happy on September 25, 2017, 08:13:02 PM

Victoria & Abdul
ชื่อไทย: ราชินีและคนสนิท
วันที่เข้าฉาย: 12 ตุลาคม 2560
จัดจำหน่าย: บริษัท ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล พิคเจอร์ส (ฟาร์อีสต์) จำกัด

<a href="http://www.youtube.com/watch?v=Hft7q3UaBIM" target="_blank">http://www.youtube.com/watch?v=Hft7q3UaBIM</a>

จูดี้ เดนช์ นักแสดงรางวัลออสการ์ รับบท “ควีนวิกตอเรีย” ใน Victoria and Abdul ราชินีและคนสนิท ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวมิตรภาพสุดประทับใจระหว่างสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรกับอับดุล คาริม สหายคนสนิทที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากอินเดีย ล่าสุด ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเลือกให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสและเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโตในปีนี้ด้วย
 
อับดุล คาริม เสมียนหนุ่ม เดินทางจากอินเดียมาเข้าร่วมในงานพิธีฉลองการครองราชย์ครบ 50 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร และกลายมาเป็นสหายที่พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัย แม้ว่าพระองค์ทรงเผชิญความกดดันจากการครองราชย์อันยาวนาน แต่มิตรภาพของทั้งคู่เปี่ยมด้วยความศรัทธาและภักดี และได้เพิ่มพูนมากขึ้น สมเด็จพระราชินีทรงเห็นโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปผ่านมุมมองใหม่ ๆ และทรงกลับมามีความเบิกบานพระราชหฤทัยอีกครั้ง
 
Victoria and Abdul สร้างจากหนังสือ Victoria & Abdul: The True Story of the Queen’s Closest Confidant โดย ชราบานี บาซู ภาพยนตร์นำแสดงโดย จูดี้ เดนช์, อาลี ฟาซาล, เอ็ดดี้ อิซซาร์ด, อาดีล อักฮ์ทาร์, ทิม พิก็อตต์-สมิธ, โอลิเวีย วิลเลียมส์, เฟเนลลา วูลการ์, พอล ฮิกกินส์, โรบิน โซอันส์, จูเลี่ยน วัดแฮม, ไซมอน คัลโลว์ และไมเคิล แกมบอน
 
ภาพยนตร์กำกับการแสดงโดย สตีเฟ่น เฟรียร์ส


A Stephen Frears Film
ผลงานภาพยนตร์โดย สตีเฟน เฟรียร์ส

เกี่ยวกับภาพยนตร์

จูดี้ เดนช์ นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ (จาก Shakespeare in Love) กลับมาร่วมงานกับผู้กำกับที่ได้เข้าชิงออสการ์ สตีเฟน เฟรียร์ส (The Queen) และกลับมารับบทสมเด็จพระราชินีวิกทอเรียอีกครั้ง ใน Victoria & Abdul

Victoria & Abdul เขียนบทภาพยนตร์โดยลี ฮอลล์ ผู้เขียนบทที่เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์ (Billy Elliot) ดัดแปลงจากหนังสือชื่อ Victoria & Abdul: The True Story of the Queen’s Closest Confidant. ของนักหนังสือพิมพ์ ชราบานี บาซู

Victoria & Abdul บอกเล่าเรื่องจริงของมิตรภาพที่น่าทึ่ง และไม่น่าเป็นไปได้ ระหว่างสมเด็จพระราชินีวิกทอเรีย (จูดี้ เดนช์) กับเลขาหนุ่มชื่ออับดุล คาริม (อาลี ฟาซาล) ที่กลายมาเป็นครูของพระองค์ เป็นที่ปรึกษาทางจิตวิญญาณ และเพื่อนผู้จงรักภักดี

ปี 1887 อับดุลเดินทางจากอินเดียเพื่อถวายเหรียญในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ฉลองการขึ้นครองราชย์ครบ 50 ปีของสมเด็จพระราชินี แต่กลับเป็นที่โปรดปรานของพระราชินีผู้สูงวัยอย่างน่าประหลาดใจ  ความสัมพันธ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและไม่น่าเป็นไปได้นี้ก่อให้เกิดศึกภายในพระราชวัง  พระราชินีต้องทรงงัดข้อกับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพาร Victoria & Abdul ตั้งคำถามเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา อำนาจ และความไร้สาระของจักรวรรดิอย่างติดตลก ผ่านมุมมองของมิตรภาพที่เหนือความคาดหมาย และลึกซึ้งกินใจ

โฟกัส ฟีเจอร์ส ร่วมกับเพอร์เฟ็คท์ เวิร์ล พิคเจอร์ส, บีบีซี ฟิล์มส์  และเวิร์คกิ้ง ไทเทิล ร่วมกับครอสส์ สตรีท ฟิล์มส์  ผลงานภาพยนตร์ของสตีเฟน เฟรียร์ส   Victoria & Abdul  นำแสดงโดยจูดี้ เดนช์, อาลี ฟาซาล, เอ็ดดี้ อิซซาร์ด, อดีล อัคห์ทาร์, ทิม พิกอตต์-สมิธ, โอลิเวีย วิลเลียมส์, เฟเนลลา วูลการ์, พอล ฮิกกินส์, โรบิน โซนส์,  จูเลียน วอแดห์ม, ไซมอน คาลโลว์ และไมเคิล แกมบอน   คัดเลือกนักแสดงโดยลีโอ เดวิส และลิสซี โฮล์ม,  คัดเลือกนักแสดง (อินเดีย) โดยนานดินี ชริเคนท์,  ดนตรีประกอบโดยโทมัส นิวแมน,  แต่งหน้าและทำผมโดยแดเนียล ฟิลลิปส์,  ออกแบบเสื้อผ้าโดยคอนโซลาตา บอยล์,  ออกแบบฉากโดยอลัน แม็คโดนัลด์,  ตัดต่อโดยเมลานี แอนน์ โอลิเวอร์, เอซีอี  กำกับภาพโดยแดนนี โคเฮน, บีเอสซี   ผู้ช่วยผู้อำนวยการสร้าง ลูคัส เว็บบ์, ผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร คริสติน แลงแกน และโจ ออพเพนไฮเมอร์, ผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร ลี ฮอลล์, อมีเลีย เกรนเจอร์ และ ไลซา เชซิน,  ดัดแปลงจากหนังสือของชราบานี บาซู,  บทภาพยนตร์โดยลี ฮอลล์,  อำนวยการสร้างโดยทิม เบแวน, เอริก เฟลล์เนอร์, บีแบน คิดรอน และเทรซี ซีเวิร์ด  กำกับโดยสตีเฟน เฟรียร์ส  ภาพยนตร์โดยโฟกัส ฟีเจอร์ส



เกี่ยวกับงานสร้าง

คนทั้งโลกรู้จักสมเด็จพระราชินีวิกทอเรีย กษัตริย์ผู้ทรงปกครองจักรวรรดิที่ขยายขอบเขตไปทั่วโลก – แต่อับดุลคือใคร?

“พระองค์เป็นพระราชินีของอังกฤษ เขาเป็นแลขาผู้ต่ำต้อยจากอินเดีย มิตรภาพของพวกเขาจะช็อคพระราชวังและนำไปสู่การต่อต้านพระราชินีถึงขั้นเกือบจะปฏิวัติ” - ชราบานี บาซู นักเขียนหญิงผู้เขียนหนังสือเล่มนี้

เรื่องราวของมิตรภาพระหว่างบุคคลทั้งสอง ที่มีการจงใจปิดบังไว้นานนับศตวรรษ ได้ถูกถ่ายทอดสู่สายตาและการรับรู้ของผู้ชมภาพยนตร์แล้ว ใน Victoria & Abdul.

ปี 2001 บาซูกำลังค้นคว้าหาข้อมูลจากหนังสือที่บอกถึงประวัติความเป็นมาของแกงกะหรี่ ทำให้เธอได้ทราบว่าสมเด็จพระราชินีวิกทอเรียโปรดการเสวยแกงกะหรี่ บาซูเดินทางไปที่ออสบอร์นเฮาส์ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระราชินีวิกทอเรียที่เกาะไวท์ (Isle of Wight) และแปลกใจมากที่ได้เห็นภาพคนสองภาพ และรูปปั้นครึ่งตัวสีบรอนซ์ของผู้ชายชาวอินเดียที่ดูมีความเป็นเจ้านาย ในห้องแต่งตัวของพระราชินีวิกทอเรีย เธอได้เห็นภาพเขียนของชายชาวอินเดียคนนี้อีกหนึ่งภาพ ตั้งอยู่ตรงกันต่ำลงไปจากจอห์น บราวน์ผู้เป็นที่รักของพระราชินี  ในห้องที่ใหญ่กว่านั้น คือห้องเดอร์บาร์ เต็มไปด้วยสมบัติมีค่าจากอินเดีย เป็นสิ่งเตือนความจำเรื่องความหลงใหล “อัญมณีในมุงกุฎ” ของพระราชินี ถึงแม้จะทรงเป็นจักรพรรดินีของอินเดีย แต่ไม่เคยเสด็จไป บาสซูเล่าว่า “ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย จึงไม่สามารถเสด็จไปอินเดียได้ พระองค์จึงทรงให้อินเดียเป็นฝ่ายมาหาพระองค์เอง”

ปี 2006 เธอเดินทางไปที่บัลมอรัล ซึ่งเป็นปราสาทของพระราชินีที่ไฮแลนด์ของสก็อตแลนด์ ที่นั่นเธอได้เห็นกระท่อมคาริม  ซึ่งเป็นบ้านที่พระราชินีวิกทอเรียสร้างให้อับดุล  เธอเข้าใจถึงความสำคัญบางอย่างของชายชาวอินเดียลึกลับผู้นี้ ที่เป็นที่รู้จักและเรียกกันว่ามูนชี (หรือครู)  และบาซูถือเป็นภารกิจของเธอในการหาคำตอบ ว่าความสำคัญที่ว่านั้น คืออะไร

