MSN on February 14, 2018, 03:36:47 PM
ความเชื่อมั่นของซีอีโอโลกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ-รายได้ปีนี้พุ่ง แม้ยังกังวลความเสี่ยง

กรุงเทพฯ, 14 กุมภาพันธ์ 2561 – PwC เผย “ผลสำรวจความเชื่อมั่นซีอีโอโลก” พบผู้นำธุรกิจทั่วโลกเกินกว่าครึ่ง หรือ 57% มีความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก (Global economic growth) ในปีนี้ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปี หลังแนวโน้มเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศหลักเริ่มสดใส รวมทั้งมั่นใจรายได้ปีนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยยังมีแผนที่จะรับพนักงานเพิ่ม ขณะที่การเข้ามาของดิจิทัล-ระบบออโตเมชันคาดจะทำให้ตำแหน่งงานของธนาคาร-ตลาดทุนทั่วโลกลดลง ชี้ความกังวลปัญหาก่อการร้ายจะคุกคามการเติบโตของธุรกิจ


นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นซีอีโอโลก หรือ Global CEO Survey ครั้งที่ 21 ของ PwC ที่ใช้ในการประชุมสมัชชาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) ณ กรุง ดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2561 ที่ผ่านมา โดยสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงจำนวนทั้งสิ้น 1,239 คนใน 85 ประเทศว่า “ความเชื่อมั่นของซีอีโอโลกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของรายได้บริษัทในปีนี้สูงขึ้นจากปีก่อน โดยพบว่า ผู้บริหารทั่วโลกถึง 57% เชื่อว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อนเกือบเท่าตัว จากปี 2560 ที่ 29% และยังเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555”

ด้าน นาย บ็อบ มอริตซ์ ประธาน บริษัท PwC โกลบอล กล่าวว่า “ความเชื่อมั่นของซีอีโอต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยสัญญาณของความแข็งแกร่งจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายๆ ตัว นอกจากนี้ ภาวะตลาดหุ้นที่กลับมาคึกคัก และการคาดการณ์จีดีพีในตลาดหลักๆ หลายแห่งของโลกที่คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้น จึงทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมซีอีโอทั่วโลกต่างพากันแสดงความมั่นใจมากต่อการเติบโตในปีนี้”

ทั้งนี้ จากมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกนี่เอง ทำให้ 42% ของผู้นำธุรกิจทั่วโลกยังแสดงความมั่นใจมากต่อการเติบโตของรายได้ (Revenue growth) ของบริษัทในอีก 12 เดือนข้างหน้า ขยับจากปีก่อนที่ 38%

เมื่อพิจารณาแยกเป็นรายประเทศจะพบว่า ระดับของความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของรายได้ของซีอีโอนั้นแตกต่างกันไป ยกตัวอย่าง ในสหรัฐอเมริกา ที่ความเชื่อมั่นกลับมาฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดจาก 39% เมื่อปีก่อนเป็น 52% ในปีนี้ ซึ่งหลังจากผ่านการเลือกตั้งประธานาธิบดีไปเมื่อปีก่อน จุดสนใจในเรื่องของการปฏิรูปในเรื่องกฎระเบียบและภาษีภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดใหม่ ได้ส่งผลให้ความมั่นใจของการเติบโตทางธุรกิจมีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยสวนทางกับความเชื่อมั่นของซีอีโอในสหราชอาณาจักรที่ลดลงอยู่ที่ 34% ในปี 2561 จากปีก่อนที่ 41% เนื่องจากความไม่แน่นอนของการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ เบร็กซิท ซึ่งเพิ่งได้ผ่านการเจรจาบรรลุข้อตกลงกันไปเมื่อไม่นานมานี้

สำหรับ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ซีอีโอแสดงความมั่นใจมากที่สุดว่ารายได้ปีนี้จะเพิ่มขึ้น ได้แก่ เทคโนโลยี (48%) บริการทางธุรกิจ (46%)  และ เภสัชกรรมและชีววิทยาศาสตร์ (46%)

