภาครัฐยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินโครงการริเริ่มที่มี IoT เป็นองค์ประกอบ โดยหน่วยงานภาครัฐต้องการชุดเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถเริ่มพัฒนาในด้านนี้ได้
• บทเรียนจากประเทศอื่น - หน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่อยากจะเรียนรู้โครงการริเริ่มในประเทศอื่น เพื่อที่จะศึกษาทั้งบทเรียนที่ทำแล้วได้ผล และไม่ได้ผล รวมถึงนัยสำคัญที่บทเรียนเหล่านี้จะมีผลต่อแผนการพัฒนาประเทศของตน
รายงานฉบับนี้นำเสนอตัวอย่างจากการดำเนินงานในเยอรมนี แคนาดา สหราชอาณาจักร เอสโตเนีย คาซัคสถาน อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
IoT เพิ่งเริ่มที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการภาครัฐ และผลการศึกษาของรายงานชิ้นนี้สะท้อนถึงสถานการณ์การการพัฒนาช่วงเริ่มต้นในด้านนี้ และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Disruptive Technology)
• การพัฒนา IoT ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น - รายงานนี้พบว่ามีโครงการริเริ่มจำนวนมากที่มีองค์ประกอบด้าน IoT แต่แทบจะไม่มีการขยายผลให้เป็นโครงการขนาดใหญ่ แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วก็ตาม
• นโยบายกฎระเบียบต่างๆ ยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย – นโยบายส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับประเทศและไม่ลงไปถึงท้องถิ่น และนโยบายส่วนมากมีขอบเขตจำกัด นอกจากนี้ การดำเนินโครงการนำร่องส่วนใหญ่ไม่ได้พิจารณาถึงโอกาสหรือความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการใช้ IoT อย่างถี่ถ้วน ซึ่งโดยส่วนมากภาครัฐจะใช้แนวทาง “รอ ทดลอง และเรียนรู้”
• รูปแบบการทำธุรกิจยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง - โครงการริเริ่มส่วนมากยังคงเป็นเพียงการทดลองและขาดแนวทางการระดมทุนในระยะยาว
• การขาดทักษะและความรู้เป็นปัญหาที่สำคัญ - การคิดในแบบดิจิทัลมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการใช้ IoT ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังขาดทักษะด้านการบริหารจัดการและด้านเทคนิคที่จำเป็น (โดยเฉพาะด้านการวิเคราะห์)
• ข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญ - การจัดการข้อมูลเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งสำหรับ IoT แต่หน่วยงานส่วนใหญ่ยังคงประสบปัญหากับประเด็นพื้นฐานในด้านการรวบรวม การเข้าถึง การจัดการ และการประเมินข้อมูล
• โครงสร้างพื้นฐานเป็นอุปสรรคสำคัญ – เครือข่ายที่จำเป็นสำหรับ IoT ยังคงไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเพียงพอ แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว
• ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ - การใช้งาน IoT ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในหลายกรณีต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะและจะต้องอาศัยนโยบายและหรือกฎระเบียบที่เหมาะสม โดยภาครัฐมีบทบาทสำคัญต่อการประสบความสำเร็จ (หรือความล้มเหลว) ของโครงการริเริ่มเหล่านี้
• โครงการริเริ่มที่ประสบความสำเร็จมีคุณลักษณะร่วมกัน - การสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีบทบาทนำเป็นประเด็นสำคัญ และรูปแบบการทำธุรกิจในระดับท้องถิ่นมากกว่ารูปแบบข้ามชาติ
รายงานฉบับเป็นจุดเริ่มต้นในการประเมินความก้าวหน้าของภาครัฐในการใช้ IoT เพื่อประกอบการทำงาน โดยชุดเครื่องมือนี้เป็นจุดเริ่มต้นชั่วคราวสำหรับภาครัฐที่ยังอยู่ระหว่างออกแบบโครงการริเริ่มต่างๆ แต่ยังคงต้องมีการพัฒนาอีกมากในด้านความรู้และการใช้งาน