เจ้าชายเบอร์ตี้ พระราชโอรสของสมเด็จพระราชินี ที่ต่อมาคือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ได้ทำลายจดหมายที่เขียนถึงกันทั้งหมด ระหว่างพระราชมารดาของพระองค์ กับมูนชี แต่ไม่ได้คิดที่จะแตะต้องบันทึกของพระองค์ที่เขียนเป็นภาษาของอินเดีย ในสมุดบันทึกเหล่านั้น บาซูได้ค้นพบเรื่องราวของพระราชินีวิกทอเรียกับมูนชีผู้เป็นที่รักของพระองค์...อับดุล คาริม บันทึกที่เขียนด้วยลายพระหัตถ์ของพระราชินีวิกทอเรียในภาษาอูรดู ถูกเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุของพระราชวงศ์วัง และถูกตัดทิ้งอย่างสิ้นเชิงจากประวัติศาสตร์ฉบับตะวันตกของยุควิกทอเรีย  เพราะไม่มีนักประวัติศาสตร์คนไหนอ่านภาษาอูรดูออก  บาซูเล่าว่า “ฉันรู้จักภาษาอูรดู ถึงแม้ฉันจะอ่านบันทึกไม่ออก อับดุลเขียนข้อความให้พระราชินีเป็นภาษาโรมัน  และฉันเข้าใจข้อความเหล่านี้ ในขณะที่ฉันต้องไปหาคนแปลบันทึกซึ่งเป็นภาษาอูรดู บันทึกมีอยู่ 13 เล่ม” และจากหน้าต่างๆในบันทึกเหล่านี้ เรื่องราวความสัมพันธ์ของพระราชินีวิกทอเรียและอับดุล ก็ปรากฏขึ้น

มีบันทึกอีกหนึ่งฉบับที่กำลังจะถูกค้นพบ ขณะที่การสืบค้นของบาซูพาเธอไปไกลถึงเมืองการาจี, ปากีสถาน อับดุลไม่เคยมีลูก แต่เหลนชายของเขานำเธอไปพบกับบันทึกฉบับนั้น ซึ่งถูกเก็บไว้ในหีบใส่ของขนาดใหญ่  อับดุลเริ่มเขียนบันทึกในปี 1887 ตอนที่เขาถูกเรียกตัวให้เดินทางจากอินเดีย ไปรับใช้ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ฉลองการครองราชย์ครบ 50 ปี  สมุดบันทึกของเขาให้ข้อมูลกับบาซูโดยตรงจากเจ้าของเรื่องราว ซึ่งยืนยันสิ่งที่เธอค้นพบมากมายจากบันทึกด้วยลายพระหัตถ์เป็นภาษาอูรดูของพระราชินี “ในที่สุด ฉันก็ได้ฟังเรื่องราวจากปากของอับดุล”

รายละเอียดต่างๆดึงดูดใจนักเขียนหญิงผู้นี้เป็นอย่างมาก “อับดุลอายุ  24 ตอนถูกส่งตัวจากอินเดียมาอังกฤษ เขาได้รับความสนใจจากพระราชินีวิกทอเรีย และได้เลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็ว มีการสอนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมให้กับเขา เพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะได้สื่อสารกันง่ายขึ้น และเขาสอนภาษาอูรดูให้พระองค์ทุกเย็น เขาอ่านบทกวีของกาหลิบให้พระองค์ฟัง ทั้งสองคนเริ่มกลายเป็นเงาของกันและกัน

“คนในวังของพระองค์วางแผนต่อต้านเขา และขู่ว่าเจ้าชายแห่งเวลส์ องค์มกุฎราชกุมาร [ตำแหน่งของเจ้าชายเบอร์ตี้ในขณะนั้น] คงต้องเข้ามาจัดการ พระราชินีวิกทอเรียทรงยืนเคียงข้างอับดุลอย่างมั่นคง”

บาซูคัดลอกสมุดบันทึกเหล่านี้ และเขียนเป็นหนังสืออกมา ชื่อ  Victoria & Abdul: The True Story of the Queen’s Closest Confidant

ผู้สร้างภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลบาฟต้า บีแบน คิดรอน แห่งบริษัทผลิตภาพยนตร์ครอสส์ สตรีท ฟิล์มส์ ได้อ่านบทความในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ในปี 2010 และสนใจเรื่องนี้ในทันที  เธอเล่าว่า “สิ่งที่ทำให้ฉันสนใจคือ นี่คือเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีการบอกเล่ามาก่อน เป็นเพชรที่ซ่อนอยู่มานานกว่าศตวรรษ มันเป็นการเปิดเผยว่าพระราชินีวิกทอเรียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมาก กับคนที่ไม่เพียงเป็นข้าราชบริพาร แต่ยังเป็นข้าราชบริพารที่เป็นมุสลิมอีกด้วย ปฏิกิริยาภายในวังของพระองค์ก็ถูกบอกออกมาได้ค่อนข้างดี และสัมพันธ์กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกเราตอนนี้ – การพูดถึงความตึงเครียดระหว่างวัฒนธรรม และการยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง”
ลี ฮอลล์ นักเขียนบทที่เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์ จากเรื่อง Billy Elliot หุ้นส่วนของคิดรอนในบริษัทครอสส์ สตรีท ได้ฟังบาซูในวิทยุ และเกิดอาการอาการสนใจไม่แพ้กัน  ทั้งสองคนจึงขอนัดพบเธอ  แต่ตอนนั้น ครอสส์ สตรีทไม่ได้เป็นบริษัทเดียวที่สนใจจะซื้อหนังสือของบสซูมาสร้างเป็นภาพยนตร์  แต่การตอบรับของทั้งสองคนที่มีต่อเรื่องราวในหนังสือ ก็ได้รับความสนใจจากบาซูเช่นกัน  คิดรอนเล่าว่า “สิ่งที่ทำให้ชราบานีสนใจ คือการวิธีที่เรามองเรื่องราวใน Victoria & Abdul ว่าเป็นเรื่องราวของคนนอก   เป็นการปะทะกันทางชนชั้นและวัฒนธรรม และเรารู้สึกว่ามันคงมีชีวิตชีวามาก ที่จะได้เห็นโลกของพระราชินีวิกทอเรียจากมุมมองของชายหนุ่มสามัญชนคนหนึ่ง จากเมืองอัครา ที่ก้าวขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุดของจักรวรรดิ

“เรายังมองว่านี่คือหนังที่สามารถสร้างออกฉายตามโรงได้ด้วย เป็นเรื่องราวที่สนุกและบันเทิง – เรื่องราวเกี่ยวกับราชวงศ์ที่คนดูไม่เคยเห็นมาก่อน ในขณะที่มีการพูดถึงเรื่องความมีอคติด้วย”

บาซูตกลงขายลิขสิทธิ์ให้กับครอสส์ สตรีท และบริษัทก็เริ่มลงมือเตรียมงานโปรเจ็คต์นี้ร่วมกับคริสติน แลนแกน แห่งบีบีซี ฟิล์มส์  จุดเปลี่ยนของหนังมาถึง เมื่อคิดรอนและฮอลล์นำ Victoria & Abdul ไปให้เพื่อนที่รู้จักกันมานาน และเคยร่วมงานกันบ่อยครั้ง คือเอริก เฟลล์เนอร์ ประธานร่วมในบริษัทผลิตภาพยนตร์เวิร์คกิ้ง ไทเทิล ฟิล์มส์ ร่วมกับทิม เบแวน  เฟลล์เนอร์ ผู้อำนวยการสร้างที่เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์ เล่าว่า  “ผมมองเรื่องนี้ในฐานะเรื่องราวในยุคสมัยของเรา และผมรู้ว่าในฐานะผู้เขียนบท ลี ฮอลล์มีความเชี่ยวชาญที่จะดัดแปลงหนังสือของชราบานีได้  เขาจะรู้สึกดึงดูดใจกับเรื่องราวที่สำรวจชนชั้น และมองจากมุมมองของคนนอกที่มองเข้าไป และจากมุมมองของคนในที่มองออกมา”

ทีมผู้อำนวยการสร้างตั้งใจจะทำหนังที่จะให้ภาพหรูหราภายในพระราชวัง, ภูมิประเทศที่สวยงามอลังการ และเครื่องแต่งกายที่ฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น ซึ่งคนดูคาดหวังจะได้เห็นในหนังที่เป็นเรื่องราวจากประวัติศาสตร์  ในขณะที่ก็ให้เรื่องราวของมิตรภาพและความจงรักภักดีกับคนดู ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาอาจไม่ได้คาดคิด

คิดรอนเล่าว่า “มันเป็นการเติมพลังสำหรับเรา ในการทำหนังสักเรื่องที่มีทั้งฉากใหญ่ๆ, ดนตรีประกอบ, ต้องใช้นักแสดงประกอบที่ต้องมาแต่งตัวตั้งแต่ตีห้า เพื่อที่เราจะได้เริ่มถ่ายทำตอนแปดโมง  กับฉากการสนทนากันอย่างใกล้ชิดของคนสองคน ที่จริงจังและจับใจ

“ความสัมพันธ์ระหว่างพระราชินีวิกทอเรียกับอุบดุล พูดเรื่องความแตกต่างระหว่างวัย วัยชราของพระองค์และความหนุ่มของเขาไม่ได้เป็นอุปสรรคในความรัก และทั้งคู่ก็มีการเปลี่ยนแปลงจากประสบการณ์นี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับพวกเขา และเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าจะเป็นความพิเศษสำหรับคนดูด้วยเช่นกัน”

และจากการเป็นหนังที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ที่ทำออกมาเป็นหนังความยาวสองชั่วโมง บางเหตุการณ์และบุคคลจึงต้องมีการเสริมแต่งเข้ามา ด้วยจุดประสงค์เพื่อความบันเทิง คิดรอนเล่าว่า

