happy on November 16, 2017, 10:35:04 PM
เปิดตัวนวัตกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าแห่งอนาคต ทั้งภายในบ้านและอาคาร
ด้วยพลังงานสะอาด (Green Energy) ครั้งแรกในประเทศไทย!


รวมผู้บริหาร

“เอ็นเนอร์ยี่ติงส์” ผู้นำด้านนวัตกรรมโครงข่ายการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าสุดล้ำสมัยใหม่แห่งยุค

บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ติงส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้นำนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการพลังงานภายในบ้านและอาคารที่ล้ำสมัยรายแรกของประเทศไทย เปิดตัวแบตเตอร์รี่ไฟฟ้าหน่วยเก็บพลังงานสำรองด้วยแบตเตอร์รี่ Li-ion สำหรับบ้านพักอาศัยที่ออกแบบได้อย่างสวยหรู รวมถึงเทคโนโลยีการแลกเปลี่ยนพลังงานสะอาดด้วยเทคโนโลยี “บล็อกเชน” (Blockchain) และการชำระเงินโดยอัตโนมัติด้วยสกุลเงินบนโลกดิจิทัล ภายในงาน Engineering Expo 2017 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา

นายธนชัช โพชนา  ประธานกลุ่มบริษัท Enserv Things กล่าวว่า “เอ็นเนอร์ยี่ติงส์ คือบริษัทสตาร์ทอัพที่มีจุดมุ่งหมายในการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าสมัยใหม่ ทั้งภายในบ้านและตึกอาคาร ทำงานผสมผสานกับหน่วยกักเก็บพลังงานสำรองหรือแบตเตอร์รี่ไฟฟ้า เนื่องจากเล็งเห็นถึงปัญหาของการใช้พลังงานไฟฟ้าที่พลังงานที่ใช้แล้วหมดไปหรือพลังงานฟอสซิล และตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน อันมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ปล่อยของเสียต่างๆ สู่สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นแก๊สที่เกิดจากการเผาไหม้หรือมลพิษอื่นๆ ทำให้ธรรมชาติค่อยๆ ถูกทำลายและอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบในระยะยาวได้”


นายธนชัช โพชนา  ประธานกลุ่มบริษัท Enserv Things

นายธนชัช ยังกล่าวต่ออีกว่า “เราให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดหรือที่เรียกกันว่า Green Energy ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในแหล่งกำเนิดพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม มีหน่วยกักเก็บพลังงานภายในบ้านที่ช่วยจัดเก็บพลังงานในช่วงที่ผลิตได้ และจ่ายพลังงานออกมาในช่วงที่จำเป็นต้องใช้ ระบบการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นระบบพื้นฐานในการผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาด ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน เพราะสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยเอื้ออำนวย ซึ่งจะช่วยให้รักษาสิ่งแวดล้อมโดยรวมได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้การติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีประโยชน์อีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการลงทุนระยะยาว เพราะสามารถช่วยลดค่าไฟไฟฟ้า หรือยังสามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานสำรองได้อย่างดี กรณีฉุกเฉินสายไฟเกิดขาดและไม่  สามารถรับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าได้ และหากมีการผลิตมากเกินที่จะใช้ ยังสามารถที่จะนำพลังงานสะอาดที่ผลิตไปขายในราคาที่ค่อนข้างดีอีกด้วย” แนวทางของโปรเจกต์คือสามารถแลกเปลี่ยนพลังงานสะอาดที่เราผลิตได้อย่างอิสระ โดยไม่ผ่านตัวกลาง และสามารถขายให้กับเพื่อนบ้านหรือสมาชิกในระบบได้โดยตรง เป้าหมายหลักคือการสร้างโครงข่ายผู้ใช้พลังงานสะอาดโดยมีทั้งผู้ใช้ (Consumers) และผู้ผลิต (Prosumers) กระจายอยู่ทั่วไป การแลกเปลี่ยนพลังงานสะอาดยังใช้เทคโนโลยีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เป็นเครื่องมือได้แก่ เทคโนโลยี “บล็อกเชน” (BlockChain) ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับ Cryptocurrency หรือเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า Bitcoin เมื่อปี 2009 ปัจจุบันก็มีสกุลเงินอีเล็กทรอนิกส์มากขึ้นไม่ว่าจะเป็น Bitcoin Ethereum Litecoin และอื่นๆ อีกมากมาย โดยผู้นำเข้าพลังงานสะอาดหรือเรียกสั้นๆ ว่าผู้ซื้อ และผู้ส่งออกพลังงานสะอาดหรือผู้ขาย

