MSN on September 29, 2017, 07:16:29 AM
CAT พร้อมลุย NGDC โชว์ความแข็งแกร่งโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำ สนับสนุนไทยก้าวสู่ศูนย์กลางดิจิทัลอาเซียน

          พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) เปิดเผยว่า CAT พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลขยายความแข็งแกร่งของโครงข่ายระหว่างประเทศของไทยผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำอย่างเต็มที่ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอินเทอร์เน็ตของภูมิภาคอาเซียนได้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมาย โดย CAT ในฐานะผู้ให้บริการหลักโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างประเทศจากไทยไปยังทุกภูมิภาคของโลก ได้ดำเนินการจัดสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน และได้พัฒนาความสามารถ คุณภาพ และเสถียรภาพระบบเชื่อมโยงให้รองรับปริมาณการใช้ข้อมูลของคนไทยและของภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

          ปัจจุบัน CAT มีระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ จำนวน 6 ระบบ ประกอบด้วยระบบเคเบิล FLAG (Fiber Optic Link Around the Globe) ระบบเคเบิล SEA-ME-WE 3 (Southeast Asia-Middle East- Western Europe 3) ระบบเคเบิล TIS (Thailand Indonesia Singapore) ระบบเคเบิล SEA-ME-WE 4 (Southeast Asia-Middle East- Western Europe 4) ระบบเคเบิล AAG (Asia-America Gateway) และระบบเคเบิล APG (Asia Pacific Gateway) ซึ่งเป็นระบบล่าสุดที่เปิดให้บริการเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา

          พอ.สรรพชัย กล่าวต่อไปว่า นอกจากเคเบิลใต้น้ำทั้ง 6 ระบบของ CAT ที่ให้บริการอยู่ เมื่อรวมกับการเปิดใช้งานของระบบเคเบิล AAE-1 จะทำให้เพิ่มความแข็งแกร่งในด้านการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศในภาพรวมของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเมื่อมีการรวมธุรกิจโครงข่ายเชื่อมโยงระบบเคเบิลใต้น้ำและดาต้าเซ็นเตอร์ของ CAT และ TOT ภายใต้บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC : Neutral Gateway and Data Center Company Limited) จะส่งผลให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้น โดยไทยจะมีโครงข่ายพื้นฐานระหว่างประเทศที่รองรับการใช้งานของไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคได้อย่างเพียงพอทั้งปัจจุบันและอนาคต ตอบสนองการพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการติดต่ออินเทอร์เน็ตและสื่อสารข้อมูลในภูมิภาคเอเชียอย่างมีเสถียรภาพ

          "ระบบเคเบิลใต้น้ำที่ CAT ใช้งานอยู่มีมาตรฐานการจัดสร้างในระดับสูง มีความสามารถรองรับการใช้งานได้มากกว่า 54 เทราบิตต่อวินาที (Tbps) เมื่อรวมกับการเปิดระบบเคเบิลใหม่ครั้งนี้จะเพิ่มศักยภาพและเสถียรภาพในภาพรวมของโครงข่ายสื่อสารระหว่างประเทศของไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและดึงดูดผู้ประกอบการ Content ต่างๆ ทั้งจากไทยและจากต่างประเทศ ในการใช้ประเทศไทยเป็น Internet Hub ในการกระจายข้อมูลให้กับผู้ใช้บริการในภูมิภาค และสนับสนุนให้ประเทศไทยได้ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางอินเทอร์เน็ตของภูมิภาคอาเซียนตามเป้าหมายของรัฐบาล"

Fact Sheet ระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศของ  CAT 
ระบบเคเบิล  APG
   (Asia-Pacific Gateway)   เปิดใช้งานเดือนพฤศจิกายน  ปี 2559   
ความยาวประมาณ 11,000 กิโลเมตร 
เชื่อมต่อประเทศในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก  ได้แก่  ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ไต้หวัน จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฮ่องกง   ใช้เทคโนโลยีทันสมัย สามารถรองรับข้อมูลมากกว่า 54 เทราบิตต่อวินาที (Tbps) ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบที่มีความสามารถสูงสุดที่ใช้งานอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน
 
ระบบเคเบิล  AAG   (Asia-America Gateway)   เปิดใช้งาน เดือนพฤศจิกายน  ปี 2552
ความยาวประมาณ 20,000 กิโลเมตร
เชื่อมโยงประเทศในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน ฟิลิปปินส์  รวมทั้ง ฮ่องกง ไปยัง สหรัฐอเมริกา กวม ฮาวาย และ แคลิฟอร์เนีย

ระบบเคเบิล  SEA-ME-WE 4 (Southeast Asia-Middle East- Western Europe 4) เปิดใช้งานเดือน พฤศจิกายน ปี 2548
ความยาวประมาณ 18,800 กิโลเมตร    เชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป -ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ได้แก่  ฝรั่งเศส  อัลจีเรีย  ตูนีเซีย  อิตาลี  อียิปต์  ซาอุดิอาระเบีย  สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  ปากีสถาน  ศรีลังกา  อินเดีย  บังคลาเทศ  มาเลเซีย  สิงคโปร์  และ ไทย

ระบบเคเบิล  TIS  (Thailand Indonesia Singapore)  เปิดใช้งาน  เดือนพฤศจิกายน  ปี 2546
เชื่อมโยงระหว่าง 3 ประเทศ  คือ  ไทย   อินโดนีเซีย  และ สิงคโปร์

ระบบเคเบิล SEA-ME-WE 3 (Southeast Asia-Middle East- Western Europe 3) เปิดใช้งาน เดือนสิงหาคม ปี2542
ความยาวประมาณ  39,000 กิโลเมตร  เป็นระบบเคเบิลใต้น้ำที่ยาวที่สุดในโลก
เชื่อมโยงระหว่าง 4 ทวีป คือ ยุโรป – แอฟริกา – เอเชีย –  ออสเตรเลีย   ใน 33 ประเทศ

ระบบเคเบิล   FLAG (Fiber Optic Link Around the Globe)  เปิดใช้งาน เดือนพฤศจิกายน  ปี 2540
ความยาวประมาณ  28,000 กิโลเมตร 
เชื่อมโยงระหว่าง  เอเชียตะวันออกไกล – ยุโรป
« Last Edit: September 29, 2017, 01:16:31 PM by MSN »