“เราทุกคนพูดเรื่องที่ว่าบทหนังควรจะต้องสร้างเรื่องราวจากรายละเอียดที่มีอยู่มากมายในหนังสือของชราบานี ซึ่งเขียนออกอย่างสวยงามและชวนให้คิดถึงอดีตมาก  แต่ก็มีวิธการเขียนในแบบของนักหนังสือพิมพ์ ในขณะที่หนังของเราจะดูมีความเป็นเทพนิยายมากกว่า

มันซื่อตรงต่อจิตวิญญาณของเรื่องราว แต่ด้วยความจำเป็น มันต้องสร้างสรรค์ช่วงเวลาที่มีความเป็นดราม่าขึ้นด้วยเช่นกัน บทหนังของลีเขียนออกมาได้สนุกมาก แต่หัวใจของหนัง คือความสัมพันธ์ที่จับใจเรา นั่นเป็นสิ่งที่เขาชอบทำในการบอกเล่าเรื่องราวของเขา คือการทำให้คนดูหัวเราะ แล้วก็ทำให้พวกเขาร้องไห้

“จากการที่ชราบานีเขียนหนังสือโดยใช้เรื่องราวที่ได้จากสมุดบันทึกของทั้งพระราชินีวิกทอเรียและอับดุล ก็เป็นธรรมดาที่ข้อมูลจะเป็นส่วนๆ ไม่ปะติดปะต่อ ซึ่งลีนำมาเรียงร้อยให้ต่อเนื่องกัน แต่ถึงจะดูมีส่วนที่ชวนหัวเราะอยู่มากแค่ไหนในบทหนัง แต่ความชวนหัวนั้น มาจากพระราชินีวิกทอเรียเอง!”

บาซูบอกว่า “ลีหยิบเอาส่วนที่ใช่เลยออกมาจากในหนังสือ และเขาพัฒนาบางส่วนและพัฒนาตัวละครเพิ่มขึ้น แต่แน่นอน เขายังคงเก็บส่วนที่เป็นมนุษย์ปุถุชนเอาไว้”

ส่วนความสามารถในการตีความ ทั้งการให้น้ำหนักกับประวัติศาสตร์ และมุมมองที่มีอารมณ์ขันอันชาญฉลาด ก็ยกให้เป็นงานคุณภาพของผู้กำกับที่เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์ สตีเฟน เฟรียร์ส คิดรอนอยากได้เฟรียร์สมาเป็นผู้กำกับหนังเรื่องนี้มาตลอด “ฉันรู้ว่าเขาจะคนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับ Victoria & Abdul เพราะเขาสามารถดึงอารมณ์ขันจากสถานการณ์ได้ แต่ก็ไม่สูญเสียมุมมองของความจริงจัง”

happy on September 25, 2017, 08:25:41 PM

ทีมผู้อำนวยการสร้างรอจนกระทั่งฮอลล์เขียนบทร่างสองครั้งลงเป็นบทภาพยนตร์ดัดแปลงแล้ว ก่อนจะนำโปรเจ็คต์นี้ไปหาสตีเฟน เฟรียร์ส เขากระตือรือร้นที่จะร่วมงานในโปรเจ็คต์นี้ “เป็นบทหนังที่ดีมาก มีความสนุกสนาน มีชีวิตชีวา”

เทรซี ซีเวิร์ด ผู้อำนวยการสร้างที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ (จาก The Queen) และร่วมงานกับเฟรียร์สมานาน เข้ามาร่วมงานกับเขาในโปรเจ็คต์นี้  เธอมั่นใจมาก ว่าหนังเรื่องนี้ สามารถสำรวจลึกลงไปในธีมที่ทีมงานเคยพูดถึงมาก่อน ในหนังเรื่องก่อนๆของพวกเขา “เช่นเรื่องความสัมพันธ์ของคนต่างเชื้อชาติ ในหัวข้อนี้  เรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วในหนังเรื่องนี้ ยิ่งรู้สึกมากขึ้นในทุกวันนี้  เหนืออื่นใด นี่คือเรื่องราวสำคัญที่ชราบานีได้ทำให้กระจ่างขึ้น หนุ่มมุสลิมคนหนึ่งกลายมาเป็นพระสหายผู้จงรักภักดีของกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ในประเทศคนผิวขาวกลุ่มแองโกล”
บาซูคอยให้คำปรึกษาตลอดการทำงาน และขณะที่ทีมผู้สร้างกำลังรวบรวมทีมงาน เธอก็ตระหนักว่าหนังเรื่องนี้กำลังถูกสร้างโดย “ทีมงานในฝัน  ฉันคงขออะไรมากกว่านี้หรือดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว  และการคัดเลือกตัวนักแสดงก็เป็นการเพิ่มสิ่งที่ดีมากอยู่แล้ว ให้ดียิ่งกว่าเดิม”

เมื่อความคิดมุ่งไปที่การหาตัวนักแสดงหญิงที่จะสามารถสวมวิญญาณของความหยิ่งทะนง, ความฉลาดหลักแหลม, มีไหวพริบ และมีความเปราะบาง ของผู้ที่เป็น “คุณย่าแห่งทวีปยุโรป”  มีคนเดียวเท่านั้นที่ใครๆและทุกคนนึกถึง สตีเวน เฟรียร์ส ที่เคยร่วมงานกับท่านผู้หญิง ( Dame) จูดี้ เดนช์มาก่อน รู้ว่าเธอจะเป็น “นักแสดงที่เยี่ยมมากสำหรับบทนี้ และเป็นคนที่เหมือนพระราชินีวิกทอเรียเลย!
“แต่เธอเคยเล่นเป็นพระราชินีวิกทอเรียมาแล้ว ใน Mrs. Brown [1997] ผมเลยสงสัยว่าไอเดียนี้จะกระตุ้นความสนใจเธอได้หรือเปล่า”

โชคดีสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง จูดี้ เดนช์ กลับชอบโอกาสที่จะได้กลับมารับบทผู้หญิงที่ดึงดูดใจที่เธอเคยแสดง  ในวัยที่เป็นบั้นปลายของชีวิต  เดนช์บอกว่า “ฉันดีใจมากที่จู่ๆหนังเรื่องนี้ก็มาหาฉัน  ฉันซึมซับเรื่องราวของพระองค์อย่างเต็มที่ตอนที่เราทำเรื่อง Mrs. Brown และทำการบ้านเกี่ยวกับเรื่องราวของพระองค์ทั้งหมด ดังนั้นฉันจะปฏิเสธทำไมล่ะ ฉันชื่นชมพระราชินีวิกทอเรียในฐานะบุคคลที่น่าทึ่ง และนี่เป็นเรื่องราวที่ยากจะปฏิเสธที่เพิ่งจะได้รับรู้กัน
 
“กับเรื่องของเชคสเปียร์ คุณสามารถกลับไปเล่นละครได้อีก โดยหวังว่าในระยะเวลาที่ทิ้งช่วงไป คุณได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นว่าจะเล่นบทนั้นออกมายังไง   ในขณะที่นี่คือความก้าวหน้าจริงๆสำหรับคนที่มีชีวิตอยู่จริง ฉันได้รับจดหมายที่น่ารักมากจากจอห์น แมดเดน [ผู้กำกับเรื่อง Mrs. Brown] บอกว่าเขาดีใจที่ฉันจะกลับมาเยือนบทพระราชินีวิกทอเรียอีกครั้ง”

หนังสองเรื่องเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์คนละช่วงเวลาในชีวิตของพระราชินีวิกทอเรีย แต่เดนช์รู้สึกว่ามีความเชื่อมโยงถึงกัน “พระราชินีวิกทอเรียทรงมีความสุข ตอนที่อยู่กับเจ้าชายอัลเบิร์ต [พระสวามี]  จากนั้นก็เป็นจอห์น บราวน์ [มหาดเล็กชาวสกอต] แล้วก็อับดุล  มันมีความต่อเนื่อง พระองค์ทรงผ่อนคลาย ผ่อนคลายเต็มที่ เวลาที่ได้อยู่กับบางคน โดยไม่มีเรื่องราวบ้าบอทั้งหลายในท้องพระโรง  คนเหล่านั้นจะคอยบอกว่า  ‘ตอนนี้พระองค์ต้องอยู่ที่นี่ ตอนนั้นพระองค์ต้องอยู่ที่นั่น’”

ตอนที่ได้พบกับอับดุล พระราชินีวิกทอเรียครองราชย์มา 63 ปีแล้ว เฟรียร์สให้ความเห็นว่า “พระราชินีวิกทอเรียทรงเป็นนักโทษของการประชุม ชีวิตมีแต่การประชุม เหมือนที่เราส่วนใหญ่เป็น”
ซีเวิร์ดเสริมว่า “คุณนึกภาพการขึ้นครองราชย์ตอนอายุ 18 และอยู่แบบนั้นตลอดกาลออกมั้ย  แต่ในวัยเจ็ดสิบเศษ ทรงกลายเป็นนักปฏิวัติเงียบ ทรงเรียนภาษาอูรดู และอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน จากที่ทรงเป็นหญิงสูงศักดิ์ที่น่าสนใจอยู่แล้ว พระองค์ยิ่งน่าสนใจกว่าเดิมในช่วงบั้นปลายชีวิต ทรงเป็นจักรพรรดินีของอินเดีย แต่ทรงตระหนักว่าจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับอินเดียให้มากขึ้น”

จูดี้ เดนช์เองก็รู้สึกผูกพันอย่างลึกซึ้งกับอินเดียมาหลายปีแล้ว นับตั้งแต่ไปถ่ายทำเรื่อง The Best Exotic Marigold Hotel ที่นั่น เธอเล่าว่า “มันกลายเป็นบ้านทางจิตวิญญาณของฉันไปแล้ว ฉันอยากกลับไปอีกมากๆ”

อีกสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดใจเธอ คือการได้กลับมาร่วมงานกับผู้กำกับคนโปรดที่สุดคนหนึ่งของเธออีก “สตีเฟน เฟรียร์สเป็นคนมีรสนิยม  และฉันชอบเขามากในฐานะคนคนหนึ่ง  เวลาร่วมงานกับเขา คุณฝากชีวิตไว้ในมือเขาเต็มที่ เขาอาจเข้าใจยาก แต่คุณรู้ว่านั่นเพื่อสิ่งที่ดีที่สุด คุณอยากทำให้เขาพอใจ