ในส่วนของ 5 อันดับตลาดที่น่าลงทุนทั่วโลกในปีนี้นั้น พบว่า สหรัฐฯ (46%) ยังครองแชมป์ตลาดที่น่าลงทุนและมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของรายได้เป็นอันดับที่ 1 ในสายตาของซีอีโอทั่วโลก ทิ้งห่างอันดับที่ 2 อย่าง สาธารณรัฐประชาชนจีน (33%) ตามด้วยอันดับที่ 3 เยอรมนี (20%) อันดับที่ 4 อังกฤษ (15%) และ อินเดีย (9%) ที่ขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 5 ในปีนี้แทนที่ญี่ปุ่นในปีก่อน 

“ถึงแม้ว่าความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในระดับสูง แต่ผู้บริหารยังคงแสวงหาตลาดที่ปลอดภัยสำหรับการลงทุน เพื่อรักษาอัตราการเติบโตในระยะสั้น ซึ่งการเข้าถึงผู้บริโภค ทักษะ แหล่งเงินทุน และสภาพแวดล้อมของกฎระเบียบที่เอื้อต่อการทำธุรกิจจะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้นำธุรกิจสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตในระยะสั้นได้” นาย บ็อบ กล่าว

เมื่อถามถึงกลยุทธ์ในการเติบโตของผู้นำธุรกิจปีนี้นั้น พบว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากผลสำรวจเมื่อปีก่อน โดยผู้บริหารส่วนใหญ่จะดำเนินธุรกิจโดยอาศัยการเติบโตด้วยทรัพยากรหรือสินทรัพย์ที่มีอยู่ของบริษัทเป็นหลัก (79%) ตามมาด้วย การลดต้นทุน (62%) การหาพันธมิตรทางธุรกิจ (49%) และการควบรวมกิจการ (42%) ขณะที่การเป็นหุ้นส่วนร่วมกับผู้ประกอบการและธุรกิจสตาร์ทอัพมีการปรับขึ้นเล็กน้อยเป็น 33% ในปีนี้จาก 28% ในปีที่ผ่านมา

3 ปัจจัยเสี่ยงกระทบการเติบโตมากที่สุด
แม้ความเชื่อมั่นต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้น แต่ปัจจัยที่สร้างความกังวลให้กับผู้บริหารก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยครอบคลุมความเสี่ยงในวงกว้างทั้งทางด้านธุรกิจ สังคม และ เศรษฐกิจ โดยผลสำรวจพบว่า 3 อันดับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของรายได้และสร้างความกังวลให้แก่ซีอีโอโลกมากที่สุด ได้แก่ อันดับที่ 1 กฎระเบียบที่เข้มงวดมากเกินไป (42%) อันดับที่ 2 การก่อการร้าย (41%)  และอันดับที่ 3 ความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมือง และ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ (40% เท่ากัน) โดยความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการก่อการร้ายนั้น ยังถือเป็นประเด็นที่ผู้นำธุรกิจทั่วโลกกังวลเป็นอย่างมากในปีนี้ โดยความกังวลขยับขึ้นเป็นเท่าตัวจากปีก่อน (20% ในปี 2560) และยังไต่ระดับจากอันดับที่ 12 ในปีก่อนมาอยู่ที่อันดับ 2 ในปีนี้

นอกจากนี้ อีก 1 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่น่าสนใจ คือ ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว (31% ปีนี้ เทียบกับ 15% ปีที่แล้ว) หลังจาก 1 ปีของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ได้มีการประชุมและลงนามร่วมกันกว่า 190 ประเทศ และนำไปสู่การกระทำโดยสมัครใจในด้านต่างๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลงทุนในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ เหตุการณ์ทางสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง อีกทั้งการถอนตัวออกจากความตกปารีสของสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวของภาคธุรกิจในการบริหารความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ กฎระเบียบข้อบังคับ และ การเพิ่มขีดความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ

“ระดับความกังวลที่เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ ถูกขับเคลื่อนโดยการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมืองและปัญหาทางสังคมในด้านต่างๆ ที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนขึ้น มากกว่าพลวัตการเปลี่ยนแปลงของตลาดของผู้นำธุรกิจเอง นี่สะท้อนให้เห็นชัดว่า ความมั่นใจต่อการเติบโตของรายได้ในระยะกลางถึงระยาวจะถูกจำกัดด้วยอุปสรรคที่แม้กระทั่งโลกธุรกิจก็ไม่สามารถควบคุมหรือแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้” นาย บ็อบ กล่าว

เล็งเพิ่มการจ้างงาน-ห่วงแรงงานขาดความพร้อมด้านดิจิทัล
ทั้งนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ผู้นำธุรกิจทั่วโลกกว่า 54% มีแผนจะเพิ่มการจ้างงานในปีนี้ สูงกว่าปีก่อนที่ 52% โดยมีผู้นำเพียงแค่ 18% เท่านั้นที่คาดว่าจะลดจำนวนพนักงานลง สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการจ้างพนักงานเพิ่มมากที่สุดคือ สุขภาพ (71%) เทคโนโลยี (70%) บริการทางธุรกิจ (67%) สื่อสาร (60%) และ โรงแรม (59%)

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงทักษะด้านดิจิทัลพบว่า มากกว่า 1 ใน 4 หรือ 28% ของซีอีโอทั่วโลกมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับความพร้อมของทักษะทางด้านดิจิทัลของแรงงานภายในประเทศที่พวกเขาดำเนินธุรกิจอยู่  โดยในบางประเทศอย่าง แอฟริกาใต้นั้น ตัวเลขความกังวลในด้านนี้สูงถึง 49% ตามหลังจีนที่ 51% และบราซิลที่ 59%

ทั้งนี้ การลงทุนในการพัฒนาสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้มีความทันสมัย รวมทั้งพัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมพนักงานและการเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการอื่นๆ จะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยให้ผู้บริหารดึงดูดและรักษาทาเลนต์ที่ต้องการได้

เมื่อพูดถึงผลกระทบของเทคโนโลยีต่อการจ้างงานและทักษะ ผลสำรวจพบว่า ในขณะที่พนักงานมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาช่วยปรับปรุงแนวโน้มของการทำงาน บรรดาผู้ซีอีโอกลับยอมรับว่า การฝึกฝนทักษะของพนักงานใหม่ และการเพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับการเข้ามาของระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ที่อาจมีผลกระทบต่องานในอนาคต กำลังกลายเป็นประเด็นสำคัญของพวกเขาต้องจัดการ โดย 2 ใน 3 ของผู้นำธุรกิจเชื่อว่า พวกเขามีหน้าที่ที่ต้องฝึกฝนทักษะให้กับพนักงานที่อาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มวิศวกรรมและก่อสร้าง (73%) เทคโนโลยี (71%) และสื่อสาร (77%) โดย 61% ของซีอีโอยังบอกด้วยว่า ได้พยายามสร้างความไว้วางใจกับพนักงานของตนผ่านการสร้างความโปร่งใสว่า ระบบอัตโนมัติและเอไอจะเข้ามามีผลกระทบต่อพนักงานของพวกเขาอย่างไรบ้าง

“ระบบการศึกษาของเราจำเป็นจะต้องติดอาวุธทางปัญญาให้กับแรงงานด้วยทักษะที่ใช่ เพื่อให้พวกเขาสามารถประสบกับความสำเร็จ โดยภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจจำเป็นต้องทำงานเป็นพันธมิตรกันอย่างแท้จริงในการจับคู่ทาเลนต์ให้เหมาะสมกับโอกาสของงาน นั่นหมายรวมถึง การเป็นผู้บุกเบิกในการนำรูปแบบและวิธีการใหม่ๆ มาใช้ในการเรียนการสอนให้กับนักเรียน และการพัฒนาทักษะพนักงานในสาขาที่จะมีความสำคัญต่อตลาดแรงงานที่ถูกขับเลื่อนด้วยเทคโนโลยีในอนาคต และยังหมายถึงการสนับสนุนและโน้มน้าวให้เกิดโอกาสในการฝึกฝนและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะในท้ายที่สุด การเรียนรู้และฝึกฝนเกี่ยวกับธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ตนเกี่ยวข้อง จะเป็นสิ่งจำเป็นที่อยู่คู่ไปกับการทำงานไปตลอดชีวิต” นาย บ็อบ กล่าว

