happy on August 06, 2017, 09:28:01 PM
ที่อับอากาศ...จุดเสี่ยงถึงชีวิต

เมื่อเร็วๆ นี้ กรณีเหตุการณ์ที่มีนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พลัดตกลงไปในบ่อบำบัดน้ำเสียและคนที่ลงไปช่วยเสียชีวิตด้วย รวมห้ารายนั้น...หลายคนอาจคิดว่าบ่อบำบัดน้ำเสียดูไม่น่ามีอันตราย แต่แท้จริงแล้ว บ่อบำบัดน้ำเสียจัดเป็นสถานที่อับอากาศประเภทหนึ่ง ซึ่งภายในที่อับอากาศ สามารถมีสภาพบรรยากาศที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ในประเทศไทยพบรายงานผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วยจากการทำงานในที่อับอากาศอยู่เป็นประจำ ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการเสียชีวิตมากกว่าเจ็บป่วยและบ่อยครั้งที่ผู้ลงไปช่วยก็เสียชีวิตเช่นกัน


แพทย์หญิงภัทราวลัย พิชาลัย แพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม รพ. กรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า คำจำกัดความของ “ที่อับอากาศ” คือ ที่ซึ่งมีทางเข้าออกจำกัด และ การระบายอากาศไม่เพียงพอที่จะทำให้อากาศภายในอยู่ในสภาพที่ปลอดภัยต่อการทำงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ตัวอย่างเช่น เหมืองแร่ ก๊าซและน้ำมัน อุโมงค์ ถ้ำ หลุม บ่อ อันตรายภายในที่อับอากาศที่อาจถึงแก่ชีวิต ได้แก่ ออกซิเจนไม่เพียงพอต่ำกว่าร้อยละ 19.5 หรือ มีก๊าซพิษ เช่น ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า (H2S) ก๊าซมีเทน หรือก๊าซชีวภาพ(CH4) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ สะสมอยู่ภายในที่ระดับความเข้มข้นสูงจนเกิดอันตราย มีก๊าซ ไอ ละออง ซึ่งติดไฟหรือระเบิดได้หากเข้มข้นเกินร้อยละ 10 ของความเข้มข้นที่อาจติดไฟหรือระเบิดได้ในอากาศ 

สภาพบรรยากาศเหล่านี้ไปทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดอากาศหายใจ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ มึนงง หายใจไม่ออก หมดสติ จนถึงเสียชีวิตได้ อันตรายดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายต่อผู้ลงไปช่วยเหลือโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

กฎหมายไทยได้กำหนดให้นายจ้างต้องมีการตรวจวัดสภาพอากาศใน “ที่อับอากาศ” ก่อนเริ่มลงไปปฏิบัติงาน และระหว่างปฏิบัติงานในที่อับอากาศทุกครั้ง หากพบว่าสภาพบรรยากาศมีระดับออกซิเจนต่ำกว่าปกติ คนทำงานต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจชนิดที่มีระบบจ่ายอากาศ เช่น ชนิดมีระบบจ่ายอากาศในตัวเสมอ (Self-contained breathing apparatus; SCBA)  กรณีสภาพบรรยากาศมีความเข้มข้นของสารเคมีที่เป็นอันตรายเกินมาตรฐาน ต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจชนิดปิดเต็มหน้า (Full-face respirator) หรือ ชนิดปิดครึ่งหน้า (Half-face respirator) และต้องจัดฝึกอบรมมาตรฐานความปลอดภัยให้ผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ



ในเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่มีคนตกลงไปในที่อับอากาศ ผู้ลงไปช่วยเหลือจึงควรคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองด้วย เนื่องจากสภาพอากาศในที่อับอากาศสามารถทำให้คนที่ลงไปช่วยเสียชีวิตได้ หากไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน ผู้ลงไปช่วยเหลือจึงต้องสวมชุดอุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ หน้ากาก ถังออกซิเจน และ ใช้มาตรฐานความปลอดภัยในที่อับอากาศตลอดเวลาการเข้าช่วยเหลือ ได้แก่  ใส่ห่วงยางชูชีพซึ่งอีกข้างผูกตรึงกับตำแหน่งนอกบริเวณพื้นที่อับอากาศ หรือติดตั้งระบบรอกผูกระหว่างผู้ลงไปช่วยเหลือกรณีพื้นที่อับอากาศที่ลึกเกิน 5 ฟุต (1.5 เมตร) กับตำแหน่งนอกบริเวณพื้นที่เสี่ยง มีบันไดราวกันตก หมั่นตรวจตราอุปกรณ์ช่วยเหลือเหล่านี้ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา และใช้ระบบคนช่วย 2 คน (buddy system) โดยคนที่อยู่นอกพื้นที่พร้อมจะเข้าช่วยเหลืออีกคนได้ทันทีหากเกิดเหตุฉุกเฉินขณะช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ มาตรการเหล่านี้จะช่วยลดการสูญเสียชีวิตลงได้

ในคนทำงานบางรายที่เป็นโรคทางเดินหายใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคลมชัก หรือโรคอื่น เมื่อลงไปในที่อับอากาศ อาจพบกับสภาวะขาดอากาศ การเข้าไปในที่อับอากาศจะเป็นอันตราย แพทย์อาจให้ความเห็นไม่อนุญาตให้ทำงานในที่อับอากาศเพื่อลดความเสี่ยง ดังนั้นเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความมั่นใจของนายจ้าง แนะนำว่าคนทำงานในที่อับอากาศควรได้รับการตรวจประเมินสุขภาพอย่างน้อยทุก 1 ปี