happy on September 10, 2017, 06:31:44 PM
“พิเชฐ” ดึงแนวร่วมภาคเอกชน พลิกโฉมประเทศด้วยดิจิทัล


กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) จัดกิจกรรมผู้บริหารกระทรวงฯ พบผู้บริหารภาคเอกชนระดับซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่อาทิ ฮอนด้า โตโยต้า ปตท. มิตรผล ไลน์ หัวเว่ย อนันดากรุ๊ป ฯลฯ เพื่อเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นและหารือร่วมกันในการสร้างความร่วมมือเพื่อผลักดันนโยบายประเทศด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อต่อยอดไปสู่การเดินหน้านโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธานในการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า การที่ประเทศจะเข้าสุ่ Thailand 4.0 ได้นั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างแรกคือภาคประชาชน ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้าไปมีบทบาทอย่างมาก สิ่งที่กระทรวงฯ ดำเนินการอยู่คือ โครงการเน็ตประชารัฐ ปัจจุบันประเทศไทยมีอยู่ 75,000 หมู่บ้าน มีเน็ตประชารัฐไปแล้ว 30,000 หมู่บ้าน อีกสามเดือนคาดว่าจะเห็นอีก 24,000 หมู่บ้าน และใช้เงินจากกองทุนเงินข้างนอกเพื่อดำเนินการให้ครบ 18,000 หมู่บ้านสุดท้าย เมื่อทุกหมู่บ้านลืมตาอ้าปากได้เพราะมีซุปเปอร์ไฮเวย์ ก็จะพลิกโฉมวิธีการทำงานของเราให้ทันสมัยมากขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกประการคือ เรื่องสุขภาพ ขณะนี้ดีอีได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขพัฒนาระบบ e-Health ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่จากเดิมต้องเดินทางห้าสิบกิโลเมตรไปโรงพยาบาลอำเภอ ตอนนี้แพทย์ที่ชุมชนสามารถปรึกษาแพทย์จากโรงพยาบาลในเมืองได้ โดยที่สัญญานไม่กระตุก เพราะสามสิบเมกะบิทสามารถดูแลเครื่อง MRI หรือเอกซเรย์ได้เลย นอกจากนี้ยังมี e-อสม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ผลิต อสม.ขึ้นมาถ้าผนวกรวมกับระบบดิจิทัลให้เขาสร้างเครือข่ายถึงกันได้ก็จะเป็นประโยชน์แบ่งปันความรู้และข้อมูลถึงกันได้รวดเร็ว





ดร.พิเชฐ กล่าวอีกว่า ดีอีได้ดำเนินโครงการดิจิทัลพาร์ค ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บนพื้นที่กว่า 700 ไร่ โดยตั้งใจจะทำให้เป็นการพัฒนาระบบนิเวศด้วยดิจิทัล โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการพัฒนาไม่ใช่เน้นการนำเข้าเทคโนโลยีอย่างเดียว กล่าวคือช่วยให้ผู้ประกอบการด้านดิจิทัลทำงานได้อย่างคล่องตัว มีสถาบันการเรียนรู้ สถาบันการศึกษา ที่มุ่งพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมา อีกเรื่องคือสมาร์ทซิตี้ สิ่งที่กระทรวงฯ จะทำภายในปีหน้า วันนี้เราเริ่มแล้ว ที่ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น ซึ่งแต่ละที่ก็มีความเข้มแข็งมาก นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ ECC ที่ จ.ชลบุรี ซึ่งจะครอบคลุมแถบชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา คาดว่าปีหน้าพอมีตัวอย่างให้เห็น และจากที่ได้ลงพื้นที่ ผู้ว่าราชการหลายจังหวัดก็อยากให้เราทำสมาร์ทซิตี้ทั้งนั้น เนื่องจากจะได้กระจายความเจริญไปทั่วประเทศ ไม่ใช่มากระจุกตัวกันอยู่แต่ในกรุงเทพฯ

“โอกาสของประเทศไทยมาถึงแล้วนะครับ รัฐบาลไม่สามารถทำให้เสร็จได้ ก็ต้องเชิญชวนภาคเอกชนและภาคประชาสังคมมาร่วมกัน ขอให้วงนี้เป็นดิจิทัลประชารัฐที่ช่วยกันทำงาน จะมากจะน้อยก็แล้วแต่ เรียกว่าช่วยกันแบบไร้รอยต่อ” ดร.พิเชฐ กล่าว





ทั้งนี้ในที่ประชุม มีการแสดงความคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์กันอย่างกว้างขวาง โดย นายนินนาท  นินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานบอร์ดโตโยต้า กล่าวถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะมีการนำมาพัฒนาไว้ในตัวรถ อาทิ ไวไฟในรถ /รู้ทันทีมีระบบแจ้งอัตโนมัติเมื่อรถเสีย ขณะที่นายวิทวัท สวัสดิ์-ชูโต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืนและวิศวกรรมโครงการบริษัท (มหาชน) ได้ยกตัวอย่างการทำงานของ ปตท.ว่ามีการสร้างอินโนเวชั่น พาร์ค จึงอยากาเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจมาทำวิจัย และร่วมมือกันพัฒนาก้าวไปสู่ดิจิทัลด้วยกัน ขณะที่นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการแห่งไลน์ ก็ระบุว่า ประเทศไทยใช้ไลน์เป็นช่องทางการสื่อสารเป็นสองรองจากญี่ปุ่น และมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจากการใช้ไลน์มากมาย โดยเฉพาะธุรกิจอาหารที่ปัจจุบันมีเครือข่ายถึงกว่า 30,000 แห่ง และเร็ว ๆ นี้จะเปิดไลน์แท็กซี่ ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่า ดิจิทัลไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่แหวกแนวเสมอไป เพียงแต่ทำให้ชีวิตง่ายและดีขึ้นก็อาจจะเพียงพอสำหรับกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่ม และในอนาคตอันใกล้จะพัฒนาไปสู่ไลน์โกลว์บอล

ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า กล่าวว่า โครงสร้างประชากรไทยเกือบเจ็ดสิบล้านคน แจ้งตัวเลขของคนที่ยังไม่เข้าสู่ความเป็นดิจิทัล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรราว 5 ล้านครัวเรือนหรือกว่า 7 ล้านคน โดยคนเหล่านีต้องการการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาเป็นคนพันธุ์ดิจิทัล ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของภาคอุตสาหกรรมใหม่ประเทศ โดยเฉพาะในธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีเกือบ 3 ล้าน จะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนแปลงเอสเอ็มอีเหล่านี้ไปสู่ผู้ประกอบการด้านดิจิทัลที่สามารถกระตุ้นจีดีพีให้เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องได้มันสมองระดับซีอีโอของภาคเอกชนมาช่วยขับเคลื่อน ก็จะทำให้ประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง พร้อมก้นนี้ก็อยากเชิญชวนทุกท่านร่วมงาน ดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบง 2017” ซึ่งการจัดงานที่รวมเทคโนโลยีจากทั่วโลก มารวมไว้ในงานเดียว โดยปีนี้จัดภายใต้แนวคิด “โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน” หวังพลิกโฉมประเทศ สู่ดิจิทัลไทยแลนด์เต็มตัว และขณะนี้มีภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตอบรับเข้าร่วมงานแล้วกว่า 200 ราย โดยงานจะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 21-24 กันยายนนี้ ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี บนพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตร สามารถดูรายละเอียดข้อมูลของงาน "Digital Thailand Big Bang 2017" ได้ที่ www.digitalthailandbigbang.co