news on February 27, 2018, 05:55:51 AM


ข่าวประชาสัมพันธ์ ประเทศไทยและธนาคารโลกจับมือกันส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

กรุงเทพ – 26 กุมภาพันธ์ 2561 – วันนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และธนาคารโลกได้ตกลงร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ เรื่องอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (IoT) ในประเทศไทยและนำการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลให้แก่ภาครัฐและภาคเอกชน
                                             
การประกาศความร่วมมือระหว่างสองสถาบันมีขึ้นในงานสัมมนาเปิดตัวรายงานล่าสุดของธนาคารโลก ภายใต้ชื่อ “The Internet of Things: The New Government-to-Business Platform” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานทั้งจากภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนกว่า 150 คนเข้าร่วมงาน

“อินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (IoT) มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของเราทุกคน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตระหนักถึงความสำคัญของ IoT ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลซึ่งจะกระตุ้นผลิตภาพและปรับปรุงชีวิตของประชาชนทุกคน เราจึงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการพัฒนา IoT ในประเทศไทยผ่านโครงการริเริ่มที่หลากหลาย” ฯพณฯ ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าว

“อินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (IoT) ไม่ได้เป็นแค่เพียงเรื่องที่อยู่ในกระแสความสนใจเท่านั้น เราเล็งเห็นว่า IoT เป็นเทคโนโลยีที่น่าตื่นเต้นที่สุดในทศวรรษนี้ซึ่งจะช่วยเร่งในเกิดการเปลี่ยนผ่านให้ภาครัฐและภาคเอกชนของไทยก้าวไปสู่ยุคดิจิทัล ดังนั้น เราจึงต้องการสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องของ IoT แก่ทุกภาคส่วน โดยการสร้างเครือข่ายเวทีสนทนา ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถพบปะและอภิปรายถึงโอกาสต่างๆ ผ่านการใช้เทคโนโลยีนี้  อีกทั้งยังเป็นหนทางให้นำ IoT มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่คนไทยด้วย” ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าว

DEPA เป็นหน่วยปฏิบัติภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลและนวัตกรรม รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในทุกภาคส่วนของประเทศไทย ในการนี้ DEPA ได้รับมอบหมายให้จัดตั้ง สถาบัน IoT เพื่อช่วยสร้างสรรค์ระบบนิเวศทาง IoT ที่เข้มแข็งแก่ประเทศไทย ดังนั้น สถาบันนี้จึงได้เริ่มบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่น่าตื่นเต้นนี้เป็นครั้งแรก จากการสัมมนาในครั้งนี้

“ธนาคารโลกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือกับประเทศไทยเพื่อทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (IoT) เกิดประโยชน์กับคนไทยทุกคน” นายชาบีห์ อาลี โมฮิบ ผู้นำกลุ่มงานด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง การเงิน และสถาบัน ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทยกล่าว

“อินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (IoT) มีศักยภาพสูงมาก อย่างไรก็ตามภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมจำเป็นต้องมีการทำงานที่เป็นระบบและสื่อสารกันอย่างใกล้ชิด ผมหวังว่าผลการศึกษาจากรายงานนี้จะช่วยตรวจสอบความก้าวหน้าในการดำเนินงานของประเทศไทยในเรื่องนี้ และส่งเสริมความมีส่วนร่วมในการคิดและอภิปรายร่วมกันระหว่างผู้กำหนดนโยบายและภาคเอกชนต่อไป ในเรื่องผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมของการนำ IoT ไปใช้งานในด้านต่างๆ”  นายปราศสานา ลาล ดาส ผู้เขียนหลักของรายงาน กล่าว

IoT คือระบบดิจิทัลที่มีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ มีการรับส่งรวบรวมข้อมูลผ่านระบบเซ็นเซอร์ (sensors) และส่งสัญญาณเชื่อมโยงเครือข่าย IOT ถูกนำมาใช้คิดวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ หรือในบางกรณีสามารถปรับการทำงานและการตอบสนองได้ตามปัจจัยแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์จีพีเอส หรือ Global Positioning System (GPS) ที่เรานำมาใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ระบบเซ็นเซอร์ที่สามารถนำไปติดตั้งไว้กับเสาไฟเพื่อตรวจจับค่าฝุ่นละอองและมลพิษได้ หรือเครื่องปรับอุณหภูมิอัตโนมัติที่เรานำมาใข้ตามบ้านเพื่อประหยัดการใช้พลังงานละลดค่าใช้ไฟฟ้าของแต่ละครัวเรือน