“เราเข้าใจกัน ฉันรู้จักเขาเป็นอย่างดี จนเวลาเขาพูดหลังจากแต่ละเทค ‘คุณอยากลองอีกครั้งมั้ย’ นั่นหมายความว่าเขาอยากให้ลองแสดงอีกครั้ง นอกจากเรื่องนี้แล้ว สตีเฟนกับฉันก็มีอารมณ์ขันที่เหมือนกันมาก เราเลยมีเรื่องทำให้อีกฝ่ายหัวเราะได้ตลอด”

การลุกขึ้นมาขบถเล็กๆ ของพระราชินีวิกทอเรีย  ใน Victoria & Abdul เมื่อทรงขัดขืนขนบธรรมเนียม, คนในวังของพระองค์ และวัฒนธรรมในสมัยนั้น เฟรียร์สรู้ดีว่าบทนี้จะเหมาะกับคุณสมบัติความเป็น  “ตัวป่วน” ที่มีอยู่ในตัวเดนช์เอง

คิดรอนชื่นชมว่า “ไม่มีใครอีกแล้ว ที่จะแสดงเป็นพระราชินีวิกทอเรียได้เหมือนจูดี้ เดนช์ เธอมีอารมณ์ขันที่น่าทึ่ง แต่จริงๆแล้วเป็นคนเอาจริงเอาจังมาก เธอจึงสามารถถ่ายทอดออกมาได้ทันที และผสมผสานทั้งความสนุกและความเป็นดราม่า เธอทำหน้าตายได้เก่งมาก สามารถทำหน้าแบบนั้นได้ตลอดในฉากขำๆ แล้วจากนั้นก็หมุนไปที่ฉากดราม่าได้อย่างยอดเยี่ยมมาก”

ผู้อำนวยการสร้างซีเวิร์ดบอกว่า “จูดี้อาจจะเป็นศิลปินนักแสดงที่เข้าใจความรู้สึกของตัวละครที่เธอแสดงมากที่สุดในวงการภาพยนตร์ก็เป็นได้   ความซื่อตรงของเธอในฐานะนักแสดงกระจ่างชัดมาก”
เดนช์บอกว่า “ฉันไม่ได้ลงความเห็นด้วยซ้ำ ว่า ‘ชอบ’ หรือ ‘ไม่ชอบ’ ตัวละคร ฉันแค่พยายามทำความเข้าใจในฐานะมนุษย์ปุถุชน และซื่อตรงกับบทให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อคนดูจะได้เข้าใจ ว่าฉันกำลังแสดงเป็นใคร”

การเลือกนักแสดงหนุ่มที่จะมาร่วมแสดงกับเธอ มีการคัดเลือกนักแสดงที่มีความสามารถจากทั่วโลก  คิดรอนบอกว่า “เรามองหานักแสดงใหม่ๆ ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก   เราไม่รู้จักอาลี แต่เขาดังมากที่อินเดีย ดังนั้นตอนเราไปมุมไบ และดูนักแสดงอ่านบทเพื่อทดสอบบทนี้ กับผู้คัดเลือกนักแสดงนานดินี ชริเคนท์  เขาเป็นคนหนึ่งที่เราได้ดูการทดสอบบท

“พออาลีออกไปจากห้อง สตีเฟนพูดว่า ‘ผมเห็นเลยว่า ว่าพระราชินีวิกทอเรียสนใจเขามาก’” ในที่สุด ฟาซาลก็ได้ไปอังกฤษเป็นครั้งแรกในชีวิต เพื่อทำการเทสต์หน้ากล้องที่ลอนดอน
คิดรอนบอกว่า “การเดินทางของอาลีเป็นภาพสะท้อนการเดินทางของอับดุล  เขาทำให้เราประหลาดใจมาก และได้บทนี้ไป”

ผู้กำกับเฟรียร์สบอกว่า “อาลีมีเสน่ห์ ดึงดูดใจ แต่สิ่งที่ชัดเจนสำหรับผม คือเขามีคุณสมบัติของความใสซื่อ ซึ่งนักแสดงที่รับบทเป็นอับดุลจะต้องเข้าถึงให้ได้  ผมรู้สึกว่าเราอาจไม่เจอสิ่งนั้นในนักแสดงที่เกิดหรือโตในอังกฤษ อาดีล อัคห์ทาร์ ที่เราคัดเลือกตัวก่อน  [ในบทโมฮัมเหม็ด เพื่อนจากอินเดียของอับดุล] ต้องถ่ายทอดในมุมมองที่มีสีสันมากกว่า และอาดีลก็อยู่ที่อังกฤษมาตลอดชีวิต  แต่สำหรับอับดุล เราต้องการคนที่ไร้เดียงสาและน่าทึ่ง มันเป็นสิ่งสำคัญของตัวละคร และอาลีเข้าใจสิ่งนี้”

ฟาซาลใช้เวลาสองเดือนในการค้นคว้าข้อมูลของยุคสมัย การได้พูดคุยกับผู้กำกับเพิ่มเติม ทำให้เขาเข้าใจมากขึ้นในการตีความ ว่าจะสร้างบุคลิกของตัวละครออกมายังไง “สตีเฟนเป็นผู้กำกับที่ผมชอบที่สุดคนหนึ่ง และผมอยากให้การแสดงของผมสอดคล้องกับภาพของหนังที่เขาคิดไว้

“อับดุลรับมือกับทุกสิ่งตามที่มันเป็น และตามที่เขาเห็นจริงๆ นั่นนำไปสู่ฉากตลกๆหลายฉาก เพราะเขาเป็นคนปากกับใจตรงกัน พระราชินีโปรดเขามาก สตีเฟนบอกให้ผมไปดูปีเตอร์ เซลเลอร์ส ในหนังเรื่อง Being There สำหรับการหาข้อมูล เป็นหนังที่ดีมาก

“อับดุลมาจากสถานที่ที่มีความไร้เดียงสา และผมอยากคงแบบนั้นไว้ให้ตลอด แต่เขาก็ยังมีหลายชั้นในตัวตนของเขาเช่นกัน และบทหนังของลีก็แสดงให้เห็นความแตกต่างบางๆที่ซ่อนอยู่เหล่านั้น”
ฟาซาลไว้เคราจริงๆเพื่อรับบทนี้ เพราะ “อยากให้ดูสมจริง“

คิดรอนบอกว่า “อาลีเข้ากันได้กับจูดี้  และเธอก็เข้ากันได้กับเขา  เขาให้ความเคารพเธออย่างมาก แต่ก็ลุกขึ้นสู้กับความท้าทายในการแสดง  หลายฉากต้องการคนที่พร้อมจะเล่นกับเธอ และอาลีก็พร้อม”
เดนช์พูดถึงดารานำชายของเธอว่า “เขาเป็นชายหนุ่มที่น่ารักมาก เขาค่อนข้างโรแมนติก และยังหัวเราะเก่งอีกด้วย นั่นเป็นส่วนผสมที่ดีมาก  เราเข้ากันได้ดี”
ฟาซาลบอกว่า “จูดี้เป็นบุคคลที่เป็นเหมือนเพชร  และเธอเป็นทุกอย่างที่นักแสดงควรจะเป็น ผมผ่านพ้นโปรเจ็คต์นี้มา กับเพื่อนที่ยิ่งใหญ่มาก”

การถ่ายทอดความเข้าใจที่เชื่อมโยงถึงกัน และทำให้มิตรภาพนั้นมีพลังต่อเนื่องไปตลอดในหนัง เป็นสิ่งที่ต้องการจากนักแสดงทั้งสองคนเมื่อมองถึงพัฒนาการของตัวละครทั้งสอง  เมื่อกษัตริย์ในวัยชราและสุขภาพร่วงโรย มองเห็นศักยภาพในการเปลี่ยนแปลง ผ่านทางจิตวิญญาณที่สดใสและเยาว์วัย  เฟรียร์สบอกว่า “การพบกันของพวกเขาเป็นการเจอกันที่ไม่เหมาะสมเลย นั่นเป็นสิ่งที่น่าพอใจมากในการเล่าเรื่องราวของหนังต่อไป  ธรรมชาติของความรักคือการเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งระหว่างคนสองคน  ดังนั้น Victoria & Abdul จึงเป็นหนังรักแน่นอน”

เดนช์บอกว่า “มันไม่ยาก ที่จะจินตนาการว่าพระราชินีวิกทอเรีย ที่ตอนนั้นหงุดหงิดและค่อนข้างเพลีย ทันใดนั้นก็เงยหน้าขึ้น และมองเห็นใครบางคนที่สามารถพูดคุยได้ในที่สุด  และคนที่เห็นแล้วเจริญหูเจริญตาในที่สุด  เขาเดินทางมาในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ฉลองครองราชย์ครบห้าสิบปี เพื่อถวายเหรียญให้กับพระองค์ แต่เมื่อเห็นเขา พระราชินีก็ไม่ได้สนใจเหรียญนั้นสักเท่าไหร่

“อับดุลเป็นเหมือนการเติมความเยาว์วัยและความกระตือรือร้นให้กับพระราชินีวิกทอเรีย ทรงสนุกไปกับการพูดคุยกับเขา และเขาก็ทำให้พระองค์ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทั้งภาษา และวัฒนธรรม มันเป็นเหมือนการให้เลือดใหม่กับพระองค์ในตอนนั้น ทรงชื่นชมเขา และอยากทำสิ่งที่ต้องฝืนทำ เพื่อเขา”

