MSN on January 05, 2018, 01:59:39 PM
ตัวแทนเกษตรกรวอนรัฐแนะนำการใช้ไกลโฟเซตอย่างถูกวิธีก่อนตัดสินจำกัดการใช้





เกษตรกรจากหลายภูมิภาคในประเทศไทยชี้ ผลเสียจากการจำกัดการใช้ไกลโฟเซตในการกำจัดวัชพืชอาจกระทบความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรมในประเทศไทย วอนรัฐแนะวิธีการใช้ที่ถูกต้อง ยันวิธีอื่นในการกำจัดวัชพืชและหญ้าเป็นต้นทุนที่ไม่สมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์




หลังจากมีกระแสข่าวว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วางแผนเดินหน้านโยบาย ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีทางการเกษตร รวมทั้งกำหนดให้มีการจำกัดการใช้งานสารไกลโฟเซต หรือยาฆ่าหญ้า ในบางพื้นที่อย่างเข้มงวด กลุ่มเกษตรกรในภูมิภาคต่างๆในประเทศไทยได้ออกมาแสดงความคิดเห็น และเปรียบเทียบข้อดี และข้อเสีย จากมาตรการดังกล่าว ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำประกาศของรัฐบาล

นายศุภชัย โชติชัยชรินทร์ กรรมการบริษัทพิธานปาล์มพัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นเกษตรกรสวนปาล์มในจังหวัดกระบี่ ระบุถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับรูปแบบการทำการเกษตรของครอบครัว ซึ่งมีการใช้สารไกลโฟเซตในการกำจัดวัชพืชมาตลอด โดยระบุว่าตามธรรมชาติของสวนปาล์ม การกำจัดวัชพืชไม่ได้มีความถี่มาก นอกจากนั้น ปาล์มยังเป็นพืชที่มนุษย์บริโภคในลักษณะของน้ำมันที่ผ่านการแปรรูปเรียบร้อยแล้ว เขามั่นใจว่า ไกลโฟเซตที่อยู่ในดินจากการเตรียมแปลงก่อนปลูกปาล์ม ไม่น่าจะส่งผลกระทบเป็นนัยยะสำคัญที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้

“ปัจจุบันผู้บริโภคคำนึงถึงเรื่องสุขภาพมาก สำหรับปาล์มเองโอกาสที่จะมีเรื่องสารเคมีที่ถูกดูดขึ้นไปถึงผลนั้นอาจจะเป็นไปได้น้อย ทั้งนี้ก็ขึ้นกับกระบวนการผลิตด้วย การผลิตน้ำมันปาล์มไม่น่าจะมีผลกระทบเยอะจากสารเคมีตกค้าง จริงๆ แล้ว หากจะพูดถึงผลกระทบ น่าจะอยู่ที่ชาวสวนที่นำยาฆ่าหญ้าไปใช้งานมากกว่า ซึ่งในส่วนของสวนปาล์มของเราก็ต้องมีการอบรมให้ความรู้คนงานที่จะลงแปลงเพื่อปรับพื้นที่ และพ่นยาฆ่าหญ้าว ต้องแต่งตัวให้มิดชิด ต้องเรียนรู้วิธีการพ่นยาที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ตัวเองได้รับผลกระทบ”

กรรมการผู้จัดการบริษัทพิธานปาล์มพัฒนา จำกัด กล่าวเสริมว่าปัจจุบันสวนปาล์มใช้วิธีพ่นยาฆ่าหญ้า ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่สะดวกและรวดเร็ว หากมีการจำกัดการใช้งานไกลโฟเซตตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดจริง เกษตรกรน่าจะต้องหันมาใช้วิธีถอนหญ้าด้วยการจ้างแรงงาน หรือใช้รถไถ ซึ่งไม่น่าจะทำได้หากต้องการผลผลิตตามเป้าหมาย ทั้งปลูก และตัดขายได้ทันตามช่วงเวลาที่กำหนด