ผลการศึกษาจากรายงานนี้เรื่องความก้าวหน้าของการดำเนินงานภาครัฐในการนำอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (IoT)  พบว่ารัฐบาลภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกต่างมีความกระตือรือล้นที่จะนำ IoT มาใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน แม้ว่าจะมีอุปสรรคในระยะนำร่องไปแล้วก็ตาม รูปแบบของธุรกิจที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับโครงสร้างพื้นฐานของ IoT นั้นต้องมีการพัฒนาต่อไปอีกในอนาคต รวมถึงการปรับปรุงนโยบายภาพรวมดังต่อไปนี้

•   ปรับปรุงความรู้และความเข้าใจในเรื่อง IoT และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในหน่วยงานภาครัฐอย่างเร่งด่วน
•   เปลี่ยน “กระแสความสนใจไปสู่การปฏิบัติจริง” และเตรียม “คู่มือ” ในการดำเนินความริเริ่มนี้ซึ่งมีเรื่อง IoT เป็นองค์ประกอบ
•   การเผยแพร่ “บทเรียน” จากประเทศอื่นๆ เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่สนใจจะเรียนรู้ประสบการณ์ในเรื่องนี้จากประเทศอื่นๆ และอะไรที่ทำแล้วสำเร็จและไม่สำเร็จ
« Last Edit: February 27, 2018, 08:28:51 AM by news »

news on February 27, 2018, 08:29:07 AM
"อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง:พื้นที่สำหรับการสื่อสารร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน"

รายงานฉบับล่าสุดของกลุ่มธนาคารโลกพบว่านานาประเทศเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการใช้อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) เพื่อให้บริการประชาชนได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามมีโครงการจำนวนไม่มากนักที่สามารถพัฒนาต่อยอดจากช่วงนำร่องจนประสบผลสำเร็จ  สาเหตุหลักเป็นเพราะรูปแบบการทำธุรกิจยังไม่ได้รับการพัฒนาให้ครอบคลุมเพียงพอ และความไม่ชัดเจนของนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนรูปแบบ โครงสร้างพื้นฐานของ IoT ที่จำเป็นต่อการพัฒนาธุรกิจ

"อินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่งมีศักยภาพมากมาย หาก ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมีความรู้ ความเข้าใจอย่างชัดเจน และรู้จักนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการทำงานอย่างเป็นระบบ" นายปราศสานา ลาล ดาส หัวหน้านักวิจัยของรายงาน " The Internet of Things: The New Government-to-Business Platform ” กล่าว

IoT จะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่เราในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การติดตั้งเซ็นเซอร์ในลิฟท์เพื่อแจ้งเตือนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหากเกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัย ข้อมูลความปลอดภัยของเด็กสามารถเรียกใช้ได้จากในกระเป๋านักเรียน การใช้รถบรรทุกขยะอัจฉริยะเพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับเทศบาล  รายงานฉบับนี้นำเสนอการวิจัยเพื่อหาคำตอบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างไรในแต่ละประเทศ 

IoT ได้รับความสนใจอย่างมากจากทุกภาคส่วน มีรายงานหลายฉบับระบุว่า มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนถึงล้านล้านชิ้นในโลกใบนี้ที่สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ เครื่องมือเหล่านี้มีศักยภาพที่มากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้

"รายงานฉบับนี้มุ่งสนับสนุนให้เกิดการหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากการใช้ประโยชน์ IoT" นายกาเนช ราซาแกม ผู้จัดการกลุ่มงานด้านการเงิน ขีดความสามารถในการแข่งขัน และนวัตกรรม“ กล่าว

ภาคเอกชนเริ่มพัฒนาเรื่องนี้ไปดัในระดับหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ดี แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ภาครัฐยังคงต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเรื่องนี้ในอีกหลายด้าน อาทิ

•   ความรู้ - หน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ยังคงไม่คุ้นเคยกับ IoT และไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างไร