สำหรับความสัมพันธ์ใกล้ชิดหลายๆครั้งของพระราชินีวิกทอเรีย การพูดคุยกันในยุคนี้มีการตั้งคำถามถึงระดับของความใกล้ชิด คิดรอนให้ความเห็นว่า “ฉันเชื่อว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาเป็นเรื่องทางใจ  และนี่เป็นสิ่งที่ฉันเชื่อว่าคนดูจะตอบรับใน Victoria & Abdul คนสองคนสามารถให้ความนับถือและความห่วงใยอย่างลึกซึ้ง และบางสิ่งที่ดูเหมือนความรักมากๆแก่กัน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นความสัมพันธ์ทางร่างกาย

“เราทุกคนก็เคยรักคนที่เราไม่มีความสัมพันธ์ทางด้านร่างกาย และเราก็เคยรักคนที่เราอาจจะรักถ้าสถานการณ์ต่างออกไป นี่เป็นประสบการณ์ที่เป็นสากล และเป็นประสบการณ์ที่มีการนำเสนอออกมาไม่มากนักในหนังสมัยนี้ ดังนั้น ฉันจึงภูมิใจมากที่หนังของเราถ่ายทอดสิ่งนี้ออกมา”

ซีเวิร์ดบอกว่า “อับดุลเป็นหนึ่งในคนที่พระราชินีวิกทอเรียรักที่สุดในชีวิตของพระองค์ และพระองค์ก็เป็นที่รักที่สุดเช่นกันสำหรับเขา ความรักของทั้งคู่เป็นความสัมพันธ์ที่อ่อนโยนมาก  ลองจินตนาการถึงการมีอำนาจทุกอย่าง แต่กลับรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว และต้องการเพื่อนแท้สักคน”

ฟาซาลรู้สึกถึงสิ่งนั้น “มันกลายเป็นเรื่องทางด้านจิตใจมากกว่าสำหรับทั้งสองคน การอ่านจดหมายที่เขียนถึงกันของพวกเขา คุณจะเห็นสิ่งนั้นผ่านทางการเรียนภาษาอูรดู ว่าพระองค์เริ่มคิดถึงพระเจ้าในหลายๆด้าน

“สำหรับเรื่องที่ว่ามันเป็นความสัมพันธ์ที่ ‘เกี่ยวกับร่างกาย’ หรือเปล่า คือ...การจับมือกันเป็นเรื่องใหญ่มาก นี่เป็นความสัมพันธ์ที่มีความพิเศษ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสนิทสนมและความไว้วางใจ มากกว่าจะเป็นทางด้านร่างกาย”

ในขณะที่อับดุลเริ่มใกล้ชิดกับกษัตริย์มากขึ้น ผู้สร้างก็แสดงให้เห็นอีกมุมมองหนึ่ง ผ่านทางโมฮัมเหม็ด เพื่อนร่วมชาติของเขา อัคห์ทาร์เล่าว่า  “บางคนอาจจะพูดว่าอับดุลมองโลกในแง่บวกเกินไป และมีความหวังเกินไป ทันใดนั้นก็มีตัวละครของผม ซึ่งต่างกันสุดขั้ว  โมฮัมเหม็ดเป็นคนขี้หงุดหงิดนิดหน่อย และค่อนข้างเป็นพวกปฏิเสธลูกเดียว  ทั้งคู่อยู่กันคนละฟากเลย และเราก็ไปจนสุดทั้งสองฟาก ในขณะที่ตรงกลางคือที่ที่เราควรจะอยู่

“ตอนที่ผมอ่านบท บทพูดของโมฮัมเหม็ดต่อเบอร์ตี้และเซอร์ เฮนรี ผมรู้ว่ามีเหตุผลที่ดีและเป็นเหตุผลจริงๆในการทำหนังเรื่องนี้ มันให้บริบทถึงการเดินทางอันยาวนานที่หลายประเทศเดินหน้าทำ เพื่อหาทางเป็นอิสรภาพจากจักรวรรดิ”

เฟรียร์สบอกว่า “พระราชินีวิกทอเรียไม่เคยไปอินเดีย เพราะมีกฎทางศาสนาที่เป็นข้อห้ามสำหรับพระองค์  ทรงขึ้นเป็นจักรพรรดินีในปี 1858 หลังจากสิ่งที่จักรวรรดิเรียกว่าการจลาจล แต่อินเดียเรียกว่าการปฎิวัติ

“แน่นอน อับดุลชอบที่จะมองด้านที่สว่างมากกว่า เขาอ้าแขนรับการผจญภัยที่ดูไม่มีปัญหา”

จนกระทั่ง ถึงตอนที่มันมี... นั่นคือท้องพระโรงของพระราชินี – เพื่อน, ครอบครัว, เจ้าหน้าที่, ข้าราชบริพาร – พากันปิดแถว เพื่อต่อต้านอับดุลและความสัมพันธ์ของเขากับพระราชินีอย่างเต็มที่  เฟรียร์สบอกว่า “ตอนแรกมันคือการเหยียดผิวและทิฐิ แต่ในแง่ของการเบียดแทรกเต็มที่แบบนั้น เป็นเพราะพวกเขามีบางอย่างที่ต้องปกป้อง และอับดุลก็เป็นสิ่งที่คุกคามสำหรับพวกเขา  ทวีปอินเดียเองก็เป็นสิ่งที่คุกคามจักรวรรดิเช่นกัน  ดังนั้นมันจึงถูกกดไว้ และถูกกดไว้โดยชนชั้นที่อยู่รายรอบพระราชินี

“สิ่งนี้กลายเป็นความสนุกสำหรับเราในการทำหนังเรื่องนี้ – ไม่ใช่เพราะทัศนคติที่เลวร้ายแบบนั้น แต่เพราะเรามีกลุ่มนักแสดงอังกฤษที่ถนัดในการถ่ายทอดบุคลิกตัวละคร ที่มีอารมณ์ขันมากมายในการแสดงความคิดเห็นและโต้ตอบ”

คิดรอนบอกว่า “ใครจะไม่อยากเล่นหนังกับจูดี้ เดนช์ และสตีเฟนก็เปิดโอกาสให้นักแสดงอย่างมากในการสร้างสรรค์ตัวละคร ดังนั้นพวกเขาจึงรักเขามาก เราจึงโชคดีที่มีนักแสดงเก่งๆ เป็นตัวเลือกให้เลือกมาก

พอล ฮิกกินส์ ที่รับบทเป็นดร. รี้ด เล่าว่า “กลุ่มที่มีอำนาจต้องการให้พระราชินีเป็นที่นิยมของประชาชนและถูกมองว่าสุขภาพจิตปกติ เพราะพวกเขากลัวการถูกกวาดล้างไปพร้อมกับศตวรรษใหม่  แต่ในวังไม่ได้ปฏิบัติกับอับดุลอย่างเท่าเทียม’”

คิดรอนเสริมว่า “มันเป็นส่วนของดราม่า ที่จะสำรวจลึก ถึงวัฒนธรรมของยุคสมัยที่มีการเหยียดผิวอย่างเปิดเผย แต่สิ่งที่ฉันชอบที่สุดคือบทสนทนาทั้งหมดที่พูดเกี่ยวกับการวิ่งหาตำแหน่ง และเป็นที่โปรดปรานในท้องพระโรง แน่นอน เราไม่รู้จริงๆหรอกว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อ 150 ปีที่แล้ว ดังนั้นคุณต้องฟังบทสนทนาแต่ละตอนแบบฟังหูไว้หู แต่สิ่งที่ฉันรู้แน่ๆ คืออับดุลทำให้เกิดความปั่นป่วนในลำดับชั้นต่างๆ อันนั้นชัดเจน”

เฟเนลลา วูลการ์ดูรูปตัวจริงของตัวละครที่เธอแสดง คือนางกำนัลชื่อมิสฟิปปส์ และคิดว่า “เธอดูแกร่งกว่าที่บทหนังเขียนไว้ ซึ่งเขียนว่าเธอถูกข่มเหงรังแกจากข้าราชบริพารคนอื่นๆในวัง  แต่ฉันได้แสดงฉากที่เหมือนฝันเป็นจริงกับจูดี้ เดนช์  ดังนั้น ฉันเลยทำตามที่เขียนไว้ในบทหนัง และมันสนุกมากในการแสดงเป็นฟิปปส์ที่กลัวพระราชินีวิกทอเรีย

“เกือบตลอดเวลา นางกำนัลต้องรออยู่ในห้องของพระองค์ นั่งรออยู่แบบนั้น และคุณอาจจะถูกเรียกตัวไปสร้างความบันเทิงให้พระราชินี หรือทำงานเลขา หรือดูแลพระโอรสพระธิดา ลืมเรื่องอิสรภาพไปได้เลย”

อีกหนึ่งสมาชิกที่มีตัวตนอยู่จริงในท้องพระโรงของพระราชินี ใน Victoria & Abdul คือมหาดเล็ก อลิค ยอร์ก รับบทโดยจูเลียน วอแดห์ม “ผมไปหาข้อมูลเกี่ยวกับอลิค เขาเป็นเกย์ และหรูหรา  คำเปิดเผยที่โด่งดังนี้พระราชินีพูดโดยตรงกับอลิค ‘เขาหัวเราะเรื่องไม่เหมาะสมของชนชั้นสูงชาวต่างประเทศคนหนึ่ง และพระราชินีวิกทอเรียเดินมาที่พวกเขาและถามว่าหัวเราะเรื่องอะไร  อลิคถูกบังคับให้เล่าให้ฟัง แล้วพระองค์ก็พูดประโยคนั้น

“บทหนังแตะโดนความหลงใหลของเราที่มีต่อราชวงศ์ ผมจินตนาการว่าปฎิกิริยาที่ในวังมีต่ออับดุลคงตึงเครียดยิ่งกว่านี้ในชีวิตจริง ถึงแม้เราจะแสดงออกมาในแบบตลก ตอนเราถ่ายฉาก ‘การประชุม’ ที่คนเหล่านี้เบียดกันเข้ามาในห้อง มันกลายเป็นฉากที่ตลกมาก”