ผลสำรวจของ PwC ยังระบุว่า การเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ยุคดิจิทัลและระบบอัตโนมัติจะส่งกระทบอย่างรวดเร็วและฉับพลัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อกลุ่มธุรกิจที่ให้บริการทางด้านการเงิน โดยเกือบ 1 ใน 4 หรือ 24% ของผู้บริหารในกลุ่มธนาคาร ตลาดทุน และประกันภัยมีแผนที่จะลดจำนวนพนักงานลง ขณะที่อีก 28% มองว่า งานในสายธนาคารและตลาดทุนมีทีท่าว่าจะสูญหายไปด้วย สืบเนื่องจากการเข้ามาของเทคโนโลยี และระบบอัตโนมัติ

นอกจากนี้ ซีอีโอยังรับทราบถึงภาวะที่เรากำลังอาศัยอยู่บนโลกที่เต็มไปด้วยรอยร้าว (Fractured world) มากขึ้น โดยโลกกำลังถูกแบ่งออกเป็นสองขั้วบนพื้นฐานที่ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตจะดำเนินไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อยหรือคนส่วนมาก ซีอีโอมองว่า โลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่ความเจริญที่ต้องอาศัยระบบเมตริกแบบใหม่และมีหลากหลายมิติมากขึ้นในการวัดการเจริญเติบโต

“ระดับความกังวลของซีอีโอที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภัยคุกคามทางสังคม ชี้ให้เห็นถึงการที่บริษัทต้องนำพาธุรกิจไปบนทิศทางที่ถูกต้องท่ามกลางความขัดแย้งบนโลกที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากขึ้น ซีอีโอทั่วทุกภูมิภาคและทุกประเทศที่เราพูดคุยด้วยตระหนักว่า การวัดความเจริญเติบโตและผลกำไรแบบเก่าเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป โดยเฉพาะในบริบทของเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้นเราคาดว่า จะเห็นการพัฒนาของการใช้ระบบการวัดความเจริญเติบโตขององค์กร ที่สามารถสะท้อนถึงตัวธุรกิจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวมทั้งสื่อสารเป้าหมายขององค์กรได้ชัดเจนมากขึ้นในอนาคต” นาย บ็อบ กล่าว

นาย ศิระ กล่าวเสริมว่า เมื่อวิเคราะห์ถึงความเชื่อมั่นของซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปก ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของรายได้บริษัทในปีนี้นั้น พบว่ามีทิศทางเช่นเดียวกับซีอีโอโลก โดยผู้นำธุรกิจเอเปกถึง 60% เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะดีกว่าปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจากปีที่ผ่านมาที่ 28% ขณะที่ 44% ของผู้นำธุรกิจเอเปก เชื่อมั่นว่า รายได้ของบริษัทปีนี้จะดีกว่าปีก่อนเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ 37%

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นภัยคุกคามธุรกิจในสายตาซีอีโอเอเปก 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ (52%) ตามด้วยอันดับที่ 2 เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (51%) และอันดับที่ 3 ภัยก่อการร้าย (46%)
“การลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ถือเป็นเรื่องที่ธุรกิจยุคนี้ต้องไม่มองข้าม เพราะไม่เช่นนั้น จะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่ง หรือผู้เล่นรายใหม่ ที่เปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงและเร่งลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพมากกว่า นอกจากนี้ เรามองว่า การพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถด้านดิจิทัลและทักษะสะเต็มของพนักงาน จะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยดึงศักยภาพแฝงของพนักงานออกมาช่วยพัฒนาองค์กรให้เติบโตได้” นาย ศิระ กล่าวทิ้งท้าย

ดาวน์โหลดรายงานได้ที่: www.pwc.com/ceosurvey.