“การจ้างคนเป็นต้นทุนสูงกว่าการใช้ยาแน่นอน แต่ต้นทุนที่มากกว่าคือเรื่องของเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวนใหญ่ๆ กว่าจะใช้คนถอนหญ้าจนหมดก็คงปลูกพืชได้ช้าลง ผลผลิตที่เก็บได้ช้าก็จะกลับมาเป็นรายได้ที่ช้าและไม่เข้าเป้า ส่วนนี้ผมคิดว่า แทนที่รัฐจะบอกไม่ให้เราใช้ ให้มองมุมต่างว่า เรามาช่วยกันดูผลเสีย ผลดีแล้วเปรียบเทียบกัน ต้องทำข้อมูลออกมาดูจริงๆ ว่า ผลกระทบเป็นอย่างไร ตัวเลขทางเศรษฐกิจจะกระทบหรือไม่

หรือหากจะจำกัดการใช้ก็ควรดูเป็นประเภทของพืชแต่ละชนิดไป ผมเชื่อว่า ปัจจุบันมีหลายประเทศที่พยายามเป็นประเทศเกษตรกรรมปลอดสารเคมี อันนั้นสำหรับศัตรูพืช แต่ว่า วิธีการสำหรับการกำจัดหญ้าในแปลงที่ไม่ใช้สารเคมียังไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็ควรจะช่วยกันศึกษาก่อน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนให้ได้ว่า ถ้าไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าแล้วจะใช้อะไร”

ทางด้านนายสำนวน สายจันทร์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และ หอมแดง ในจังหวัดยโสธร กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ไม่ค่อยประสบปัญหาการเกษตร และได้ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างดี เนื่องจากมีการเตรียมแปลงให้เรียบร้อย “ปกติแล้วเราใช้ยาฆ่าหญ้านะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลูกหอมที่ต้องใช้ เพราะหญ้าที่ขึ้นมามันไปทำให้หอมของเราต้นเล็กลงๆ

การพ่นยาฆ่าหญ้ามีข้อดีคือทำให้รากของหญ้าที่ว่ามันใหญ่ และเหนียว สามารถย่อยสลายได้ง่ายขึ้น ทำให้เราไถพรวนเพื่อรอการปลูกได้ง่ายดินก็ดี ร่วนซุย ปลูกพืชอื่นๆ ได้ผลดีด้วย” นายสำนวนกล่าวพร้อมกับบอกว่า หากยาฆ่าหญ้าถูกจำกัดการใช้งาน สิ่งที่เกษตรกรกังวลที่สุดคือเรื่องของต้นทุนแรงงาน ที่อาจจะไม่สามารถแบกรับได้ “เดี๋ยวนี้หาคนมาทำไร่ ค่าแรงวันละ  350 บาท ถ้ามาถอนหญ้าให้หมดแปลงคงจะใช้เวลาหลายวันน่าดู และไม่น่าจะแบกรับต้นทุนตรงนี้ไหว”

นายวัฒนา แก้วพ่วง เกษตรกรรายย่อย ปลูกข้าวและหอมแดง เป็นเกษตรกรอีกรายที่วิตกกังวลกับต้นทุนที่จะเพิ่มสูงขึ้น จากการที่ต้องหันมาใช้แรงงานกำจัดวัชพืช

“ปลูกข้าวเราใช้ยาฆ่าหญ้าได้ ถ้าไม่ใช้อาจไม่กระทบเท่าไหร่นัก เพราะเราอาจใช้วิธีไถกลบวัชพืชในแปลงไป แต่ตรงกันข้ามกับการปลูกหอมแดงเลย อันนั้นต้องใช้ยาฆ่าหญ้าและยาควบคุมหญ้า ใช้รถไถลำบาก แต่ถ้าต้องไถกันจริงๆ บ้านเรายังโชคดีที่มีรถไถ บางแปลงไม่มีรถ ก็ต้องใช้แรงงานคน จะเป็นต้นทุนที่หนักมาก ถ้าไม่ให้เราใช้ยาฆ่าหญ้าสำหรับแปลงหอมแดงแล้ว อาจจะต้องทำให้เราเปลี่ยนอาชีพไปเลย”

ทั้งนี้ องค์การความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป European Food Safety Authority (EFSA) ระบุว่า ไกลโฟเซตไม่ใช่สารก่อมะเร็งในมนุษย์ และสหภาพยุโรปมีมติให้ต่ออายุทะเบียนไกลโฟเซตอีก 5 ปี โดยไม่มีเงื่อนไขการจำกัดการใช้หรืออื่นใด
« Last Edit: January 05, 2018, 02:03:21 PM by MSN »