นักแสดงหญิงเจ้าของรางวัลบีฟา โอลิเวียร์ วิลเลียมส์ ได้รับเลือกสำหรับบทเลดี้ เชอร์ชิลล์  แต่เธอเปิดเผยว่าตัวละครของเธอ “เป็นการเอาคนที่มีชีวิตอยู่จริงสองคนมารวมกัน แน่นอนว่าคนหนึ่งคือมารดาวินสตัน เชอร์ชิลล์ ฉันเล่นบทนี้แบบมีส่วนของทั้งสองคนคนละนิด และสนุกมาก

“ตัวละครนี้เป็นพวกมือถือสากปากถือศีล เธออยู่ในชีวิตที่แหกกฎเกณฑ์ แต่ก็ไม่เห็นด้วยอย่างมากที่คนอื่นจะทำแบบเดียวกัน เธออยู่ในโลกที่ต้องปิดบังซ่อนเร้น และมีแต่ความทุกข์ โลกที่มิตรภาพที่สวยงามและลึกซึ้ง ทำให้ขุ่นเคืองใจ”

คนที่น่ากลัวที่สุดในการต่อต้านที่อับดุลเริ่มใกล้ชิดกับพระราชินี คือพระโอรสของพระองค์ เบอร์ตี้ เจ้าชายแห่งเวลส์ - องค์มกุฎราชกุมาร ที่ต่อมาคือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ที่ 7  เอ็ดดี้ อิซซาด ที่ได้รับเลือกสำหรับทนี้ เล่าว่า “เบอร์ตี้มีสืทธิ์ในลำดับชั้น แต่พระราชินีทรงกันพระองค์ไว้จากการเมือง และเจ้าชายก็แสดงออกอย่างมาก เกือบตลอดชีวิตของทั้งคู่ พวกเขาไม่ชอบกัน

“เขาเป็นคนที่มีความหิวมาก ทั้งเรื่องอาหารและผู้หญิง เพราะเขาไม่มีความสุข ผมพยายามที่จะเข้าถึงความเศร้าของเขา แต่คุณไม่อยากขวางทางเขาหรอก”

นักแสดงรางวัลบาฟต้า ทิม พิกอตต์-สมิธ (จากเรื่อง The Jewel in the Crown) ร่วมแสดงในหลายฉากกับจูดี้ เดนช์และนักแสดงอีกหลายคน ในการสร้างฉากท้องพระโรงของพระราชินี  เขารับบทเป็นเซอร์เฮนรี พอนซอนบี  ราชเลขาส่วนพระองค์ที่ทำหน้าที่ยาวนานของพระราชินีวิกทอเรีย  บทนี้กลายเป็นหนึ่งในบทบาทสุดท้ายในชีวิตเขา  พิกอตต์-สมิธ เสียชีวิตเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

การถ่ายทำเริ่มขึ้นในเดือนกันยายน 2016  ทันทีที่เริ่มต้นการทำงาน คิดรอนพบว่า “สตีเฟน เฟรียร์สกระตุ้นและสั่งการ คุณรู้สึกได้เลยในกองถ่าย เขามีพลังและสนุกกับการถ่ายทุกฉาก ซึ่งช่วยหนังของเรามาก  เราต้องการอารมณ์ขันและความสะเทือนใจที่เขานำมาให้กับหนังเรื่องนี้  คุณรู้ในทันทีว่ามันจะไม่ใช่หนังย้อนยุคแบบที่ต้องใช้ความพยายามในการดู’”

บทหนังของฮอลล์ ตั้งใจใช้สถานที่เพื่อเพิ่มความเคลื่อนไหวให้กับเรื่องราวของหนังมากยิ่งขึ้น  “ตอนแรก เราเริ่มต้นที่อินเดีย ด้วยอับดุลและโมฮัมเหม็ด  จากนั้นไปที่ปราสาทวินด์เซอร์ แล้วก็ไปสกอตแลนด์  มีไปที่ฟลอเรนซ์นิดหน่อย จากนั้นและเกือบทั้งหมดของเรื่องราวที่เหลือของหนังเกิดขึ้นที่ออสบอร์นเฮาส์ ซึ่งเป็นที่ประทับริมทะเลของครอบครัวพระราชินี  แต่ละสถานที่มีความแตกต่างทางสถาปัตยกรรมและความรู้สึก

“เป็นโชคดีของผม ที่สามารถถ่ายสี่องค์ของหนังในสถานที่จริงและพิเศษมากๆหลายที่ ผมชอบไอเดียที่ก้าวจากความน่าสะพรึงของวินด์เซอร์ และสุดท้ายไปที่สไตล์เกือบจะเหมือนเมดิเตอเรเนียนของออสบอร์น นี่คือการตามรอยความรู้สึกของพระราชินีวิกทอเรีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นในสถานที่ต่างๆ”


happy on September 25, 2017, 08:27:00 PM



ฉากที่ไฮแลนด์ของสกอตแลนด์มีบทบาทสำคัญ เพราะ “การเดินทางไปสกอตแลนด์ของพระองค์ ตอนแรกค่อนข้างยากลำบาก  มีเรื่องสภาพอากาศที่เลวร้าย และทุกอย่างดูเหมือนจะมีแต่เรื่องห่อเหี่ยวใจ  แต่นี่คือจุดเปลี่ยนของเรื่องราวใน Victoria & Abdul เมื่อมีแสงสว่างเกิดขึ้นในชีวิตของพระองค์

“อาลีเล่นได้เยี่ยมมากในฉากเหล่านี้ เราเห็นหน้าของอับดุลว่าเขามีความสุขและตื่นตะลึงแค่ไหน ตอนที่เห็นทัศนียภาพของไฮแลนด์เป็นครั้งแรก เป็นโอกาสที่ยากจะได้เจอสำหรับการเดินทางแบบนั้น และเป็นความพิเศษอย่างยิ่งที่ได้ไปอยู่รับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระราชินี”

ที่สกอตแลนด์นี่เอง ที่ความทรงจำในอดีตของพระราชินีวิกทอเรียกับจอห์น บราวน์ดังก้องขึ้นอีกครั้ง และทำให้สายสัมพันธ์ใหม่ของพระองค์กับอับดุลแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น  ฮอลล์อธิบายว่า “กลาสซอลต์ ชิล เป็นเรือนพักเล็กๆส่วนพระองค์ที่อยู่ไกล เพื่อจะได้อยู่ตามลำพัง บางครั้งก็อยู่กับจอห์น บราวน์   หลังจากเขาเสียชีวิต ทรงหลีกเลี่ยงที่จะเสด็จไปที่นั่น  แต่จากในสมุดบันทึก เราพบว่าทรงพาอับดุลไปที่นั่น  สถานที่นั่นมีความโรแมนติก ทั้งสองคนต่างก็ชื่นชมความงามของภูมิประเทศที่นั่น และใกล้ชิดกันมากขึ้น

“นี่คือช่วงเวลาที่พระราชินีวิกทอเรียรู้ว่าเขามีหลายอย่างที่จะสอนพระองค์ รวมถึงเกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอาน  พระองค์อยู่ในช่วงสิ้นหวังในชีวิต และเขาทำให้ทรงมีความหวังขึ้นมาบ้าง จึงทรงประกาศให้เขาเป็นมูนชี หรือครูของพระองค์ อับดุลเดินทางขึ้นไปที่ไฮแลนด์ในฐานะข้าราชบริพาร และกลับลงมาในฐานะครูของพระราชินี เป็นเวลาไม่นานในความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง แต่มันอธิบายสิ่งที่ตามมา”
อลัน แม็คโดนัลด์ ผู้ออกแบบงานสร้างที่ทำงานในหนังของเฟรียร์สบ่อยครั้ง เล่าว่า “เรือนเล็กหลังนี้ ตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่สวยมากข้างทะเลสาบ เป็นที่ที่ให้ความสบายใจและแรงบันดาลใจแก่พระราชินี  เราอยากถ่ายทอดภาพทั้งหมดนั้นออกมา ในขณะที่ก็สร้างสถานที่แห่งนั้นขึ้นใหม่อย่างเที่ยงตรง” 

เพื่อให้ได้แบบนั้น แม็คโดนัลด์และทีมงานของเขาต้องทำงานในอีกที่หนึ่งของสกอตแลนด์ คือเกล็น แอฟฟริก ซึ่งเขายืนยันว่า “เป็นที่ที่มีทิวทัศน์สวยที่สุดแห่งหนึ่งในไฮแลนด์ และมีบ้านหลังเล็กในสถาปัตยกรรมแบบสกอตในยุคศตวรรษที่ 19 ที่สวยที่สุดอย่างแน่นอน ทีมงานและทีมนักแสดงเดินทางไปกลับสถานที่ถ่ายทำแห่งนี้ในรถที่ขับด้วยความเร็วได้ไม่เกิน 15 ไมล์ต่อชั่วโมง เนื่องจากมีลมแรง และถนนในแถบนั้นเป็นทางเล็กๆแบบเลนเดียว

ทุกคนรู้สึกว่ามันคุ้มค่าสำหรับการเดินทาง แม็คโดนัลด์เล่าว่า “เราออกแบบใหม่นิดหน่อย จัดการฉากใหม่เพื่อให้ภาพของความรู้สึกใกล้ชิดและมีความเป็นบ้าน เพื่อให้แตกต่างกับความโอ่อ่าและหรูหราสง่างามของปราสาทวินด์เซอร์ หรือบัลมอรัล ทิวทัศน์สวยงามมากจนกระตุ้นความทรงจำของพระราชินีวิกทอเรียที่ทรงมีต่อบุคคลผู้เป็นที่รักของพระองค์ในอดีต และเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดฉากสะเทือนอารมณ์ที่สุดฉากหนึ่งที่จูดี้แสดง

“ผมรู้สึกว่า ตอนที่คนดูกำลังดูหนังเรื่องนี้ พวกเขาไม่ควรจะรู้รายละเอียดมากเกินไป แต่มันต้องมีความน่าเชื่อถืออยู่ในนั้น เพื่อที่ในท้ายที่สุด พวกเขาจะไม่ตั้งคำถามว่าตัวเองกำลังดูอะไร พวกเขาจะเชื่อจริงๆ”