•   เปลี่ยนเรื่องที่อยู่เพียงแค่ในความสนใจให้เกิดขึ้นจริง - หน่วยงานภาครัฐยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินโครงการริเริ่มที่มี IoT เป็นองค์ประกอบ โดยหน่วยงานภาครัฐต้องการชุดเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถเริ่มพัฒนาในด้านนี้ได้

•   บทเรียนจากประเทศอื่น - หน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่อยากจะเรียนรู้โครงการริเริ่มในประเทศอื่น เพื่อที่จะศึกษาทั้งบทเรียนที่ทำแล้วได้ผล และไม่ได้ผล รวมถึงนัยสำคัญที่บทเรียนเหล่านี้จะมีผลต่อแผนการพัฒนาประเทศของตน

รายงานฉบับนี้นำเสนอตัวอย่างจากการดำเนินงานในเยอรมนี แคนาดา สหราชอาณาจักร เอสโตเนีย คาซัคสถาน อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

IoT เพิ่งเริ่มที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการภาครัฐ และผลการศึกษาของรายงานชิ้นนี้สะท้อนถึงสถานการณ์การการพัฒนาช่วงเริ่มต้นในด้านนี้ และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Disruptive Technology) 

•   การพัฒนา IoT ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น - รายงานนี้พบว่ามีโครงการริเริ่มจำนวนมากที่มีองค์ประกอบด้าน IoT แต่แทบจะไม่มีการขยายผลให้เป็นโครงการขนาดใหญ่ แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วก็ตาม

•   นโยบายกฎระเบียบต่างๆ ยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย – นโยบายส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับประเทศและไม่ลงไปถึงท้องถิ่น และนโยบายส่วนมากมีขอบเขตจำกัด นอกจากนี้ การดำเนินโครงการนำร่องส่วนใหญ่ไม่ได้พิจารณาถึงโอกาสหรือความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการใช้ IoT อย่างถี่ถ้วน ซึ่งโดยส่วนมากภาครัฐจะใช้แนวทาง “รอ ทดลอง และเรียนรู้”

•   รูปแบบการทำธุรกิจยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง - โครงการริเริ่มส่วนมากยังคงเป็นเพียงการทดลองและขาดแนวทางการระดมทุนในระยะยาว

•   การขาดทักษะและความรู้เป็นปัญหาที่สำคัญ - การคิดในแบบดิจิทัลมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการใช้ IoT ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังขาดทักษะด้านการบริหารจัดการและด้านเทคนิคที่จำเป็น (โดยเฉพาะด้านการวิเคราะห์)

•   ข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญ - การจัดการข้อมูลเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งสำหรับ IoT แต่หน่วยงานส่วนใหญ่ยังคงประสบปัญหากับประเด็นพื้นฐานในด้านการรวบรวม การเข้าถึง การจัดการ และการประเมินข้อมูล

•   โครงสร้างพื้นฐานเป็นอุปสรรคสำคัญ – เครือข่ายที่จำเป็นสำหรับ IoT ยังคงไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเพียงพอ แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว

•   ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ - การใช้งาน IoT ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในหลายกรณีต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะและจะต้องอาศัยนโยบายและหรือกฎระเบียบที่เหมาะสม โดยภาครัฐมีบทบาทสำคัญต่อการประสบความสำเร็จ (หรือความล้มเหลว) ของโครงการริเริ่มเหล่านี้

•   โครงการริเริ่มที่ประสบความสำเร็จมีคุณลักษณะร่วมกัน - การสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีบทบาทนำเป็นประเด็นสำคัญ และรูปแบบการทำธุรกิจในระดับท้องถิ่นมากกว่ารูปแบบข้ามชาติ

รายงานฉบับเป็นจุดเริ่มต้นในการประเมินความก้าวหน้าของภาครัฐในการใช้ IoT เพื่อประกอบการทำงาน โดยชุดเครื่องมือนี้เป็นจุดเริ่มต้นชั่วคราวสำหรับภาครัฐที่ยังอยู่ระหว่างออกแบบโครงการริเริ่มต่างๆ แต่ยังคงต้องมีการพัฒนาอีกมากในด้านความรู้และการใช้งาน
« Last Edit: February 27, 2018, 08:32:01 AM by news »