ภายในโครงข่ายนั้น สามารถเลือกจำนวนหน่วยไฟฟ้า และเวลาในการซื้อขายได้ตามใจชอบ โดยข้อมูลจะถูกเก็บและแสดงไปยังแอพพลิเคชั่นในมือถือ ในรูปแบบ Near real-time กล่าวคือข้อมูลจะมีการอัพเดทแบบอัตโนมัติภายในระยะเวลาอันสั้น และผู้ใช้ยังสามารถใช้แอพพลิเคชั่นในการควบคุมทุกอย่างได้ด้วยปลายนิ้วอีกด้วย



นายฉันทกร จำศิลป์  กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ติงส์

นายฉันทกร จำศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ติงส์ กล่าวสรุปว่า “โซลูชั่นการแปลงผันและบริหารจัดการพลังงานอย่างชาญฉลาด ถือว่าเป็นมันสมองที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ต่อการบริหารจัดการพลังงานภายในบ้าน สำหรับมุมมองเป็นรายบุคคล หรือกระทั่งการช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของโครงข่ายไฟฟ้าหลัก สำหรับมุมมองในภาพรวมหรือการช่วยเหลือสังคมทางไฟฟ้า รองลงมาคือตัวอุปกรณ์ในส่วนต่างๆ เช่นหน่วยกักเก็บพลังงาน หรือเครื่องแปลงผันพลังงานสมัยใหม่ ที่มีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า ในราคาที่จับต้องได้เมื่อเทียบกับระยะเวลาคืนทุน” 

“เอ็นเนอร์ยี่ติงส์ เรียกได้ว่าเป็น “กรีนเอ็นเนอร์ยี่ออฟติงส์” (Green Energy of Things) หรือพลังงานสีเขียวในทุกสิ่ง ที่เชื่อมโยงระบบไมโครกริดย่อยๆ ภายในบ้านเข้าสู่โครงข่ายพลังงานของเรา ผู้ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกจะได้รับการติดต่อจากวิศวกรที่ชำนาญการเพื่อนัดหมายการเข้าตรวจสอบ ออกแบบ และติดตั้งระบบที่เข้ากับลักษณะของบ้านหรืออาคาร รวมถึงให้ความช่วยเหลือในการนำระบบขึ้นใช้งาน โดยอุปกรณ์ทั้งหมดจะทำงานร่วมกันอย่างอัตโนมัติตามรูปแบบของโหมดการทำงานที่เลือกไว้ ข้อมูลที่สำคัญของระบบทุกอย่างจะสามารถเรียกดูและปรับตั้งการใช้งานได้จากแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ รวมถึงปริมาณการแลกเปลี่ยนพลังงานสะอาดจากเพื่อนสมาชิก ทั้งนี้ระบบมีโหมดการทำงานอัตโนมัติที่ปรับเลือกได้ถึง 6 โหมด ที่เหมาะสมตามความต้องการของสมาชิก” นายฉันทกร กล่าวทิ้งท้าย

บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ติงส์โดยวิศวกรและนักออกแบบผลิตภัณฑ์คนไทย ยังได้ทำการออกแบบหน่วยกักเก็บพลังงานขนาดเล็กภายในบ้านสองรุ่น โดยมีขนาด 3.2kWh และ 4.6kWh ให้มีรูปทรงที่สวยงาม และมีฟังก์ชันการใช้งาน รวมถึงการแสดงผลสถานะของอุปกรณ์ที่เข้าใจได้ง่าย โดยได้เริ่มทดสอบระบบเบื้องต้นเป็นการภายใน โดยคาดว่าจะเปิดรับสมาชิกใหม่ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศในปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป



โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 10 เมกะวัตต์


แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานขนาดเล็ก                                           แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานขนาดใหญ่


ผู้บริหารกล่าวถึงเทรนด์นวัตกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าแห่งอนาคต


นายธนชัช โพชนา  ประธานกลุ่มบริษัท Enserv Things,นายฉันทกร จำศิลป์  กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ติงส์


บรรยากาศการทดลองใช้งานแอปพลิเคชัน


ตัวอย่างองค์ประกอบแบตเตอรี่ที่ใช้งานวิจัย