ทีมงานได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายทำที่ออสบอร์นเฮาส์ ซึ่งเป็นที่ประทับตากอากาศของพระราชินีวิกทอเรียบนเกาะไวท์  ซึ่งพระองค์และเจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีได้รับมาสองสามปีหลังจากอภิเษกสมรสในปี 1840  และอาจจะเป็นสถานที่เดียวที่พระราชินีรู้สึกว่าสามารถวางปัญหาต่างๆลงได้ชั่วคราว พระองค์ไปอยู่ที่นั่นปีละหลายเดือน  สถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนทั้งหมดของออสบอร์น เจ้าชายอัลเบิร์ตทรงเป็นผู้ดูแลงานสร้าง

บ้านและสนามหญ้าที่ออสบอร์น  ซึ่งรวมถึงสวนที่สวยจนตะลึง, ธงและหอนาฬิกา, และน้ำตกที่เฉลียง ได้รับคำชื่นชมไปทั่วโลก และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม  แต่ความงามภายในกำลังจะได้ชมกันในหนังใหญ่เป็นครั้งแรก ใน Victoria & Abdul  ผู้จัดการฝ่ายจัดหาสถานที่ถ่ายทำ อดัม ริชาร์ดส บอกว่า “เราเป็นหนังฟอร์มใหญ่เรื่องแรกที่ได้เข้าไปถ่ายทำที่บ้าน และเราโชคดีมากที่มูลนิธิอิงลิช เฮอริเทจ ที่ดูแลมรดกแห่งชาติ [และดูแลออสบอร์น] เปิดให้เราไปถ่ายทำที่นั่น  มันคือสิ่งที่สตีเฟนต้องการ เนื่องจากออสบอร์นมีสไตล์ของตัวเองและเป็นสถานที่จริง”

เฟรียร์สบอกว่า “แทนที่เราจะต้องสร้างอะไรขึ้นมา  ทุกอย่างมันมีอยู่แล้ว และจะเป็นแรงบันดาลใจให้เราเพ่งความสนใจในฉาก และใช้ประโยชน์ของพื้นที่ที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้  พวกเขากรุณาเรามาก และเปิดให้เราเข้าไปถ่ายทำทุกที่ที่สามารถเข้าไปได้”

เดนช์มีความสุขมากที่จะได้ไปถ่ายทำที่ออสบอร์นเฮาส์หลายสัปดาห์ “มันรู้สึกดีมากที่ได้อยู่ในสถานที่เดียวกับนักแสดงที่น่ารักมากทีมนี้  บรรยากาศเหมือนในคณะละคร  พวกเราทุกคนจะมานั่งรวมกันข้างนอกที่โต๊ะใหญ่”

เดนช์พูดถึงออสบอร์นว่า “ครั้งที่แล้ว [ตอนถ่ายทำเรื่อง  Mrs. Brown] ใกล้ที่สุดที่เราเข้าไปถึงได้ คือหาดส่วนตัว [ใกล้กับตัวบ้าน] การได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำในห้องทำงานของพระราชินีวิกทอเรีย การสามารถมองออกไปนอกหน้าต่าง และเห็นเหมือนอย่างที่พระองค์เห็น ต้นไม้ และบริเวณรอบๆ คุณไม่มีทางได้อะไรที่ยอดเยี่ยมกว่านั้นอีกแล้ว ทุกคนที่ออสบอร์นน่ารักมาก”
หลังจากถ่ายทำเสร็จ เดนช์ได้รับเชิญให้เป็นผู้อุปถัมภ์ของกลุ่ม “เฟรนด์ส ออฟ ออสบอร์น” ที่ช่วยจัดการและดูแลสถานที่แห่งนี้ และเธอตอบรับในทันที

ห้องเดอร์บาร์ ที่มีสิ่งที่เป็นอินเดียอยู่มากมาย พระราชินิวิกทอเรียได้สถาปนิกจากรัฐปันจาบ ไบห์ ราม ซิงห์เป็นผู้ดูแล และเพดานที่ประณีตงดงาม ออกแบบโดยล็อควู้ด คิปลิง (บิดาของนักเขียนชื่อดัง รัดยาด คิปลิง) ทั้งสองคนร่วมกันทำห้องนี้ทั้งหมดนานสองปี  เดอร์บาร์เต็มไปด้วยสิ่งประดิษฐ์และของกำนัลจากอินเดีย  ทำให้เกิดเป็น “การตกแต่งภายในที่มีความพิเศษ ที่ไม่สามารถทำขึ้นใหม่ได้” อดัม ริชาร์ดส บอก “ถ้ามีแค่ออสบอร์นที่เดียว ที่เราได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายทำ เราก็ยังอยากมาเหมือนเดิม แต่การที่เราได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำในสถานที่อื่นด้วย มันวิเศษมาก”

ที่ออสบอร์น พระราชินีวิกทอเรียสั่งให้ทำห้องครัวเพิ่ม เพื่อจะได้เตรียมเครื่องเทศสำหรับแกงกะหรี่มื้อกลางวันของพระองค์ 

นอกจากออสบอร์นแล้ว ยังมีการถ่ายทำในสถานที่ที่เป็นมรดกของอังกฤษอีกหลายแห่ง รวมทั้งอู่เรือของราชนาวีอังกฤษ ชาธัม ด็อคยาร์ดในเคนท์  ตัวประกอบ 200 คนมาเข้าฉากร่วมกับนักแสดงตัวหลัก คืออาลี ฟาซาล, อาดีล อัคห์ทาร์ และโรบิน โซนส์ ในฉากที่แขกผู้มาเยือนจากอินเดีย ได้รับการบอกข้อมูลสั้นๆ เรื่องระเบียบการต่างๆในวัง ก่อนพวกเขาจะขึ้นจากเรือ

โซนส์ ซึ่งร่วมงานกับเฟรียร์สในหนังที่มีธีมเกี่ยวกับราชวงศ์เป็นเรื่องที่สอง หลังจากThe Queen  รับบทเป็นอาร์เธอร์ บิกก์ อีกหนึ่งสมาชิกในท้องพระโรงของพระราชินีที่มีชีวิตอยู่จริง โซนส์บอกว่า “สำหรับบิกก์ สิ่งสำคัญคือความจงรักภักดีต่อพระราชินีวิกทอเรียและบัลลังก์ของพระองค์ เขาเป็นทหาร เป็นคนตรงและกระฉับกระเฉง

อีกหนึ่งสถานที่ที่เป็นมรดกแห่งชาติของอังกฤษ คือวิทยาลัยราชนาวี Old Royal Naval College ในกรีนิชของกรุงลอนดอน ที่กลายมาเป็นสถานที่ถ่ายทำของฉากใหญ่มาก คือฉากงานเลี้ยงของสำนักพระราชวังที่ปราสาทวินด์เซอร์  ที่ทำให้พระราชินีวิกทอเรียและอับดุลได้พบกันเป็นครั้งแรก
 
สถานที่ถ่ายทำแห่งอื่นในอังกฤษ ยังรวมถึงสตูดิโอทวิกเคนแฮม ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำสุดโปรดแห่งหนึ่งของผู้กำกับ, เน็บเวิร์ธ เฮาส์ ซึ่งถูกใช้เป็นฉากแทนของทั้งปราสาทวินด์เซอร์และพระราชวังบัลมอรัล และพิพิธภัณฑ์รถไฟแห่งชาติที่เมืองยอร์ก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของจูดี้ เดนช์  ไม่ว่ากองถ่ายจะไปปักหลักถ่ายทำที่ไหน จะมีแกงกะหรี่เป็นตัวเลือกให้เลือกรับประทาน ในรายการอาหารกลางวันของทีมงานและนักแสดงเสมอ

มีการเพิ่มอาหารอิตาเลียนเข้ามาในรายการอาหารในระหว่างการถ่ายทำที่เวสต์ ไวคอมบ์ เฮาส์ สำหรับฉากเมืองฟลอเรนซ์  เมื่อไซมอน คาลโลว์เข้ามาร่วมทีมนักแสดง เพื่อรับบทเป็นจาโคโม ปุชชินี นักประพันธ์เพลงโอเปราผู้เป็นตำนาน ที่แสดงถวายต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระราชินีวิกทอเรียและคณะผู้ติดตามของพระองค์  ฉากนี้เฟรียร์สและผู้กำกับภาพ แดนนี โคเฮน ใช้กล้องสามตัวเพื่อเก็บภาพงานทั้งหมด

คาลโลว์เล่าว่า “ผมตื่นเต้นมากที่ถูกชวนให้มารับบทเป็นปุชชินี เพราะผมรู้จักเกี่ยวกับเขาค่อนข้างมาก  ผมกำกับโอเปราที่เขาประพันธ์หลายเรื่อง และเคยเดินทางไปบ้านเกิดของเขาที่ลุคคา, ทัสคานี   ผมต้องโชว์การร้องเดี่ยวจาก Manon Lescaut ซึ่งเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จมากเรื่องแรกของปุชชินี และได้เรียนรู้ว่าเพลงร้องเดี่ยวเพลงนี้เป็นความสุขมาก

“มันเป็นการอนุโลมในการสร้างสรรค์งานประพันธ์ในส่วนของลี ฮอลล์ ในการนำการระเบิดความรู้สึกแบบอิตาเลียนเข้ามาในเรื่องราว ขณะที่ความรู้สึกของพระราชินีวิกทอเรียเพิ่มมากขึ้น ในเรื่องจริง พระราชินีและปุชชินีไม่เคยพบกัน และเขาก็ไม่เคยร้องเพลงต่อหน้าคนทั่วไป แต่มันเป็นการเติมแต่งที่สวยงามมาก”

