โครงการบ่มเพาะ IDE Accelerator แนวทางการสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม
ศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ IDE Center by UTCC ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศ และการแข่งขันเป็นเวทีสำคัญในการนำเสนอโอกาสของนวัตกรรมที่มีศักยภาพในภูมิภาคต่าง ๆ ในปัจจุบัน แต่การแข่งขันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้แบบ IDE กระบวนการสร้างโอกาสเริ่มจากตัวผู้ประกอบการที่จะขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมได้โดย 3 วิธี ได้แก่
1. พวกเขามีความคิดที่จะเปลี่ยนโลก (หรือไม่มากก็น้อย)
2. พวกเขามีเทคโนโลยีหรือวิธีการที่ดีกว่าในการทำบางสิ่ง
3. พวกเขามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะแสวงหาความท้าทายและมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างทีมที่เหมาะสม กำหนดแนวทางแก้ไขสำหรับปัญหาใหญ่ และสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินที่จำเป็น
หลังจากนั้น ผู้ประกอบการก็จะเข้าสู่โครงการบ่มเพาะ IDE Accelerator ซึ่งเป็นแนวทางการสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบ IDE ซึ่ง IDE Center by UTCC ได้พัฒนาร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือ MIT ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้นำเอาความรู้เชิงวิชาการมาถ่ายทอดให้แก่นักศึกษาและผู้ประกอบการ ด้วยการใช้หลักการ 24 ขั้นตอนของการเป็นผู้ประกอบการ (24 Steps of Disciplined Entrepreneurship) ของ Bill Aulet ผู้อำนวยการ Martin Trust Center for MIT Entrepreneurship และอาจารย์ของ MIT Sloan School of Management ซึ่งเป็นแนวคิดนอกกรอบจากการเป็นผู้ประกอบการแบบเดิม เนื่องจากการสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven Entrepreneurship) จะต้องมีการสร้าง Design Thinking ที่คิดจากปัญหาที่มีอยู่ในสังคมแล้วจะผลิตอะไรเพื่อตอบโจทย์ปัญหาเหล่านั้นในการสนองความต้องการของผู้บริโภคเป็นจุดเริ่มต้น
สำหรับทีมที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะ IDE Accelerator แนวทางการสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมจะได้รับคำแนะนำจากทีมโค้ชและผู้เชี่ยวชาญจาก MIT ในระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งแต่ละทีมที่ได้รับการคัดเลือกจะได้พัฒนาแนวคิดเชิงนวัตกรรม ทดสอบตลาดจริงเพื่อเข้าใจ และวิเคราะห์ลูกค้าคนแรกของตลาดแรก และพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งแต่ละทีมจะสามารถพัฒนาแผนขยายตลาดที่ตนพัฒนาให้ได้มากที่สุด และทีมที่เกิดจากโครงการบ่มเพาะ IDE Accelerator จะมีความพร้อมที่จะพูดคุยกับนักลงทุน และระดมทุนโดยผ่านการแข่งขัน IDE Competitions ซึ่งถือเป็นโอกาสในการดึงความสนใจของนักลงทุนและได้รับทุนเพื่อเริ่มกิจการแบบฉบับ IDE
ภายใต้โครงการบ่มเพาะ IDE Accelerator ทาง IDE Center by UTCC ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนา ฝึกอบรมผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมจำนวนทั้งสิ้น 1,000 รายผ่านการแข่งขันแผนธุรกิจ 3 รายการเพื่อคัดเลือกทีมธุรกิจธุรกิจที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ สำหรับการแข่งขันแผนธุรกิจ 3 รายการประกอบด้วย
1. กะเทาะเปลือก คือ การแข่งขันด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการที่ใหญ่ที่สุดอีกเวทีหนึ่งของประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อมองหาโครงการหรือธุรกิจที่มีศักยภาพสูง และจัดในรูปแบบการแข่งขันเป็นภาษาไทย โดยการแข่งขันนี้ทีมจากทั่วประเทศจะได้นำเสนอโครงการที่มีวิธีแก้ไขปัญหาด้วยการใช้นวัตกรรมสู่การแก้ไขปัญหาที่สำคัญในสังคม และเป็นโอการในการเสริมสร้างแรงบันดาลใจ เฟ้นหาความคิดใหม่ ๆ พัฒนาทีมให้มีศักยภาพ และสนับสนุนชุมชนนวัตกรรมของ IDE
2. Global Social Venture Competition (GSVC-SEA) หรือ GSVC คือการแข่งขันการประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2550 โดยความร่วมมือระหว่าง GSVC และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) เพื่อกระตุ้นการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อสังคม และเป็นเวทีแข่งขันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมในภูมิภาคได้นำเสนอแผนธุรกิจแก่นักลงทุนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม โดยทีมต่าง ๆ จากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการคัดเลือกจะมีโอกาสเข้าร่วมในรอบชิงชนะเลิศ (GSVC Global Finals) ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สำหรับในปีที่ผ่านมามีทีมเข้าร่วมการแข่งขัน GSVC-SEA ทั้งจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง และโอเชียเนีย และคิดเลือก 2 ทีมเพื่อเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์
3. MIT Enterprise Forum ประเทศไทย (MITEF) เป็นเวทีสำคัญในการเชื่อมต่อผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมจากทั่วโลก โดยใช้องค์ความรู้ตามแนวทาง IDE ของ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือ MIT ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยบ่มเพาะผู้ประกอบการและทีมที่เข้าแข่งขันให้สามารถเปลี่ยนไอเดียเป็นธุรกิจที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ผลักดันทีมให้สามารถเข้าถึงวามรู้เชิงปฏิบัติ การฝึกอบรมและพัฒนา และทรัพยากร เพื่อนำธุรกิจไปสู่ขั้นต่อไป ไปจนถึงการยกระดับความรู้ธุรกิจใหม่และความเชี่ยวชาญของ MIT เพื่อเข้าถึงเครือข่ายของ MIT Enterprise Forum ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมจากทั่วโลก สำหรับ MITEF ประเทศไทยในปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้สมัครมากกว่า 40 ทีมจากประเทศไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา และสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า และได้คัดเลือกทีมที่มีศักยภาพทางด้านนวัตกรรม 3 ทีม เพื่อเข้าร่วม MITEF Booth Camp ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือ MIT ประเทศสหรัฐอเมริกา