MSN on February 01, 2018, 02:57:20 PM
ข่าวประชาสัมพันธ์ โบรกฯ การันตี SPPT  “เทิร์นอะราวด์” ตั้งแต่ Q4/60 เป็นต้นไป มั่นใจผลงานปี 61 โตก้าวกระโดด หลังสยายปีกธุรกิจใหม่ เตรียมปิดดีลซื้อกิจการ 1-2 บริษัทด้านไอที ภายในไตรมาส 1/61

โบรกฯ การันตี SPPT  “เทิร์นอะราวด์” ตั้งแต่ Q4/60 เป็นต้นไป ฟาก “ดร.ปกรณ์”บอสใหญ่ ลุยแตกไลน์ธุรกิจสู่การเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ แพลทฟอร์ม ด้านโลจิสติกส์ และด้านฟินเทค อย่างครบวงจร มั่นใจช่วยผลักดันรายได้-กำไร ปี 61 โตก้าวกระโดด แย้ม Q1/61 เตรียมปิดดีลซื้อกิจการด้านไอที 1-2 บริษัท   

บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เผยแพร่บทวิเคราะห์หุ้น บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SPPT  ภายหลังเข้ารับฟังข้อมูลธุรกิจจากผู้บริหาร เมื่อเร็วๆนี้  ว่า SPPT มีโอกาสขายธุรกิจโรงงานผลิต HDD ที่ขาดทุนออกไป เพื่อหาช่องทางการลงทุนธุรกิจด้านไอทีเพิ่มเติมอีก จากที่เข้าซื้อธุรกิจรับเหมาระบบฯไปแล้วก่อนหน้า ทั้งนี้ ประเมินว่าผลการดำเนินงานของ SPPT  จะเทิร์นอะราวด์ ตั้งแต่ Q4/60


ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ประธานกรรมการ บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SPPT เปิดเผยว่า ในปี 2561 จะเป็นปีแห่งการเทิร์นอะราวด์ของบริษัทฯ  โดยจะสามารถสร้างผลกำไรได้สูงสุดในรอบหลายปี

“ปีที่ผ่านมาบริษัทฯ เข้าซื้อหุ้น บริษัท เทอร์ราไบท์ เน็ท โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) (TERA) เพื่อขยายไลน์ธุรกิจจากการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มาสู่ธุรกิจวางระบบและให้บริการด้านไอที  ซึ่งจะเริ่มสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯในปีนี้ ขณะที่แนวโน้มก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน TERA  มีรายได้เฉลี่ยปีละประมาณ 400 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี  มีคู่ค้าภาคเอกชนชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับความไว้วางใจให้บริษัทฯเป็นผู้วางระบบ” ดร.ปกรณ์กล่าว
 
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้มีการยังดำเนินขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดตั้งบริษัทย่อย 2 บริษัท คือ 1. บริษัท เอสพีพี อินเทลลิเจนซ์  ดำเนินธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อให้บริการแพลทฟอร์มด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งเป็นตัวกลางในการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ ให้กับผู้ประกอบการด้านขนส่ง และ 2.บริษัท เอสพีพี ฟินเทค จำกัด ดำเนินธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อให้บริการ แพลทฟอร์ม ด้าน FinTech สำหรับให้บริการทางการเงินครบวงจร รองรับความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิตอลที่มีจำนวนมากกว่า 50-60 ล้านคน ซึ่งตลาดนี้มีกำลังซื้อเป็นจำนวนมหาศาล

“มั่นใจว่าการขยายไลน์ธุรกิจเข้าสู่การเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ แพลทฟอร์ม ด้านโลจิสติกส์ และด้านฟินเทค ให้บริการด้านการเงินอย่างครบวงจร ในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันผลการดำเนินงานของบริษัทฯเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมั่นคง สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น นอกจากนี้  บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะขยายฐานรายได้ของบริษัทฯ แข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการเข้าซื้อหรือร่วมทุนในกิจการที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับธุรกิจไอที ซึ่งคาดว่าในช่วง Q1/61 จะมีความชัดเจน 1-2 ดีล  ” ดร.ปกรณ์กล่าวในที่สุด