หมายเหตุ
1.   PwC ทำการสัมภาษณ์ซีอีโอจำนวนทั้งสิ้น 1,293 คน ใน 85 ประเทศ ระหว่างเดือนสิงหาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน ปี 2560 โดยการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง ถูกวัดจากค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า มุมมองความคิดเห็นของผู้บริหารถูกสะท้อนออกมาอย่างทั่วถึงในทุกๆ ประเทศ ทั้งนี้ 11% ของการสัมภาษณ์ เป็นการสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ ขณะที่ 77% เป็นการสัมภาษณ์ผ่านทางออนไลน์ และ 12% สัมภาษณ์ทางไปรษณีย์ หรือการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว โดยการสัมภาษณ์เชิงปริมาณทั้งหมดนี้ถูกจัดเก็บเป็นความลับ นอกจากนี้ 40% ของบริษัทที่ทำการสำรวจมีรายได้ตั้งแต่ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป 35% ของบริษัทมีรายได้ระหว่าง 1 ร้อยล้านดอลลาร์ถึง 1 พันล้านดอลลาร์ 20% ของบริษัทมีรายได้ไม่เกิน 1 ร้อยล้านดอลลาร์และ 56% ของบริษัทที่สำรวจนั้น เป็นของเอกชน

2.   การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ถือเป็นภัยคุกคามที่ติด 1 ใน 5 อันดับของธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และยุโรปตะวันตก และยังติด 1 ใน 5 อันดับภัยคุกคามที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค วิศวกรรมและก่อสร้าง ขนส่งและโลจิสติกส์
3.   โลกาภิวัตน์: เมื่อถามถึงโลกาภิวัตน์ว่า มีส่วนช่วยในการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนหรือไม่ เกือบ 40% ของซีอีโอตอบว่า “ไม่เลย” ขณะที่ 30% กล่าวว่า โลกาภิวัตน์ ไม่ได้มีส่วนช่วยในการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการขาดแคลนทรัพยากร และ มากกว่า 1 ใน 4 ของซีอีโอกล่าวว่า โลกาภิวัตน์ไม่ได้ช่วยปรับปรุง ‘ความมั่นคงและประสิทธิภาพของระบบภาษีทั่วโลกเลย’

4.   ความไว้วางใจ: 71% ของซีอีโอทำการวัดความไว้วางใจระหว่างพนักงานและผู้นำ ขณะที่ 74% ของซีอีโอวัดความน่าเชื่อถือระหว่างองค์กรและลูกค้า โดยการดำเนินการในด้านความปลอดภัยไซเบอร์ การบริหารความแตกต่างหลากหลาย รวมไปถึงการเพิ่มความโปร่งใสของแผนงานและกลยุทธ์ทางธุรกิจล้วนแล้วแต่เป็นจุดโฟกัสที่สำคัญของประเด็นนี้

5.   ในขณะที่ซีอีโอเพียง 18% คาดว่า จะลดจำนวนพนักงานลง พวกเขายังคาดว่า 4 ใน 5 หรือ 80% ของงานเหล่านั้นจะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดย 52% คาดว่าจะมีผลกระทบอยู่บ้าง และอีก 28% คาดว่าจะมีผลกระทบอย่างมาก

6.   ในปีนี้ผลการศึกษา Global Innovation 1000 ของ PwC พบว่า 52% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า ชาตินิยมทางเศรษฐกิจจะมีผลกระทบในระดับปานกลางถึงระดับมากต่อการทำงานในส่วนการวิจัยและพัฒนาขององค์กร โดยจะเข้ามาแทนที่เครือข่ายแบบบูรณาการและพึ่งพาระหว่างกันอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

เกี่ยวกับ PwC

ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า  เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 158 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 236,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี  สำหรับประเทศไทย บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 59 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรกว่า 1,800 คนในประเทศไทย

PwC refers to the PwC network and/or one or more of its member firms, each of which is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.

© 2018 PwC. All rights reserved
« Last Edit: February 14, 2018, 03:39:43 PM by MSN »