แต่ไม่มีจุดไหนในหนัง ที่ผู้สร้างคิดว่าเป็นการไม่ซื่อตรงกับอินเดีย  คิดรอนบอกว่า “เราอยากให้เกียรติวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ที่ถูกลดความสำคัญและปฏิเสธนับครั้งไม่ถ้วนตลอดช่วงเวลากว่า 150 ปีที่ผ่านมา  การถ่ายทำในเมืองอัครา สร้างความมั่นใจอีกครั้ง ว่าเรากำลังบอกเล่าเรื่องราวของอับดุล   เขามาจากเมืองนั้น

“หลายคนจะรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนในเรื่องราวของอับดุล นั่นมันชัดเจนมากตอนที่ชราบานีตีพิมพ์หนังสือของเธอ และเราต้องการเคารพสิ่งนั้นในหนังของเรา ถึงแม้หนังจะมีโทนที่ทำให้ดูมีความเป็นเทพนิยายมากกว่าเป็นความจริง แต่เราอยากหาวิธีถ่ายทอดออกมา ว่าเรายืนอยู่ข้างใคร โลกในวังของพระราชินีไม่ใช่โลกของความจริง   โลกจริงๆคือโลกของอับดุล”

ซีเวิร์ดเสริมว่า “ปราสาททัชมาฮาลทำให้เมืองอัคราเป็นจุดหมายปลายทางหนึ่ง แต่ปราสาทแห่งนี้เป็นสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสัญลักษณ์สำหรับอินเดียทั้งหมด  เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก  เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ถูกสร้างขึ้นจากความรัก และเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรัก  สำหรับเรา มันอยู่ในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างพระราชินีวิกทอเรีย กับอับดุลเลยทีเดียว
“เราโชคดี ที่ได้เข้าไปถ่ายทำใกล้ทัชมาฮาล”

ในส่วนของงานออกแบบเสื้อผ้า เป็นหน้าที่ของคอนโซลาตา บอยล์ คนออกแบบเครื่องแต่งกายที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้วสองครั้ง บอยล์เป็นทีมงานคนสำคัญของผู้กำกับสตีเฟน เฟรียร์สมากว่า 25 ปีแล้ว เขาพูดถึงเธอว่า “คอนโซลาตามีความใส่ใจในรายละเอียด และมีความมั่นใจมาก  สำหรับ Victoria & Abdul เธอต้องทำงานในหลายระดับมาก และเธอก็ทำแบบนั้น”

บอยล์บอกว่า “เมื่อคุณบอกเล่าเรื่องราวที่ย้อนกลับไปในอดีต คุณต้องทำให้ได้ตามความคาดหวังของคนดู นั่นคือคุณต้องค้นคว้าข้อมูล และทันทีที่คุณมีข้อมูล คุณก็บินได้เลย ภายใต้ขอบเขตนี้ คุณสามารถใช้จินตนาการของคุณได้เลย

“ฉันเชื่อว่าเครื่องแต่งกายไม่ควรที่จะ ‘พูดมากเกินไป’ แต่มันควรจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวได้ การสร้างหนัง สิ่งสำคัญคือการต้องร่วมมือกัน ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หนังเป็นรูปแบบศิลปะที่มีมนต์ขลังที่สุด และน่าทึ่งที่สุด”

“เราให้เสื้อผ้าของพระราชินีวิกทอเรียเป็นโทนสีดำในตอนต้นเรื่อง แต่มีพัฒนาการในการแต่งกายของพระองค์ เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างพระราชินีกับอับดุลลึกซึ้งขึ้น เขาเปิดมุมมองให้พระองค์ และเสื้อผ้าของพระราชินีก็เปลี่ยนไปตามนั้น ความรู้สึกของทั้งคู่สว่างขึ้น สีของเสื้อผ้าก็สว่างขึ้น

“จุดที่พีคมาถึงตอนที่พวกเขาเดินทางไปฟลอเรนซ์ หลังจากนั้น มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในวัง และความสงสัยก็คืบคลานเข้ามา เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของพระองค์จึงกลับมาเป็นสีเข้มอีกครั้ง”

ในขณะที่เสื้อผ้าของอับดุลอาจจะดูแปลกๆ บอยล์อธิบายว่า “เพราะเสื้อผ้าจะอิงตามสิ่งที่น่าจะเป็น ตามความรู้สึกของคนยุโรปต่อสไตล์เอเชีย หลังจากมาถึงอังกฤษ อับดุลกับโมฮัมเหม็ดก็ถูกนำตัวไปที่ร้านตัดเสื้อที่ตัดเครื่องแบบให้ข้าราชบริพารในวัง อะไรคือกรอบที่ใช้อ้างอิง? อิงตามสิ่งที่ช่างตัดเสื้อเคยเห็นในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ  มันคือลุคที่ผสมกัน  มีความรู้สึกของความเป็นอินเดีย แต่ก็มีความเป็นยุโรปมาก  มันออกมาดูแปลก เพราะเป็นการผสมผสานกัน”

แต่ในที่สุด เสื้อผ้าของอับดุลก็หรูหราขึ้น และประณีตขึ้น เมื่อความมั่นใจของตัวละครขึ้นไปถึงจุดสูงสุด ฟาซาลนึกถึงตอนที่ต้องนั่งนานหลายชั่วโมง พร้อมกับ “ครูสอนโพกศีรษะ” ที่บอยล์บอกว่า “มาสอนเราเรื่องการพันผ้าโพกศีรษะ”

ฟาซาลบอกว่า “สำหรับผม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายต้องใช้การวิเคราะห์มาก มันคือแกนหลักสำหรับตัวละครของผม  ถ้าพวกเขาทำเสื้อผ้าของผมได้ถูกต้อง ผมก็มั่นใจเลย อยู่เลย ผมชนะศึกไปครึ่งหนึ่งแล้ว  บางอย่างที่ลีเขียนเข้ามาในบทภาพยนตร์ คือการที่คุณได้เห็นพัฒนาการของตัวละคร ผ่านพัฒนาการของเสื้อผ้า ถึงแม้ตัวละครแทบจะอยู่ผิดเวลา หรืออยู่ในดินแดนในจินตนาการก็ตาม”

“ตอนที่อับดุลกลับมาอังกฤษหลังจากกลับไปเยี่ยมบ้านที่อินเดีย คุณจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในสถานะของเขา เมื่อเขามีความภาคภูมิใจมากขึ้นกับตำแหน่งของเขาในวังของพระราชินี ตอนนี้เขาประดับเหรียญ และมีดาบ และอ้วนขึ้นนิดหน่อย”

ฟาซาลบอกว่า “ผมนับไม่ถูก ว่าเสื้อผ้าที่คอนโซลาตาใส่ให้ผมมีกี่ชั้น แต่เธอสนุกมาก และเธอก็เก่งมาก”

ซีเวิร์ดบอกว่า “คอนโซลาตาจะใส่ใจกับตัวละครที่อยู่ข้างหลังเช่นเดียวกับที่เธอทำกับนักแสดงหลัก วิธีที่เธอบอกในเสื้อผ้าของเธอ ก็บอกในเรื่องราวของหนังด้วย ดังนั้นเธอจึงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ของ Victoria & Abdul

“ที่จริง ตอนนี้คอนโซลาตา, อลัน แม็คโดนัลด์ และแดนนี โคเฮน เป็นเหมือนสามทหารเสือ หลังจากการทำงานให้กับสตีเฟนมาหลายเรื่อง พวกเขาทำงานเข้าขากัน และเหมือนพูดจาภาษาเดียวกัน ซึ่งมันทำให้หนังแข็งแรงขึ้น”

ในขณะที่เฟรียร์ส ขอมองต่างมุมสำหรับวิธีการของเขาในการถ่ายทอดหนังออกมา “ผมเริ่มต้นแบบค่อนข้างทำอะไรไม่ถูกตรงหน้าบทหนัง  แต่ผมพยายามใช้สัญชาตญาณ คุณแค่ให้เกียรติบทหนัง และมันจะค่อยๆเผยความลับของมันให้คุณรู้ สิ่งต่างๆจะปรากฏขึ้น และคุณจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น มากขึ้น สิ่งที่ชัดเจนสำหรับเรื่องนี้ คือมันช่างเป็นเรื่องราวที่ตลกมาก และอ่อนโยนมาก แต่ก็ช่างมีร่องรอยของความโศกเศร้าซะนี่กระไร”

เมลานี แอนน์ โอลิเวอร์ คนตัดต่อที่ได้รับรางวัลบาฟต้า บอกว่า “สิ่งที่ชัดเจนทันที คือความสำคัญของอารมณ์ขัน มีความกล้าหาญมากในบทหนังที่ลีเขียน และในการถ่ายทอดออกมาของสตีเฟน คุณต้องไว้ใจว่ามันจะได้ผล ว่ามันจะไปด้วยกันได้ดี 

“ความสุขที่สุด คือการได้หนังไปพร้อมกับคนดูกลุ่มแรกที่ได้ดูรอบพรีวิว และได้เห็นพวกเขาเข้าใจอารมณ์ขัน และเข้าใจสาระสำคัญที่หนังต้องการจะบอกจริงๆ”

“แต่สิ่งที่เราไม่อาจคาดหวัง คือตอนนี้มันจะมีความหมายมากขึ้นแค่ไหน จากตอนที่เราเริ่มต้นโปรเจ็คต์ และโอบกอดความรู้สึกนั้นไว้ตั้งแต่เริ่มแรก

“ต่างคนก็อาจมีมุมมองที่ต่างกันเรื่องอินเดียกับอังกฤษ และเรื่องพระราชินีวิกทอเรียกับรัชกาลของพระองค์ นี่เป็นเพียงเรื่องเล่าเรื่องเดียวจากเรื่องราวมากมาย แต่เราพยายามที่จะแสดงให้คนดูได้เห็นพระราชินีวิกทอเรีย ในแบบที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน”

เดนช์ปิดท้ายว่า “เวลาคุณมองรูปปั้นที่ยิ่งใหญ่ของพระราชินีวิกทอเรีย พระองค์ดูแกร่งกล้า  แต่ด้วยหนังเรื่องนี้ ตอนนี้เราได้เรียนรู้ด้านที่อ่อนแอของพระองค์”